Skip to main content
sharethis

รูปปั้น ‘ไมค์กี้’ ตัวละครจากอนิเมะชื่อดัง ‘Tokyo Ravengers’ ถูกจัดแสดงในงานศิลปะที่ญี่ปุ่น แหล่งข่าวเผยได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไทย ชาวเน็ตบางส่วนแซว 'มาม่าแน่นอนถ้าอยู่ไทย' หรืออาจโดนสำนักพุทธฯ สั่งสอบ

งานจัดแสดงศิลปะการ์ตูนเรื่อง ‘Tokyo Revengers’ ระหว่างวันที่ 29 ม.ค. 65 ถึง 14 ก.พ. 65 ที่อิเคะบุคุโระ ประเทศญี่ปุ่น พบว่ามีพระพุทธรูปทองคำของเจ้าสังเวียนนักเลง ‘มานจิโร่ ซาโนะ’ หรือ ‘ไมค์กี้’ อยู่ในงาน แหล่งข่าวเผยได้รับแรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปปางไสยาสน์ของไทย แฟนคลับญี่ปุ่นในเครื่องแบบ ‘แก๊งโทมัน’ แห่ประกอบพิธีบูชา เพื่อภาวนาให้ชีวิตมีแต่ความปลอดภัย ชาวเน็ตแซว สำนักพุทธฯ และชาวพุทธบางส่วนอาจโกรธ แต่คงทำอะไรไม่ได้ 

‘มานจิโร่ ซาโนะ’ หรือ ‘ไมค์กี้’ ตัวละครจากอนิเมะ 'Tokyo Ravengers' (ซ้าย) - รูปปั้น 'ไมค์กี้' (ที่มา TOKYO卍REVENGERS EXHIBITION)

ข้อมูลข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้มาจากเว็บข่าวอนิเมะ 'animesenpai.net' ระบุว่า งานแสดงดังกล่าวจัดที่ World Import Mart Building Exhibition Hall A ในเขตอิเคะบุคุโระ ประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค. ถึงวันวาเลนไทน์ศกนี้ ในงานจัดแสดงดังกล่าวพบพระพุทธรูปทองคำของไมค์กี้คุงในท่านอนตะแคง เหมือนกับพระนอนวัดโพธิ์ ความยาว 46 เมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย 

ขณะจัดแสดงพระพุทธรูปไมค์กี้ บัญชีทวิตเตอร์ชื่อว่า TOKYO卍REVENGERS EXHIBITION ยังโพสต์รายงานความคืบหน้าว่า​ แฟนคลับของการ์ตูนเรื่อง Tokyo Revengers มาทำพิธีสักการะพระพุทธรูปดังกล่าว เพื่อภาวนาให้ชีวิตมีแต่ความปลอดภัยด้วย นอกจากพระพุทธรูปไมค์กี้ที่เป็นจุดสนใจของงาน ยังมีการทำมุมให้แฟนคลับสามารถขึ้นไปถ่ายรูปบนจักรยานที่มี ‘ไมค์กี้’ นั่งซ้อนอยู่

ปัจจุบัน น่าเสียดายที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมชม หรือบูชาพระพุทธรูปไมค์กี้ได้ เนื่องจากกระทรวงต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่าไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศจนถึงปลาย ก.พ. 65 ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นได้มีเพียงบุคคลสัญชาติญี่ปุ่น ผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร ญาติของบุคคลสัญชาติญี่ปุ่นหรือผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร หรือเจ้าหน้าที่การทูตเท่านั้น  

เรื่องการจัดแสดงพระพุทธรูป ‘ไมค์กี้’ เริ่มเป็นข่าวในประเทศไทย หลัง ‘Kiss Ani’ เพจข่าวอนิเมะชื่อดังของไทย นำเสนอเรื่องนี้ออกมาเป็นมีมเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 65 ในช่องคอมเมนต์พบว่ามีชาวเน็ตมาแสดงความเห็นเป็นจำนวนมาก เช่น “ทำอะไรไม่ได้” “มาม่าแน่นอนถ้าอยู่ในไทย” “พี่ศรีไปไหนแล้วครับ เรียกแกมาด่วน” บางคอมเมนต์ก็แสดงความเห็นต่าง เช่น “ก็ยังไม่มีใครดิ้นอะไรนะ จะรีบไปไหน” หรือ “ก็แค่รูปปั้น” เป็นต้น 

Tokyo Revengers เขียนและวาดโดย ‘เคน วาคุอิ’ เริ่มตีพิมพ์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ของโคดันชะตั้งแต่ มี.ค. 2560 การ์ตูนเรื่องนี้ถูกนำมาทำเป็นอนิเมะเมื่อ เม.ย. 2564 และได้รับยืนยันว่าจะมีการทำซีซั่น 2 ตั้งแต่ ธ.ค.ปีที่แล้ว แต่ยังไม่มีการระบุวันฉาย นอกจากนี้ Tokyo Revengers​ ยังถูกนำมาผลิตเป็นภาพยนตร์เข้าฉายที่ญี่ปุ่นเมื่อ ก.ค. 2564 ที่ผ่านมา​ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรับชมอนิเมะซีซัน 1 ได้ทาง Netflix 

Tokyo Revengers เป็นเรื่องราวของฮานากาคิ ทาเคมิจิ ที่เคยถูกอันธพาลรังแกตอนมัธยม และต่อมาพบโดยบังเอิญว่าตัวเองสามารถย้อนเวลากลับไปในอดีตเพื่อแก้ไขปัจจุบันได้ ทาเคมิจิจึงใช้ความสามารถดังกล่าวเพื่อเปลี่ยนชะตากรรมของตัวเองและช่วยชีวิตคนรอบข้าง ระหว่างนี้ ทาเคมิจิต้องเข้าไปพัวพันกับตัวละครเอกอีกคน นั่นคือ ไมค์กี้ มันจิโร่ ซาโนะ หัวหน้าแก๊งนักเลงในโตเกียว ซึ่งทำให้เขาเข้าใจนักเลงในความหมายที่เปลี่ยนไป   

ตามความเชื่อของไทย พระพุทธรูปนอนตะแคงมีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ปางโปรดอสุรินทราหู ปางไสยาสน์ และปางปรินิพพาน นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปที่สำคัญของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ ซึ่งก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องในโอกาสบูรณะวัดแล้ว พระพุทธรูปปางไสยยาสน์ยังเป็นพระประจำวันอังคาร และในทางโหราศาสตร์ ดาวอังคารยังมีความเกี่ยวข้องกับความกล้าได้กล้าเสีย เช่น นักเลง นักธุรกิจ นักการเมือง ตำรวจ และทหาร 

ที่ผ่านมา ชาวพุทธอนุรักษ์นิยมในไทยบางกลุ่มเคยออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านเกี่ยวกับรูปเคารพหรือวิธีการบูชาพุทธศาสนาบางรูปแบบอยู่หลายครั้ง บางกรณีสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติเคยเข้ามามีบทบาท เนื่องจากรูปเคารพหรือวิธีการบูชาพุทธศาสนาไม่สอดคล้องกับศาสนาพุทธแบบมหานิยายของรัฐไทย กรณีดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นวงกว้าง ตัวอย่างเช่น 

- พ.ศ. 2550 ภาพวาด “ภิกษุสันดานกา” ผลงานของอนุพงษ์ จันทร เจ้าของรางวัลเกียรตินิยม 1 เหรียญทอง ประเภทจิตรกรรม ศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 5 เคยถูกคณะสงฆ์และองค์กรชาวพุทธบางกลุ่มวิจารณ์เรียกร้องให้ถอดรางวัลที่เคยมอบแก่ศิลปิน เนื่องจากวาดภาพเหยียดหยามพระภิกษุและพระพุทธศาสนา

- พ.ศ. 2555 ชาวพุทธเรียกร้องให้ตรวจสอบที่มาของโพสต์พระพุทธรูปปางแม็กโดนัลด์ บนเฟซบุ๊กแม็กโดนัลประเทศไทย ซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เดลินิวส์ ระบุว่าเป็นภาพที่มีการแชร์มาจากชาวเกาหลี กระทรวงต่างประเทศระบุว่าจะทำการตรวจสอบและส่งหนังสือเตือนไปยังสถานที่ๆ ที่มีการตั้งพระพุทธรูปดังกล่าว 

McBuddha, Acrylic on wodden sculpture, 2011
ภาพจาก
https://www.sandrascloset.com/jani-leinonen-and-a-fashionable-tombstone/
เข้าถึงเมื่อ 31 ธันวาคม 2562

- พ.ศ. 2562 ชุดภาพวาดพระพุทธรูปอุลตราแมน ถูกวิจารณ์จากกลุ่มชาวพุทธอย่างหนัก ต่อมานักศึกษาปี 4 ราชภัฎนครราชสีมา ต้องไปกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัดโคราช ผู้อำนวยการสำนักพุทธฯ ประจำจังหวัดปฏิเสธว่าไม่ได้บังคับ เพียงแต่ส่งให้ส่วนกลางตรวจสอบ ภาพชุดดังกล่าวต่อมาถูกนำไปประมูลเป็นยอดสูงหลักแสนถึงหลักล้าน

- พ.ศ. 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู สั่งทุบทิ้งรูปปั้นเทพตัดหัวถวายและส่งคืนพื้นที่แก่กองทัพ หลังกรณีพระธรรมกรใช้เครื่องกิโยตินตัดคอตัวเอง และทำรูปปั้นตัดหัวถวายเป็นพุทธบูชา โดยชี้แจงว่าทำเพื่อป้องกันพฤติกรรมเลียนแบบ

- พ.ศ. 2564 ณรงค์ ทรงอารมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่าจะทำหนังสือแจ้งต่อร้านมาดามชุบ หลังพบว่ามีการทำขนมอาลัวเป็นรูปพระเครื่อง และเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเพราะพระเครื่องเป็นวัตถุมงคล

นอกจากกรณีเหล่านี้ กลุ่มชาวพุทธยังรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเลิกซื้อขายรูปสักการะของพระพุทธเจ้าไปเป็นของประดับบ้าน ดังจะเห็นได้จากป้ายรณรงค์ขนาดใหญ่ที่เป็นข้อความต่างๆ เช่น  “Buddha is not for decoration. Respect is common sense.” ซึ่งพบเห็นได้ระหว่างเดินทางสัญจรไปมาด้วยยานพาหนะ


แปลและเรียบเรียงจาก

https://animesenpai.net/tokyo-revengers-mikey-gets-giant-statue-inspired-by-buddha/?fbclid=IwAR3hLaBiynvpbIgbPphqhy3n7uMXEHFQ65NE6hNfGzqvX_shDZtgjvUuu28

https://www.bbc.com/thai/thailand-49626013

https://palanla.com/index.php?op=domesticLocation-detail&id=69

https://www.sanook.com/horoscope/155689/

https://hilight.kapook.com/view/69796

https://news.thaipbs.or.th/content/303564

https://www.mofa.go.jp/ca/fna/page4e_001053.html

https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/110138

https://www.khaosod.co.th/special-stories/news_6368267

หมายเหตุ - ประชาไทมีการปรับพาดหัวเป็นปัจจุบันเมื่อ 4 ก.พ. 65 เวลา 21.40 น. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net