Skip to main content
sharethis

ภาคี Saveบางกลอย และชาวบ้าน เดินขบวนไปยื่นหนังสือค้านแต่งตั้ง ‘วราวุธ’ นั่งหัวโต๊ะแก้ปัญหาพื้นที่บางกลอย ชี้ไม่จริงใจ และมีอคติกับชาวชาติพันธุ์ พร้อมหนุนมม็อบ ‘จะนะรักษ์ถิ่น’ จะไม่สู้อย่างโดดเดี่ยว  


ภาคี Saveบางกลอย และบางกลอยคืนถิ่น ตั้งขบวนไปยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรี ที่ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล
 

14 ธ.ค. 64 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (14 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลาประมาณ 13.53 น. กลุ่มภาคี Saveบางกลอย พร้อมด้วยชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 4 คน จากกลุ่ม ‘บางกลอยคืนถิ่น’ เดินขบวนไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านคำสั่งนายกฯ เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา แต่งตั้ง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ดำรงตำแหน่งประธานแก้ปัญหาบางกลอย และเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระและไม่ใช่คู่ขัดแย้งของชาวบ้าน ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลปัญหาแทน 

เวลา 14.06 น. ขบวนภาคี Saveบางกลอย และกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น เดินทางถึงประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล 

‘แบงค์’ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย และตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น กล่าวว่า ตนมีความเป็นห่วงว่า การแต่งตั้งให้นายวราวุธ เป็นประธานแก้ปัญหาบางกลอยครั้งนี้ อาจทำให้การแก้ปัญหาไม่คืบหน้า เนื่องจากวราวุธแม้จะเคยลงไปเยี่ยมชาวบ้านบางกลอย แต่กลับไม่เคยไต่ถามถึงปัญหาสารทุกข์สุกดิบของชาวบ้าน ซ้ำยังมีการไปบอกสาธารณชนว่าพื้นที่ชาวบ้านบางกลอยไม่มีปัญหา ทุกคนกินดีอยู่ดี ซึ่งขัดกับความเป็นจริง 

ขณะที่จันทร ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย เป็นตัวแทนอ่านหนังสือที่นำมายื่น ก่อนทั้ง แบงค์ และจันทร เป็นตัวแทนมอบหนังสือให้กับนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

 
'แบงค์' พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร (ซ้าย) ชาวบ้านบางกลอย ยื่นหนังสือให้กับนายอนุชา นาคาศัย (ขวา) รมต.ประจำสำนักนายกฯ
 

รายละเอียดในหนังสือของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่นมีดังนี้ 

แถลงการณ์กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น
เรื่อง ไม่เอา ‘วราวุธ’ เป็นประธานแก้ปัญหาบางกลอย ยืนยันต้องตั้งกรรมการใหม่ที่อิสระ 
และเราจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง

สืบเนื่องจาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้งวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี มีผลตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2564 นั้น

พวกเรา กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ขอแสดงจุดยืนไม่ยอมรับคำสั่งแต่งตั้งให้รัฐมนตรี ทส. ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ดังกล่าวได้ เนื่องจากกระทรวงทรัพยากรฯ เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านบางกลอยโดยตรง และท่าทีของนายวราวุธ ศิลปอาชา ที่มีต่อชาวบางกลอยนั้นเต็มไปด้วยอคติ ไม่เคยรับฟังปัญหาจากปากของชาวบ้าน ขาดความรู้ ความเข้าใจ ปฏิเสธความจริงว่าประเทศไทยเป็นสังคมสังคมพหุวัฒนธรรม และไม่ยอมรับการดำรงอยู่ของชนเผ่าพื้นเมือง การนำคู่ขัดแย้งมาเป็นประธานกรรมการในการแก้ปัญหาเสียเองนั้นผิดต่อหลักการจัดการความขัดแย้งและจะเกิดความไม่เป็นธรรมอย่างแน่นอน 

นอกจากนั้น ที่ผ่านมายังพบปัญหาว่าอนุกรรมการบางชุดที่ประกอบไปด้วยคู่ขัดแย้ง เช่น คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบด้านระบบนิเวศ สัตว์ป่า การบริการทางนิเวศ นั้นมีอคติและความเข้าใจผิดกรณีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง ปรากฏเป็นรายงานที่มีปัญหาจริยธรรมทางวิชาการ นำเสนอข้อมูลอย่างลำเอียงและไม่เป็นธรรม นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ล่าช้า ไร้ประสิทธิภาพ ไม่เคารพต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่ดินทำกิน และสิทธิทางวัฒนธรรม 

ด้วยเหตุนี้ กลุ่มบางกลอยคืนถิ่น จึงกลับมาที่นี่ เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรียกเลิกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ ชุดเดิม แล้วให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาชุดใหม่ที่ปราศจากหน่วยงานที่เป็นคู่ขัดแย้งและเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหา มีความเป็นอิสระ ดังเช่นที่นายกรัฐมนตรีได้มีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย กรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 225/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ขับรถชนตำรวจ สน. ทองหล่อ จนถึงแก่ชีวิตเมื่อปี 2555

เรายืนยันว่า ทุกความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาที่ล่วงเลยไปในแต่ละวัน คือความไม่เป็นธรรมต่อพวกเรา เพราะทุกวันนี้เราต้องดำเนินชีวิตอย่างยากลำบาก ปราศจากความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย ความมั่นคงทางอาหาร ในขณะที่คดีความยังดำเนินต่อไป เรายังคงมีความหวังว่าจะได้กลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บ้านเกิด ดำรงชีวิตอย่างมั่นคงเฉกเช่นมนุษย์ทุกคนในสังคมที่เท่าเทียม และเราขอประกาศ ณ ที่นี้ว่า เราจะกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หากประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่ตอบสนองข้อเรียกร้องของเรา

สาเหตุที่ต้องมายื่นหนังสือถึงนายกฯ 

หลังการยื่นหนังสือ จันทร ต้นน้ำเพชร และ 'แบงค์' พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร สองชาวบ้านจากบ้านบางกลอย ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว โดยแบงค์ พงษ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร กล่าวถึงสาเหตุที่มายื่นหนังสือว่า เขาต้องการย้ำว่ากระบวนการแก้ปัญหาของชาวบ้านบางกลอยไปถึงไหนแล้ว และก็อันที่สอง เพิ่งทราบว่าจะมีการแต่งตั้ง วราวุธ รมว.ทส. เป็นประธานการแก้ปัญหาพื้นที่บางกลอยด้วย ซึ่งวราวุธ เป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านอยู่แล้ว จึงมีข้อกังขาต่อการแก้ปัญหาให้ชาวบ้านบางกลอยว่าจะมีความจริงใจหรือไม่ รวมถึงวราวุธมีอคติต่อชาวชาติพันธุ์อีกด้วย ซึ่งชาวบางกลอยก็อยากให้แต่งตั้งคนอื่นๆ มากกว่า

นอกจากนี้ แบงค์ มองว่า หลังการขึ้นอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นมรดกโลก ทางวราวุธก็ไม่มีการเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้ชาวบางกลอย คุณภาพชีวิตของชาวบ้านยังคงแย่เหมือนเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงมีการไปพูดในที่สาธารณะว่าชาวบ้านบางกลอย กินดู อยู่ดี ซึ่งมันขัดกับความเป็นจริง และไม่ใช่อย่างที่เขาบอก 

ขณะที่จันทร ต้นน้ำเพชร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า เธอเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนตัววราวุธ จากประธานแก้ปัญหา และตั้งกรรมการใหม่ที่ทำงานอย่างดี คุยกับชาวบ้าน ถามไถ่ปัญหาชาวบ้าน ไม่ใช่ตั้งขึ้นมาใหม่แล้วเหมือนเดิม อันนี้ชาวบ้านก็ไม่อยากได้เหมือนกัน

จันทร ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย และตัวแทนกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น

วิกฤตป่วยไข้ชาวบ้านบางกลอย 

แบงค์ กล่าวถึงสถานการณ์บนพื้นที่บางกลอยว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านบางกลอยก็ประสบปัญหาป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก เป็นกันเกือบทั้งหมู่บ้าน แต่สถานการณ์เรื่องโรคไข้เลือดออกดีขึ้นแล้ว แต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคมาลาเลียต่อ และตอนนี้มีทีมแพทย์อาสา ‘เปลวเทียน’ รับรักษาชาวบ้านบางกลอยแล้ว 

ขณะที่ จันทร ต้นน้ำเพชร ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวเสริมด้วยว่า ตอนนี้ชาวบางกลอยยังคงประสบวิกฤตขาดสารอาหาร และมีผู้ป่วยเสียชีวิต 1 รายขณะที่ตัวแทนชาวบ้านกำลังร่วมปักหลักหน้าทำเนียบร่วมกับกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น 

“มีผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่ทราบว่าเป็นโรคขาดสารอาหาร พอเอาเอกสารให้หมอเขาดู หมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคขาดสารอาหารต้องบำรุง ตอนนี้เขาก็เสียชีวิตลงในวันที่เดินทางมากับพี่น้องจะนะ ทำให้เราเศร้าใจมาก ทำให้รู้สึกว่าทำไมเขาถึงขัดขวางไม่ให้เราขึ้นไปทำไร่ กลับไปที่ๆ เราเคยอยู่ ขัดขวางจนทำให้ชาวบ้านต้องขาดสารอาหารเกิดขึ้น รู้สึกเสียใจกับเรื่องนี้มาก” จันทร กล่าว

เมื่อไต่ถามถึงการเข้าถึงระบบสาธารณสุขภาครัฐของชาวบ้านบางกลอย จันทร กล่าวว่า การเดินทางไปพบแพทย์ของชาวบ้านบางกลอยนั้นไม่ง่าย เนื่องจากต้องใช้ค่าเดินทางที่สูง เส้นทางลำบาก และใช้เวลาในการเดินทางที่ค่อนข้างนาน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากไปโรงพยาบาล และเลือกที่จะอยู่บ้านมากกว่า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ภาคี Saveบางกลอย-นาวิลิต’ บริจาคอาหารช่วยบางกลอย หลังพบชาวบ้านป่วยจากโรคขาดสารอาหาร

วิกฤตโรคระบาด ขาดแคลนอาหาร | ชะตากรรมบางกลอย หลังแก่งกระจานเป็นมรดกโลก

มีการดำเนินคดีบุกรุกป่ากับชาวบ้านเพิ่ม 

แบงค์ ชาวบ้านบางกลอย กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ชาวบ้านบางกลอย ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานดำเนินคดีข้อหา บุกรุกแผ้วถางพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บริเวณบ้านบางกลอยบน จากเดิมจำนวน 28 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 30 คนแล้ว โดยคนที่เพิ่มเข้ามาเป็นเยาวชนทั้ง 2 คน

“ก่อนหน้านี้ อัยการมีความพยายามเร่งรัดคดี และส่งฟ้องศาล แต่เนื่องด้วยฤดูฝนที่ผ่านมา ชาวบ้านประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้ไม่สามารถลงมาได้ ทนายความของชาวบ้านจึงขอเลื่อนฟังคำสั่งฟ้องออกไป แต่ชาวบ้านยังคงมีความกังวลเรื่องคดีความ เมื่อไหร่เขาจะส่งฟ้อง ไม่ส่งฟ้อง ชาวบ้านมีความกังวลค่อนข้างเยอะอยู่” แบงค์ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สภ.แก่งกระจาน แจ้งทนายยังไม่ส่งฟ้องศาลคดีชาวบ้านบางกลอย 28 พ.ค.นี้

ศาลสั่งปล่อยตัวชาวบ้านบางกลอย 21 คน เหตุไม่ทันกำหนดฝากขัง 

ศาลสั่งปล่อยตัวชาวบ้านบางกลอย 6 ราย หลังครบกำหนดฝากขังแล้วอัยการไม่ฟ้อง-กลุ่มศิลปินระดมทุนและอาหารช่วยเหลือ

กะเหรี่ยงบางกลอยยื่น กสม. ขอสอบละเมิดสิทธิ 28 ชาวบ้านถูกดำเนินคดี

‘พี่น้องจะนะจะไม่โดดเดี่ยว’

แบงค์ กล่าวว่า การมายื่นหนังสือครั้งนี้ ไม่ใช่ต้องการมาคัดค้านการแต่งตั้งนายวราวุธเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการมาให้กำลังกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น ที่กำลังคัดค้านการเดินหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมอยู่บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนิน กทม. อีกด้วย

“เหตุผลที่อยากมาให้กำลังใจกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น เพราะว่าชาวบ้านบางกลอย และชาวจะนะถูกเจ้าหน้าที่กดทับเหมือนกัน ของพวกผมอยู่ในเขตอนุรักษ์ก็ถูกเจ้าหน้าที่กดทับ มี MOU แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเรื่องการแก้ปัญหาแต่อย่างใด ก็เลยอยากจะมาร่วมให้กำลังใจพี่น้องจะนะด้วย”

“อยากจะบอกว่า พี่น้องจะนะที่มาที่นี้ ผมเชื่อว่าถ้าเขาไม่สุดจริงๆ เขาก็คงไม่มา แต่เท่าที่ผมรับฟังจากเสียงของเขา มันคงสุดจริงๆ และเป็นถิ่นฐานบ้านเกิดของเขา มันเป็นที่อยู่อาศัยของเขา มันเป็นจุดที่อยู่ของเขา ซึ่งถ้ามีโครงการหรืออถตสาหกรรม มันจะส่งผลกระทบต่อพี่น้องจะนะแน่ๆ เท่าที่ได้รับฟังจากเขา ทีนี้อยากทิ้งท้ายว่า พวกเราบางกลอยและก็เครือข่ายอื่นๆ ประชาชนทั่วไป เราพร้อมร่วมสู้ไปด้วยกับพี่น้องจะนะ ไม่ต้องกังวลว่าจะโดดเดี่ยว เราจะไม่โดดเดี่ยว เราจะร่วมสู้ไปด้วยกัน” แบงค์ ทิ้งท้าย 

ทั้งนี้ กรองข่าวแกง รายงานเมื่อเวลา 19.12 น. ระบุว่า ภาคีSaveบางกลอย แถลงว่าวันนี้ได้ยื่นหนังสือให้ 1. ปลด นายวราวุธ ศิลปอาชา จากการเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอย เนื่องจากเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้านบางกลอยมาโดยตลอด และ 2. แก้ไขสัดส่วนคณะกรรมการ เนื่องจากสัดส่วนไม่เหมาะสม ขาดการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการดังกล่าวไม่เคยแก้ไขปัญหาใดๆ ได้เลย

พร้อมกันนี้ ตัวแทนภาคีฯ กล่าวต่อว่า ขอขอบคุณเครือข่ายที่ร่วมเดินไปยื่นหนังสือด้วยกัน ทั้งพี่น้องจะนะ และพี่น้องเครือข่ายต่างๆ ที่มาร่วมกันในวันนี้ และขอยืนยันยืนเคียงข้างพี่น้องจะนะในการต่อสู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net