Skip to main content
sharethis

เผยจุฬาฯ สั่งปลด ‘เนติวิทย์’ พ้นตำแหน่งนายก อบจ. เหตุเชิญ 'เพนกวิน-ปวิน-รุ้ง' ไลฟ์เซอร์ไพรส์นิสิตใหม่ กิจการนิสิตระบุไม่แจ้งก่อน ขัดระเบียบและทำลายเกียรติมหาวิทยาลัย

26 ก.พ. 2565 เพจองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) รายงานว่ามี คำสั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ 0821/2565 เรื่อง ลงโทษตัดคะแนนความประพฤตินิสิต ระบุว่าสำนักบริหารกิจการนิสิตระบุว่าสืบเนื่องจากการจัดงานปฐมนิเทศนิสิตใหม่ ปีการศึกษา 2564 ที่จัดขึ้นในรูปแบบไลฟ์สด มีนิสิต 2 ราย ที่กระทำผิดวินัยนิสิต ได้แก่ นางสาวพิชชากร ฤกษ์สมพงษ์ นิสิตปริญญาตรี คณะครุศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งอุปนายกคนที่ 1 และนายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิต 

โดยบรรยายความผิดของนางสาวพิชชากรไว้ว่า มีเจตนากระทำกิจกรรม "เซอไพรส์" โดยขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรมของสำนักบริหารกิจการนิสิต อันได้แก่ "ให้นิสิตใหม่เกิดความประทับใจในมหาวิทยาลัย" ด้วยการนำเสนอวีดิทัศน์ของวิทยากรรับเชิญสามราย คือ คุณปวิน คุณรุ้ง และคุณเพนกวิน โดย "ไม่ได้แจ้งให้สำนักบริหารกิจการนิสิตทราบก่อน" ซึ่งในกิจกรรม "เซอร์ไพรส์" ดังกล่าว มีข้อความของคุณเพนกวินที่กล่าวเชิญชวนให้นิสิตใหม่ให้ของลับ ("แจกค_ย") ทั้งยังมีกิริยาท่าทางและคำพูดที่สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า "หยาบคาย" 

สำนักบริหารกิจการนิสิตเห็นว่า การกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดการแตกความสามัคคี ขัดต่อ "วัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของไทย" สุดท้าย การจัดกิจกรรมดังกล่าวจึงกระทบต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของมหาวิทยาลัยอย่างร้ายแรง มีความผิดตามวินัยนิสิต ตามข้อ 6 แห่งระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่าด้วยวินัยนิสิต ปี พ.ศ. 2527 และฐานนำขนบประเพณีหรือวิธีการอันไม่เหมาะสมแก่วัฒนธรรมไทยมาปฏิบัติ ตามข้อ 12 ของระเบียบเดียวกัน 

สังเกตได้ว่า ระเบียบดังกล่าวที่ตราขึ้นเมื่อราว ๆ 40 ปีที่แล้วยังคงถูกนำมาบังคับใช้โดยไม่คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงของบริบทแห่งสังคมไทยแต่อย่างใด

ต่อมา สำหรับนายเนติวิทย์นั้น สำนักบริหารกิจการนิสิตบรรยายความผิดไว้ว่า ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลการดำเนินงานขององค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และรู้เห็นเป็นใจกับการจัดกิจกรรม "เซอร์ไพรส์" ดังกล่าว โดยเป็นผู้ติดต่อคุณเพนกวินให้เป็นวิทยากรรับเชิญ และนายเนติวิทย์ได้โพสต์ถึงการมีกิจกรรมเซอร์ไพรส์ดังกล่าวในสื่อมัลติมีเดียของตน นอกจากนั้น ยังจงใจละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยการไม่ตรวจสอบกิจกรรมที่ไม่ได้ระบุไว้ในกำหนดการว่าสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ "สำนักบริหารกิจการนิสิต" หรือไม่ มีความผิดตามระเบียบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่าด้วยวินัยนิสิต ตามข้อ 6 และ 12 เช่นเดียวกัน

สุดท้าย สำนักบริหารกิจการนิสิตตัดคะแนนความประพฤติของทั้งสองคน คนละ 10 คะแนน และในส่วนของนายเนติวิทย์ จะมีผลให้พ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยทันที

เนติวิทย์กล่าวกับประชาไทว่ากฎระเบียบดังกล่าวล้าหลังและเปิดกว้างต่อการตีความโดยขึ้นอยู่กับผู้ถืออำนาจ โดยเขาจะใช้กระบวนการอุทธรณ์ภายในมหาวิทยาลัย หากไม่ได้รับความยุติธรรม ก็จะนำเรื่องนี้ไปยื่นกับศาลปกครอง

"จุฬาฯก็คล้ายๆสังคมไทย ลำดับชั้นสำคัญกว่าเหตุผล ผู้ใหญ่ถูกกว่าเด็ก ระเบียบตัดคะแนนพฤติกรรมเป็นระเบียบล้าหลัง ตลอดที่ผ่านมาก็เอาไว้ให้อาจารย์ใช้อำนาจตัดคะแนนนิสิตเช่น ใส่เครื่องแบบไม่เรียบร้อย หรือทำตัวไม่ถูกใจ ระเบียบมีอะไรที่ขึ้นกับการตีความเยอะ เช่น ทำผิดวัฒนธรรมไทยอันดีงาม มันคือเรื่องการเมือง เรื่องการควบคุม ไม่ให้นิสิตได้เติบโต ได้เจริญงอกงามทางการแสดงออกและความคิด"

"ดังนั้นย่อมถูกใช้มาเล่นงานคนที่คิดแตกต่างกล้าออกจากกรอบอย่างแน่นอน" เนติวิทย์กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net