Skip to main content
sharethis

ส.ส.เพื่อไทยตั้งกระทู้ถามนายกฯ เรื่องโครงการเขื่อนหลวงพระบาง-สานะคาม ระบุปชช.รับผลกระทบน้ำโขงผันผวน พันธุ์ปลาสูญหาย จี้รัฐบาลคุมความปลอดภัยหากเขื่อนแตก ด้านรมช.เกษตรฯแจงกำลังศึกษาผลกระทบ หากแก้ไขได้จะสร้างแน่นอน แต่จะประสานเรื่องความปลอดภัยและตั้งกองทุนเยียวยา

22 ก.ค. 2563 วันนี้ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการรณรงค์ประเทศไทย องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) รายงานว่า ที่อาคารรัฐสภา กทม. ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยเลิศศักดิ์ พัฒนชัยกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคเพื่อไทย จ.เลย ได้ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่อง โครงการเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาน (สปป.) ลาว แต่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ประภัตร โพธสุทน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ชี้แจงแทน

เลิศศักดิ์ กล่าวว่าตนเป็น สส. จังหวัดเลย ดูแลพื้นที่ อ.ปากชม จ.เลย ซึ่งเป็นพื้นที่ติดแม่น้ำโขง กั้นพรมแดนไทยลาว ตนได้ลงพื้นที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพลำน้ำโขง และทราบจากชาวปากชมว่า ในอดีต แม่น้ำโขงอุดมสมบูรณ์ ระดับน้ำขึ้นลงตามฤดูกาลเป็นปกติ แม่น้ำโขงไหลจากจีน พม่า ลาว เข้าพรมแดนไทยลาว และเข้าลาว มาเข้าไทยอีกที่ อ.เชียงคาน อ.ปากชม จ.เลย ไหลต่อลงไป จ.หนองคาย ปกติฤดูฝนน้ำขึ้น หน้าแล้งระดับน้ำก็ลดลงปกติ แต่เมื่องสร้างเขื่อนในจีน 20 กว่าปีที่ผ่านมา ตอนนี้ในจีนมี 11 เขื่อน ก็มีปรากฎการณ์แม่น้ำโขงขึ้นลงไม่ปกติ

เลิศศักดิ์กล่าวต่อว่า ปภ.(ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) รับแจ้งจากรัฐบาลจีนว่า จีนลดระบายน้ำ ส่งผลกระทบต่อไทย ซึ่งถือว่าเป็นความอันตรายเริ่มต้น แต่ที่รุนแรงมากที่สุด คือการที่สปป.ลาว มีวิสัยทัศน์ 'แบตเตอรี่แห่งเอเชีย' (แนวคิดเพื่อให้ลาวเป็นประเทศที่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า) ซึ่งสปป.ลาว ร่วมลงทุนกับเอกชนของไทย คือ ช.การช่าง และสถาบันการเงินหลายแห่ง ขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กว่าร้อยละ 93 มีเพียง 7%ใช้ในลาว เมื่อสร้างเขื่อนในลาวแห่งแรกคือเขื่อนไซยะบุรี เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อแม่น้ำโขงท้ายเขื่อนในประเทศไทย

สส.จังหวัดเลยกล่าวอีกว่า เขื่อนไซยะบุรีเริ่มทดสอบการผลิตไฟฟ้า ในปี 2562 ช่วงกลางปีผลกระทบที่เกิดจากเขื่อนไซยะบุรีปรากฎชัดเจน แม่น้ำโขงที่ อ.สังคม จ.หนองคาย สภาพลำน้ำเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด พันธุ์ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์จาก 1,300 สายพันธุ์ แทบจะไม่มีแล้ว นอกจากเขื่อนไซยะบุรีแล้ว สปป.ลาวยังได้แจ้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC เพื่อขอทำเขื่อนอีกหลายตัว มีกระบวนการ PNPCA หรือการแจ้งปรึกษาหารือล่วงหน้า ที่สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ทั้งโครงการเขื่อนปากแบง ปากลาย หลวงพระบาง ซึ่งดำเนินการเสร็จในเวทีที่ อ.เชียงคาน จ.เลย เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา

เลิศศักดิ์ระบุว่า แค่เขื่อนไซยะบุรีแห่งเดียวก็ส่งผลกระทบต่อลำน้ำโขงและสภาพแวดล้อมมากแล้ว ในเวลาอันใกล้นี้ ใน สปป.ลาว จะมีเขื่อนเพิ่มอีก 4 เขื่อน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับลำน้ำโขงในไทย ที่สำคัญจะคือการสร้างเขื่อนสานะคาม ซึ่งจะสร้างใกล้ อ.เชียงคาน จ.เลย ตรงนี้จะกระทบโครงการโขงเลยชีมูล ที่น้ำในหน้าแล้งจะน้อยลง นี่คือการสร้างเขื่อนในสปปป.ลาว ที่จะส่งผลกระทบไทย

ส.ส.พรรคเพื่อไทยกล่าวว่า ขอตั้งคำถามไปยังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 3 คำถาม คือ 1. บทบาทของรัฐบาลไทยที่มีต่อการสร้างเขื่อนใน สปป.ลาว การร่วมออกแบบเขื่อนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เช่น เรื่องเขื่อนแตกใน สปป.ลาว หากเกิดก็จะกระทบ อ.เชียงคาน และอำเภออื่นๆ อยากทราบว่ารัฐบาลไทยมีบทบาทอย่างไร

2. หากเกิดโครงการนี้ขึ้น จะกระทบต่อน้ำโขงที่ปล่อยจากเขื่อนสานะคามที่ อ.ปากชม แน่นอน ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สร้างพนังกันตลิ่งพังแต่ยังสร้างไม่เสร็จ จึงอยากให้กรมโยธาทำให้สมบูรณ์ คำถามคือ รัฐบาลเตรียมพร้อมอย่างไรที่จะดูแลและเยียวยาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อประชาชนริมฝั่งโขง

3. ผู้ซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว คือ กฟผ. ดังนั้นประเทศไทยเองมีอำนาจต่อรอง หากเขื่อนจะเกิดขึ้นจริงทำไมไม่ย้ายสานะคาม มาไว้ที่พรมแดนไทยลาว เช่น ที่ อ.ปากชม หากจะสร้างอยู่แล้วทำไมไม่สร้างในพื้นที่ของเราเอง

ด้านประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้ชี้แจงว่าถ้ามีการสร้างเขื่อนจริงทุกอย่างกระทบแน่อน

"ลำน้ำโขงเป็นลำน้ำสากล ใช้ร่วมกัน 6 ประเทศ มีต้นกำเนิดไหลจากทิเบต ลงมาถึงสิบสองปันนา ผ่านพม่า ลาว โผล่ที่ อ.เชียงแสน ผ่าน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น (จ.เชียงราย) และหายเข้าไปในลาว 500 กว่ากิโลเมตร ตรงนี้เราไม่สามารถเข้าไปพิจารณาร่วมหรือมีส่วนร่วมรู้ได้ เขาจะสร้างเขื่อนก็เป็นเรื่องของเขา มีสัญญา4 ประเทศ ที่ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ลงนามในการใช้แม่น้ำโขง โดยอีก 2 ประเทศไม่ได้ร่วม แม่น้ำโขงจะมาโผล่อีกทีที่ อ.เชียงคาน จ.เลย ไหลเรื่อยมา ผ่าน 8 จังหวัด หนองคาย บึงกาฬ" ประภัตรกล่าว

รมช.เกษตรและสหกรณ์ยอมรับว่า ผลกระทบได้เกิดแล้ว ตั้งแต่เขื่อนจิงหง เขื่อนไซยะบุรี ทุกวันนี้ชีวิตคนที่ใช้แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปเลย ชีวิตสัตว์ได้รับผลกระทบมากที่สุด ปลาต่างๆ ในน้ำ ชีวิตริมน้ำโขง

สำหรับคำถามว่ารัฐบาลเตรียมการไว้อย่างไร ประภัตรตอบว่า รัฐบาลไทยมีข้อตกลงของคณะกรรมการ 4 ประเทศ พัฒนาแม่น้ำโขง พ.ศ. 2538 มี สทนช. ดูแลผลกระทบชัดเจน จะมีการขึ้นลงระดับน้ำโขงโดยฉับพลัน ผลกระทบแรงมาก น้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำโขงปีหนึ่งๆ 130,000 ล้านคิว (ลูกบาศก์เมตร) แต่ในฤดูแล้ง เดือนเมษา พฤษภา เหลือ 14,000 คิว คนใช้แม่น้ำโขงผลกระทบเต็มๆ โดยขณะนี้คณะกรรมการฯได้ศึกษาถึงผลกระทบอยู่ ทาง สปป.ลาวก็กำลังศึกษาอย่างจริงจัง หากแก้ไขได้ก็จะมีการก่อสร้างเขื่อนสานะคามแน่

"ใช้เวลาก่อสร้าง 8 ปี ผลกระทบท่าน (หมายถึงชาวบ้านในพื้นที่) รับเต็มๆ เพราะห่างไป 2 กม.เอง (ห่างจากชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เลย ราว 2 กิโลเมตร) แต่จะมีกรมชลประทาน สทนช. ไปดูแล ถามว่าผลกระทบจะทำอย่างไร เรียนว่าเราจะมีเงื่อนไขว่าหากเขื่อนสานะคามสร้างแล้วขายไฟฟ้าให้ไทย เราจะให้ กฟผ. เจรจาเรื่องความปลอดภัย เขาบอกจะสร้างต่ำกว่า 38 เมตร ถ้าเขื่อนพังเสียหายท่วมกันแน่นอน เราจะขอให้กฟผ. เป็นตัวกลาง เราจะมีอำนาจต่อรอง เช่น ให้ตั้งกองทุนเยียวยาหากมีความเสียหาย ขอให้เปิดเผยในการก่อสร้างว่าปลอดภัยแค่ไหน เขื่อนไซยะบุรี เราทราบว่า ช.การช่าง ก่อสร้างเราเชื่อ แต่เขื่อนสานะคาม บริษัทต้าถัง เราจะขอให้เปิดเผย เราจะทำงานร่วมกัน" ประภัตรกล่าว

 

ด้านเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้มีการเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน สอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขง และขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง โดยมีข้อเรียกร้องคือ 1.ขอให้รัฐชี้แจงเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง โดยขอให้จัดส่งเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับสัญญา/ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างละเอียดและชัดเจนให้แก่เครือข่ายฯ 2.ขอให้รัฐพิจารณาระงับการทำสัญญา/ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก 3.ปัจจุบันปริมาณพลังสำรองของประเทศมีปริมาณสูงเกินกว่า 15 % ตามมาตรฐานสากล หากมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมาเพิ่ม ยิ่งจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่ใช่เหตุจำเป็น

 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 

260 ม.1 ต.เวียง อ.เชียงของ 

จ.เชียงราย 57140

16 กรกฎาคม  2563

เรื่อง สอบถามถึงแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง บนแม่น้ำโขงและขอให้ทบทวนพิจารณาระงับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ปลัดกระทรวงพลังงาน (ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการการประสานความร่วมมือด้านพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน) 

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 

เนื่องจากขณะนี้มีการผลักดันการสร้างเขื่อนหลวงพระบาง เป็นโครงการเขื่อนแห่งที่ 5 ที่เสนอเพื่อก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายหลัก โดยมีการประกาศครบวาระของกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) ตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ปี 2538 (1995 Mekong Agreement) เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา มีประเทศไทยเป็นเป้าหมายของการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และมีเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  ได้เผชิญปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนจากใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างแห่งแรก ที่ได้ดำเนินการผลิตไฟฟ้า นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 โดยผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่ประจักษ์ชัดเจน  นับตั้งแต่มีการประกาศการทดลองผลิตไฟฟ้าในเดือนกรกฎาคม 2562 และผลกระทบยิ่งรุนแรงสาหัสมากยิ่งขึ้นหลังมีการผลิตไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 เป็นต้นมา ทั้งปรากฎการณ์ระดับน้ำโขงผันผวน พันธุ์ปลาธรรมชาติอพยพผิดฤดูกาล ปรากฎการณ์น้ำโขงสีคราม เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ริกเตอร์ ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว รับรู้แรงสั่นสะเทือนได้ในหลายจังหวัดของประเทศไทย รวมถึงตึกสูงในเขตกรุงเทพมหานคร  และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะเกิดผลกระทบด้านใดตามมาอีก เนื่องจากไม่มีการศึกษาผลกระทบที่รอบด้านเพียงพอ

จวบจนปัจจุบัน ยังไม่มีมาตรการแก้ไขและบรรเทาปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน ที่มีผลต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขงท้ายน้ำจากเขื่อนไซยะบุรีในเขตประเทศไทยโดยเจ้าของโครงการ และที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ได้ฟ้องศาลปกครอง กรณีเขื่อนไซยะบุรี และโครงการเขื่อนปากแบง เพื่อเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสิทธิของประชาชน ที่อาจจะได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนทั้งสองแห่ง และเรียกร้องให้มีการจัดทำผลกระทบข้ามพรมแดนจากเขื่อนไซยะบุรีขึ้นใหม่ และขอให้ชะลอการซื้อขายไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนปากแบง และคดีทั้งสองยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครอง  แต่ในขณะเดียวกันกลับมีแผนการผลักดันสร้างเขื่อนหลวงพระบางอย่างเร่งด่วนขึ้นมาอีกโครงการหนึ่ง 

พวกเราจึงมีความกังวลใจอย่างยิ่งต่อปัญหาดังกล่าว จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่าน ในฐานะตัวแทนของหน่วยงานรัฐไทยที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ ดังต่อไปนี้ 

1.    ขอให้ท่านชี้แจงเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเป้าหมายตลาดรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าวที่ชัดเจน และหากมีแผนจะรับซื้อ ทางเครือข่ายฯ ขอให้ท่านจัดส่งเอกสารทั้งหมดเกี่ยวกับสัญญา/ร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอย่างละเอียดและชัดเจนให้แก่เครือข่าย 

2.    ขอให้ท่านพิจารณาระงับการทำสัญญา/ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำโขงสายหลัก ด้วยเหตุผลดังนี้ 

         2.1 สืบเนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (2561-2580) หรือ PDP 2018 ที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 จากข้อมูลดังกล่าว ในกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ ช่วงปี 2561-2580 จำนวน 56,431 เมกะวัตต์ นั้น ในแผนระบุว่า จะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จำนวน 5,857 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะจากสปป.ลาว เข้ามายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศจำนวน 5,857 เมกะวัตต์ จากประเทศเพื่อนบ้าน ดังกล่าว จะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เกิดการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่บนแม่น้ำโขงสายหลัก เช่น โครงการเขื่อนปากแบง เขื่อนปากลาย เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม และเขื่อนอื่น ๆ บนแม่น้ำสาขา ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อประชาชนทั้งในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่กรณีเขื่อนเซเปียนเซน้ำน้อย ที่เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เกิดสันเขื่อน D แตก ซึ่งส่งผลกระทบอย่างหนักต่อชีวิตของประชาชนในสปป.ลาว มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 47 คน สูญหายอีกเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพังเสียหาย และพื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบจนไม่สามารถกลับอยู่ในที่เดิมได้ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ได้รับการเยียวยาและทำให้กลับสู่สภาพเดิม ซึ่งผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้นทั้งต่อประชาชนไทยริมฝั่งแม่น้ำโขง และประชาชนในประเทศเพื่อนบ้าน แต่ภาคเอกชนผู้รับผิดชอบโครงการยังไม่มีแผนการแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ชัดเจน และกลายเป็นภาระของหน่วยงานภาครัฐของไทยที่ต้องใช้งบประมาณของประเทศไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น  และแม้จะมีการกล่าวว่า พลังงานน้ำมีต้นทุนที่ต่ำกว่าแหล่งพลังงานอื่น แต่เป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนที่แท้จริงและภาระที่ต้องจ่ายด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมไม่ได้ถูกคิดรวมในต้นทุนการผลิตดังกล่าวด้วย ประกอบกับความเสี่ยงต่อความคุ้มค่าของการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน และสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศที่สุดขั้วในปัจจุบันและอนาคต เป็นปัจจัยสำคัญต่อการพิจารณาการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนต่าง ๆ อาจจะทำให้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตามกำลังการผลิต เนื่องจากต้องเผชิญทั้งความแห้งแล้งและภาวะน้ำท่วม ปัจจัยความเสี่ยงนี้มีผลมากขึ้นทุกปีและอาจจะส่งผลกระทบต่อภาระงบประมาณของภาครัฐและค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนที่ต้องแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้มากขึ้น 

         2.2 ปรากฎการณ์สถานการณ์ความต้องการพลังงานที่ลดลงช่วงโรคระบาด COVID-19 ช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมถึงปัจจุบัน ที่ทำให้ความต้องการการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทยลดลงอย่างมาก จากมาตราการล็อกดาวน์ของภาครัฐและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศไทยมีสูงมากเกินกว่า 65 %  ขณะที่ค่าไฟกลับแพงขึ้น จนเป็นประเด็นวิพากษณ์วิจารณ์ทางสังคม โดยมีปัจจัยสำคัญ คือ การซื้อขายไฟฟ้าด้วยสัญญาที่มีเงื่อนไข Take or Pay หรือค่าความพร้อมจ่าย ตลอดสัญญาระยะยาว 25-30 ปี ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงมากขึ้นต่อไปในอนาคต 

ด้วยปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเหตุผลสำคัญที่ทางเครือข่ายฯ ขอให้ท่านได้พิจารณาทบทวนข้อตกลงการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศและแผนการซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคมต่อประชาชนในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดนต่อประชาชนไทย รวมถึงภาระของคนไทยในฐานะผู้ใช้ไฟฟ้าหลัก

3. เครือข่ายฯ ทราบดีว่า กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงานสำรองเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบันปริมาณพลังสำรองของประเทศมีปริมาณสูงเกินกว่า 15 % ตามมาตรฐานสากล หากมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศมาเพิ่ม ยิ่งจะทำให้ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้นโดยไม่ใช่เหตุจำเป็น  และเห็นว่า กระทรวงพลังงานได้กำลังพยายามจัดหาแหล่งพลังงานพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชน  เช่น แสงแดด ลม การทำโซล่าร์ลอยน้ำในอ่างเก็บน้ำเดิม โครงการพลังงานชุมชน มาตรการประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) ฯลฯ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่สูง นำไปสู่การ สร้างงาน พัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ใหม่ ที่ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างสั้นกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่  พวกเราเห็นความพยายามของกระทรวงพลังงาน ที่พยายามจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานโซล่า และการผลักดันโรงไฟฟ้าชุมชนภายในประเทศ  เป็นทิศทางที่น่าส่งเสริมมากกว่าการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ จึงขอให้ท่านได้พิจารณาถึงการใช้ทางเลือกในการบริหารจัดการและผลิตพลังงานที่ไม่ก่อผลกระทบอย่างกว้างขวางดังเช่นการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง

ท้ายสุดนี้ พวกเราขอย้ำอีกครั้งว่า พลังงานไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนหลวงพระบาง ไม่มีความจำเป็นต่อความมั่นคงของพลังงานประเทศไทย แต่หากโครงการเดินหน้า กลับจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของโลก ดังนั้น การทบทวน และชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากเขื่อนในแม่น้ำโขงจึงน่าจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงขอเรียนมาเพื่อชี้แจงข้อกังวลและเหตุผลดังกล่าว และขอทราบข้อมูลข้างต้นเกี่ยวกับแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางและท่าทีของกระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ต่อโครงการนี้ โดยขอให้ท่านตอบกลับเป็นเอกสารกลับมาภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่ได้รับจดหมายฉบับนี้ 

จึงเรียนมาเพื่อทราบและโปรดพิจารณาดำเนินการ หวังว่าจะได้รับความกรุณาจากท่านด้วยดี 

ขอแสดงความนับถือ

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว 

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net