Skip to main content
sharethis

คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบและเห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงระเบียบการใช้คำนำหน้าสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า เป็น "ท่านผู้หญิง" และ "คุณหญิง" แม้จะยังไม่ได้สมรส เพื่อเป็นการยกย่อง จากเดิมที่มติคณะรัฐมนตรีใน พ.ศ.2525 กำหนดให้สตรีที่ไม่ได้สมรสและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวใช้คำนำหน้านามว่า "คุณ" เท่านั้น

9 มี.ค. 2565 วานนี้ (8 มี.ค. 2565) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบและเห็นชอบเรื่องการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เสนอ โดย ครม. รับทราบประกาศพระบรมราชโองการ การใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 139 ตอนพิเศษ 53 ง วันที่ 4 มี.ค. 2565 และเห็นชอบให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2525 เรื่องการใช้คำนำนามสตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร. 0204/ว. 75 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2525

ที่ประชุม ครม. ระบุว่าสำนักพระราชวังมีหนังสือ ที่ พว 0202.2/3828 ลงวันที่ 3 มี.ค. 2565 เรื่องทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมการใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า หนังสือดังกล่าวแจ้งว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้คำนำหน้านามสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า โดยให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.) และชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" และให้สตรีทุกที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ชั้นตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) และชั้นจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง"

ต่อมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้นำประกาศพระบรมราชโองการดังกล่าว ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 139 ตอนพิเศษ 53 ง วันที่ 4 มี.ค. 2565 โดยเนื้อความระบุว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า โดยที่ทรงพระราชดำริด้วยพระราชหฤทัยระลึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงสถาปนาเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่บุรุษและสตรี ผู้มีความจงรักภักดี ทำคุณประโยชน์ให้แก่แผ่นดินเป็นที่ประจักษ์ โดยเฉพาะสตรีผู้ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า นับเป็นผู้ได้รับเกียรติยศจากองค์พระมหากษัตริย์ สมควรได้รับ การยกย่องแม้มิได้สมรส"

"จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้า และชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ใช้คำนำหน้านามว่า 'ท่านผู้หญิง' และให้สตรีทุกคนที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า ตติยจุลจอมเกล้า และจตุตถจุลจอมเกล้า ใช้คำนำหน้านามว่า 'คุณหญิง' ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 4 มี.ค. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน"

สำหรับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2525 เรื่องการใช้คำนำนามสตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ สร. 0204/ว. 75 ลงวันที่ 12 พ.ค. 2525 ที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันเพิ่งมีมติยกเลิกไปเมื่อวาน (8 มี.ค. 2565) นั้น ระบุว่า การใช้คำนำหน้านามสตรีที่ยังไม่มีสามีซึ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ให้ใช้คำว่า "นางสาว" ยกเว้นแต่สตรีที่ยังไม่มีสามีผู้นั้นได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้รับราชการสนองพระเดชพระคุณในตำแหน่งพระกำนัลและพนักงาน จึงใช้คำนำหน้านามว่า "คุณ" ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบเพิ่มเติมเนื่องจากระเบียบฉบับเก่าครอบคลุมเฉพาะสตรีผู้มีสามีแล้วเท่านั้น

สำหรับหนังสือเวียนกรมสาบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริการ เลขที่ น.ว. 267/2498 ลงวันที่ 17 ธ.ค. 2498 ซึ่งกำหนดเรื่องคำนำหน้านามสตรีที่มีสามีแล้วและได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ระบุว่า รัฐบาลในสมัยประชาธิปไตยมีนโยบายที่จะไม่ขอพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ราชการเหมือนกับขุนนางในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่รัฐบาลเห็นควรอนุโลมให้คำนำหน้านามสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสามารถใช้คำนำหน้านามเพื่อเป็นการยกย่อง แต่มิใช่เป็นบรรดาศักดิ์ เนื่องจากเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าวเป็นการได้รับการยกย่องจากกษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ รัฐบาลจึงกำหนดให้สตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) ขึ้นไปใช้คำนำหน้านามว่า "ท่านผู้หญิง" ส่วนสตรีที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) และจตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.) ให้ใช้คำนำหน้านามว่า "คุณหญิง"

รู้จักเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า

พระราชบัญญัติเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พ.ศ.2484 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 เมื่อ พ.ศ.2509 บัญญัติให้เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า สำหรับพระราชทานฝ่ายใน (สำหรับสตรี) แบ่งเป็นชั้นและนาม ดังต่อไปนี้

  • ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
  • ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) และทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  • ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.)
  • ชั้นที่ 4 จตุตถจุลจอมเกล้า (จ.จ.)

ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับพระราชทานฝ่ายหน้า (บุรุษ) แบ่งเป็นชั้นและนาม ดังนี้

  • ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้าวิเศษ (ป.จ.ว.) และปฐมจุลจอมเกล้า (ป.จ.)
  • ชั้นที่ 2 ทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ท.จ.ว.) และทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.)
  • ชั้นที่ 3 ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ (ต.จ.ว.) ตติยจุลจอมเกล้า (ต.จ.) และตติยานุจุลจอมเกล้า (ต.อ.จ.)

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ.2416 ในสมัยของ ร.5 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง หรือบุคคลที่ทำความดีความชอบให้แก่ประเทศ ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 กฎระเบียบเกี่ยวกับบรรดาศักดิ์ในระบอบการปกครองเดิมยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์รวมถึงการพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ได้ถูกยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงบางส่วน จนกระทั่งมีการฟื้นฟูในภายหลัง สำหรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยสภาผู้แทนราษฎรลงมติแก้ไขกฎหมายว่าด้วยเครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับตระกูลจุลจอมเกล้า และมีการตราพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า พ.ศ.2484 โดยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

พ.ร.บ.ดังกล่าวระบุไว้ในมาตรา 4 ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานของเครื่องราชอิสริภาภรณ์จุลจอมเกล้า และทรวงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานและเรียกคืนเครื่องอ่านอิสริยาภรณ์นี้" และในมาตรา 5 ระบุว่า "เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้สำหรับพระราชทานแก่ผู้ที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร"

ต่อมา มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 ใน พ.ศ.2509 ในสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร เพื่อเพิ่มจำนวนสำรับของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ดังกล่าว เนื่องจาก "ประชากรและข้าราชการเพิ่มจำนวนมากขึ้น เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าซึ่งมีจำกัดจำนวนตามพระราชบัญญัติ ขณะนี้ บางชั้นได้พระราชทานไปเกือบเต็มจำนวนแล้ว เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ได้ กำหนดตามพระราชบัญญัติครั้งหลังสุดในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ กับจำนวน ประชากรและข้าราชการสมัยนั้นกับปัจจุบัน จำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่กำหนดไว้ยังต่ำ จึงควรเพิ่มจำนวนเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าให้สูงขึ้นเพื่อสมดุลกับจำนวนประชากรและข้าราชการที่เพิ่มขึ้น"

เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสามารถสืบต่อได้ทางสายตระกูล และผู้รับพระราชทานจะต้องส่งเครื่องราชอิสยาภรณ์กลับคืนในกรณีที่กษัตริย์ทรงใช้อำนาจตามมาตรา 4 ในการริบคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หากไม่สามารถส่งคืนได้จะต้องชดใช้เป็นเงินตามราคาของเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้น โดยประกาศสํานักนายกรัฐมนตรีเรื่องการปรับราคาชดใช้แทนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่ไม่สามารถส่งคืนตามกฎหมาย ประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2551-2553 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค. 2551 เป็นต้นไป ระบุว่า เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าสำหรับฝ่ายหน้า ชั้นปฐมจุลจอมเกล้ามีราคาที่ต้องชดใช้ 2,053,000 บาท และลดหลั่นลงมาในชั้นอื่นๆ ที่มีลำดับศักดิ์รองลงมา สำหรับฝ่ายใน ชั้นปฐมจุลจอมเกล้ามีมูลค่าที่ต้องชดใช้อยู่ที่ 642,400 บาท และและลดหลั่นลงมาในชั้นอื่นๆ ที่มีลำดับศักดิ์รองลงมา

 

ทั้งนี้ เครื่องราชอิสราภรณ์บางตระกูลจะสงวนไว้ให้เฉพาะพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น โดยมีกษัตริย์เป็นประธานในการพระราชทาน และไม่ต้องมีรัฐบาลเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้านั้น กษัตริย์ทรงมีอำนาจในการพระราชทานโดยตรงให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์และประชาชนทั่วไปที่ทรงเห็นว่าทรงกระทำความดีความชอบและสมควรจะได้รับ แต่จะมีการประกาศเป็นพระราชกิจจานุเบกษาและมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ขณะที่เครื่องราชอิสยาภรณ์โดยทั่วไปนั้น (ตระกูลช้างเผือก มงกุฎไทย และดิเรกคุณาภรณ์) รัฐบาลหรือหน่วยงานฝ่ายพลเรือนที่มีอำนาจจะเป็นผู้เสนอชื่อบุคคลที่สมควรจะได้รับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี และเสนอรายชื่อเพื่อให้กษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศลงพระปรมาภิไธยรับรอง มิใช่การใช้อำนาจพระราชทานโดยตรงเหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตระกูลจุลจอมเกล้าและตระกูลอื่นๆ ที่มีลำดับศักดิ์สูงขึ้นไป 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net