Skip to main content
sharethis

'สมชาย หอมลออ' ยกเหตการณ์ 'พฤษภา 2535' นำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ควบคุมตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่ คุ้มครองสิทธิประชาชน แต่ไม่มีการสานต่อ ซัด รัฐประหาร 2 ครั้งล่าสุดทำประชาธิปไตยไทยถอยหลังเข้าคลอง ออกกฎหมายนิรโทษกรรมทำให้คนสั่งการลอยนวล ระบบอำนาจนิยมครอบงำองค์กรอิสระ ชี้ ตอนนี้ ส.ว. คืออุปสรรคความก้าวหน้า แนะตั้ง สสร. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540

2 ก.พ. 2565 สมชาย หอมลออ ที่ปรึกษาคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึงกระบวนการพฤษภาประชาธรรมที่เกิดขึ้นจะมีผลต่อกระบวนการยุติธรรม โดยระบุว่าพฤษภาประชาธรรมที่เกิดขึ้นนำมาสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญแบบปี 2540 ซึ่งเป็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำคัญครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสมัยรัชกาลที่ 5 เช่น การกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ตัดอำนาจในการออกหมายจับหมายค้นของตำรวจ หรือของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ว่าให้เป็นอำนาจของศาลเพื่อที่จะให้เกิดระบบการตรวจสอบถ่วงดุล การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่โดยฝ่ายตุลาการ

“เป็นเรื่องที่ชัดเจนมากซึ่งตอนนั้น ได้รับการถูกคัดค้านจากเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างมาก เพราะเมื่อก่อนการจะออกหมายค้นหมายจับ ตำรวจสามารถออกได้เลย แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดให้ศาลเป็นคนออกเท่านั้น รวมทั้งเรื่องการจับกุมผู้ต้องหาในคดีอาญา เมื่อก่อนตำรวจสามารถที่จะจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่ากระทำผิดทางอาญา เป็นผู้ต้องหาและขังไว้ที่โรงพักได้เป็นเวลาถึง 7 วัน ในช่วง 7 วันนั้นสามารถที่จะมีพฤติกรรมในการสอบสวน ที่อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หลายอย่าง เช่น การซ้อมทรมานผู้ต้องหา เป็นต้น แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนดไว้ชัดเจนว่า จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ในชั้นสอบสวนที่โรงพักได้เพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น” สมชาย กล่าว

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวต่อว่า ถ้าจะควบคุมนอกเหนือจากกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ต้องขออนุญาตจากศาลเรียกว่าฝากขังต่อศาล ซึ่งมีผลในการคุ้มครองเสรีภาพของผู้ต้องหาได้พอสมควร นอกจากนั้นยังกำหนดความเป็นอิสระ ในการพิจารณาพิพากษาของตุลาการด้วย ซึ่งเป็นการวางรากฐานที่ดี กระทั่งให้อำนาจพนักงานอัยการมากขึ้น ในการที่จะตรวจสอบการทำงานของพนักงานสอบสวน แต่ที่เสียดายคือความริเริ่มที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่ได้มีการสานต่อ แทนที่จะมีการพัฒนาทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น กลับทำให้ไม่มีการพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีการสานต่อและถือว่าล้มเหลวจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน

นอกจากนี้ ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังได้รับรองเรื่องสิทธิเสรีภาพ ของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาไว้จำนวนมาก รวมทั้งสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญาด้วย อย่างไรก็ตามสิ่งหนึ่งที่เป็นปมเงื่อนที่สำคัญ ที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมทางอาญาไปไม่ถึงไหน คือ ยังไม่มีกระบวนการในทางกฎหมายใดๆ ในการที่จะปฏิเสธหรือไม่ยอมรับอำนาจรัฐประหาร ดังนั้นจึงเกิดการรัฐประหารอย่างน้อยซ้ำแล้วซ้ำอีกถึง 2 ครั้งตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ซึ่งทำให้ประชาธิปไตยของไทย ถอยหลังเข้าคลองไปอย่างมาก

“การถอยหลังเข้าคลองของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ทำให้ระบบอำนาจนิยมมีอำนาจมากขึ้น ส่งผลสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม แม้ว่าจะเกิดขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ก้าวหน้าไปเท่าที่ควร และผลเสียที่เกิดขึ้นตอนนี้คือ ฝ่ายบริหารมีบทบาท หรืออิทธิพลครอบงำองค์กรอิสระ โดยรัฐสภา หรือโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่มาจากการแต่งตั้ง ของฝ่ายรัฐประหารของผู้มีอำนาจ ทำให้องค์กรอิสระปัจจุบันหลายองค์กร ไม่เป็นองค์กรอิสระอย่างแท้จริง รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย จึงทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และทำให้ประชาชนไม่เชื่อถือองค์กรอิสระ ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่าประเด็นที่ขัดแย้ง กลับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างมาก ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำหรือร่างอย่างแท้จริง” สมชายกล่าว

สมชายกล่าวอีกว่าตรงนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก นอกจากจะยอมรับที่จะให้การรัฐประหารเกิดขึ้นได้แล้ว ยังทำให้ผู้ที่กระทำความผิดเกี่ยวกับการใช้อำนาจ เข่น ฆ่าประชาชนสามารถที่จะลอยนวลได้ เช่น ยอมรับผลพวงของกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งการรัฐประหารทุกครั้ง การปราบปรามประชาชนทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าทำการเข่นฆ่าผู้ชุมนุมยังไม่ถูกต้อง

“ตรงนี้ ออกกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วทำให้คนเหล่านี้ลอยนวลพ้นผิดได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สั่งการหรือรัฐบาลหรือผู้ปฏิบัติ  ถือว่าเป็นความบกพร่องของกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถจะทำให้ คนที่เข่นฆ่าประชาชนที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เพื่อประชาธิปไตยหรือคนที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เพื่อที่จะเสนอความคิดเห็น หรือข้อเรียกร้องทางการเมือง ซึ่งจะตรงจุดนี้อาจจะมีบางคนบางกลุ่มอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ แต่ถ้าดำเนินการอย่างสันติวิธีไม่ได้ใช้ความรุนแรง รัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่ก็ไม่ควรที่จะใช้กำลัง เข้าไปปราบปรามเข่นฆ่าเขา แต่กลับทำให้การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้คนเหล่านี้ที่เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นผู้สั่งการลอยนวลผลผิดได้” ที่ปรึกษา ครป. กล่าว

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวอีกว่าวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดเป็นอุปสรรคอย่างมาก ที่ทำให้ผู้ที่กุมกำลังไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่มีอาวุธ หรือกำลังที่เป็นอิทธิพลทางด้านการเมือง ไม่เกรงกลัวกฎหมาย สามารถที่จะใช้อำนาจและกำลัง ในการที่จะไปปราบปรามประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างจากตนเองในทางการเมือง ทั้งนี้ ตนไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องที่เกิดจากรัฐบาลที่ทหารหนุนเท่านั้น แม้แต่รัฐบาลที่อาจจะมาจากการเลือกตั้งก็อาจจะใช้อำนาจหรือกำลังเจ้าหน้าที่ไปในทางที่ไม่ถูกต้องได้เช่นเดียวกัน โดยที่ตัวเองไม่ต้องรับผิด เหมือนกับกรณีที่เราเรียกว่าสงครามยาเสพติด เป็นต้น

“ตรงนี้เป็นความบกพร่องอย่างร้ายแรงของกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการยุติธรรมชั้นต้น คือ พนักงานเจ้าหน้าที่ ตำรวจ พนักงานสอบสวน ชั้นอัยการที่ไม่สามารถที่จะเอาเจ้าหน้าที่ที่ กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมได้ อย่างไรก็ตาม การที่ยังไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ไม่มีการต่อต้านคัดค้านการรัฐประหาร เอาผิดกับผู้ที่ทำการรัฐประหารอย่างแท้จริง หรือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้คนที่กระทำความผิดลอยนวล เป็นเงื่อนไขและปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้”

ที่ปรึกษา ครป. กล่าวต่อว่า วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังนำไปสู่เรื่องอื่นๆ อีกมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ซึ่งกระทำผิดกฎหมายรู้สึกว่าตัวเองเมื่อทำความผิดแล้วไม่ต้องรับผิด เช่น การซ้อมทรมาน การอุ้มหายที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันนี้ประชาชนก็เรียกร้องให้มีการปฏิรูปตำรวจ ให้มีการปฏิรูปอัยการ ปฏิรูปศาล กระทั่งผลักดันให้มีการออกกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด เฉพาะการทำความผิดร้ายแรง การทรมาน การอุ้มหายลอยนวล แต่ก็ยังไม่ได้รับความสำเร็จ เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาท้าทายสังคมไทย และเป็นปัญหาท้าทายสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งด้วย

“ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ตราบใดที่วุฒิสภายังมาจากการแต่งตั้ง เพราะวุฒิสภาปัจจุบันนี้ก็ต้องถือว่าเป็นตัวแทน ของกลุ่มที่กระทำการรัฐประหาร เป็นฝ่ายอำนาจนิยม ที่ต้องการอนุรักษ์สิ่งต่างๆเดิมไว้ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเงื่อนไขสำคัญที่สุด อาจจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เหมือนกับที่เรา จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 เป็นต้น” สมชาย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net