Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการหลักสูตรการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา ชี้แจงหลัง ผู้ใช้นามแฝง 'อักษรอากร' เขียนบทความ 'อินเตอร์จุฬาฯ ที่ไม่สวยหรูอย่างที่คาดไว้' PGS ชี้บิดเบือนความเป็นจริง และเป็นเท็จ เพื่อนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในด้านลบเกี่ยวกับหลักสูตรเป็นจำนวนมาก

จากกรณีเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา ผู้ใช้ชื่อ 'อักษรอากร' เผยแพร่บทความชื่อ 'อินเตอร์จุฬาฯ ที่ไม่สวยหรูอย่างที่คาดไว้' ทางเว็บไซต์ประชาไท เนื้อหาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์หลักสูตรพิเศษรัฐศาสตร์และโลกสัมพันธ์ศึกษาของคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นหลักสูตรอินเตอร์ใหม่ของคณะที่เปิดมาได้ 4 ปี ที่ผู้เขียนวิจารณ์การบริหารจัดการชั้นเรียน โดยเฉพาะการยกเลิกคลาส การจัดการความพร้อมและทัศนคติของอาจารย์ผู้สอน ประสิทธิภาพการเรียนการสอน จนถึงปัญหาของฝ่ายธุรการนั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ต่อมา (22 เม.ย.) เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Politics and Global Studies, Chulalongkorn University' เผยแพร่คำชี้แจงของ คณะกรรมการหลักสูตรการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (PGS) โดยระบุว่าบทความดังกล่าว "มีข้อความที่บิดเบือนความเป็นจริง และเป็นเท็จ เพื่อนำเสนอให้ผู้อ่านเข้าใจผิดในด้านลบเกี่ยวกับหลักสูตรเป็นจำนวนมาก"

PGS อธิบายว่า 4 ปี หลังหลักสูตรได้เปิดรับนิสิตมีการดำเนินงานร่วมกันของหลายฝ่ายผ่านความร่วมมือและสานสัมพันธ์อันดีระหว่างจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยคู่สัญญา มีนิสิตภายในหลักสูตรสร้างชื่อเสียงให้กับคณะ สถาบัน และประเทศไทย จำนวนนิสิตที่สนใจหลักสูตร และอาจารย์ผู้สอนจากต่างประเทศที่สนใจทำงานร่วมกับหลักสูตรเป็นจำนวนมาก

ทางหลักสูตรและคณะรัฐศาสตร์จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องชี้แจงให้สาธารณะเห็นว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ดังนี้

1. (ส่วนนี้เป็นข้อความที่บิดเบือนความเป็นจริงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิด) คลาสถูกยกเลิก... นี่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรอก แต่เป็นประสบการณ์ที่นิสิต PGS คุ้นเคย 
–  หลักสูตร PGS ที่มีการเรียนการสอนที่คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เคยมีการยกเลิกชั้นเรียน แต่มีการเปลี่ยนเวลาเรียนในกรณีที่ผู้สอนมีความจำเป็นไม่สามารถมาสอนในวันที่ระบุไว้ในตารางเรียนล่วงหน้าได้ (โดยปกติแล้วการจัดตารางเรียน ผู้สอนจะดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนการเปิดภาคเรียน หรือก่อนการเรียนครั้งสุดท้ายของภาคเรียนเป็นเวลา 3 – 4 เดือน ดังนั้นหากมีภารกิจด่วน หรือภารกิจที่จำเป็นต้องเข้าร่วมระหว่างภาคการศึกษาและทราบได้ล่วงหน้า ผู้สอนจะทำการ make up หรือสอนชดเชย ทุกครั้ง) อย่างไรก็ตามในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ผู้สอนมีเหตุจำเป็นต้องเลื่อนชั้นเรียนกะทันหัน ผู้สอนได้มีการขอโทษและสื่อสารถึงความจำเป็นในภายหลัง โดยในปีการศึกษาที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์นี้ 3 ครั้ง 
2. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิด) อาจาร์ยบางคนไม่พร้อมที่จะมาสอนอย่างชัดเจน เมื่ออาจารย์ผู้สอนคนเก่าของวิชาบังคับลาออก – นิสิตปีหนึ่งในหลักสูตรเป็นผู้กล่าวกับหลักสูตรเองว่า “พวกเราทราบว่าอาจารย์ตั้งใจ และเตรียมการสอนมาเป็นอย่างดี” นอกจากนี้ หลักสูตร (และคณะรัฐศาสตร์) ไม่เคยมีการบังคับบุคลากรลาออกและไม่เคยมีอาจารย์ประจำหรือบุคลากรหลักสูตรลาออกเลยตั้งแต่ก่อตั้งหลักสูตรมา  
3. (ส่วนนี้เป็นข้อความที่บิดเบือนความเป็นจริงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิด และข้อความที่ปราศจากความรู้ถึงกระบวนการภายใน) อาจารย์หลายๆ คนก็คิดว่า เรารู้อะไรบางอย่างอยู่แล้ว เช่น พวกทฤษฎีสังคมศาสตร์พื้นฐาน (ซึ่งไม่มีวิชาไหนที่สอนเรื่องพวกนี้เพื่อปูความพร้อม) และก็เป็นสถานการณ์ซํ้าๆ ที่อาจารย์แต่ละวิชาจะแสดงความประหลาดใจและพูดเป็นประโยคเดียวกันว่า “พวกเธอไม่รู้เรื่องนี้หรอ?”
–  ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่หลักสูตรรับรู้ จากการแจ้งของอาจารย์ผู้สอนที่ถูกอ้างถึง และจากตัวแทนนิสิตชั้นปีที่ 1 ในการประชุมร่วมกับผู้อำนวยการหลักสูตรประจำเดือนมีนาคม อย่างไรก็ตาม เนื้อหาที่เป็นประเด็นนี้เป็นเนื้อหา “ทฤษฎีการเมือง” ไม่ใช่ “ทฤษฎีสังคมศาสตร์” และหลักสูตรไม่ได้นิ่งนอนใจ ทันทีที่ได้รับฟีดแบกจากอาจารย์และนิสิต หลักสูตรได้มีการพิจารณาเนื้อหาเพิ่มเติมในการปรับปรุงหลักสูตรครั้งต่อไป อย่างไรก็ตามการเพิ่มวิชาบังคับในหลักสูตร ไม่สามารถทำได้ทันที หรือทันทีในภาคการศึกษา หรือปีการศึกษาต่อไป เนื่องจากต้องได้รับการพิจารณาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญที่สุดต้องมีการทบทวนความสอดคล้อง และอนุมัติโดยมหาวิทยาลัยคู่สัญญาตามกระบวนการ เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการรักษามาตรฐานของหลักสูตรสองปริญญาด้วย 
4. (ส่วนนี้เป็นการบิดเบือนความจริงเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจผิด) อาจารย์พูดดูถูกชุมชนรอบบรรทัดทองและสนับสนุนสิ่งที่จุฬาฯ ทำ หยามว่า บริเวณที่คนชุมชนเชียงกงใช้ขายอะไหล่รถยนต์นั้นเป็น ‘junkyard’ (ลานขยะ) ที่เต็มไปด้วยการโจรกรรมซึ่งตนเองก็เคยประสบ มองว่า เป็นเรื่องดีที่จุฬาฯ เวียนคืนที่ดินไปสร้างคอนโดระฟ้าและสวนขนาดกลาง (อุทยาน 100 ปี จุฬาฯ) เพราะหากปล่อยไว้ก็จะไม่มีการพัฒนา 
--- คำว่า junkyard เป็นที่ทราบกันดีว่า หมายถึงสถานที่แลกเปลี่ยนและซื้อขายอะไหล่รถยนต์เก่า อ้างอิงจากพจนานุกรม https://www.collinsdictionary.com/.../english/junkyard และในชั้นเรียน ผู้สอนมีการสอบถามนิสิตว่ามีใครทราบบ้าง ว่าบริเวณสวนหลวงก่อนที่จะเป็นอย่างทุกวันนี้เป็นอย่างไร และนิสิตในชั้นเรียนเป็นผู้ตอบเองว่าเป็นสถานที่ขายและแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนรถยนต์ (junkyard) แต่ผู้เขียนมีเจตนาแปลให้เกิดความเข้าใจผิดชัดเจน นอกจากนี้ในชั้นเรียน ผู้สอนได้พูดถึงการโจรกรรมที่ผู้สอนได้พบเห็น (witnessed) ไม่ได้ประสบ (experienced) เองโดยตรงตามที่ผู้เขียนระบุในประชาไท ในชั้นเรียนนี้ ผู้สอนได้อธิบายว่าการตัดสินใจในการทำนโยบายสาธารณะที่มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ในกรณีที่เกิดขึ้นกับพื้นที่รอบจุฬาฯ ต้องมีมาตรการเยียวยา หรือเจรจาต่อรองกับผู้ที่ได้รับผลกระทบซึ่งก็เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ตามหลักการนโยบายสาธารณะ การตัดสินใจต้องมุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายประชากร และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อสาธารณะ ซึ่งในกรณีนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่เมืองคือการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การพัฒนาการขนส่งสาธารณะ ความปลอดภัย และพื้นที่สาธารณะ (เช่น อุทยาน 100 ปีฯ) ผู้สอนยังได้ย้ำในชั้นเรียนนี้ว่า การที่จะให้นโยบายสาธารณะทำให้ทุกฝ่ายถึงพอใจนั้นเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งผู้สอนสื่อสารด้วยข้อเท็จจริง พร้อมกับบทเรียนและหลักการ ไม่ได้เป็นการดูถูก และไม่ได้มีข้อความดูถูก ตามที่ผู้เขียนระบุในความคิดเห็นในประชาไท (ชี้แจงเขียนโดยอาจารย์ผู้สอน) 
5. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) หากถามรุ่นพี่ที่กลับมาจากมหาวิทยาลัย Essex ประเทศอังกฤษ หลังศึกษาแลกเปลี่ยนในปี 1 และปี 2 และมาเรียนพร้อมกับปี 1 รุ่นเรา พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ขนาดเขาไปเรียนที่อังกฤษแล้ว กลับมาเรียนที่นี่ก็เรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ไม่มีอาจารย์วิชาไหนที่สอนทฤษฎีพื้นฐานเลย 
– ฟีดแบกจากนิสิตใน Essex track ในรุ่นที่ปี 1 – 2 ต้องเรียนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญา คือ วิชาที่กลับมาเรียนมีเนื้อหาที่ลึกกว่า นอกจากนี้ภายในหลักสูตรมีวิชาที่สอนทฤษฎีพื้นฐานหลากหลายวิชา โดยเฉพาะวิชาในชั้นปี 1 เช่น
1) Social Theory and Design Thinking  ทฤษฎีพื้นฐานได้แก่ ทฤษฎีสังคม 
2) Public Policy ทฤษฎีพื้นฐานได้แก่ ทฤษฎีระบบและอิทธิพลของการเมือง แนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะ การติดตามและประเมินผลนโยบายเบื้องต้น แนวคิดเรื่องการออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้และการคิดเพื่อการออกแบบเพื่อปรับปรุงนโยบาย เศรษฐศาสตร์จุลภาคย์ ทฤษฎีการเมืองในมุมมองที่เป็นอิทธิพลต่อนโยบาย
3) Leadership Strategic Management ทฤษฎีพื้นฐานได้แก่ ทฤษฎีภาวะผู้นำ (traits theory, transformational leadership, and transactional leadership)
4) Politics and Government of Thailand ทฤษฎีพื้นฐานได้แก่ ทฤษฎีทางการเมือง (Collective Action, Bureaucratic Authoritarianism , Electoral Authoritarianism, Strategic Coordination in Electoral System และกระบวนการนิติบัญญัติ)
6. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) หลังศึกษาแลกเปลี่ยนในปี 1 และปี 2 และมาเรียนพร้อมกับปี 1 รุ่นเรา พวกเขาบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ขนาดเขาไปเรียนที่อังกฤษแล้ว กลับมาเรียนที่นี่ก็เรียนไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ไม่มีอาจารย์วิชาไหนที่สอนทฤษฎีพื้นฐานเลย ตอนเรียนที่อังกฤษ เขาต้องเรียนวิชาที่ปูพื้นฐานทฤษฎีด้านการเมือง (Political) สังคมศาสตร์ (Sociology) เศรษฐศาสตร์ (Economics) อาชญวิทยา (Criminology) และระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพที่จุฬาฯ
---- ในความเป็นจริงนั้นในหลักสูตรเดิมของ Essex Track วิชาพื้นฐานสังคมวิทยาและอาชญวิทยา (Sociology and Criminology) อยู่ในชั้นปีที่ 1 และ วิชาพื้นฐาน Economics ไม่ได้อยู่ในหลักสูตร ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา ในหลักสูตรใหม่เริ่มใช้ในปีการศึกษาปัจจุบัน นิสิตจะเริ่มเรียนที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาในปีที่ 2 ทั้งนี้วิชาภายในโครงสร้างของหลักสูตร ณ มหาวิทยาลัย Essex จะยังเน้นวิชาในขอบข่ายของ สังคมวิทยา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (โดยจะมีวิชา International Economics Development อยู่ในนี้ด้วย) และการเมืองการปกครอง นอกจากนี้ทั้งนิสิตใน Essex Track และ UQ Track จะได้เรียนพื้นฐานวิชา ระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ เป็นส่วนหนึ่งของวิชาบังคับ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนวิชาเดียวกันซ้ำ ณ คณะรัฐศาสตร์ นอกจากนี้นิสิตที่เลือกเรียนแผนการเรียน Essex และ UQ จะได้เรียนวิชาบังคับที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความสนใจที่นิสิตเลือกตั้งแต่สอบเข้าหลักสูตร (รายวิชาภายในหลักสูตรเป็นข้อมูลสาธารณะประกาศในเว็ปไซต์ของหลักสูตร) จึงเป็นปกติที่นิสิตจะได้เรียนวิชาที่แตกต่างกัน นอกจากนี้หากนิสิตได้เรียนวิชาระเบียบวิธีวิจัยจากมหาวิทยาลัยคู่สัญญาแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องเรียนซ้ำ ณ คณะรัฐศาสตร์
อย่างไรก็ดีทางหลักสูตรมีการพิจารณาเพิ่มเติมวิชาพื้นฐาน Economics ที่คณะรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นฟีดแบกที่หลักสูตรได้มาจากนิสิตว่าต้องการให้มีเพิ่มเติม (ขณะนี้ มีคลาสเรียนพื้นฐานเศรษฐศาสตร์จุลภาค และมหภาค รวมทั้งพื้นฐานระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพและปริมาณ ในการเรียนเตรียมความพร้อมก่อนขึ้นปี 1 ที่หลักสูตรได้มีการจัดให้กับนิสิต โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว)
7. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) ในขณะเดียวกัน รุ่นพี่นั้นก็คิดว่าเนื้อหาที่ได้เรียนที่จุฬาฯ นั้นไม่เจาะลึกพอ และเป็นเนื้อหาที่ทั่วไปมาก จนทำให้รู้สึกว่า ที่เรียนพื้นฐานมาจากอังกฤษนั้นไม่ได้นำไปต่อยอด  
--- ทางหลักสูตรได้ความคิดเห็นที่ตรงกันข้ามกับข้อความนี้จากนิสิตที่กลับมาจาก Essex ในรุ่นที่ยังเป็นโครงสร้างหลักสูตรเดิม นอกจากนี้ผู้เขียนอาจไม่ทราบว่าทางหลักสูตรได้มีการจัดประชุมเพื่อรับฟังฟีดแบกจากนิสิตทั้งนิสิตที่ยังศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา และนิสิตที่กลับมาแล้ว (ทั้ง UQ และ Essex) ในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการอย่างน้อยภาคเรียนละ 1 ครึ่ง (หลักสูตรจึงไม่ทราบว่าข้อความนี้มีความเป็นมาอย่างไร) นอกจากนี้ เป็นเรื่องปกติที่ผู้เรียนจะมีความสามารถ ความถนัด และความชอบในแต่ละวิชาไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีระดับความเข้าใจในวิชานั้นๆ แตกต่างกันไปด้วย 
8. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) และปราศจากการเสาะหาข้อเท็จจริงในกรณีที่คล้ายกัน) รุ่นพี่บางคนเคยเขียนจดหมายร้องเรียนไปทางหัวหน้าหลักสูตรแล้ว แต่ก็เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 
–-- ผู้บริหารหลักสูตร กรรมการหลักสูตร หรือผู้บริหารคณะ ไม่เคยได้รับจดหมายหรืออีเมล การติดต่อหรือร้องเรียนใดๆ จากนิสิต ตามประเด็นที่ระบุภายในความคิดเห็น อย่างไรก็ดี Student Council ของนิสิต PGS รุ่นที่ 2 ได้มีการจัดทำการนำเสนอในการประชุมประจำเดือนกับผู้อำนวยการหลักสูตรถึงความจำเป็นของการมีวิชาพื้นฐานเศรษฐศาสตร์ จึงเป็นที่มาของการจัดให้มีวิชานี้อยู่ในหลักสูตรการเตรียมความพร้อม ในระหว่างที่กำลังพัฒนาหลักสูตรปรับปรุงของ PGS ที่จะบรรจุวิชาพื้นฐานเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาภายในหลักสูตรต่อไป 
9. (ข้อความนี้เป็นข้อความที่ปราศจากความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้อง และไม่ได้มีการศึกษาถึงข้อเท็จจริง)
นิสิตเองก็ต้องจ่ายค่าถือครองสิทธิให้จุฬาฯ อยู่ดี แต่เมื่อกลับมาไทยกลับไม่ต้องจ่ายค่าครองสิทธิให้กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศแต่อย่างใด โดยยังคงสถานะนิสิตต่อไปได้เลย
– ค่าธรรมเนียมการรักษาสถานภาพนิสิตเป็นข้อกำหนดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้หลักสูตรมีการอัพเดตรายละเอียดค่าเล่าเรียน และรายจ่ายที่เกี่ยวข้องในการศึกษาในต่างประเทศผ่านทางเว็ปไซต์ของหลักสูตรเป็นประจำทุกปี (เนื่องจากค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยคู่สัญญาที่นิสิตชำระตรงต่อมหาวิทยาลัยที่เลือก มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี) โดยในส่วนค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่อยู่ในขอบข่ายของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รวมค่าธรรมเนียมการรักษาสภาพนิสิตอยู่ด้วย นอกจากนี้ เนื่องจากนิสิตภายในหลักสูตรจะเริ่มเข้าสู่ระบบทะเบียนนักศึกษาในสถาบันมหาวิทยาลัยคู่สัญญาในปีที่ 2 จึงไม่มีความจำเป็นที่มหาวิทยาลัยคู่สัญญาจะเก็บค่าใช้จ่ายนี้ตั้งแต่ในปีแรกอยู่แล้ว นอกจากนี้ค่าธรรมเนียมการรักษาสภาพนิสิตนั้นเป็นการกำหนดโดยมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความแตกต่างกันได้เป็นปกติ 
10. (ส่วนนี้เป็นข้อความที่ผู้เขียน เขียนโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงหลักสูตร) ฝ่ายเดียวที่ไหวตัวคือมหาวิทยาลัย Essex แต่ก็ยังคงอยู่ในขั้นตอนการเปลี่ยนแปลง จึงคงต้องรอดูต่อไปในส่วนนี้ ส่วนทางจุฬาฯ นั้นกลับกลายเป็นว่าเวลาของนิสิตเหมือนถูกออกแบบมาให้หมดไปกับกิจกรรมฆ่าเวลา 
--- ที่ผ่านมาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ติดตามรับความคิดเห็นและฟีดแบกอย่างเป็นทางการจากนิสิตภายในหลักสูตรเป็นแห่งแรก และเป็นผู้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยคู่สัญญา ทั้งมหาวิทยาลัย Essex และ UQ เพื่อหารือถึงแนวทางการปรับเปลี่ยน และปรับปรุงหลักสูตรเป็นลำดับต่อไป นอกจากนี้ยังมีการติดตามและเก็บความคิดเห็นจากนิสิตอย่างไม่เป็นทางการ และนำเข้าสู่การหารือของการประชุมคณะกรรมการหลักสูตรอย่างสม่ำเสมอ โดยการเปลี่ยนแปลงแรก ณ มหาวิทยาลัย คือการที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ขอให้มหาวิทยาลัยคู่สัญญาร่วมปรับโครงสร้างจากเดิมนิสิตเรียนปีที่ 1 และ 2 ที่มหาวิทยาลัย Essex เป็นนิสิตเรียนปี 1 ที่คณะรัฐศาสตร์ฯ ก่อน โดยการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการพิจารณาของผู้บริหารหลักสูตรและคณะในตอนนั้น เมื่อปี 2021 และสำเร็จลุล่วงในปี 2022 นอกจากนี้ในการประชุมการบริหารจัดการกับมหาวิทยาลัย Essex ในเดือนที่ผ่านมา คณะได้มีการขอให้มหาวิทยาลัยคู่สัญญาปรับเปลี่ยนข้อกำหนดและรายวิชาในหลักสูตร เพื่อให้นิสิตมีตัวเลือกในแผนการเรียนมากขึ้นด้วย ดังนั้นตามกระบวนการนี้ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลง ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา เป็นผลมาจากการพิจารณาและดำเนินการจากคณะรัฐศาสตร์เป็นอันดับแรก กระบวนการภายในเหล่านี้ ไม่ได้มีการปกปิดเป็นความลับ และมีการสื่อสารกับนิสิต โดยเฉพาะในส่วนที่มาจากความคิดเห็นของนิสิต 
11. (ส่วนนี้นี้เป็นข้อความเท็จ) เมื่อถึงเวลานิสิตต้องไปต่างประเทศก็มีการช่วยเหลือแค่การแนะนำ ที่เหลือปล่อยให้นักเรียนไปจัดการเรื่องวีซ่า ตั๋วเครื่องบิน และที่พักเองทั้งสิ้น ในขนะที่ภาค JIPP (วิทยาศาสตร์จิตวิทยา) ของคณะจิตวิทยา ที่มีการไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยเดียวกันในออสเตรเลียกลับมีการช่วยเหลือเรื่องพวกนี้ทั้งหมด 
--- หลักสูตรได้มีการให้ความช่วยเหลือ แนะนำเรื่องวีซ่า และที่พักโดยเจ้าหน้าที่หลักสูตรและเจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยคู่สัญญาทั้งสองโดยตรงตั้งแต่ปีการศึกษา 2022 อย่างไรก็ตามหลักสูตรไม่ได้มีการบริหารจัดการในลักษณะเอเจนท์ที่ให้บริการครบวงจร และนิสิตภายในหลักสูตรไม่ได้มีสถานะเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน แต่เป็นนักศึกษาเต็มเวลามีสิทธิ์ และสวัสดิการ เป็นนักศึกษาที่เรียนเต็มเวลาในหลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยคู่สัญญาทุกประการ (ในกรณีแลกเปลี่ยนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิสิตต้องดำเนินการเกี่ยวกับ immigration และการหาที่พักเองทุกขั้นตอน หรือตามที่มหาวิทยาลัยปลายทางให้ความช่วยเหลือแตกต่างกันไป)
12. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) การเชิญผู้มีประสบการณ์และความรู้จากหลายๆ ประเทศมาเป็นวิทยากรพิเศษเป็นเรื่องที่ดี และการที่คณะอนุญาตให้คนนอกเข้าร่วมกิจกรรมได้แบบไม่มีค่าใช้จ่ายก็เป็นเรื่องบริการสังคม แต่การจัดการของธุรการและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการบริหารกิจกรรมนี้ที่ทำให้นิสิตของภาค PGS จริงๆ ไม่ค่อยมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรม เนื่องจากว่ากิจกรรมเช่นนี้มักจะถูกจัดในช่วงพักเที่ยงในวันที่มีการเรียนการสอนทั้งวัน ซึ่งเป็นการบังคับให้นิสิตต้องเลือกระหว่างการไปกินข้าวพักผ่อนหรือเข้าร่วมกิจกรรมนี้ 
--- หลักสูตรจัดการบรรยาย Global Ed Series ร่วมกับหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ (หลักสูตรนานาชาติ) (MAIDS-GRID) เป็นประจำ โดยมีลักษณะบรรยากาศกันเอง เหมือนลักษณะของ brown bag talk ในมหาวิทยาลัยต่างประเทศที่ผู้เข้าร่วมสามารถนำอาหารมารับประทานได้ แต่หลักสูตรมีการบริการอาหารและเครื่องดื่มให้ผู้เข้าร่วมงาน อย่างไรก็ดี กิจกรรมนี้ไม่เคยมีการจัดในช่วงพักกลางวัน และจะจัดในช่วงเย็นเท่านั้นเพื่อให้บุคคลภายนอกสามารถเข้าร่วมได้ (ครั้งแรกในการจัดกิจกรรม ได้มีการยกเลิกเนื่องจากวิทยากรประสบอุบัติเหตุ ไม่สามารถมาได้) สามารถดูหลักฐานได้ในเฟซบุ๊คและเว็ปไซต์ของหลักสูตร
13. (ส่วนนี้เป็นข้อความเท็จ) กิจกรรมเหล่านี้ซึ่งจัดในนามภาคจึงไม่ค่อยมีนิสิตของภาคเข้าร่วมจริงๆ ไม่เพียงเท่านั้นทางภาคยังเคยมีการตัดสินใจเชิญทางสถานทูตอิสราเอลมาเป็นวิทยากร ท่ามกลางโศกนาฏกรรมที่อิสราเอลกระทำต่อปาเลสไตน์และฉนวนกาซ่า ซึ่งเป็นสถานการณ์อ่อนไหวที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ นับว่าเป็นการกระทำที่ไม่ควร น่าอับอาย 
– เอกอัคราชทูตอิสราเอลประจำประเทศได้ เป็นวิทยากรในการบรรยายในกิจกรรม Global Ed Series ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2023 สงครามอิสสราเอลและปาเลสไตน์ เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2023 โดยกิจกรรมไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการเมืองแต่เป็นเชิงประวัติศาสตร์ถึงเหตุการณ์สำคัญหนึ่งของโลก นอกจากนี้ในกิจกรรมนี้และการบรรยายครั้งอื่นๆ เช่น การบรรยายเรื่องการบริหารจัดการอย่างยั่งยืนโดยเอกอัคราชทูตนิวซีแลนด์ มีนิสิตในหลักสูตรเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยมีภาพบรรยากาศของงานอยู่ในเว็ปไซต์และเฟซบุ๊คของหลักสูตร 
หลักสูตรและคณะรัฐศาสตร์ต้องการเรียกร้องความรับผิดชอบจากเว็ปไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จและบิดเบือด ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด หากแต่ในเว็ปไซต์ประชาไทมีการระบุว่า “ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ” หมายความว่าประชาไทจะไม่รับผิดชอบความคิดเห็นของผู้เขียน (นอกจากนี้มีข้อสังเกตคือการเรียกการศึกษามหาวิทยาลัยคู่สัญญาว่าเป็นการแลกเปลี่ยน ซึ่งไม่เป็นความจริง นิสิตภายในหลักสูตรไม่ได้มีสถานะเป็นนิสิตแลกเปลี่ยน แต่เป็นนักศึกษาเต็มเวลา มีสิทธิ์ สวัสดิการและสถานะเป็นนักศึกษาที่เรียนเต็มเวลาสี่ปีในมหาวิทยาลัยคู่สัญญา การศึกษา ณ มหาวิทยาลัยคู่สัญญา ไม่ใช่การแลกเปลี่ยน) การเผยแพร่ความคิดเห็นนี้จึงเป็นการก่อให้เกิดการเสื่อมเสียชื่อเสียง ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ กระทบต่อการทำงานของผู้เกี่ยวข้องและนิสิต ทางหลักสูตรจึงขอให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณในการพิจารณาเจตนาที่แท้จริงของผู้เขียนความคิดเห็นและการเผยแพร่อย่างถี่ถ้วนก่อนด่วนเชื่อถือ

คณะกรรมการหลักสูตรการเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (PGS) 
23 เมษายน 2024

 

อย่างไรก็ตาม อักษรอากร เขียนโต้ผ่าน 'Aksorn Akorn' ด้วยในเวลาต่อมาดังนี้


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net