Skip to main content
sharethis

กัมพูชาในฐานะผู้นำอาเซียนวาระปัจจุบันตัดสินใจแบนไม่ให้รัฐมนตรีต่างประเทศของเผด็จการทหารพม่าเข้าร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน รวมถึงระบุให้พม่าส่งตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องทางการเมืองมาร่วมแทน สาเหตุที่บอยคอตทางการทูตในครั้งนี้เพราะอาเซียนมองว่ารัฐบาลพม่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในเรื่องการยุติความรุนแรงหลังจากการรัฐประหารเกิดขึ้นมากกว่า 1 ปีแล้ว

5 ก.พ. 2565 สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน แบนไม่ให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของพม่าที่มาจากการแต่งตั้งของรัฐบาลเผด็จการทหารเข้าร่วมประชุมด้วย หลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคคงแห่งสหประชาชาติเรียกร้องให้ "หยุดความรุนแรงทุกรูปแบบ" ในประเทศ รวมถึงปล่อยตัวนักโทษผู้นำทางการเมืองฝ่ายพลเรือนรวมถึงอองซานซูจี

ระบบผู้นำของอาเซียนนั้นมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนให้กับแต่ละประเทศโดยที่ในปัจจุบันผู้นำอาเซียนคือกัมพูชา เจ้าหน้าที่ทางการกัมพูชาได้เปิดเผยว่า Wunna Maung Lwin จะไม่เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอาเซียนซึ่งจะมีขึ้นในเดือน ก.พ. นี้ เพราะพม่าขาดความก้าวหน้าในเรื่องการดำเนินแผนการสันติภาพที่กลุ่มนายพลระดับสูงของพม่าเคยตกลงเอาไว้ในปีที่แล้ว

โฆษกด้านการต่างประเทศของกัมพูชาเปิดเผยอีกว่าในการประชุมที่กรุงพนมเปญซึ่งจะมีขึ้นวันที่ 16-17 ก.พ. นี้ พวกเขาได้เชิญให้ตัวแทนที่ไม่ใช่ตัวแทนทางการเมืองในพม่าเข้าร่วมประชุมแทน

Chum Sounry โฆษกการต่างประเทศของกัมพูชาแถลงว่า "เนื่องจากมีความก้าวหน้าน้อยมากในการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีมติร่วมกันว่าจะไม่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศในสภาบริหารแห่งรัฐของพม่าเข้าร่วมการประชุมหารืออย่างเป็นกันเองระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศที่กำลังจะมีขึ้น"

Sounry กล่าวอีกว่าความคืบหน้าในเรื่องสัญญาสันติภาพที่พวกเขาหมายถึงนอกจากการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อแล้ว พวกเขายังต้องการเห็นพม่ามีพันธกิจในการยุติความรุนแรงผ่านทางข้อตกลงหยุดยิง เริ่มต้นกระบวนการเจรจาที่ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งมีส่วนร่วม รวมถึงควรให้มีการเข้าถึงผู้ต้องขังทางการเมืองได้ และให้ผู้ที่กำลังประสบความเดือดร้อนเข้าถึงความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมได้

การไม่เชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่าเข้าร่วมในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการทางการทูตครั้งล่าสุดต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าที่เริ่มถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่มินอ่องหล่าย นายพลอาวุโสของพม่าทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือน ก.พ. 2564

หลังจากการรัฐประหารในปีที่แล้วก็ทำให้พม่าเกิดภาวะวิกฤตทางการเมือง มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงสังหารพลเรือนไปมากกว่า 1,500 ราย ในการปราบปรามการประท้วงต่อต้านรัฐประหาร นอกจากนี้ยังมีการสู้รบเกิดขึ้นในพื้นที่รอบนอกและตามชายแดนระหว่างกองทัพกับกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยที่จับปืนขึ้นสู้รวมถึงกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์

ในช่วงที่มีการยกระดับความรุนแรงในพม่า อาเซียนได้สั่งห้ามไม่ให้มินอ่องหล่ายเข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทในเดือน ต.ค. 2564 อย่างไรก็ตามแต่ละประเทศต่างก็มีความคิดเห็นต่างกันในประเด็นของพม่า นายกรัฐมนตรีฮุนเซนสนับสนุนให้มีการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มนายพลของพม่า โดยที่ฮุนเซนเคยเดินทางไปเยือนพม่าเพื่อเข้าพบกับมินอ่องหล่ายในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาซึ่งทำให้สมาชิกอาเซียนหลายประเทศกังวลว่าจะกลายเป็นการแสดงออกส่งเสริมรัฐบาลทหารหรือไม่

อย่างไรก็ตาม Vann Bunna นักวิจัยจากสถาบันในกัมพูชาเพื่อความร่วมมือและสันติภาพกล่าวว่าหลังจากที่กัมพูชาเผชิญกับการโต้แย้งจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในเรื่องความพยายามปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าก็ทำให้กัมพูขาตัดสินใจสั่งแบนพม่าในการจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเพื่อเกรงว่าถ้าไม่สั่งแบนพม่าก็อาจจะทำให้จัดประชุมไม่ได้

Bunna กล่าวอีกว่ากัมพูชาเริ่มมองว่าการอยู่ร่วมกับกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นดีกว่าการพยายามสร้างความเชื่อมั่นและความสัมพันธ์ที่ดีกับเผด็จการทหารพม่าที่ถูกมองว่าเชื่อถืออะไรไม่ได้ หลังจากที่เผด็จการทหารพม่าละเมิดข้อตกลงหยุดยิงแม้จะเคยสัญญาไว้กับฮุนเซนในช่วงที่มีการพบปะกันในเดือน ม.ค.

มติของอาเซียนที่สั่งแบนพม่าจากการประชุมนี้มีขึ้นในวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมาหนึ่งวันหลังจากที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแถลงว่าพวกเขาความเป็นห่วงอย่างมากต่อการที่เผด็จการทหารพม่ายังคงใช้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อีกทั้งยูเอ็นยังเรียกร้องให้มีการเจรจาหารือเพื่อแก้ไขสถานการณ์โดยอยู่บนฐานของ "เจตจำนงและผลประโยชน์ของประชาชน" ซึ่งแถลงการณ์นี้ได้รับการรับรองจากประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงทั้งหมด 15 ประเทศ

นอกจากนี้แถลงการณ์ของยูเอ็นนังเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวบุคคลที่ถูกคุมขังโดยพลการรวมถึงอองซานซูจีและประธานาธิบดีวินมยินด้วย รวมถึงมีการแสดงความเป็นห่วงเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไม่นานนี้ การที่มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศจำนวนมาก และประณามการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น สถานพยาบาลหรือสถานศึกษา


เรียบเรียงจาก
Myanmar military barred from ASEAN foreign ministers’ meeting, Aljazeera, 03-02-2022
Cambodia Says Myanmar Junta’s Foreign Minister Not Invited to Upcoming ASEAN Meeting, VOA, 02-02-2022

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net