Skip to main content
sharethis

เกิดอะไรขึ้นกับขบวนการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ซึ่งถูกจุดประกายเมื่อราว 2 ปีที่แล้ว (2563) ขบวนการเคลื่อนไหวนี้ยังคงอยู่หรือไม่ 

ไม่เชิงเสียอย่างนั้น แกนนำของขบวนการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไท อิงลิช ซึ่งเป็นสื่อภาคภาษาอังกฤษ โดยอ้างว่า การสนับสนุนให้เกิดการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์นั้นยังคงอยู่ แต่พวกเขายอมรับว่า การนำแนวคิดดังกล่าวมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะเมื่อพรรคการเมืองยังคงเลี่ยงที่จะพูดถึงเรื่องนี้ 

ย้อนไปเกือบ 2 ปีที่แล้ว ในกิจกรรมชุมนุม “เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าร้าน McDonald’s สาขาราชดำเนิน อานนท์ นำภา ทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งภายหลังผันตัวมาเป็นนักกิจกรรม แต่งกายเป็น “แฮร์ พอตเตอร์” ตัวละครเอกจากนิยายชื่อดังประพันธ์โดย เจ.เค. โรว์ลิง จับโทรโข่งปราศรัย และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนทำสิ่งที่โดยแก่นแท้แล้วเป็นเรื่องต้องห้ามมาตลอดหลาย 10 ปีในการเมืองและสังคมไทย นั่นคือการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างถาวร  

อานนท์ นำภา ในชุดพ่อมดน้อย 'แฮร์รี พอตเตอร์' เมื่อ 3 ส.ค. 65

“การพูดถึงเรื่องนี้ไม่ใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เป็นการพูดเพื่อให้สถาบันฯ ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างถูกต้องและชอบธรรมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ” อานนท์ กล่าวเมื่อ 3 ส.ค. 63 ในการชุมนุมเล็กๆ ข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งถูกรายงานโดยสื่อหลักเพียงไม่กี่เจ้า 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำขอของเขาได้รับการขานรับโดยใช้เวลาไม่นานนัก ประชาชนหลายหมื่นคนออกมาตามท้องถนน และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในหลากหลายประเด็น แต่นั่นเป็นเรื่องเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตอนนี้เราอยู่ในปี 2565 มา 3 เดือน ซึ่งยังไม่มีการประท้วงในขนาดเดียวกันกับเมื่อ 2 ปีที่แล้วเกิดขึ้นเลย และการเรียกร้องที่กล้าหาญเพื่อให้มีการปฏิรูป ซึ่ง ณ ช่วงหนึ่งเคยเป็นประเด็นสำคัญของการถกเถียงทางการเมืองอย่างดุเดือดในทุกที่ ดูเหมือนจะยังคงเป็นประเด็นที่แตะต้องไม่ได้ในรัฐสภา 

"กระแสที่มันแสดงออกมา ย่อมลดลงตามสภาพอยู่แล้ว" อานนท์ กล่าวกับประชาไทอิงลิชเมื่อ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือเพียงวันเดียวหลังจากที่เขาได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับ มาตรา 112 หรือกฎหมายการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์

ทั้งที่มีผู้ออกมาร่วมประท้วงน้อยในช่วงหลัง อานนท์และแกนนำคนอื่นๆ ของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปสถาบันฯ ให้สัมภาษณ์กับประชาไทในรายงานชิ้นนี้ โดยระบุว่า พวกเขามั่นใจว่าการสนับสนุนเพื่อให้สถาบันกษัตริย์มีอำนาจจำกัดลง ไม่เพียงแต่อยู่ยาวนานกว่าการประท้วงเท่านั้น แต่จะยิ่งแพร่ขยายออกไป อย่างไรก็ตาม พวกเขายอมรับว่า การนำแนวคิดมาทำให้เป็นรูปธรรมยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในห้วงที่พรรคการเมืองยังเลี่ยงที่จะพูดถึงข้อเสนอที่ว่านี้ 

"ขบวนการ (ผู้สื่อข่าว - ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์) ยังไม่ตาย" ‘ลูกเกด’ ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรม และผู้ช่วยจัดการประท้วงปฏิรูปสถาบันหลายครั้ง กล่าวเมื่อถูกถามถึงสถานการณ์ของขบวนการเคลื่อนไหว

"มันมีผลเป็นรูปธรรมชัดเจนในสังคม แค่อาจจะเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนไหว" ชลธิชา กล่าว

บรรยากาศแห่งความหวาดกลัว

แม้จะมีการประท้วงเกิดขึ้นบ้างประปรายในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เช่น "คาร์ม็อบ" เมื่อ 30 ม.ค. 65 และการชุมนุมสั้นๆ ที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ไม่มีการประท้วงใดเลยที่ใกล้เคียงกับจุดสูงสุดของการประท้วงปฏิรูปสถาบันในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่สี่แยกและท้องถนนในกรุงเทพฯ มักท่วมท้นไปด้วยจำนวนของผู้ประท้วง

การปฏิรูปสถาบันคือ 1 ใน 3 ข้อเสนอหลักของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อีก 2 ข้อคือการเรียกร้องให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ในอำนาจมาตั้งแต่ที่เขาก่อรัฐประหารเมื่อปี 2557 ลาออกในทันที และแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งถูกร่างโดยผู้อยู่ในความอุปถัมภ์ของคณะรัฐประหาร ให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น 

อานนท์ นำภา แต่งกายด้วยเชิ้ตสีขาว ขณะเดินออกมาจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร หลังศาลอาญากรุงเทพใต้อนุญาตให้ประกันตัว เมื่อ 28 ก.พ. 65

นักกิจกรรมที่ให้สัมภาษณ์ในรายงานนี้หยิบยกปัจจัยหลายอย่างมาอธิบายจำนวนผู้ร่วมประท้วงที่น้อยลง เช่น อันตรายของโรคระบาดโคโรนาไวรัส 2019 โดยเฉพาะสายพันธุ์โอไมครอนที่ติดต่อแพร่ระบาดง่าย ซึ่งปรากฏขึ้นในช่วงปลาย 2564 การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจบ่อยครั้งในการประท้วง การตอบโต้ด้วยกฎหมายอย่างรุนแรง และการข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่

"เกด มองว่าการชุมนุมเรื่องปฏิรูปมันดรอป (ผู้สื่อข่าว - ลด) ลงไป อันนี้เป็น fact (ผู้สื่อข่าว - ข้อเท็จจริง)" ชลธิชา กล่าว "แต่เกดยืนยันว่าควรดูสภาพเงื่อนไขด้วย ทั้งโควิด คดีความ การจับคนติดคุก การสลายการชุมนุมที่รุนแรง ทั้งหมดนี่มันมีผลต่อบรรยากาศและความเชื่อมั่นของคน"

ชลธิชา กล่าวต่อว่า "มันก็ไม่แปลกที่การชุมนุมจะตอบโจทย์ไม่ได้แล้ว เพราะมีการคุกคามต่างๆ แต่ข้อเรียกร้องของเรายังไม่ตาย"

"แนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเห็นได้ในพื้นที่การชุมนุม เช่น การใช้แก๊สน้ำตา ปืนแรงดันน้ำ และกระสุนยาง ได้รับการบันทึกโดยสื่อและกลุ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์สิทธิเป็นอย่างดี

ในรายงานประจำปี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วิจารณ์วิธีการสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ประท้วงแบบหว่านแหของเจ้าหน้าที่ว่า "ไม่เหมาะสม" และ "สร้างความหวาดกลัวต่อการใช้เสรีภาพในการชุมนุม" 

เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ยิงน้ำใส่ผู้ชุมนุมที่บริเวณแยกปทุมวัน เมื่อ 16 ต.ค. 63

"ตอนนั้นเรากดดันรัฐบาลมากขึ้น แต่มันแลกด้วยการเจ็บปวดของผู้ร่วมชุมนุม มันก็ไม่คุ้ม" อานนท์ กล่าว

การชุมนุมยังคงเป็นเรื่องต้องห้ามโดย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน ซึ่งรัฐบาลบังคับใช้มาตั้งแต่ มี.ค. 2563 โดยระบุเหตุผลว่ามีไว้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี

โต้กลับด้วยกฎหมาย (The Law Strikes Back)

การกระหน่ำดำเนินคดีกับผู้เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันเหมือนจะตามอำเภอใจมากขึ้นเช่นกัน 

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายต่อผู้ถูกฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ หรือมาตรา 112 ระบุว่ามีผู้ถูกฟ้องร้องในข้อหานี้กว่า 173 คน นับตั้งแต่ พ.ย. 63 หลัง พล.อ. ประยุทธ์ เผยว่าจะใช้กฎหมายทุกมาตราเพื่อตอบโต้การประท้วงปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการเลี้ยวกลับ 180 องศาจากสิ่งที่เขาเคยพูด 5 เดือนก่อนหน้านั้นว่าจะไม่ใช้กฎหมายดังกล่าวกับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ 

"คดีเกี่ยวกับ 112 ยังเพิ่มขึ้นทุกวัน กลายเป็นคดีรายวันไปแล้ว" เยาวลักษณ์ อนุพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวทางโทรศัพท์

ศูนย์ทนายฯ กล่าวเพิ่มว่า อย่างน้อย 14 คนที่ถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทเชื้อพระวงศ์เป็นเด็กเยาวชน ขณะที่คนอื่นๆ ถูกฟ้องจากเหตุการณ์ที่คลุมเครือ เช่น การชี้เท้าไปหาในหลวงวชิราลงกรณ์ และการสวมใส่ชุดไทยเหมือนกับสมาชิกของเชื้อพระวงศ์ ฯลฯ

ตำรวจหญิงจับกุมประชาชนที่ทำกิจกรรมคัดค้านกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ เมื่อ 26 ก.พ. 65

วันศุกร์ที่ผ่านมา (4 มี.ค. 65) ศาลตัดสินว่าชายคนหนึ่งมีความผิดในข้อหา ม.112 เพียงเพราะติดสติ๊กเกอร์บนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงวชิราลงกรณ์ฯ ระหว่างการประท้วงใกล้กับพระบรมมหาราชวัง เมื่อ 19 ก.ย. 2563 โดยเขาถูกตัดสินจำคุกเป็นระยะเวลา 2 ปี และตอนนี้กำลังทำเรื่องเพื่อขออุทธรณ์ 

ทนายความจากศูนย์ทนายฯ กล่าวว่า หลายคดีไม่ได้ฟ้องโดยตำรวจด้วยซ้ำ แต่ฟ้องโดยกลุ่มคลั่งเจ้าออนไลน์ซึ่งพยายามขุดคุ้ยบนโซเชียลมีเดียเพื่อหารูปและวิดีโอของการกระทำที่กล่าวหาได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาทสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากกฎหมายนี้เป็นคดีความมั่นคงของชาติ การฟ้องร้องข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพจึงสามารถทำโดยใครก็ได้เพียงแค่ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ

แกนนำการประท้วงถูกจำคุก และถูกปฏิเสธการประกันตัวเป็นเวลาหลายเดือน รวมถึง อานนท์ ซึ่งได้รับการปล่อยเมื่อ 28 ก.พ. 65 หลังจากใช้เวลาอยู่ในเรือนจำมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 

"ผมว่าก็ดีนะเอาผมไปเข้าคุกเนี่ย มวลชนได้เติบโต" อานนท์ กล่าวทางโทรศัพท์ "มันคุ้มค่า รัฐบาลก็มะหงุมมะหงาหรา จัดการคนเคลื่อนไหวจริงๆ ไม่ได้" 

แต่การกักขังในเรือนจำ และเสรีภาพเป็นผลพลอยได้ ซึ่งมาพร้อมผลกระทบในระยะยาวต่อความสามารถของนักกิจกรรมคนสำคัญๆ ในการจัดประท้วง การประกันตัวที่วางเงื่อนไขให้กับแกนนำขบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ที่ห้ามพวกเขาไม่ให้ "ก่อความวุ่นวาย" หรือมีส่วนร่วมในการประท้วง

ผลกระทบนี้ชัดเจนอย่างมาก เมื่อประชาไทอิงลิชติดต่อไปหาปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักกิจกรรมปฏิรูปสถาบัน และเป็นสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อขอความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของการเคลื่อนไหว ปนัสยา ปฏิเสธการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยระบุว่า เธอต้องระมัดระวังการให้ความเห็นของเธอ เพื่อไม่ให้เป็นการฝ่าฝืนต่อเงื่อนไขการประกันตัวที่กำหนดไว้โดยศาล

'รุ้ง' ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ปราศรัยข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน จำนวน 10 ข้อ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อ 10 ส.ค. 63

จากการพิมพ์ข้อความแชตระหว่างผู้สื่อข่าวและปนัสยา สะท้อนการวิเคราะห์คล้ายกับเพื่อนนักกิจกรรมว่า การประท้วงอาจขนาดเล็กลง แต่วาระเรื่องการปฏิรูปสถาบันยังคงเป็นประเด็นที่เคลื่อนไหวอยู่ในบทสนทนาของหลายๆ คน

"จำนวนคนมันอาจจะไม่ได้ดูเพิ่มขึ้นหรือเป็นกระแสหลักทางสังคมเหมือนช่วงเริ่มต้น แต่ด้านความคิดคนมันกำลังทำงานของมันเองไปแล้วค่ะ" ปนัสยา กล่าว พร้อมระบุว่า "อย่างจะเห็นว่าการพูดถึงเรื่องนี้ไม่ได้ถูกหยุดไป แต่ยังคงมีให้เห็นอยู่เรื่อยๆ เช่น​ บทสัมภาษณ์ งานวิชาการ เสวนา หรือกระทั่งการชุมนุมก็ยังคงมีให้เห็นอยู่ตลอด"

การโจมตีด้วยกฎหมายเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ผลักดันโดยปนัสยา และแกนนำคนอื่นๆ ถือเป็นความพยายามในการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ คำตัดสินเดียวกันนี้สั่งไม่ให้นักกิจกรรมและบุคคลอื่นๆ กระทำผิดเช่นนี้อีก

ประเด็นต้องห้ามทางการเมือง

แม้เป็นข้อเท็จจริงว่าการอภิปรายเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์กลายเป็นเรื่องปกติแพร่หลายขึ้นจริงในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดีย ทว่าประเด็นนี้ก็ยังไม่มีใครกล้าพอนำมาถกเถียงอย่างจริงจังในรัฐสภา ที่ 208 จาก 475 ที่นั่งอยู่ในการควบคุมของฝ่ายค้าน 

ข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่เสนอโดยนักกิจกรรม ได้แก่ การยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การเปิดให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในความครอบครองส่วนพระองค์ของในหลวงวชิราลงกรณ์สามารถตรวจสอบได้ในทางสาธารณะ การห้ามไม่ให้องค์พระมหากษัตริย์แสดงความคิดเห็นทางการเมือง และการยุติความพยายามในการประชาสัมพันธ์ทางเดียวจากสำนักพระราชวัง และอื่นๆ 

คำร้องออนไลน์เพื่อให้มีการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมีผู้ลงชื่ออย่างน้อยกว่า 240,000 คน ณ เวลาที่ทำการรายงาน พรรคการเมืองหลายพรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประท้วงจำนวนมาก เช่น เพื่อไทย และก้าวไกล อย่างน้อยก็แสดงความพร้อมในการอภิปรายเพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ในสภาแล้ว ทว่ายังไม่มีความพยายามอย่างจริงจังในด้านนี้

ไม่นานมานี้ ชลธิชา เพิ่งเปิดตัวเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งหน้า กล่าวว่า เธอตระหนักดีเกี่ยวกับความล้มเหลวของสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากเลือกตั้ง ที่ดูเหมือนจะยังลังเลในการแตะประเด็นนี้

'ลูกเกด' ชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมจากกลุ่ม DRG และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล

"ถ้าพูดตามตรง เกดผิดหวังกับท่าทีของ ส.ส.​ ที่ไม่ได้เปิดกว้างเรื่องนี้ หรือมีความกล้าหาญที่จะเอาเรื่องที่ประชาชนออกมาต่อสู้บนถนน และโดนติดคุกกัน" ชลธิชา กล่าว พร้อมระบุต่อว่า "ส.ส.บ้านเราไม่กล้าพอที่จะแสดงจุดยืนของตัวเอง เราต้องสร้าง safe space (ผู้สื่อข่าว - พื้นที่ปลอดภัย) ในสภาตรงนี้" ชลธิชา กล่าว

ชลธิชา นักกิจกรรมและผู้สมัคร ส.ส. ปกป้องประเด็นการขับเคลื่อนโดยพรรคก้าวไกล เพื่อให้มีการจำกัดขอบเขตอิทธิพลของสถาบันกษัตริย์เหนือการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างหนักในรัฐสภา เช่น งบประมาณที่มอบให้กับกองบัญชาการทหารส่วนพระองค์ และวิธีการที่พระราชวังถูกกล่าวหาว่าใช้ในการแทรกแซงการแต่งตั้งตำรวจในตำแหน่งสำคัญๆ แต่เธอบอกว่ามีอะไรที่สามารถทำได้อีกมาก 

"ต้องยอมรับว่ามันยังไม่พอ พรรคการเมืองควรทำมากกว่านี้ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี" ชลธิชา กล่าว

ขณะที่ ‘รุ้ง’ ปนัสยา ยืนกรานว่า การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่เหมือนกับการโค่นล้มสถาบัน​ฯ และการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นการกระทำที่สามารถทำได้ เธอเรียกร้องให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกระทุ้งสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติของตนเพื่อนำเรื่องนี้สู่สภา 

"เราเข้าใจว่าหากพรรคการเมืองไม่ได้รับความยินยอมจาก voters (ผู้สื่อข่าว - ผู้ลงคะแนนเสียง) ของตัวเองก็อาจไม่กล้าขยับเรื่องใหญ่ขนาดนี้มากนัก เป็นเรื่องใหญ่ที่ภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน และบอก ส.ส.ตัวเองให้พูดเรื่องนี้ให้ได้" ปนัสยา กล่าว

อานนท์ มองโลกในแง่บวกน้อยกว่า โดยเผยว่า "การปฏิรูป ถ้าบรรจุไปในนโยบายพรรคไหนๆ โดนอยู่แล้ว อาจจะโดนยุบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งออกแบบนั้นแล้ว" แม้เขาจะเห็นด้วยว่านักการเมืองควรเคลื่อนไหวเชิงรุกมากกว่านี้

ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ ?

แม้หนทางอาจดูมืดมน แต่นักกิจกรรมทั้ง 3 คน กล่าวตรงกันว่า พวกเขาเชื่อว่าวาระเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ถือเป็นชัยชนะในระดับหนึ่งแล้ว พวกเขาพูดถึงความตระหนักรู้เป็นวงกว้างเกี่ยวกับความจำเป็นของการปฏิรูปสถาบัน​ฯ การขึ้นมาของวัฒนธรรมต่อต้าน และการอภิปรายเกี่ยวกับความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนที่เพิ่มมากขึ้นในภาพรวม 

"หนูคิดว่าสิ่งที่เราประสบความสำเร็จมากคือทาง soft power ทางวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมในการยืนก่อนดูหนัง การพูดคุยเรื่องประเด็นทางสังคมในที่สาธารณะ แนวทางในการมองประเด็นทางสังคมของคน" ปนัสยา กล่าว

"สังคมเราเปลี่ยนไปมาก คนรู้จักปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น มีผู้น้อยที่กล้าจะสู้กับผู้มีอำนาจ ประเด็นต่างๆ ในสังคมถูกพูดถึงอย่างตรงไปตรงมา มีคนรุ่นใหม่ๆ ออกมาเรียกร้องสิทธิให้ผู้คน"

"การที่มีคนที่กล้าจะสู้เพื่อตัวเองมากขึ้นเนี่ย สำหรับหนูถือว่าประสบผลสำเร็จ" ปนัสยา กล่าวเสริม

ประชาชนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พร้อมกับชูสามนิ้ว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วง ใกล้กับขบวนเสด็จของสถาบันกษัตริย์ ณ กรุงเทพฯ เมื่อ 13 ส.ค. 63

เมื่อ พ.ย.​ ที่ผ่านมา รายงานที่เผยแพร่โดยบริษัทโพลชื่อซูเปอร์โพลล์ ระบุว่า เสียงข้างมากกลุ่มใหญ่ หรือกว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม 1,083 คน ไม่เห็นด้วยกับความพยายามในการลดอำนาจของสถาบันกษัตริย์ แบบสอบถามลักษณะเดียวกันของซูเปอร์โพลล์มักนำไปใช้อ้างอิงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล และผู้นำฝ่ายสนับสนุนระบอบ เพื่อตีกรอบให้การปฏิรูปสถาบันกลายเป็นวาระที่ผลักดันโดยคนส่วนน้อยที่เป็นตัวประหลาด

แต่ข้อจำกัดทางกฎหมาย เช่น กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำให้ไม่มีการสำรวจความเห็นที่น่าเชื่อถือ และสามารถวัดความรู้สึกที่มีต่อสถาบันกษัตริย์ หรือวัดความนิยมของเชื้อพระวงศ์ในกลุ่มอายุต่างๆ ได้ ผู้สนับสนุนการปฏิรูปยังคงเห็นว่ามีการขยับครั้งใหญ่ไปสู่ความไม่เลื่อมใสในกลุ่มคนรุ่นใหม่แล้ว

"ไม่อยากให้มองเรื่องปฏิรูปอย่างเดียว" อานนท์ กล่าว และระบุต่อว่า "อยากให้มองเรื่องความเสมอภาคในภาพกว้าง มันลึกซึ้งไปกว่านั้น มันไปไกลกว่านั้นแล้ว ... มันมากกว่าการแสดงออกทางถนน มันเป็นเรื่องสำนึกของคน มันอาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมในตัวมันเอง แต่มันอยู่ในจิตสำนึก"

ชลธิชา กล่าวว่า เธอพบกับคนที่มีความเห็นแบบเดียวกับเธอเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้น โดยอ้างจากประสบการณ์ของเธอในการพูดคุยกับผู้ลงคะแนนเสียงในเขตที่เธอตั้งเป้าลงสมัคร เธอยังหาเสียงว่าจะพูดในสภาเกี่ยวกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในการเมืองหากได้รับเลือกตั้งด้วย

"ถ้าเราคาดหวังว่า 2 ปีความเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้น มันก็เป็นไปไม่ได้ ถ้าเราไปคาดหวังแบบนั้น มันก็จบที่ผิดหวัง burn out (ผู้สื่อข่าว - หมดแรง) กัน" ชลธิชา ผู้เริ่มบทบาทเป็นนักกิจกรรมด้วยการต่อต้านรัฐประหาร 2557 กล่าว 

"ดูสิว่าเรามาไกล ตั้งแต่ 57 มันก็มีความสำเร็จ เราเปลี่ยนประวัติศาสตร์การเมืองไทยได้ เราต้องใจดีกับตัวเองบ้าง" ชลธิชา กล่าว

การประท้วงที่เกี่ยวข้องกับวาระการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มีการระบุว่าจะจัดในวันที่ 18 มี.ค. 65 กลุ่มชื่อมังกรปฏิวัติโพสต์ในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อเรียกร้องให้ประชาชนมารวมตัวที่วัดพระแก้วในวันดังกล่าวเพื่อ "รับเสด็จ" ในหลวงวชิราลงกรณ์ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net