นักเศรษฐศาสตร์สหรัฐฯ วิเคราะห์ 8 ข้อกรณีรัสเซียบุกยูเครน

โรเบิร์ต ไรซ นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันเขียนวิเคราะห์ 8 ข้อ หลังรัสเซียบุกยูเครน เกี่ยวข้องกับการคว่ำบาตร ผลกระทบทางเศรษฐกิจ ผลสะเทือนทางการเมืองโลก และเรื่องที่ว่าผู้นำรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ไม่ใช่แค่กลัวยูเครนเข้าร่วมนาโต แต่ต้องการต่อต้านเสรีนิยมประชาธิปไตยเพื่อรักษาแนวทางแบบอำนาจนิยมของตัวเองไว้ด้วย

รถหุ้มเกราะถูกทำลายที่ Konotop เมืองทางตอนเหนือของยูเครน ภาพถ่ายเมื่อ 25 ก.พ. 65 วันที่สองของสงครามรุกรานโดยรัสเซีย (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

โรเบิร์ต ไรซ เป็นนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันและเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานสมัยรัฐบาลบิล คลินตัน ระบุในบล็อกของตัวเอง กรณีประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ประกาศทำสงครามกับยูเครนว่า 

"พวกเราจะต้องทำสิ่งที่พวกเราทำได้เพื่อจำกัดการรุกรานยูเครนโดยวลาดิเมียร์ ปูติน แต่พวกเราก็ควรจะต้องมองในเรื่องนี้ให้ชัดเจนและเผชิญกับราคาที่ต้องจ่าย"

ไรซ เคยพูดเอาไว้ว่า "เศรษฐศาสตร์ไม่อาจแยกจากการเมืองได้และไม่อาจแยกจากประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน" นั่นทำให้เขานำเสนอคำตอบต่อคำถามเกี่ยวกับสภาพความจริงในมุมมองของไรซต่อการโต้ตอบการรุกรานของรัสเซีย 8 ข้อดังต่อไปนี้

 

1. การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มนำมาใช้จะสามารถหยุดยั้งปูตินไม่ให้เข้ายึดครองยูเครนทั้งประเทศได้หรือไม่?

ไรซ มองว่าไม่ได้ การคว่ำบาตรจะทำให้เกิดอุปสรรคต่อรัสเซียในการทำธุรกรรมทางการเงินในระดับโลกเท่านั้นแต่จะไม่ทำให้เกิดการตัดกำลังทางเศรษฐกิจของรัสเซีย หลังจากที่รัสเซียผนวกรวมดินแดนของไครเมียที่เคยเป็นของยูเครนเข้าไปเป็นของรัสเซียในปี 2557 แล้ว สหรัฐฯและประเทศพันธมิตรก็ทำการคว่ำบาตรที่ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียชะลอตัวลงชั่วคราวแต่ไม่นานนักรัสเซียก็ฟื้นตัวกลับมาได้

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารัสเซียได้ลดการพึ่งพาหนี้ต่างชาติและการลงทุนต่างชาติ ซึ่งหมายความว่าการคว่ำบาตรในรูปแบบคล้ายคลึงกันจะส่งผลได้น้อยกว่า นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่อง "คริปโตเคอร์เรนซี" และสินทรัพย์แบบดิจิทัลที่กำลังเติบโตขึ้นในรัสเซีย ทำให้รัสเซียไม่ต้องอาศัยการโอนย้ายสินทรัพย์ผ่านธนาคารก็ได้ โดยที่การเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารเป็นจุดควบคุมที่ใช้ในการคว่ำบาตร ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือ การคว่ำบาตรที่ใช้ไปแล้วหรือกำลังขู่ว่าจะใช้กับรัสเซียนั้นจะลดผลผลิตมวลรวมประชาชาติของรัสเซียได้แต่เพียงแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์

2. แล้วการคว่ำบาตรแบบไหนล่ะที่จะสร้างความเสียหายต่อรัสเซียได้อย่างแท้จริง

ไรซระบุว่าการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันและก๊าซของรัสเซียจะสร้างความเสียหายต่อรัสเซียได้อย่างแท้จริง รัสเซียผลิตน้ำมัน 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 10 ของอุปสงค์จากทั่วโลก กระทรวงพลังงานของสหรัฐฯ จัดให้รัสเซียอยู่ในอันดับที่ 3 ของโลกในด้านการผลิตน้ำมัน รองจากสหรัฐฯ และซาอุดีอาระเบีย และได้รับการจัดอันดับอยู่ในที่ 2 ในเรื่องผลิตก๊าซธรรมชาติ รองจากสหรัฐฯ

 

3. ถ้าเช่นนั้นทำไมถึงไม่คว่ำบาตรพวกเขาด้วยวิธีที่ว่า

ไรซระบุว่า เพราะมันจะส่งผลกระทบเสียหายอย่างมากต่อผู้บริโภคในยุโรปและในสหรัฐฯ จากการทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น (จากที่ตอนนี้ภาวะเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 7.5 ต่อปีในสหรัฐฯ ถือว่ามากที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา) ถึงแม้ว่าสหรัฐฯ จะนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียน้อยมาก แต่ตลาดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นตลาดในระดับโลกซึ่งหมายความว่าการขาดแคลนที่ทำให้ส่วนหนึ่งของโลกปรับราคาสูงขึ้นก็จะส่งผลกระทบคล้ายกันกับที่อื่นๆ

ราคาน้ำมันของสหรัฐฯ กำลังเข้าใกล้ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลแล้วในตอนนี้เมื่อเทียบกับ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากเมื่อปีที่แล้ว เว็บไซต์สำรวจราคาน้ำมัน AAA ระบุว่าราคาน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันตอนนี้โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.53 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อหนึ่งแกลลอน สำหรับชาวอเมริกันส่วนใหญ่ ราคาน้ำมันที่ปั๊มน้ำมันเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดสำหรับเรื่องเงินเฟ้อ ไม่เพียงแค่เพราะมันเป็นพลังงานของรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเท่านั้น แต่เป็นเพราะราคาน้ำมันมีการประกาศหราด้วยตัวเลขขนาดใหญ่อยู่หน้าปั๊มน้ำมันทุกที่ในสหรัฐฯ

ไรซระบุอีกว่า ผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์จากการขึ้นราคาเช่นนี้คือบริษัทพลังงานอย่าง Halliburton, Occidental Petroleum และ Schlumberger ซึ่งในตอนนี้อยู่ในระดับต้นๆ ของดัชนีเอสแอนด์พี 500 มีใครคิดจะสนับสนุนให้เก็บภาษีผลพลอยได้ทางกำไรกับพวกเขาหรือไม่

4. การคว่ำบาตรที่หนักขึ้นจะสามารถบั่นทอนอำนาจควบคุมรัสเซียของปูตินลงได้ไหม

มีความเป็นไปได้ แต่มันก็อาจจะส่งผลตรงกันข้าม คือมันจะส่งผลให้ปูตินอ้างใช้เรื่องนี้ในการสุมไฟให้มีความระแวงสงสัยต่อชาติตะวันตกและปลุกเร้าลัทธิชาตินิยมรัสเซียให้รุนแรงขึ้นได้ การใช้มาตรการคว่ำบาตรในแบบที่หนักที่สุดจากสหรัฐฯ จะทำให้ประชาชนชาวรัสเซียโดยทั่วไปต้องจ่ายค่าอาหารและเครื่องนุ่งห่มแพงขึ้น หรือทำให้มูลค่าของบำเหน็จบำนาญและเงินเก็บในบัญชีของพวกเขาลดลงเพราะค่าเงินรูเบิลจะล่มหรือตลาดรัสเซียจะล่ม แต่นี่ก็อาจจะเป็นการเสียสละที่จำเป็นที่จะขับเคลื่อนชาวรัสเซียรอบตัวของปูติน

5. มีผลกระทบต่อนโยบายการต่างประเทศอื่นๆ ที่พวกเราควรจะต้องจับตามองหรือไม่

ไรซ ระบุสั้นๆ คำเดียวนั่นคือ "จีน" การที่รัสเซียกังวลเกี่ยวกับชาติตะวันตกทำให้พวกเขาหันไปฟื้นสัมพันธ์กับจีนก่อนหน้านี้แล้ว การที่สองประเทศเผด็จการที่มีอำนาจมากที่สุดในโลกกลายเป็นพันธมิตรกันนั้นถือเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

6. แล้วเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อการเมืองภายในสหรัฐฯ อย่างไรบ้าง

ไรซ ระบุว่าวิกฤตนโยบายต่างประเทศมักจะขับให้ประเด็นภายในประเทศออกจากพื้นที่พาดหัวข่าวเด่นๆ ทำให้ขบวนการปฏิรูปอ่อนแอลง การรุกรานยูเครนของปูตินได้ทำให้ประเด็นอภิปรายเกี่ยวกับสิทธิการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ถูกทำให้เงียบลง รวมถึงการปฏิรูปแก้ไขปัญหาการขัดขวางการผ่านญัตติหรือมติในสภา และโครงการ "บิวต์แบคเบตเตอร์" ของ โจ ไบเดน ก็ถูกทำให้เงียบลงด้วย อย่างน้อยก็ในตอนนี้ ถ้าหากสงครามขนาดใหญ่เกิดขึ้นก็อาจจะทำให้การพูดถึงประเด็นปฏิรูปเหล่านี้หายไปเลย เช่น กรณีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่หยุดยั้งยุคสมัยก้าวหน้า สงครามโลกครั้งที่ 2 หยุดยั้งนโยบายนิวดีลที่หวังจะใช้แก้ไขปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ สงครามเวียดนามก็ทำให้ชุดนโยบายปฏิรูปสังคมหลายด้านของลินดอน บี จอห์นสัน ที่เรียกว่า "เกรทโซไซตี" หยุดลง

สงครามและภัยคุกคามจากสงครามยังให้ความชอบธรรมกับการใช้งบประมาณด้านการทหารจำนวนมาก และให้ความชอบธรรมกับกลุ่มชนชั้นนำในกองทัพ เดิมทีสหรัฐฯ ก็ใช้งบประมาณไปกับกองทัพ 776,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีอยู่แล้ว รวมแล้วสูงกว่ามหาอำนาจทางการทหาร 10 อันดับแรกของโลก (รวมจีนและรัสเซีย) ประเทศอื่นๆ รวมกัน สงครามจะสร้างผลกำไรมหาศาลต่อบรรษัทยักษ์ใหญ่และอุตสาหกรรมการสงคราม

ความเป็นไปได้ของสงครามยังเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวของนโยบายภายในประเทศด้วย เช่น สงครามสเปน-อเมริกา (ปี พ.ศ. 2441) ในสมัยประธานาธิบดี วิลเลียม แมคคินลีย์ และสงครามในอัฟกานิสถานกับอิรักก็เบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาในประเทศสมัย จอร์จ ดับเบิลยู บุช (ไรซหวังว่าที่ปรึกษาของไบเดนจะไม่คิดแบบนี้)

7. การคว่ำบาตรจะนำไปสู่สงครามอย่างแท้จริงระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตกได้หรือไม่

ไรซ ระบุว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ ชาวอเมริกันไม่ต้องการให้คนอเมริกันไปตายเพื่อปกป้องยูเครน (คนอเมริกันส่วนใหญ่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่ายูเครนอยู่ที่ไหน นี่ยังไม่นับเรื่องที่ว่าการคุ้มครองยูเครนเป็นผลประโยชน์ต่อประเทศหรือไม่อย่างไร) แล้วทั้งรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างก็ไม่ต้องการถูกทำลายพินาศย่อยยับจากสงครามนิวเคลียร์

แต่วิกฤตนานาชาติแบบนี้มักจะเสี่ยงที่จะขยายตัวจนควบคุมไม่ได้ รัสเซียและสหรัฐฯ ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์สั่งสมไว้จำนวนมาก จะเกิดอะไรขึ้นถ้าหากมีการเผลอยิงอาวุธนิวเคลียร์แบบไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นได้มากกว่าคือ ถ้าหากรัสเซียโจมตีทางไซเบอร์ต่อสหรัฐฯ สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลต่อสาธารณูปโภคต่างๆ ของสหรัฐฯ ต่อการสื่อสาร ธนาคาร โรงพยาบาล และการขนส่งมวลชนล่ะ ถ้าหากกองทัพรัสเซียคุกคามประเทศสมาชิกนาโตที่อยู่ติดชายแดนยูเครนล่ะ ภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้ สหรัฐฯ จะส่งกองกำลังปฏิบัติการทางบกร่วมสู้รบหรือไม่

คนที่เคยสู้รบในสงครามทางบกและทางอากาศมาก่อนจะรู้ว่าสงครามคือนรก แต่คนรุ่นถัดมามักจะลืมในเรื่องนี้ ในช่วงวันเดียวก่อนที่จะมีสงครามโลกครั้งที่ 1 ผู้คนจำนวนมากในสหรัฐฯ และอังกฤษต่างก็พูดถึงเกียรติภูมิแห่งสงครามการสู้รบขนาดใหญ่เพราะมีน้อยคนที่จะจำได้ว่าสงครามที่แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร ในปัจจุบันชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์โดยตรงกับสงคราม สงครามอัฟกานิสถานและอิรักเป็นแค่เรื่องนามธรรมสำหรับพวกเขา สงครามเวียดนามได้จางหายไปจากความทรงจำร่วมกันของพวกเขาแล้ว

8. ปูตินมีเป้าหมายอะไรกันแน่

ไรซ ระบุว่าการกระทำของปูตินไม่ใช่แค่เพราะต้องการสกัดกั้นไม่ให้ยูเครนเข้าร่วมนาโตเท่านั้น เพราะแค่นาโตอย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ปูตินกังวลที่สุด จากที่ประเทศอย่างฮังการีและโปแลนด์ก็เป็นสมาชิกของนาโตแต่ก็ปกครองในแบบที่คล้ายกับรัสเซียมากกว่าประชาธิปไตยแบบตะวันตก สิ่งที่ปูตินกลัวจริงๆ คือเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายโดยตรงต่อระบอบอำนาจนิยมตัวบุคคลที่เรียกว่า "สตรองแมน" อย่างปูติน (และอย่างเดียวกับโดนัลด์ ทรัมป์) ปูตินต้องการทำให้เสรีนิยมประชาธิปไตยอยู่ห่างจากรัสเซีย แต่ในช่วงเกือบ 200 ปีที่ผ่านมายูเครนก็มีการพัฒนาในด้านอุดมการณ์และวัฒนธรรมแบบตะวันตกตอกหน้าพวกปฏิกิริยาอย่างรัสเซีย

แน่นอนว่าวิธีการที่ปูตินใช้ทำให้เสรีนิยมประชาธิปไตยแบบตะวันตกไม่แพร่เข้ามาในประเทศของพวกเขาไม่ใช่แค่การรุกรานยูเครนเท่านั้น พวกเขายังใช้วิธีการปั่นหัวให้เกิดความแตกแยกจากภายในตะวันตกด้วยการสนับสนุนแนวทางชาตินิยมแบบเหยียดเชื้อชาติสีผิวในยุโรปตะวันตกและในสหรัฐฯ ในที่นี้ทำให้ทั้งตัวทรัมป์เองและลัทธิทรัมป์ต่างก็ยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญที่สุดสำหรับปูติน

 

เรียบเรียงจาก

Eight Sobering Realities about Putin's Invasion, Robert Reich, Substack, 24-02-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท