Skip to main content
sharethis

'รังสิมันต์ โรม' เสนอร่าง 'พ.ร.บ.ฉุกเฉิน' หยุดรัฐบาลทรราช  ลั่นถึงเวลาคืนอำนาจให้รัฐสภา เพิ่มอำนาจตรวจสอบรัฐบาล ชี้เหตุผลที่ต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 พร้อมเปิด 4 สาระสำคัญหลักของ 'พ.ร.บ.ฉุกเฉิน' ฉบับก้าวไกล ได้แก่ ลดเวลาประกาศใช้ ตัดข้อจำกัดด้านข้อมูลข่าวสารจากรัฐ คืนอำนาจศาลปกครอง ยกเลิกการควบคุมตัวจาก 7-30 วันให้เหลือ 48 ชม.

9 ก.พ. 2565 รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล อภิปรายนำเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ... ในการประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยระบุว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างที่ตนและเพื่อน ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมกันเข้าชื่อเสนอต่อที่ประชุมสภา เพื่อนำมาใช้แทนที่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

รังสิมันต์กล่าวว่าร่างฉบับนี้หลักการและเหตุผลสั้นมาก หลักการคือให้มี กฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับใหม่ เหตุผลโดยที่กฎหมายการบริหารราชการฉุกเฉินปัจจุบัน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และออกข้อกำหนดต่างๆ ที่อาจจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเกินสมควรแก่เหตุ และให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมา โดยได้รับการละเว้นตรวจสอบถ่วงดุลย์โดยสภาผู้แทนราษฎรและองค์กรตุลาการ ส่งผลให้ในทางปฏิบัติ นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี สามารถประกาศและขยายระยะเวลาสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปได้โดยไม่มีองค์กรอื่นใดคัดค้านได้ และเจ้าพนักงานสามารถใช้บังคับข้อกำหนดจนส่งผลกระทบต่อประชาชนจนเกินความจำเป็น สมควรกำหนดมาตรการในการกำหนดตรวจสอบถ่วงดุลย์การใช้อำนาจดังกล่าวให้สอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกตามรัฐธรรมนูญ จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัติฉบับนี้

"พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีใช้อำนาจในการตราบังคับทันที โดยไม่ต้องรับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ กำหนดว่าต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์อันจะรักษาความปลอดภัยของประเทศ สาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือปัดป้องภัยพิบัติ และเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เท่านั้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2548 ต่อมา ได้มีการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร 24 ส.ค. 2548 และผ่านวุฒิสภา 29 ส.ค. 2548 ทว่า ก่อนได้รับอนุมัติจากสภานั้น อำนาจตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้ ได้ใช้ตั้งแต่ 20 ก.ค. 2548 เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความจำเป็นร้ายแรงในเขตท้องที่ จ.นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ซึ่งยังคงขยายเวลามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มียกเว้นบ้างบางอำเภอเท่านั้น แสดงให้เห็นเหตุผลที่รัฐบาลเลือกตราเป็น พ.ร.ก. ก็เพื่อเร่งนำมาใช้กับสถานการณ์ภาคใต้แค่นั้นเอง หลังจากนั้นเป็นต้นมา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถูกนำมาใช้ต่างกรรมต่างวาระ โดยเฉพาะกับการชุมนุมทางการเมือง เช่น ใช้การสลายชุมมุนการเมืองของ นชป. ในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน มาจนถึงล่าสุด การประกาศทั่วราชอาณาจักร โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 และขยายมาจนปัจจุบัน ด้วยข้ออ้างว่าควบคุมการระบาดในสถานการณ์โควิด" รังสิมันต์ กล่าว

ชี้ปัญหา 3 ข้อต้องได้รับการแก้ 'รวมอำนาจที่นายก-ตัดการตรวจสอบ-ซ้ำเติมประชาชน'

รังสิมันต์ กล่าวว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือการรวบอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีในการสั่งการ และออกข้อกำหนดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพตามปกติ ตนอยากชี้ให้เห็นปัญหา 3 ข้อ คือ

1. แม้จะให้อำนาจ แต่ข้อกำหนดบางอย่างที่กำหนดไว้นั้น แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากเกินไป เช่น ห้ามเสนอเผยแพร่สื่อที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว กระทบความมั่นคง ความสงบ หรือศีลธรรมอันดี ซึ่งการกำหนดอย่างนี้ หมายความว่าต่อให้ข่าวที่ถูกเสนอนั้นเป็นข่าวจริง ก็ผิดใช่หรือไม่ หรือกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายร้ายแรง อำนาจจับควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัย โดยควบคุมได้นาน 7 วัน และอาจขยายได้นานสุดถึง 30 วัน ในสถานที่กำหนดแต่ต้องไม่ใช่สถานีตำรวจ ทัณฑสถาน เรือนจำ ซึ่งในทางปฏิบัติ อาจถูกคุมตัวไปยังสถานที่ซึ่งญาติหรือทนายความไม่อาจเช้าถึงได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการซ้อมทรมาน บังคับสูญหาย หรือถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งมีกรณีที่เกิดขึ้นเป็นประจำคือในจังหวัดชายแดนใต้ อย่างที่ชัดเจนคือ กรณีอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ที่ถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร ห่างจากสายตาญาติเพียง 2 วันก็ตกอยู่ในสภาพโคม่า และในที่สุดก็เสียชีวิต

2. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ บัญญัติให้ ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตาม พ.ร.ก.นี้ ไม่อยู่ในบังคับกฎหมายวิธีพิจารณาความการปกครอง ตัดอำนาจศาลปกครองมาตรวจสอบ ซึ่งการกำหนดเอาไว้แบบนี้เกินกว่าเหตุหรือไม่ กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพประชาชนหรือไม่ ศาลปกครองไม่สามารถตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ได้ หรือการที่ให้ผู้มีอำนาจหรือเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งแพ่ง อาญา และวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว เราเห็นหลายกรณีที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะในการสลายชุมนุมประชาชน มีการทำร้ายผู้ถูกควบคุมตัว มีการกระทำเกินขอบเขตของเจ้าหน้าที่ เช่นนี้ก็กลายเป็นเกราะคุ้มกันให้รอดพ้นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งจริงอยู่ที่กำหนดว่าการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้นต้องโดยสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เกินกว่าเหตุ แต่นั่น ก็เท่ากับโยนภาระการพิสูจน์ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ เดือดร้อนจากการใช้กฎหมายไม่พอ เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเองอีก

3. การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการซ้ำเติมประชาชน กระบวนการที่เกี่ยวกับประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ว่าจะตั้งแต่เริ่มประกาศ ขยาย หรือแม้แต่สิ้นสุด คือตั้งแต่ต้นจนจบ เป็นการใช้อำนาจอยู่ในเฉพาะฝ่ายบริหารเท่านั้น สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจตรวจสอบ เฉพาะนายกรัฐมนตรีกับคณะรัฐมนตรีเท่านั้นที่มีอำนาจ นั่นเท่ากับทำให้รัฐบาลสามารถอ้างเหตุอะไรบางอย่างที่ไม่สมเหตุก็ได้แล้วประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่มีใครแย้ง ไม่มีองค์กรใดแย้งได้ว่าที่ประกาศนั้นฟังไม่ขึ้นหรือแม้แต่การประกาศสถานการณ์ของพวกคุณนั้นควรยกเลิก ดังนั้น ผลก็คือ อย่างที่เราเห็น รัฐบาลประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเอง ต่ออายุเองมาแล้วถึง 16 ครั้ง ลากยาวจนปัจุบัน และถ้าจะต่ออายุต่อไปอีกก็ทำได้อยู่ฝ่ายเดียว ไม่ต้องถามใคร ไม่ต้องถามผู้มีอำนาจอธิปไตยตัวจริงอย่างประชาชนแม้แต่น้อย นี่คือการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน แล้วใช้ความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชน ใช้การล้มตายประชาชน ปิดปากประชาชนและปกป้องตนเอง

อัด 'รัฐบาลประยุทธ์' ไม่ฟังคำเตือน สุดท้ายใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปกป้องตนเองไม่ใช่ประชาชน

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ตอนที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 เราเห็นว่าอันที่จริงแล้ว หัวใจปัญหาไม่ได้อยู่ที่กฎหมายอ่อนแอหรือรัฐบาลมีอำนาจน้อยเกินไป หากแต่อยู่ที่รัฐบาลขาดยุทธศาสตร์ชัดเจน ไร้ประสิทธิภาพ วางแผนไม่รอบคอบ ขาดการประเมินผลกระทบ ขาดการเตรียมความพร้อมรับมือ ล้มเหลวในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการสื่อสารประชาชนมากกว่า ซึ่งไม่ต้องประกาศ พ.ร.ก. ก็ได้ แต่เมื่อใช้แล้วได้เตือนให้ระมัดระวังว่าต้องเพื่อคุมโรค ไม่ใช่ครอบงำประชาชนหรือปิดกั้นสื่อ หรือให้เจ้าหน้าที่รัฐทำอะไรก็ได้กับประชาชน พร้อมถามกลับไปยังรัฐบาลว่า "แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร"

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่ามาตรการควบคุมโรคที่สำคัญคือการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรค ซึ่งก็ใช้งานได้โดยไม่ต้องอาศัย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ช่วงนั้นก็ไม่พบผู้ป่วยใหม่เพิ่ม แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่าการใช้ชีวิตของประชาชนเริ่มได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และมากกว่านั้น ยังเห็นว่าเป้าหมายหลักการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาล โดยเฉพาะการเอาผิดต่อกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการระบาด เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายกับคนที่ออกมาต่อต้านรัฐบาล เรียกร้องสิทธิเสรีภาพต่างๆ รัฐบาลนี้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เล่นงานประชาชน ซึ่งข้อมูลศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ถึง 31 ม.ค. 2565 พบว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ต่ำกว่า 1,428 ราย จากการชุมนุมไม่น้อยกว่าใน 617 คดี

"และเมื่อไปดูก็พบว่าการชุมนุมไม่ได้สร้างคลัสเตอร์การแพร่ระบาด ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องชื่นชมการชุมนุมที่มีมาตรการป้องกันลดโอกาสติดเชื้อ แต่แม้มีข้อมูลว่าการชุมนุมไม่ใช่แหล่งแพร่ระบาดของโควิด หากแต่รัฐบาลก็ยังคงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น สรุปคือเพื่อปกป้องตัวเองหรือป้องปกประชาชนกันแน่ ที่อ้างเรื่องป้องกันการแพร่ระบาด สุดท้ายคือปกป้องอำนาจในมือตนเองใช่หรือไม่ ผมพยายามเตือนว่า สถานการณ์ขณะนั้นไม่ควรใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อ แต่ท่านไม่ฟัง เพราะพวกท่านเป็นผู้เดียวที่จะพิจารณา และสุดท้ายเลือกต่ออายุต่อไปโดยไม่ต้องมาชี้แจงอะไรเป็นเรื่องเป็นราว ในเมื่อรัฐบาลจะต่ออายุแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ ทำแบบนี้โดยไม่ฟังใคร ผมและพรรคก้าวไกลก็ต้องทำในสิ่งที่เราทำได้เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน นั่นคือการร่างกฎหมายฉบับใหม่ฉบับนี้ขึ้นมา" รังสิมันต์ กล่าว

เปิด 4 สาระสำคัญ หยุดรัฐบาลทรราช - ถึงเวลาคืนอำนาจตรวจสอบให้สภาฯ

รังสิมันต์ กล่าวว่า สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ มี 4 ประการ ได้แก่

1. ให้มีการแก้ไขจากเดิมประกาศใช้ไม่เกิน 3 เดือน เป็นไม่เกิน 30 วัน และต้องเห็นชอบจากสภา มีการนำเสนอเหตุผล มาตรการ และกระบวนการยุติ ซึ่งหากสภาไม่เห็นชอบก็ให้การประกาศนั้นสิ้นสุดลงทันที นอกจากนี้การขยายระยะเวลา จากเดิมขยายได้สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน เหลือ 30 วันเท่านั้น และต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนในกรณีที่มีการประกาศในช่วงไม่มีสภา ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดยระยะเวลาประกาศไม่เกิน 30 วัน นับตั้งแต่วันประกาศ ขยายได้ไม่เกิน 30 วัน และหากในภายหลังมีสภาชุดใหม่ในประกาศนั้นยังไม่สิ้นสุดลง ก็ขอความเห็นชอบทันที เมื่อประกาศสิ้นสุดลง นายกรัฐมนตรีต้องนำเสนอรายงานการการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวต่อสภาใน 30 วัน

2. เรื่องการออกข้อกำหนดของนายกรัฐมนตรี ให้ตัดอำนาจการออกข้อกำหนดห้ามการเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวออกไป เพราะสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ข่าวสารที่ประชาชนควรได้รับมากที่สุดไม่ใช่ด้านเดียวจากรัฐ หากแต่ต้องหลายภาคส่วน ให้เห็นทุกแง่มุม เพื่อให้ประชาชนเท่าทันและตรวจสอบการทำงานรัฐบาลได้

3. ตัดข้อยกเว้นที่ให้ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำใด ไม่ให้อยู่อำนาจศาลปกครอง และเจ้าหน้าที่ไม่มีความผิดในการใช้อำนาจตามประกาศ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ก็ต้องตัดออกไปด้วย เพื่อยืนยันการใช้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องอยู่ในการตรวจสอบองค์การตุลาการเสมอ

4. กรณีสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งมีความจำเป็นร้ายแรงที่ให้เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวตัวบุคคลได้ จากเดิมสามารถคุมได้นานสูงสุด 7 วัน และขยายได้ 30 วัน และไม่ให้คุมตัวที่สถานีตำรวจ เรือนจำ หรือทัณฑสถานนั้น ในร่างใหม่นี้ ระบุให้ต้องดำเนินด้วยกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญา คือ ควบคุมตัวได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง ญาติทนายความเข้าถึงได้ เมื่อครบกำหนด หากจะคุมต่อไป ก็ต้องดำเนินด้วยกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาเท่านั้น และต้องไม่กระทบสิทธิของญาติในการเยี่ยมด้วย

"ร่างนี้ไม่ใช่ร่างใหม่หรือซับซ้อนอะไรเลย ทำความเข้าใจง่ายมาก เพราะคือการเพิ่มอำนาจให้สภา ให้อำนาจผู้แทนประชาชนตรวจสอบรัฐบาลได้ เพิ่มอำนาจให้ศาลปกครองเข้ามาดูว่ารัฐบาลมีการใช้อำนาจละเมิดประชาชนหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์จะพิเศษแบบไหน หลักการเหล่านี้จะต้องมีอยู่ต่อไป นี่คือสาระสำคัญ คือหลักการสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งตลอดระยะเวลา 3 ปี กว่าในการทำหน้าที่ ส.ส.ของผม คือการป็นตัวแทนเอาความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนมาเป็นปากเป็นเสียง วันนี้ ผมกำลังเสนอกฎหมายที่เพิ่มอำนาจพวกท่าน เพิ่มอำนาจให้สภาผู้แทนราษฎร เพิ่มอำนาจให้ศาลปกครอง เพื่อไม่ให้รัฐบาลกลายเป็นเป็นรัฐบาลทรราช ถึงเวลาคืนอำนาจตรวจสอบรัฐบาลให้กับสภาฯ ด้วยร่างกฎหมายฉบับนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ส.ส. จะช่วยทำหน้าที่อย่างมีกระดูกสันหลัง จะยืนยันในสิ่งที่ยืนยันอยู่ ทำหน้าที่อย่างมีความผู้รับผิดชอบ ซื่อตรงกับประชาชน" รังสิมันต์ กล่าว

ทั้งนี้ หลังการอภิปรายโดย ส.ส. พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลในที่ประชุมสภาแล้ว อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ขอใช้สิทธิ์ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) นำไปพิจารณาก่อน 60 วันและจะส่งกลับเข้ามาในสภาอีกครั้ง โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปให้ ครม. พิจารณาก่อนด้วยคะแนนเสียง 227 ต่อ 157 เสียง และมีผู้งดออกเสียง 10 คน ไม่ลงคะแนนเสียง 0 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net