'พีมูฟ' ชู 12 ข้อเรียกร้อง ปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน

พีมูฟ แถลงชู 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบาย ประกาศปักหลักชุมนุมหน้ายูเอ็น 20 ม.ค. นี้ จี้ทวงคืนอำนาจประชาชน ยันทุกกรณีให้ ครม. รับทราบ ประธานพีมูฟย้ำ ชุมนุมครั้งสุดท้ายในรัฐบาลเผด็จการ พร้อมขับเคลื่อนให้สังคมได้รับความยุติธรรม

 

19 ม.ค. 2565 พชร คำชำนาญ รายงานวันนี้ (19 ม.ค.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ (P-MOVE) แถลงข่าวประกาศปักหลักชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ตั้งแต่ 20 ม.ค.นี้เป็นต้นไป หลังชุมนุมครั้งสุดท้ายเมื่อ มี.ค. 64 ที่ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง แต่ก็ยังไม่อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณี และเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ที่รัฐบาลเปิดให้มีการเจรจาทางช่องทางออนไลน์

“สถานการณ์การละเมิดสิทธิยังคงปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พวกเรายังคงเผชิญความลำบากยากแค้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการยังคงใช้ลมปากหลอกลวงหล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้ด้วยความหวังไปวันๆ สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล” แถลงการณ์ระบุ

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ ได้แถลง 12 ข้อเรียกร้องเชิงนโยบายทั้งหมด อาทิ การเดินหน้าโฉนดชุมชน การผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับปัญหาป่าไม้และที่ดิน การทบทวนพระราชบัญญัติป่าชุมชน พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 การแก้ปัญหาที่ดินการรถไฟ การผลักดันแนวทางธนาคารที่ดินตามเจตนารมณ์การกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม ผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ กรณีกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจแม่สอด และกรณีปัญหาการละเมิดสิทธิชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี เป็นต้น โดยทุกประเด็นต้องนำขึ้นสู่การเจรจาและเข้าสู่คณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบเท่านั้น

จำนงค์ หนูพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟ

“เรายืนยันว่าในการชุมนุมปักหลักในครั้งนี้ ทุกกรณีจะต้องนำเข้า ครม. เพื่อให้เห็นชอบเท่านั้น และยืนยันว่า การบริหารประเทศของรัฐบาลนี้ตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนถึงเลือกตั้งเมื่อปี 2562 การแก้ไขปัญหาของพี่น้องไม่ได้รับการแก้ปัญหา แม้แต่เรื่องปากท้อง เรื่องค่าครองชีพ ซึ่งทำให้ข้าวยากหมากแพง เราก็ ยืนยันอีกครั้งว่าการชุมนุมครั้งนี้จะเป็นการชุมนุมเพื่อเจรจากับพลเอกประบุทธ์ จันทร์โอชา เป็นรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ เป็นการชุมนุมและเจรจากับรัฐบาลนี้ครั้งสุดท้าย โดยเปิดให้มีการเจรจาโดยเปิดเผย เราพร้อมที่จะขับเคลื่อนให้สังคมได้รับความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม” จำนงค์กล่าว

ประธานคณะกรรมการบริหารพีมูฟยังยืนยันว่า การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่การร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รัฐและกลุ่มชนชั้นนำได้สร้างขึ้นมาเพื่อกดทับคนจน แต่คือการที่พวกตนในนามประชาชนอันเป็นผู้ทรงสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้จะกลับมาทวงคืนสิทธิอันพึงมีที่ถูกพรากไป จักประกาศให้สังคมตระหนักว่า สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นคือรากฐานตั้งต้นแห่งความเป็นคนในสังคมประชาธิปไตย และพีมูฟจักเป็นองค์กรนำเปิดศักราชการเคลื่อนไหวในปี 2565 นี้อย่างไม่ยอมจำนน จนกว่าคนจะเท่ากัน จนกว่าประชาชนจะมีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง

แถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)

เรื่อง พีมูฟทวงสิทธิ สร้างอำนาจกำหนดชีวิตประชาชน

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีภายหลังการชุมนุมครั้งสุดท้ายของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ขณะนั้นพวกเราได้ต่อสู้เรียกร้องจนได้บันทึกข้อตกลงการแก้ไขปัญหารายกระทรวง ที่ดูเหมือนจะเป็นความหวังนำไปสู่การแก้ไขปัญหารายกรณีและเชิงนโยบายที่เรื้อรังมาหลายชั่วอายุในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

เป็นเวลาเกือบหนึ่งปีที่พวกเราให้โอกาสรัฐบาลชุดนี้ที่นำโดยประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้แก้ไขปัญหาของพวกเราผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ตามสถานการณ์การละเมิดสิทธิยังคงปรากฏอยู่ทั่วทุกหัวระแหง พวกเรายังคงเผชิญความลำบากยากแค้น ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการยังคงใช้ลมปากหลอกลวงหล่อเลี้ยงเราให้อยู่ได้ด้วยความหวังไปวันๆ

สถานการณ์ทางนโยบายยังคงเดินหน้ากดทับ ลดทอนสิทธิอันพึงมีของพวกเราอย่างต่อเนื่อง กฎหมายหลายฉบับกำลังเรียงแถวออกมามีผลบังคับใช้ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของพวกเราว่าเราไม่ต้องการ ในขณะที่กฎหมายและนโยบายที่พวกเราลงแรงผลักดัน กลับไม่ได้รับการเหลียวแล

จนถึงวันนี้ พวกเรา ขปส. ไม่อาจทนรอให้โอกาสรัฐบาลแก้ไขปัญหาด้วยระบบออนไลน์อีกต่อไป แม้จะต้องฟันฝ่าอุปสรรคหลากหลาย เผชิญความเสี่ยงจากสถานการณ์โรคระบาด เราก็ไม่อาจทนรออยู่ในพื้นที่ได้อีกต่อไปแล้ว เราจึงขอประกาศปักหลักชุมนุม ณ หน้าองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 เป็นต้นไปโดยไม่มีกำหนดกลับ พร้อมแถลงข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่ต้องได้รับความชัดเจนและมีหลักประกันทั้งสิ้น 12 ข้อ ดังนี้

1. ต้องยกระดับการจัดการทรัพยากรที่ดินในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” ให้เป็นหนึ่งในรูปแบบการกำกับดูแลการ บริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินโดยทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) มาตรา 10 (4) และขอให้สำนักงาน คทช. รับพื้นที่โฉนดชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่สมาชิก ขปส. ที่เสนอเป็นพื้นที่การจัดการที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนอยู่แล้ว 193 กรณี 

2. ต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกานิรโทษกรรมคดีความที่เกี่ยวกับปัญหาไม้และที่ดินอันเกิดจากการดำเนินการตามนโยบายรัฐ ทั้งนี้ในระหว่างรอการออกกฎหมายดังกล่าว ขอให้ยุติการดำเนินคดีชาวบ้าน และเยียวยาประชาชนให้ได้รับความธรรมและให้กลับไปทำกินในที่ดินเดิมของตนเองได้ 

3. ต้องแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562, พ.ร.บ.อุทยาน แห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเจตนารมณ์ของ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และให้ชะลอการเสนอร่างกฎหมายลำดับรองที่ออกตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ตลอดจนขอให้ยกเลิกมติ

คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ 

4. กรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้นำมติคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2543 มาเป็นนโยบายการแก้ปัญหาชุมชนทั้ง 36 จังหวัด 397 ชุมชน 39,848 หลังคาเรือน ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวต้องนำเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของ รฟท. 

5. รัฐบาลต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ฉบับที่ร่าง โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) และรัฐบาลต้องสนับสนุน “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครอง สิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ..... ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 10,000 รายชื่อ เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตวัฒนธรรมชาวกะเหรี่ยง 

6. ข้อเสนอต่อการปฏิรูปที่ดิน ตามกลไกสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (บจธ.) บจธ. ต้องทบทวน ปรับปรุงคณะกรรมการ บจธ. พัฒนา สร้างนวัตกรรมรูปแบบกรรมสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและถือครองที่ดินใหม่รูปแบบ ใหม่ๆ พัฒนาช่องทาง กลไกในเข้าถึง ทั้งการสนับสนุนช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย และให้เร่งดำเนินการจัดซื้อที่ดินในพื้นที่ตามแผนงานระยะสองซึ่งเป็นสมาชิกของ ขปส. ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม

7. ต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ชุมชนสมาชิกของ ขปส.ที่อยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหา สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา ทะเบียนบ้าน และปรับปรุงที่อยู่อาศัยได้ 

8. ปรับปรุงองค์ประกอบคณะทำงาน 2 คณะ ได้แก่ คณะทำงานศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร คณะทำงานแก้ไขปัญหาและศึกษาแนวทางการจัดที่ดินทำกินให้กับชุมชนในรูปแบบ โฉนดชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และขอให้เร่งรัดจัดการประชุมคณะทำงานฯ ดังกล่าว เป็นกรณีเร่งด่วน

9. ข้อเรียกร้องกลุ่มแม่สอดรักษ์ถิ่น ผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผลกระทบรายกรณีในทุกมิติ

10. รัฐบาลต้องสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทุกประเภทที่ประชาชนได้รับผลกระทบให้มี แนวทางที่ชัดเจน เช่น ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่ดินรถไฟ ที่ราชพัสดุ ที่ดินในเขตป่า ที่ สปก. และอื่นๆ 

11. แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ กำกับ ขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและ กะเหรี่ยงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553 และ 3 สิงหาคม 2553 

12. กรณีชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้นายกรัฐมนตรีลงนามในคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ที่ 1 ตำบล

ห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยในทุกด้าน ตลอดจนให้ยุติกระบวนการทางคดีของชาวบ้าน 28 คน ชาวบ้านเยาวชน 2 คน และสมาชิกภาคีเซฟบางกลอย 10 คน

ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องทั้งสิ้น 12 ข้อจะต้องได้รับคำตอบที่ชัดเจน และต้องนำเรื่องเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรีให้มีมติเห็นชอบทั้งหมด 

ในการเคลื่อนไหวของ ขปส. ครั้งนี้ พวกเราจะเชื่อมโยงเครือข่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาชนทุกกลุ่ม ให้พื้นที่ปักหลักหน้าองค์การสหประชาชาติเป็นพื้นที่ศูนย์รวมผู้ทุกข์ร้อนและผู้ได้รับผลกระทบจากรัฐบาลเผด็จการ หวังสร้างแนวร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อทวงคืนสิทธิความเป็นคนในทุกมิติ

สุดท้ายเราขอยืนยันว่า การกลับมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ไม่ใช่การร้องขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่รัฐและกลุ่มชนชั้นนำได้สร้างขึ้นมาเพื่อกดทับพวกเราคนจน แต่คือการที่พวกเราในนามประชาชนอันเป็นผู้ทรงสิทธิ์บนผืนแผ่นดินนี้จะกลับมาทวงคืนสิทธิอันพึงมีที่ถูกพรากไป เราจักประกาศให้สังคมตระหนักว่า สิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาตินั้นคือรากฐานตั้งต้นแห่งความเป็นคนในสังคมประชาธิปไตย และพวกเราจักเป็นองค์กรนำเปิดศักราชการเคลื่อนไหวในปี 2565 นี้อย่างไม่ยอมจำนน จนกว่าคนจะเท่ากัน จนกว่าประชาชนจะมีอำนาจกำหนดชีวิตตนเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท