Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการอิสระ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น และภาคี #Saveบางกลอย ประชุมนัดแรกผ่านไปได้ด้วยดี เห็นพ้องให้ยุติคดีฟ้องชาวบ้านบางกลอย และรับข้อเสนอจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดว่าชาวบ้านกลางกลอยอยู่ในพื้นที่มาก่อนประกาศเขตอุทยาน พร้อมเดินหน้าหาแนวทางให้ชาวบ้านบางกลอยสามารถกลับไปอาศัยในพื้นที่บางกลอยบนได้ และนัดประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 2 มี.ค. 65

9 ก.พ. 2565 เฟซบุ๊กเพจ 'บางกลอยคืนถิ่น' รายงานว่าความคืบหน้ากรณีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยระบุว่าสุนี ไชยรส อาจารย์ประจำคณะนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ครั้งที่ 1/2565 ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 26/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการชุดนี้เพื่อแก้ปัญหาของชาวบ้านบางกลอย ตามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่

  1. ตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี
  2. ยุติคดีชาวบางกลอยทั้ง 30 คนและภาคี Save บางกลอย 10 คน
  3. แก้ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2562 และกฎหมายลำดับรองที่ผ่านในยุค สนช. เป็นเผด็จการและละเมิดสิทธิชุมชนคนในป่า
  4. รับรองและผลักดัน พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ฉบับภาคประชาชน

หลังจากการประชุม ประธานและคณะกรรมการทุกคนมีความคิดเห็นตรงกันว่าต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยที่ยืดเยื้อยาวนานให้สำเร็จ ซึ่งในที่ประชุมได้มีการชี้แจงข้อเท็จจริงและทบทวนหลักฐานต่างๆ จนทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ควรได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิต ขณะข้อเรียกร้องให้มีการช่วยเหลือคดีความกรณีชาวบ้านถูกฟ้องบุกรุกป่านั้น ทุกฝ่ายมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่าควรยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้าน โดยประธานฯขอรับเรื่องไปพิจารณาหาแนวทางการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกให้เป็นไปตามกรอบของกฎหมายต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

สุนีกล่าวต่อว่าสำหรับปัญหาเฉพาะหน้าด้านการแก้ไขปัญหาที่ดินและคุณภาพชีวิตนั้น จะมีแนวทางจำแนกชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ต้องการกลับไปบริเวณบางกลอยบนหรือใจแผ่นดิน และกลุ่มที่ต้องการอยู่ในพื้นที่ปัจจุบันคือชุมชนบางกลอยล่าง ซึ่งจะต้องมีการศึกษาแนวทางว่าจะจัดการอย่างไรต่อไป

ส่วนปัญหาการเจ็บป่วยและภาวะการขาดสารอาหารนั้น จะประสานไปยังกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อให้ร่วมมือเข้าไปแก้ปัญหาควบคู่กัน จะไม่ปล่อยให้เป็นการแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้า หรือให้ชาวบ้านประสบปัญหาตามยถากรรมเหมือนที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการฯ จะมีการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 2 มี.ค. 2565

ก่อนหน้านี้ เฟซบุ๊กเพจ 'ภาคีSaveบางกลอย' รายงานว่าวานนี้ (8 ก.พ. 2565) 16.00 น. มีการประชุมคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย โดยมีอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

คณะกรรมการอิสระชุดนี้ เกิดจากการผลักดันของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นและภาคีเซฟบางกลอย ในระหว่างการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565 โดยมีตัวแทนของภาคีเซฟบางกลอย 2 คน ได้แก่ ธัชพงศ์ แกดำ และพชร คำชำนาญ เป็นผู้เจรจากับตัวแทนรัฐบาล จนได้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ลงนามแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา

ในช่วงเริ่มต้น อนุชากล่าวว่าตนเชื่อว่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะแก้ปัญหาบางเรื่องที่เป็นปัญหาคาราคาซังและเป็นที่สนใจของสังคม หากพวกเราสามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาได้ รวมถึงให้นโยบายว่าให้วางกรอบการตัดสินใจร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขปัญหาจบอย่างรวดเร็ว

“เจตนาของผมคือทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาที่คาราคาซังยืดเยื้อให้สำเร็จลงได้ด้วยพวกเรา จะหนึ่งเดือน ครึ่งเดือน สองเดือน ถ้าเราสามารถทำให้สำเร็จได้ก็จะเป็นแบบอย่างของประเทศที่จะแก้ไขปัญหาที่เรื้อรังได้ ผมมีเจตนาจริงใจให้เป็นแบบอย่างการแก้ไขปัญหาที่แท้จริง ไม่ใช่นำปัญหาขึ้นมาคุยเป็นวันๆ ต่อแล้วต่ออีก ปัญหาเกิดขึ้นชั่วลูกหลานก็ไม่สามารถแก้ไขได้ ผมอยากเห็นว่าพวกเราที่มาร่วมประชุม ณ ที่นี้จะเป็นตัวอย่างในการแก้ไขปัญหาที่แท้จริงของประเทศ แล้วสามารถทำให้ทุกอย่างบรรลุตามวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนได้” อนุชากล่าว

หลังจากนั้นคือวาระการประชุมเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับกรอบการทำงาน มีมติรับรองการรายงานโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ว่าชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอยเป็นชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิม ตามหลักฐานเอกสารทางราชการและหลักฐานเชิงกายภาพ ตลอดจนขอบเขตการทำงานแก้ไขปัญหาที่ไม่ได้หมายถึงเพียงชุมชนบ้านบางกลอยล่างในพื้นที่อพยพ แต่รวมถึงพื้นที่บางกลอยบนและใจแผ่นดินอันเป็นถิ่นฐานดั้งเดิมด้วย

ส่วนเรื่องคดีความของชาวบ้านบางกลอยรวม 29 ราย ที่ยังอยู่ในชั้นพนักงานอัยการนั้น มีแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิต และปัญหาที่ดินทำกินที่จะมีแนวทางการแก้ไขปัญหาและติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

นอกจากนั้นยังมีการเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 70 ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ ตลอดจนเนื้อหาของมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง โดยเฉพาะเรื่องการประกาศเขตวัฒนธรรมพิเศษ หรือพื้นที่คุ้มครองทางวัฒนธรรม ที่จะเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาและลดความขัดแย้งในพื้นที่ได้ รวมทั้งเรื่องระบบการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนที่เป็นระบบเกษตรกรรมยั่งยืนด้วย

“ไร่หมุนเวียนเป็นระบบการเกษตรเดียวที่ไม่ต้องใช้ปุ๋ย แต่ใช้การหมุนเวียน และเป็นเกษตรกรรมที่เรียกว่า Zero Burning ไม่ทำให้โลกร้อน เพราะถึงแม้เขาจะเผาป่า พูดง่ายๆ ว่าทำไร่ 1 ปี แล้วปล่อยให้ฟื้นตัว 6 ปี ไม่ต้องใส่ปุ๋ยสักเม็ด ปีที่เผาก็มีคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ที่มันกำลังฟื้นตัวอยู่ ปีที่ 1-6 มันดูดซับไปหมด ฉะนั้นปล่อยเท่าไหร่ มันดูดหมด ไม่มีระบบการเกษตรไหนจะดีเท่าไร่หมุนเวียน ผมถึงคิดว่าถ้าเขากลับไปทำไร่หมุนเวียนคือความยั่งยืน แต่ถ้าทำไร่สมัยใหม่เขาต้องใส่ปุ๋ย ฉะนั้นให้เขาทำไร่หมุนเวียนให้ได้เถอะครับ อีกอย่างผมเรียกมันว่า Co-management การจัดการร่วมกันของรัฐและชุมชน นี่คือสองอย่างที่จะนำไปสู่ความสำเร็จและสร้างชีวิตอยู่ดีกินดีให้กับพี่น้องกะเหรี่ยง” ผศ.สมศักดิ์ สุขวงศ์ อดีตคณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะกรรมการอิสระฯ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net