Skip to main content
sharethis

กพช. มีมติเห็นชอบ ซื้ออัตราค่าไฟของโครงการหลวงพระบาง และเขื่อนปากแบงเพิ่ม-สายส่งไฟฟ้าไปสิงคโปร์ นักสิ่งแวดล้อมถามไฟฟ้าสำรองในไทยสูงอยู่แล้ว ทำไมต้องเร่งซื้อเพิ่ม หวั่นเอาทรัพยากรประเทศไปลงทุน แต่ ปชช.ไม่ได้ประโยชน์  

เขื่อนปากแบง ประเทศลาว เมื่อปี 2559

10 มี.ค. 65 สำนักข่าวชายขอบ รายงานวันนี้ (9 มี.ค.) สื่อโซเชียลมีเดีย ‘เฟซบุ๊ก’ กลุ่มสาธารณะ “Energy News Center” ของกระทรวงพลังงาน เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุคำให้สัมภาษณ์ของ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งระบุว่า ผลการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ว่ามีมติเห็นชอบอัตราค่าไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง 2.8432 บาทต่อหน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือนมกราคม 2573 และโครงการปากแบง 2.9179 บาทต่อหน่วย กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบ (COD) เดือน ม.ค. 2576 โดยอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะคงที่ตลอดอายุสัญญา

นายกุลิศ กล่าวว่า ได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิดแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว และให้ กฟผ.สามารถปรับปรุงเงื่อนไขในร่าง Tariff MOU ของโครงการหลวงพระบาง และโครงการปากแบง ในขั้นตอนการจัดทำร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้จะต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราค่า Wheeling Charge ของไทยและหลักการร่างสัญญา Energy Wheeling Agreement (EWA) โครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวไปประเทศสิงคโปร์ ผ่านระบบส่งของประเทศไทยและมาเลเซีย (LTMS-PIP) ในอัตราเท่ากับ 3.1584 เซนต์ (US Cents) ต่อหน่วย ระยะเวลาโครงการ 2 ปี โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้ กฟผ. ลงนามในร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS-PIP ที่ผ่านการพิจารณาจาก อส.แล้ว ทั้งนี้ หาก อส. และ กพช. มีความเห็นให้แก้ไขร่างสัญญา EWA โครงการ LTMS-PIP ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญของสัญญาเห็นควรให้ กฟผ.ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้

ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง กล่าวว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าไปยังสิงคโปร์ระยะเวลาโครงการ 2 ปีนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากสัญญาสัมปทานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้ามีอายุถึง 29-30 ปี เท่ากับเป็นการใช้สิงคโปร์เป็นข้ออ้าง แล้วหลังจากนั้น ไฟฟ้าที่เหลือหลังจาก 2 ปี ใครจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ภาระนี้ใครจะรับผิดชอบ ซึ่งอาจเป็นภาระของเราประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นผู้จ่ายค่าไฟฟ้าต่อไป ปัจจุบันภาระค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคก็อยู่ในระดับสูงมากแล้ว เนื่องจากสัญญาการรับซื้อไฟฟ้าที่ผูกพันในระยะยาว นอกจากนี้ การขยายสายส่งไฟฟ้าไปยังมาเลเซีย เป็นการใช้ที่ดินของประชาชนไทย เพื่อผ่านไฟฟ้าไปให้ประเทศอื่น จะยังเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นประโยชน์ของ กฟผ.ความชอบธรรมนี้ควรได้รับคำอธิบาย  

นางสาวเพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวว่า โครงการเขื่อนปากแบง และเขื่อนหลวงพระบาง ไม่มีความจำเป็นในการก่อสร้าง เนื่องจากปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยอยู่ในปริมาณสูงมาก กำลังผลิตในระบบไฟฟ้าเดือนมกราคม 2565 เท่ากับ 46,136 เมกะวัตต์ (MW) ในขณะที่ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของเดือนเดียวกันอยู่ที่เพียง 26,688 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงมาก การรับซื้อไฟฟ้าเพิ่มจากโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในสถานการณนี้มีเหตุผลอื่นหรือไม่ เหตุใด กพช.จึงต้องเร่งรัดร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

“โครงการเขื่อนหลวงพระบาง กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำการศึกษาผลกระทบต่อเมืองมรดกโลก Heritage Impacts Assessment ตามข้อกำหนดของยูเนสโก (UNESCO) ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ นอกจากนี้ มีความเป็นห่วงเรื่องผลกระทบซ้ำซ้อนด้านสิ่งแวดล้อมต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเขื่อนแม่น้ำโขง ได้ทำลายความอุดมสมบูรณ์ พันธุ์ปลา การประมง เศรษฐกิจท้องถิ่น และน้ำประปาของเทศบาลและเมืองต่างๆ ตลอดลำน้ำ” น.ส.เพียรพร กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net