Skip to main content
sharethis

รองโฆษกเพื่อไทยติงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินแบบชั่วนาตาปี เป็นเครื่องมือการเมือง กำจัดคนเห็นต่าง หลังไทยถูกองค์กรต่างชาติ ประนามเป็นชาติที่ไร้เสรีภาพ - 'ปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ' ส.ส.เพื่อไทย ในฐานะ กมธ.เกษตรและสหกรณ์ แนะ 'ประยุทธ์' เร่ง ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรกร อัดรัฐต้องจริงใจช่วยชาวนา อย่าหาโอกาสใช้ 2,000 ล้าน หว่านเงินซื้อเสียงล่วงหน้า 


ชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย | แฟ้มภาพ

5 มี.ค. 2565 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยแจ้งต่อสื่อมวลชนว่านางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ประเทศไทยถูกลดสถานะอยู่ในกลุ่มประเทศ 'ไร้เสรีภาพ’ สองปีซ้อน มีคะแนนสิทธิพลเมือง 5 เต็ม 40 และเสรีภาพพลเมือง 24 เต็ม 60 จากการจัดทำดัชนีเสรีภาพปี 2022 (Freedom in the World 2022) โดย Freedom House องค์กรเอกชนเพื่อประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ สะท้อนให้เห็นว่า ประชาธิปไตยไทยนับวันยิ่งเสื่อมถอย สาเหตุหลักที่ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในประเทศไร้เสรีภาพคือ การสลายการชุมนุมและระบบการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องเผชิญกับการรัฐประหารหลายต่อหลายครั้ง และนับตั้งแต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าสู่อำนาจด้วยการก่อการรัฐประหาร เป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน พลเมืองถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและสถานการณ์ไม่มีแนวโน้มว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สถานการณ์กลับเลวร้ายลงกว่าเดิม รัฐบาลยังคงปราบปรามและกระทำต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ ขัดขวางไม่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นหรือชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบ มีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มเยาวชนเพื่อเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรม ถูกตั้งข้อหาและมีการเอาผิดทางอาญา มีนักโทษทางความคิดจำนวนมาก ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งเป็นที่น่ากังวลใจว่าจากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีเยาวชน นักศึกษา ประชาชนจำนวนมากถูกจับกุม ดำเนินคดี แล้วกว่าพันคน ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมดนี้ยังเป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวนกว่าร้อยราย และหลายคนยังไม่ได้สิทธิในการประกันตัวออกมาสู้คดี

นางสาวชญาภา กล่าวอีกว่า สิ่งที่เกิดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังคงมุ่งต่ออายุการใช้อำนาจภายใต้ พ.ร.ก. ฉุกเฉินแบบชั่วนาตาปี ซึ่งที่ผ่านมาก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้เป็นไปเพื่อการจัดการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 อย่างที่กล่าวอ้าง แต่แท้จริงเป็นการเสริมสร้างอำนาจการปกครองของตนเอง และใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการกับผู้เห็นต่างเท่านั้น รัฐบาลควรยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ รวมทั้งข้อกำหนด ประกาศต่างๆ ที่ออกตามอำนาจของ พ.ร.ก. เลิกรวบอำนาจศูนย์กลางไว้ที่พลเอกประยุทธ์ เพื่อใช้อ้างเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่ยังคงใช้ พ.ร.บ.ควบคุมโรคที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันอย่างเดียวแทนก็เพียงพอต่อการจัดการโรคระบาด

นอกจากนี้ประเทศไทยยังถูกจัดอยู่ใน 10 ประเทศ ‘Countries in the spotlight’ ที่มีความเปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2021-2022 คือสถานการณ์ด้านเสรีภาพถดถอยจนต้องจับตามอง ร่วมกับชิลี อิหร่าน อิรัก พม่า นิการากัว รัสเซีย สโลวีเนีย ซูดาน และแซมเบีย ยิ่งตอกย้ำความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยในประเทศไทย คงยากที่จะถามหาเรื่องสิทธิเสรีภาพของพลเมืองภายใต้ระบอบประชาธิปไตย จากอดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เพราะที่ผ่านมาพลเอกประยุทธ์ เคยชินกับการใช้อำนาจนอกระบบแบบที่ประชาคมโลกไม่ให้การยอมรับ เคยชินกับการจัดการปราบปรามประชาชนคนเห็นต่าง ยิ่งอยู่นานประชาธิปไตยไทยยิ่งเสื่อมถอย ยากที่จะกู้คืนภาพลักษณ์ประเทศกลับมาภายใต้การนำของรัฐบาลนี้

แนะ 'ประยุทธ์' เร่ง ธ.ก.ส.ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยเกษตรกร อัดรัฐต้องจริงใจช่วยชาวนา อย่าหาโอกาสใช้ 2,000 ล้าน หว่านเงินซื้อเสียงล่วงหน้า 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2565 เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานว่านายปิยวัฒน พันธ์สายเชื้อ ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ฐานะคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบกลาง วงเงิน 2,000 ล้านบาท จากเงินสำรองจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ให้กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรนั้น รัฐบาลต้องมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือเกษตรอย่างแท้จริง อย่าหวังเพียงใช้เงินงบประมาณปูฐานทางการเมืองในอนาคต น่าประหลาดใจที่หลายปีที่ผ่านมาไม่ทำแต่มาทำเอาในช่วงปีสุดท้ายของรัฐบาล จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากการนำภาษีประชาชนมาหาเสียงให้กับรัฐบาลล่วงหน้า

ทั้งนี้การแก้ไขปัญหาหนี้เกษตรกร ต้องครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย ทุกกลุ่มเกษตรกร อย่าทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง นอกจากนี้พรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรใช้โอกาสนี้ในการซื้อเสียงล่วงหน้า ทั้งนี้ที่ผ่านมา ชาวนาไม่เคยได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล โครงการประกันรายได้เป็นนโยบายหนึ่งที่ทำร้ายชาวนาเพราะคนที่ได้เงินส่วนต่างคือเจ้าของที่ดินที่ให้ชาวนาเช่าทำนา ไม่ใช่เกษตรกรแต่อย่างใด กรณีดังกล่าว กระทรวงพาณิชย์ทราบแต่ทำอะไรไม่ได้เพราะเกรงกระทบฐานเสียงของพรรคจึงปล่อยให้ชาวนาถูกเอาเปรียบมาตลอด

นายปิยวัฒน กล่าวด้วยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สารภาพเองว่าไม่ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูอาชีพให้เกษตรกร เห็นได้จากกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ตั้งแต่ปี 2563-2565 กองทุนฯ ไม่เคยได้รับการจัดสรรงบสนับสนุนจากรัฐบาลแต่อย่างใด จึงทำให้กองทุนฯ มีงบไม่เพียงพอในการช่วยเหลือเกษตรกร การดำเนินการของกองทุนจึงมีอุปสรรคมากในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของพี่น้องเกษตรกร

“ ทั้งนี้พลเอกประยุทธ์ ควรใช้อำนาจที่มีทำประโยชน์เพื่อเกษตรกรบ้าง สั่งการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของเกษตรกรทั่วประเทศ ออกมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างจริงใจ หลายปีที่ผ่านมาธนาคารแห่งนี้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากชาวนาอย่างเต็มที่ สามารถสร้างกำไรให้ธนาคารหลายหมื่นล้าน เพราะ ธ.ก.ส.ไม่เคยมีนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ให้เกษตรกร ส่งผลให้เกษตรกรไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินตัวเองได้เลย เกษตรกรหลายล้านคน ต้องตกอยู่ในวังวนหนี้สิน ไม่สิ้นสุด หากรัฐบาลจริงใจควรที่มอบนโยบาย ธ.ก.ส.เร่งคลอดนโยบายปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร โดยเร็วจะสามารถช่วยเกษตรกรได้อย่างแน่นอน” นายปิยวัฒน์ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net