เผยสถิติ 3 อันดับเรื่องร้องเรียน กสม. มากสุดในปี 64 พบสิทธิในกระบวนการยุติธรรมยังคงครองแชมป์

กสม.เผยสถิติเรื่องร้องเรียนปี 64 มีทั้งหมด 571 เรื่อง ประเด็นที่ร้องเรียนมากสุดคือ 'สิทธิในกระบวนการยุติธรรม' อยู่ที่ 25.22% เช่น การทำร้ายร่างกายขณะคุมตัว และอื่นๆ หน่วยงานที่ถูกร้องเรียนมากสุดคือ กอ.รมน. สตช. และราชทัณฑ์

 

20 ม.ค. 65 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งวันนี้ (20 ม.ค.) เวลา 10.30 น. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดยนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 2/2565  โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

สถิติเรื่องร้องเรียน กสม.ปี 64 สิทธิในกระบวนการยุติธรรมครองแชมป์

กสม. เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2564 โดยพบว่า มีเรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมาจำนวน 571 เรื่อง และประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 

อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 25.22 เช่น กรณีขอความช่วยเหลือให้เร่งรัดการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว กรณีการตั้งด่านตรวจค้นมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับเพศสภาพ เป็นต้น 

สำหรับหน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด ต่อเนื่องมาหลายปี

สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อันดับที่ 2 สิทธิพลเมือง คิดเป็นร้อยละ 18.21 เช่น กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม กรณีได้รับผลกระทบจากการกักตัวหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อดูอาการจากโรคโควิด 19 เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี 

อันดับที่ 3 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน คิดเป็นร้อยละ 6 เช่น กรณีการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเวนคืนที่ดินโดยไม่เป็นธรรม กรณีปัญหาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของประชาชน กรณีการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย 

ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิชุมชน สิทธิและสถานะบุคคล สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น

สำหรับการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2564 จำนวน 130 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 40 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 10 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 80 คำร้อง โดย กสม. มีนโยบายให้ดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการจนแล้วเสร็จ เช่น คำร้องเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เป็นต้น 

การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2564 มีจำนวน 185 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ 

(2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า และ (3) สิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเด็ก และเสรีภาพในการเสนอข่าวสารกรณีการชุมนุมทางการเมือง 

ขณะที่การจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเสนอต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปีที่ผ่านมามี 4 กรณี ได้แก่ 

(1) ข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 

(2) ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิต่อกรณีการจำหน่ายรายการบุคคล
ออกจากฐานข้อมูลทะเบียนและการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 

(3) ข้อเสนอแนะในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร 

(4) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน

แนะกองทัพกำหนดแนวทางในการป้องกันสนามยิงปืนไม่ให้กระทบสิทธิของประชาชน

กสม. ในการประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2564 ได้พิจารณาคำร้องเรื่องสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัว กรณีกล่าวอ้างว่าเสียงยิงปืนจากสนามฝึกยิงปืนของกองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ รบกวนการอยู่อาศัย โดยกรณีนี้ ผู้ร้องได้ร้องเรียนมายัง กสม. เมื่อเดือนกันยายน 2564 ระบุว่าตนพักอาศัยอยู่บริเวณถนนประชาราษฎร์สาย 2 แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ห่างจากสนามยิงปืนของผู้ถูกร้อง ประมาณ 2.8 กิโลเมตร โดยในระยะหลังมักได้ยินเสียงซ้อมยิงปืนในช่วงค่ำ นอกเวลาราชการ ซึ่งเป็นช่วงเวลาพักผ่อน ผู้ร้องประสงค์ให้หน่วยงานผู้ถูกร้องฝึกซ้อมยิงปืนเฉพาะในเวลาราชการเช่นเดิมหรือปรับปรุงให้สนามยิงปืนมีเสียงเบาลงที่ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ส่วนตัว จึงขอให้ตรวจสอบ 

กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า สิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน ได้รับการรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 32 อย่างไรก็ดี จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง หน่วยงานผู้ถูกร้องชี้แจงว่าไม่ได้ฝึกซ้อมยิงปืนในช่วงเวลาที่มีการร้องเรียนแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ จึงได้ประชาสัมพันธ์แจ้งให้ประชาชนรับทราบล่วงหน้าหากมีการฝึกซ้อมยิงปืน นอกจากนั้นในช่วงนี้ยังได้ขอใช้สนามยิงปืนของหน่วยอื่นเพื่อฝึกซ้อมแทนชั่วคราว และอยู่ระหว่างของบประมาณเพื่อปรับปรุงสนามยิงปืนให้เป็นแบบสนามปิดเพื่อป้องกันเสียงดังรบกวนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ขณะที่ผู้แทนของสำนักงานนิติบุคคลอาคารชุดที่ผู้ร้องอาศัยอยู่ให้ข้อมูลว่าเบื้องต้นยังไม่ได้ยินเสียงในช่วงเวลาตามที่มีการร้องเรียนและยังไม่เคยมีลูกบ้านร้องเรียนในกรณีดังกล่าว ในชั้นนี้ จึงยังไม่ปรากฏว่าสนามยิงปืนของหน่วยงานผู้ถูกร้องมีเสียงดังหรือมีการฝึกซ้อมยิงปืนนอกเวลาราชการ ซึ่งยังไม่ปรากฏว่ามีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองมีการขยายตัวซึ่งอาจทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตและเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในความเป็นอยู่ส่วนตัวของประชาชน กสม. จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไปยังกองทัพบกให้แจ้งกำชับหน่วยงานในสังกัดที่มีสนามฝึกซ้อมยิงปืนใกล้กับแหล่งชุมชนฝึกซ้อมยิงปืนเฉพาะในช่วงเวลาราชการ นอกจากมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องฝึกซ้อมนอกเวลาราชการควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนโดยรอบทราบทั่วกันเป็นการล่วงหน้า พร้อมกันนี้ให้ตรวจสอบมาตรฐานสนามยิงปืนของหน่วยงานในสังกัดที่อยู่ใกล้กับแหล่งชุมชนว่าเสียงยิงปืนกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนเกินมาตรฐานเรื่องเสียงรบกวนหรือไม่ เพื่อหาแนวทางปรับปรุงหรือแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกัน หรือในกรณีที่เหมาะสมอาจปรับปรุงสนามยิงปืนให้มีลักษณะเป็นสนามยิงปืนแบบปิดต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท