Skip to main content
sharethis

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) แฉ “วงจรโกง” ที่ดินและผืนป่าสมบัติของแผ่นดินผ่านคดี “หาดยามู จ.ภูเก็ต” เป็นกรณีศึกษา ป.ป.ช.ระบุเฉพาะปี 2567 มีคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั่วประเทศ 1,513 เรื่อง มากสุดที่ภูเก็ต 30 เรื่อง สะท้อนชัดรัฐขาดประสิทธิภาพ กว่า 10 หน่วยงานมีอำนาจจัดการแต่ทับซ้อน  ซ้ำร้ายเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับมีส่วนได้ส่วนเสียทุกขั้นตอน จี้รัฐให้จัดการระบบข้อมูลใหม่เป็นข้อมูลเปิดให้ประชาชนร่วมเฝ้าระวัง

เมื่อช่วงต้นเดือน มิ.ย. 2567 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้เขียนบทความเผยแพร่ผ่านเพจ Mana Nimitmongkol และเพจ ACT ถึงปัญหาการบุกรุกป่าคราวละนับร้อยนับพันไร่มาทำโรงแรม รีสอร์ท โรงงาน บ้านพักตากอากาศ เช่น ที่ดินรถไฟเขากระโดง จ.บุรีรัมย์ สนามกอล์ฟและสนามแข่งรถที่เขาใหญ่ ฟาร์มเป็ด จ.ราชบุรี การออก ส.ป.ก. ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ รวมทั้งการบุกรุกหาดยามู จ.ภูเก็ต ฯลฯ ที่เป็นคดีครึกโครมระดับชาติจำนวนมาก นั้น  เจาะลึกลงไปแล้ว มาจากความอ่อนแอของกลไกรัฐที่เอื้อให้เกิด “ห่วงโซ่คอร์รัปชัน”  หรือ “วงจรโกง” ซ้ำแล้วซ้ำอีก และหาจุดสิ้นสุดยาก เพราะเจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับเป็นตัวการสำคัญในทุกขั้นตอน ดังที่ป.ป.ช.ระบุว่า คดีทรัพยากรธรรมชาติฯ ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนพฤติกรรมของผู้ว่าราชการจังหวัด รองผู้ว่าฯ และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามด้วยเจ้าหน้าที่ที่ดิน และ สปก.

ทั้งนี้ บทความดังกล่าวได้เปิดเผยให้เห็นเส้นทางโกงจากคดีบุกรุกหาดยามู จ.ภูเก็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ว่าเริ่มจากกลุ่มนายทุนซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติชี้เป้าที่ดินหรือป่าสงวนแห่งชาติที่ต้องการ และจ่ายเงินให้กลุ่มผู้ดำเนินการหรือผู้ประสานงาน ให้ไปหาทางออกโฉนดที่ดินแปลงนั้น แล้วขบวนการสมคบคิดก็เริ่มต้นโดยทุกคนที่เกี่ยวข้องต่อไปนี้ต้องมาวางแผนรับรู้ร่วมกัน  ได้แก่ ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดิน โดยเจ้าหน้าที่ที่ดินจะออกทำรังวัดและแจ้งให้เจ้าของที่ดินข้างเคียงมารับรองแนวเขต ในกรณีนี้เป็นที่ป่าสงวนฯ  เจ้าหน้าที่ “ป่าไม้” ที่รับผิดชอบเขตดังกล่าว ออกจดหมายแจ้งไปยังเจ้าหน้าที่ที่ดิน ด้วยข้อมูลเท็จว่า ที่ดินแปลงดังกล่าวอยู่นอกเขตป่าสงวนฯ และจดหมายนั้นกลายเป็นสารตั้งต้นไปจนจบกระบวนการออกโฉนด  ขั้นตอนนี้มักมีการสอบยืนยันข้อมูลการใช้ที่ดินจากฝ่ายปกครองในท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านด้วย ในการออกสำรวจรังวัดในสถานที่ เจ้าหน้าที่ที่ดิน และนายช่างรังวัดพร้อมแผนที่และอุปกรณ์ ย่อมต้องเห็นสภาพแท้จริง แต่ก็ไม่บันทึกข้อมูลหรือตั้งข้อสังเกตว่าที่ดินแปลงนั้นอาจอยู่ในเขตป่าสงวนฯ หรือไม่  แล้วจัดทำเอกสารตามขั้นตอนในสำนักงานที่ดิน ก่อนส่งเรื่องถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาอนุมัติตามขั้นตอน เนื่องจากเป็นที่ดินไม่มีเอกสารแจ้งการครอบครอง (เช่น ส.ค.1 - น.ส.3) จึงส่งเรื่องกลับไปยังเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อออกโฉนด

“ขั้นตอนมากมายนี้ กลุ่มผู้ดำเนินการเป็นผู้เดินเรื่องทั้งสิ้น ในขณะที่กลุ่มนายทุนมีหน้าที่จ่ายเงิน ลงนามทำนิติกรรมแล้วรอรับโฉนดสกปรกไปนอนกอด เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนที่กล่าวถึงนี้ต่างได้รับเงินใต้โต๊ะก้อนใหญ่ทุกครั้ง โดยรับรู้กันว่า งานใหญ่มูลค่าสูงมักมีผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ร่วมรับผลประโยชน์ด้วย” นายมานะกล่าว

นอกเหนือจากปัญหาเจ้าหน้าที่รัฐเป็นตัวการสำคัญในทุกห่วงโซ่คอร์รัปชันแล้ว มีหลายสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ระบบการจัดการทีดินของภาครัฐขาดประสิทธิภาพอย่างยิ่ง และเป็นระบบที่อ่อนแอ เพราะมีหน่วยงานรัฐที่มีที่ดินอยู่ในความดูแลมากถึง 10 หน่วยงาน ต่างก็มีอำนาจและผลประโยชน์ของตนตามกฎหมาย 12 ฉบับ ใครที่มีช่องทาง มีโอกาส มีอำนาจที่ไหน ก็ไปวิ่งเต้นเส้นสายที่นั่น ประกอบด้วย  (1) กรมที่ดิน เช่น ที่ดินมีโฉนด, น.ส.3, น.ส.3 ก., ใบจอง, น.ส.ล. (2) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เช่น อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธ์สัตว์ (3) กรมธนารักษ์ เช่น ที่ดินทหาร ที่ดินสงวนไว้ใช้ในราชการ ที่ราชพัสดุ (4) สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร เช่น เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 และโฉนดเพื่อการเกษตร  (5) กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เช่น การออกเอกสาร น.ค.1 น.ค.3 ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ (6) กรมทางหลวง เช่น ที่ดินในเขตทางหลวง (7) กรมป่าไม้ เช่น ป่าสงวน ป่าคุ้มครอง (8) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ป่าชายเลน ป่าพรุ ป่าบก (9) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น ที่ดินในความดูแลของ อปท. (10) กรมพัฒนาที่ดิน เช่น ที่ดินตามโครงการพัฒนาปรับปรุงของรัฐ

นายมานะยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า แม้ทุกหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินจะมีอำนาจดำเนินคดีกับผู้บุกรุกแล้ว ยังมีอีก 3 หน่วยงานกลาง คือ ป.ป.ช. กรณีคดีมีเจ้าหน้าที่รัฐร่วมด้วย หรือหากเป็นคดีใหญ่ ซับซ้อน หรือประชาชนสนใจมากและไม่มีเจ้าหน้ารัฐเกี่ยวข้องก็จะเป็นอำนาจของดีเอสไอ และยังมีป.ป.ง. อาจร่วมทำคดีเพื่อยึดที่ดินแปลงที่มีประเด็นได้ก็ตาม  แต่หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า ทำไมอัยการจึงสั่งไม่ฟ้องคดีประเภทนี้จำนวนมากที่ส่งมาจาก ป.ป.ช. ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ต้นตอ จึงจำเป็นที่รัฐจะต้องจัดการเรื่องระบบข้อมูลที่ดินใหม่ ไม่ให้เกิดการโต้แย้งกันระหว่างหน่วยงาน มีการรวมศูนย์ข้อมูลแล้วเปิดเผยประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการผืนป่าน่าจะเป็นความหวัง เพราะประเทศไทยมีที่ดินจำกัดและควรให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการสมบัติสาธารณะ

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net