Skip to main content
sharethis

‘สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือลำปาง’ กว่า 300 คน ชุมนุมศาลากลางจังหวัด ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ - สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ลำปางให้หยุดเข้าตรวจแปลงทำกินเดิมของชาวบ้านในพื้นที่ตามแผนปฏิบัติการพิทักษ์ไพร กังวล ‘ไร่หมุนเวียน’ อาจถูกยึด ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ลำปางรับเงื่อนไขหยุดลงพื้นที่ถ้าเป็นที่ทำกินเดิมก็โอเค

 

19 มิ.ย. 2567 เมื่อวานนี้ (18 มิ.ย.2567) เวลาประมาณ 13.30 น. สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)จังหวัดลำปางนัดหมายรวมตัวกัน ณ ปั๊ม ปตท. ข้างศาลากลางจังหวัดลำปาง สืบเนื่องจากวันที่ 13 มิ.ย. 2567 เจ้าหน้าที่หน่วยฟื้นฟูสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่งที่ 6 จ.ลำปาง เข้าตรวจสอบแปลงไร่หมุนเวียนของชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา อ.งาว จ.ลำปาง ซึ่งเป็นพื้นที่สมาชิก สกน. โดยไม่แจ้งให้ชุมชนทราบล่วงหน้า อีกทั้งไม่ชี้แจงจุดประสงค์และรายละเอียดให้ชัดเจน ซ้ำเจ้าหน้าที่ยังมีท่าทีข่มขู่ว่าจะยึดแปลงทำกินด้วย

เวลา 14.00 น. สกน.ลำปาง พร้อมด้วยเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนที่เข้าร่วมสังเกตการณ์เดินขบวนไปยังศาลากลางจังหวัดลำปาง ตัวแทนชุมชนผลัดกันปราศรัยสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่จากกฎหมายและนโยบาย ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพยายามเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย ตั้งแต่กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า จากคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ (คทช.) จนกระทั่งคำสั่งล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน ปี 2567 นี้ คือ ‘ปฏิบัติการพิทักษ์ไพร’ ที่มีคำสั่งตามหนังสือกรมป่าไม้ ที่ให้ตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่า หากพบว่าเป็นการบุกรุกให้ดำเนินการยึดพื้นที่คืนเพื่อนำไปดำเนินการปลูกป่าต่อไป ซึ่งแปลงทำกินที่เป็น ‘ไร่หมุนเวียน’ ของชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ เป็นหนึ่งในประเภทที่ดินที่หน่วยงานป่าไม้จะเข้ามา

“เราเชื่อว่ากระทรวงทรัพยากรฯ กรมป่าไม้ หรือหน่วยงานอะไรก็ตามแต่ รับรู้ถึงการมีอยู่ของไร่หมุนเวียน ทำไมถึงยังมีคำสั่งอะไรแบบนี้อยู่อีก เราอยู่อาศัย เราทำกินตามวิถีมาสามสี่ร้อยปี ป่าก็ยังเป็นป่าจนถึงทุกวันนี้ แค่นี้มันก็พิสูน์ได้ชัดเจนแล้วว่าคนอยู่กับป่า รักษาป่า ไม่ใช่ทำลาย ไม่ได้บุกรุก วันนี้เราอยู่ในบ้านโดยไม่ปกติสุข เราเดือดร้อน ผู้ว่าฯต้องรับรู้ว่า ประชาชนในพื้นที่ที่ท่านดูแลกำลังเผชิญกับอะไร” ถาวร หลักแหลม ชุมชนบ้านกลาง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง กล่าวขณะปราศรัย

สกน

 

 

สกน

เวลา 14.30 น.ที่ศาลากลาง ชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, สุรชัย แสงศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง และประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) มารอรับหนังสือจากขบวนผู้ชุมนุม โดยทางผู้ชุมนุมเจรจาให้เปิดห้องประชุมพูดคุยเป็นทางการ แต่ทางชนาธิป รองผู้ว่าฯ ปฏิเสธและให้เหตุผลว่าศาลากลางไม่มีห้องประชุมใหญ่พอรองรับคน 300 คน จะให้เจรจากันบริเวณบันไดหน้าอาคารศาลากลาง ซึ่งระหว่างการเจรจามีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองลำปางทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย ตรึงกำลังในบริเวณนั้นด้วย

เธียรชัย สกุลกระวี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านชุมชนขุนอ้อนพัฒนา อ.งาว จ.ลำปาง ชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ทำให้คนในชุมชนกังวลว่า จะยังสามารถดำรงชีวิตด้วยวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมได้อีกหรือไม่ และถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการตรวจยึดพื้นที่ภายใต้ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งในเบื้องต้นทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)ได้ยื่นหนังสือถึงพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วเพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินการตามนโยบายพิทักษ์ไพรของกรมป่าไม้ในทุกพื้นที่สมาชิกพีมูฟโดยทันที

ข้อเรียกร้องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง 

1. ให้ประสานงานไปยังผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง, ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ ที่ 3 ลำปาง และเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ให้ยุติการดำเนินการตรวจสอบที่อาจนำไปสู่การตรวจยึดพื้นที่ไร่หมุนเวียนของประชาชนในทุกพื้นที่ของจังหวัดลำปางโดย จนกว่าจะเกิดการเจรจากับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงต้นเดือนกรกฎาคมนี้ ในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วกับชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา หมู่ที่ 8 ต.บ้านอ้อน อ.งาว จ.ลำปาง ขอให้สั่งการให้หน่วยงานในพื้นที่ยุติการดำเนินการโดยทันที และผลการตรวจสอบทั้งหมดที่ดำเนินการไปแล้ว ชุมชนไม่ยอมรับ ให้ถือเป็นโมฆะทั้งหมด

2. ให้ประสานงานหน่วยงานทั้งหมดตามข้อ 1 มาชี้แจงกระบวนการตรวจสอบแปลงที่ดินทำกินเมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2567 ณ ชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนา เนื่องจาก สกน. เห็นว่า กระบวนการไม่มีความชอบธรรม อาจขัดต่อระเบียบในทางปฏิบัติของกรมป่าไม้ นอกจากนั้นให้ทุกหน่วยเปิดเผยข้อมูลตามแผนปฏิบัติการพิทักษ์ไพรทั้งหมดต่อ สกน. จังหวัดลำปาง ได้แก่ คำสั่งกรมป่าไม้, ข้อมูลตามโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพป่า, หลักเกณฑ์การพิจารณาว่าแปลงใดเป็นแปลงบุกรุก และข้อมูลพิกัดรายแปลงที่จะลงตรวจสอบ รวมถึงทุกครั้งที่มีการตรวจสอบพื้นที่แล้วให้ลงพื้นที่คืนข้อมูลแก่ชุมชนว่าผลการตรวจสอบเป็นไปตามที่ดำเนินการร่วมกับชุมชนหรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งจะถือเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และจะมีความผิดตามกฎหมาย

3. พื้นที่สมาชิก ขปส.ในจังหวัดลำปาง ขอยืนแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันผ่านคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งมีภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และขอยืนยันปฏิเสธแนวทางโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน ตามแนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) และปฏิเสธการใช้มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 26 พ.ย. 2561 เรื่อง กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ฉะนั้นชุมชนไม่ยินยอมให้มีการกดดันหรือบีบบังคับจากหน่วยงานใดให้ชุมชนต้องยอมรับแนวทาง คทช. เป็นอันขาด ซึ่งท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ จังหวัดลำปาง ต้องรับรู้และช่วยยืนยันเจตนารมณ์ของชุมชนด้วย

สกน

 

ประสิทธิ์ ท่าช้าง ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง (สจป.3 ลำปาง) ชี้แจงว่า เบื้องต้นได้ตรวจสอบกรณีแปลงบุกรุกที่ถูกยึดหรือถูกดำเนินคดีจากนโยบายปฏิบัติการพิทักษ์ไพรในพื้นที่อำเภองาวและอำเภอแม่เมาะ ซึ่งไม่พบการยึดพื้นที่หรือการดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยทาง สจป.3 ลำปางจะมีคำสั่งให้ชะลอการดำเนินการในพื้นที่ตามข้อเรียกร้องของทางสกน. ไปก่อน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีคำสั่งทางนโยบายจากระดับกรมและกระทรวง ในฐานะหน่วยงานระดับจังหวัดไม่อาจสามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งได้ มิฉะนั้นอาจมีความผิดทางอาญามาตรา 157 โทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ จึงอยากให้ทางชุมชนเข้าใจในส่วนนี้ด้วย

“การตรวจสอบว่าเป็นแปลงบุกรุกหรือที่ทำกินดั้งเดิม เรามีกระบวนการที่ให้ชุมชนมีส่วนร่วมอยู่แล้ว ถ้าทางชุมชนหรือผู้นำชุมชนสามารถรับรองได้ว่าเป็นพื้นที่ทำกินเดิมจริง ก็โอเค เราไม่มีการเข้าไปแบบกองโจร เราอยากให้ท่าทีระหว่างชาวบ้านกับป่าไม้มีความเป็นมิตรด้วยซ้ำ ในเบื้องต้น เราจะชะลอการตรวจสอบไปก่อนตามที่ท่านบอกว่าจะรอคำตอบจากทางกระทรวงทรัพยากรฯ” ประสิทธิ์กล่าว

ชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ประเด็นเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติเป็นประเด็นที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลากหลายมิติ ดังนั้น ควรมีการประชุมหารือร่วมกันอย่างเป็นทางการ ทั้งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ฝ่ายปกครอง ฝ่ายท้องที่ท้องถิ่น และชุมชนในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการดำเนินการร่วมกัน จึงอยากให้ชุมชนอดทนรอคอยกระบวนการหารือในระดับนโยบาย อย่างกรณีการทำไร่หมุนเวียน ถ้าชุมชนยืนยันว่าเป็นที่ทำกินดั้งเดิม ก็ต้องมีการพูดคุยกันให้ชัดเจน

“อยากให้ทางพี่น้องใจเย็น และอดทนรอสักหน่อย เพราะเป็นเรื่องจากคำสั่งในระดับนโยบาย ส่วนข้อร้องเรียนของพี่น้องในวันนี้จะเสนอไปยังผู้ว่าฯ และรายงานไปยังกระทรวงทรัพยากรฯ รวมถึงคณะทำงานแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนด้วย เอาให้ครอบคลุมหลาย ๆ ทาง” ชนาธิปกล่าว

จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้สอบถามถึงประเด็นชุมชนบ้านขุนอ้อนพัฒนาที่ขณะนี้ชุมชนมีความกังวลใจว่า แปลงไร่หมุนเวียนที่เตรียมจะหยอดข้าวในฤดูกาลนี้ จะยังสามารถทำกินได้ตามปกติหรือไม่ ทางประสิทธิ์ ผอ.สจป.3 ลำปาง ชี้แจงว่า ภายในวันพรุ่งนี้จะประสานงานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหารือถึงแนวทางในการปฏิบัติการในพื้นที่ หากได้รูปแบบแนวทางที่ชัดเจนและเหมาะสมแล้ว จะให้ทางหน่วยงานเข้าไปชี้แจงในพื้นที่เพื่อให้ชุมชนเกิดความเข้าใจร่วมกันต่อไป

ผลการเจรจาในครั้งนี้ ทางสกน.ชี้แจงว่า ยังไม่เป็นไปตามที่คาดไว้เท่าไรนัก หากพิจารณาจากข้อเรียกร้องทั้งสามข้อ อาจกล่าวได้ว่ามีเพียงข้อเรียกร้องข้อแรกที่เสนอให้ยุติการดำเนินการตรวจสอบในพื้นที่ที่ทางผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 ลำปาง ชี้แจงได้ในระดับหนึ่งว่าจะมีคำสั่งในระดับจังหวัดให้ชะลอการดำเนินการไปก่อน ซึ่งก็ยังไม่เป็นไปตามความประสงค์ของชุมชนที่ต้องการให้ยุติการดำเนินการ ไม่ใช่เพียงแค่การชะลอเท่านั้น ส่วนข้อเรียกร้องที่เหลือทางสกน.เห็นว่า ยังไม่ได้รับการชี้แจงหรือยืนยันจากทางหน่วยงานแต่อย่างใด โดยหลังจากนี้ คาดว่าจะมีแผนการยกระดับการเคลื่อนไหวจากระดับจังหวัดไปสู่ระดับประเทศ เพื่อกดดันให้ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งการเปิดประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net