องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติลดอันดับดัชนีรับรู้ทุจริตไทยลงมา 110 จาก 180 ประเทศ

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติลดอันดับดัชนีการรับรู้ทุจริตของไทยให้อยู่ที่ 110 จาก 180 ประเทศ เป็นอันดับ 6 ของอาเซียน ปีนี้ได้คะแนน 35 เต็ม 100 ลดจากปีที่แล้ว 1 คะแนน 

25 ม.ค.2564 เว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เผยแพร่ตารางอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ประจำปี 2564 ที่อ้างอิงมาจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International (TI) ซึ่งมีการเผยแพร่เป็นเว็บไซต์ของ TI ด้วยเช่น ระบุว่าไทยอยู่อันดับที่ 110 จาก 180 ประเทศ ได้คะแนน 35 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ลดลงจากปี 2563 1 คะแนน

ภาพจากสำนักงาน ป.ป.ช.

ในกลุ่มประเทศอาเซียนอันดับของไทยอยู่ต่ำกว่า 1.สิงคโปร์ 85 คะแนน 2.มาเลเซีย 48 คะแนน 3.ติมอร์-เลสเต 41 คะแนน 4.เวียดนาม39 คะแนน 5.อินโดนีเซีย 38 คะแนน แล้วจึงตามมาด้วย6.ไทย 35 คะแนน ส่วนกลุ่มที่ได้น้อยกว่าไทยคือ 7.ฟิลิปปินส์ 33 คะแนน 8.ลาว 30 คะแนน 9.พม่า 28 คะแนน 10.กัมพูชา 23 คะแนน ส่วนบรูไนไม่มีคะแนนปีล่าสุด แต่ปีที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 61 คะแนน

ภาพจากสำนักงาน ป.ป.ช.

นอกจากการจัดอันดับของ TI แล้วดัชนีหนึ่งที่ TI นำมาอ้างอิงคือดัชนีของทางโครงการความยุติธรรมโลก (World Justice Project หรือ WJP) ซึ่งปีนี้ก็อัพเดตการจัดอันดับความมีนิติรัฐของไทยในปี 2564 ไว้ที่อันดับ 80 จากทั้งหมด 139 ประเทศ โดยมีดัชนีอยู่ที่ 0.50  (ทั้งนี้การคิดคะแนนของ WJP จะเป็นการให้คะแนนช่วง 0-1 คะแนนสูงสุดคือ 1 และต่ำสุดคือ 0 ยิ่งเข้าใกล้ 1 ยิ่งมีนิติรัฐที่แข็งแรงมีประสิทธิภาพมาก)

ดัชนีของ WJP มีปัจจัยชี้วัดที่นำมาพิจารณาร่วมกัน 8 ประเด็น(ตามภาพด้านล่าง) ได้แก่ 1. การจำกัดอำนาจของรัฐบาล 0.46 คะแนน 2.การปราศจากการคอร์รัปชัน 0.47 คะแนน 3.ความโปร่งใสตรวจสอบได้ของรัฐบาล 0.49 คะแนน 4.สิทธิขั้นพื้นฐาน 0.47 คะแนน 5.ระเบียบและความมั่นคง 0.71 คะแนน 6.การบังคับใช้กฎหมาย 0.46 คะแนน 7.กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง 0.48 คะแนน และ 8.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา 0.43 คะแนน ตามลำดับ

ความเชื่อมั่นตกต่ำต่อเนื่อง ปัญหาการเมือง ประชาชนไม่มีเสรีภาพ

หากดูข้อมูลดัชนี CPI ย้อนหลังไปในปี 2563 จากรายงาน Global Corruption Barometer Asia 2020 (GCB) ฉบับเต็มของ TI ที่เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2020(รายงาน GCB ปี 2021 ของพื้นที่เอเชียแปซิฟิกทาง TI ยังไม่ได้ออกรายงานมาจึงยังไม่มีรายละเอียดของการให้คะแนน) ได้ให้รายละเอียดระบุว่าจากการทำสำรวจความเห็นในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม 2020 ต่อเรื่องการทุจริตในแง่มุมต่างๆ ด้วยแบบสอบถาม จากการสุ่มตัวอย่างในประเทศไทยจำนวน 1,000 คน มีถึง 88% ที่เห็นว่าการคอรัปชั่นในรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ และ 55% ที่เห็นว่าในรอบ 12 เดือนมีการคอรัปชั่นเพิ่มมากขึ้น(รายงานหน้า 8) แต่ผู้ที่ตอบแบบสอบถามเห็นว่ารัฐบาลจัดการกับปัญหานี้ได้แย่ถึง 73% (รายงานหน้า 13)

นอกจากนั้นในรายงานยังระบุอีกว่าจากตัวอย่าง 1,000 คนนี้ มีถึง 71% บอกว่าไม่มีความเชื่อใจต่อรัฐบาลหรือมีน้อย และยังเป็นประเทศที่คนไม่เชื่อใจหน่วยงานตำรวจสูงที่สุดในอาเซียนคือ 59% และคนที่ทำแบบสำรวจ 40% ก็ไม่เชื่อใจศาลด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลและหน่วยงานอย่างตำรวจรวมถึงองค์กรตุลาการขาดความน่าเชื่อถือและระบบที่ซื่อตรง ทั้งที่ตำรวจและองค์กรตุลาการควรจะเป็นแนวหน้าในการต่อต้านการคอรัปชั่น (รายงานหน้า 17)

รายงานยังมีคำถามถึงประสบการณ์ที่ผู้ตอบแบบสอบถามเคยเจอการทุจริตเมื่อต้องเข้าใช้บริการของหน่วยงานสาธารณะต่างๆ ในรอบ 12 เดือนก่อนทำแบบสำรวจอย่างไรบ้างพบว่า มีผู้ที่เคยจ่ายเงินใต้โต๊ะ 24% และ 27% ที่เคยใช้เส้นสาย 28% เคยได้รับข้อเสนอให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ รวมถึงมีคน 15% ที่เคยมีประสบการณ์หรือได้รับรู้เรื่องราวว่ามีการหาประโยชน์ทางเพศเช่นการใช้อำนาจหรือแลกเปลี่ยนด้วยการขอจับ ให้เปลือยหรือขอภาพเปลือย ไปจนถึงการขอมีเพศสัมพันธ์ (รายงานหน้า 53)

ส่วนคะแนน CPI เต็มร้อยแต่ของไทยได้ 36 คะแนน ส่วนอันของไทยอยู่ที่ 104 จากทั้งหมด 180 ประเทศ

ทั้งนี้ก็ต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่าอันดับของไทยทั้งดัชนีหลักนิติธรรมและดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นแม้จะขึ้นๆ ลงๆ อยู่บ้างก็เนื่องมาจากในทั้งสองดัชนีมีจำนวนประเทศที่ถูกจัดอันดับมากขึ้นแต่คะแนนเฉลี่ยแต่ละปีของไทยนั้นค่อนข้างคงที่มาโดยตลอดตามรายงานของทั้งสององค์กร

หากดูในรายละเอียดของการจัดอันดับของทั้ง TI และ WJP การป้องกันทุจริตนอกจากเรื่องความโปร่งใสแล้วยังเกี่ยวพันกับสิทธิทางการเมือง กระบวนการยุติธรรมและเสรีภาพของประชาชนด้วย แต่สำหรับประเทศไทยประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ยังอยู่ในสถานะ “ไร้เสรีภาพ” ตามรายงานของฟรีดอมเฮาส์ที่ออกมาเมื่อเดือนมีนาคมปี 2564 (จากการตรวจสอบทางฟรีดอมเฮาส์ยังไม่ได้ออกรายงานอัพเดตมาในปีนี้)

จากรายงานของฟรีดอมเฮาส์จัดให้ไทยอยู่ในสถานะนี้เกือบจะต่อเนื่องกัน 5 ปี ตั้งแต่ 2560-2564 มีปี 2563 ที่ไทยได้ขยับขึ้นมาเป็น ‘มีเสรีภาพบางส่วน’ ก่อนจะตกกลับลงมาที่เดิมเหมือนช่วงรัฐบาลทหารทั้งจากปัญหาการข่มขู่คุกคามจับกุมประชาชน จำกัดเสรีภาพสื่อ ทำให้ไทยมีคะแนนเสรีภาพอยู่ที่ 30 คะแนนจากเต็ม 100 คะแนน

ในรายงานของฟรีดอมเฮาส์มีหัวข้อเกี่ยวกับประสิทธิภาพของรัฐบาลที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 12 คะแนนจากคะแนนรวมทุกหัวข้อคือ 100 คะแนน โดยมีประเด็นที่ใช้พิจารณาให้คะแนน 3 ประเด็นคือ ผู้นำรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างสุจริตและสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล มาตรการป้องกันการทุจริตของภาครัฐ การเปิดกว้าง และความโปร่งใสของรัฐบาล ซึ่งไทยได้ไปเพียง 2 คะแนนเท่านั้นในหัวข้อประสิทธิภาพของรัฐบาล

ประเด็นแรกรายงานระบุว่า แม้จะมีการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 และพรรคฝ่ายค้านที่ได้ที่นั่งในสภาไปจำนวนมากก็ตาม แต่รัฐบาลไทยก็ยังมีอำนาจอย่างมาก ทั้งจากการที่วุฒิสมาชิกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ทั้งยังได้สิทธิในโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีและผ่านกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ (long term strategy) ร่วมกับ ส.ส. และอดีตผู้นำทหารและพวกพ้องยังคงเป็นผู้ตัดสินใจในการออกนโยบายและกฎหมายใหม่ต่างๆ นอกจากนั้นรายงานยังระบุถึงการขยายอำนาจทั้งทางการเมืองและการทหารของสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้นด้วย

ประเด็นที่สอง มาตรการป้องกันการทุจริตในภาครัฐของไทย รายงานระบุว่ากฎหมายต่อต้านการทุจริตของไทยไม่ได้ถูกนำมาบังคับใช้อย่างเพียงพอ การติดสินบนเกิดขึ้นอย่างเป็นปกติทั้งในภาคธุรกิจ การบังคับใช้กฎหมาย และระบบยุติธรรม ทั้งที่ ปปช.เองก็ได้รับคำร้องเป็นจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งกฎหมายต่อต้านการทุจริตก็ผ่านออกมในช่วงรัฐบาล คสช. แต่รัฐบาลทหารเองก็เข้าไปเกี่ยวพันกับการทุจริตอย่างกว้างขวาง เล่นพรรคเล่นพวกและใช้ระบอบอุปถัมภ์ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ถูกนำกลับมาพูดถึงอีกเลยแม้ว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลกึ่งพลเรือนตั้งแต่ 2562 แล้วก็ตาม

ประเด็นที่สามเรื่องความโปร่งใส รายงานระบุว่า หลังเลือกตั้ง 2562 ทำให้ไทยกลับมามีรัฐสภาที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอีกครั้ง ทำให้ภาพรวมของด้านความโปร่งใสของรัฐบาลไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กองทัพก็ยังคงเข้ามาครอบงำการดำเนินงานรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรในการตัดสินใจในประเด็นสำประเด็นสำคัญๆ และการผ่านกฎหมายต่างๆ ออกมา โดยที่กองทัพเองก็ไม่มีความโปร่งใสและตรวจสอบไม่ได้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท