Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน และนักการทูต เข้าร่วมงานเสวนาจัดโดยจุฬาฯ หยิบยกสถานการณ์พม่า 1 ปีหลังรัฐประหารมาพูดคุย ชี้แนวโน้มความรุนแรงและการปะทะในเพื่อนบ้านยังมีต่อเนื่อง พร้อมเสนอไทยคิดใหม่ต่อนโยบายการทูตไผ่ลู่ลม-แนวคิดความมั่นคง จี้อาเซียนเข้าไปมีบทบาทแก้ปัญหา และช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่านี้

บรรยากาศการเสวนาหัวข้อ“ก้าวต่อไปกับการยับยั้งและป้องกันความรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ เมื่อ 25 ก.พ. 65

11 มี.ค. 65 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ศูนย์ประสานงานโครงการประเทศไทยของศูนย์แห่งเอเชียแปซิฟิกเพื่อความรับผิดชอบในการปกป้อง และมหาวิทยาลัยควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย จัดงานเสวนาวิชาการระดับนานาชาติ หัวข้อ “ก้าวต่อไปกับการยับยั้งและป้องกันความรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่โรงแรมอนันตรา สยาม กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ เมื่อ 25 ก.พ. 65 เวลา 9.00-17.00 น. เชิญนักวิชาการ นัการทูต และภาคประชาสังคม มาร่วมถกเถียงหลากหลายหัวข้อเกี่ยวกับความรุนแรง (Atrocity) ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ ตลอดจนการหามาตรการแก้ไขและรับมือเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย 

หนึ่งในไฮไลท์สำคัญของงาน คือ การหยิบยกกรณีความรุนแรงในประเทศเมียนมาหลังกองทัพทำรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. 64 มาร่วมเสวนาผ่านหัวข้อ “ประเทศไทยและอาเซียนกับการยับยั้งและป้องกันความรุนแรงต่อมวลมนุษยชาติ : กรณีศึกษาสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา” โดยมี นฤมล ทับจุมพล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นผู้คร่ำวอดเรื่องการเมืองพม่า สุรพงศ์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. มาร่วมให้ความเห็นต่อหัวข้อดังกล่าว

  • นฤมล มองว่า ไทยและอาเซียนต้องมีบทบาทในวิกฤตพม่ามากกว่านี้ เพราะการทูตอาเซียนผ่านการเจรจา แม้มีผลลัพธ์เป็นฉันทามติ 5 ข้อเมื่อปลาย เม.ย. 64 แต่ในทางปฏิบัติกลับยังไม่สำเร็จ เนื่องอาเซียนไม่มาตรการกดดันอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
  • นฤมล เสนอให้อาเซียน ต้องมีบทบาทเรื่องการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ขณะที่ไทยต้องไม่ละเลย เพราะจะทำให้สถานการณ์พม่าทรุดลงไปอีก
  • สุรพงศ์ มองว่า การทูตของไทยที่ผ่านมามีการรับรองให้รัฐบาลทหารพม่าตลอดตั้งแต่การทำรัฐประหาร 1988 ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ไทยในเวทีโลก และปัญหาอื่นๆ ตามมาเช่นผู้ลี้ภัย และยาเสพติด 
  • ปรีดา คงแป้น เสนอรัฐไทยเปลี่ยนมุมมองด้านความมั่นคง เพื่อส่งเสริมความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม 

1 ปีหลังรัฐประหารพม่า ความรุนแรงยังลุกลาม

รองศาสตราจารย์ นฤมล ทับจุมพล อาจารย์จากภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า หลังการรัฐประหารของกองทัพพม่านำโดย พลเอกอาวุโส มินอ่องหล่าย ผู้บัญชาการสูงสุดแห่งกองทัพพม่า เมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา นำพาพม่าเข้าสู่วิกฤตการเมืองครั้งสำคัญ ประชาชนลุกขึ้นประท้วงในหลายพื้นที่ ขณะที่กองทัพพม่าใช้วิธีการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก 

รองศาสตราจารย์ นฤมล ทับจุมพล ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ตัวเลขจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเก็บรวบรวมข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการกดปราบ และถูกจับกุมด้วยข้อหาทางการเมือง ระหว่าง 1- ก.พ. 64-25 ก.พ. 65 เผยว่า ตอนนี้มีชาวพม่าเสียชีวิตแล้วกว่า 1,582 คน ถูกจับกุม 12,396 คน 

นฤมล ระบุต่อว่า เหตุการณ์ในพม่าทำให้วิธีการประท้วงแบบสันติวิธีถูกตั้งคำถาม และคนรุ่นใหม่เริ่มมีแนวคิดไม่ถูกแบบสันติวิธี เนื่องจากเขามองว่า เขาต้องป้องกันตัวเอง และนำไปสู่การจัดตั้งกองกำลังป้องกันตนเอง หรือ People’s Defense Forces - PDF เพื่อตอบโต้ความรุนแรงจากกองทัพ

นฤมล เผยต่อว่า สิ่งที่กองทัพพม่ากระทำต่อพลเรือน คือ Atrocity หรือความโหดร้าย เพราะมีการใช้โดรน หรือท่าอากาศยานไร้คนขับ ทิ้งระเบิดโจมตีเป้าหมายทั้งทางการทหาร และพลเรือน และมีการใช้ปืนใหญ่ยิงเข้าใส่หมู่บ้านที่คาดว่ามีกองกำลังพลเรือนอาศัยอยู่ พื้นที่ที่โจมตีในช่วงแรกจะอยู่ในรัฐสะไกน์ และรัฐชิน ซึ่งอยู่ในตอนกลางของประเทศ ก่อนขยายออกไปรอบนอก เช่น รัฐกะเหรี่ยง รัฐกะเรนนี และรัฐฉาน ส่งผลให้มีจำนวนผู้หนีภัยสงครามขึ้นติดตามมา มีการพูดกันว่าตอนนี้ตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบมีจำนวนมากกว่าเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญาของพม่า เมื่อ 2563 

“เหตุผลทำไมถึงเป็นแบบนั้น เพราะว่ากองทัพไม่สามารถสถาปนาอำนาจนำที่รัฐใดๆ ได้เลย แม้กระทั่ง เนปยีดอ ดังนั้น รัฐจึงต้องใช้กำลังอาวุธในการปราบปราม และความรุนแรงเป็นเครื่องมือเดียวที่ทำให้รัฐดำรงอยู่ได้”

การโจมตีและความรุนแรงที่ดีดตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบกับประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะชาวพม่าก็ต้องลี้ภัยสงครามเข้ามาในเขตไทยจำนวนมาก นฤมล มองว่า การแก้ปัญหา หรือไม่อยากให้มีการสู้รบในฝั่งพม่ามากขึ้น เราต้องดูว่าอะไรคือรากของปัญหา 

ฉันทามติอาเซียนไม่ไปไหน-ไร้มาตรการกดดัน

อาจารย์จากจุฬา เผยว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน เป็นหนึ่งในองค์กรภูมิภาคที่มีบทบาทในการพยายามหยุดยั้งความรุนแรงในพม่าผ่านการเจรจา และได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นฉันทามติ 5 ข้อเมื่อปลายเดือน เม.ย. 64 แต่ในทางปฏิบัตินั้น ยังเป็นไปได้ยาก เนื่องจากอาเซียนไม่ได้บังคับใช้มาตรการกดดันอื่นๆ ร่วมด้วยอย่างการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ 

นฤมล ชวนดูต่อว่า หากดูตัวเลข 10 อันดับการลงทุนจากต่างประเทศก่อนรัฐประหาร ประเทศที่ลงทุนในพม่ามากที่สุด มากสุดได้แก่ สิงคโปร์  จีน ฮ่องกง ไทย เกาหลีใต้ อังกฤษ เวียดนาม ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และมาเลเซีย ตามลำดับ มีนอกอาเซียนไม่กี่ประเทศ 

หลังรัฐประหาร ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศพม่า เลื่อนขึ้นมาเป็นอันดับ 3 จากเดิมอยู่ที่ 4 คือ สิงคโปร์ จีน และไทย ตามลำดับ จำนวนการลงทุนไม่ได้เปลี่ยน เวียดนาม มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ยังคงลงทุน ดังนั้น เห็นได้ว่าไม่มีมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจจากประเทศในอาเซียนนับตั้งแต่รัฐประหาร เพื่อให้บังคับให้พม่าทำตามฉันทามติ 5 ข้อ 

ดังนั้น นฤมล มองโจทย์สำคัญว่า อาเซียน จะทำยังไงถึงจะเข้าไปมีบทบาทการทูตกับพม่าอีกครั้ง อย่างเช่น ช่วงที่พม่าได้รับผลกระทบรุนแรงจากพายุนากีส เมื่อ 2551 

3 ข้อเสนอต่อไทย-อาเซียน

ข้อเสนอของนฤมล ต่ออาเซียนในประเด็นนี้ก็คือ 1) ควรจะทำบทบาทมากกว่านี้ จะเป็นแบบไหนก็ได้ จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ย หรืออื่นๆ 2) ระหว่างที่ไกล่เกลี่ย อาเซียนต้องแสดงบทบาทเรื่องมนุษยธรรมมากขึ้น ให้สมกับที่เคยประกาศว่าเป็น ‘caring society’ มากกว่านี้

“ขอเปลี่ยนจากคำว่า ระเบียงเศรษฐกิจ (economic corridor) เป็น humanitarian corridor (ระเบียงมนุษยธรรม) ได้ไหม ในกรณีที่เป็นพื้นที่เขตพลเรือน ขอให้มีการห้ามบิน หรือห้ามใช้โดรนได้ไหม อาเซียนอาจต้องระดมสรรพกำลังให้มากกว่านี้ อย่างน้อย เราเพิ่งประกาศเป็น caring society เราไม่ทิ้งกัน share asean คุณก็ต้องทำให้สมกับเป็น caring society หน่อยคือจะทำยังไง ก็อาจจะเป็นโจทย์” อาจารย์จุฬาฯ กล่าว 

นฤมล เสนอแนะต่อว่า กรณีประเทศไทย อาจต้องทบทวนนโยบายการต่างประเทศใหม่ ซึ่งไทยอาจจะชอบการทูตสองหน้า หรือ shadow policy คอยช่วยเหลือปิดทองหลังพระ แต่ตอนนี้ไม่มีพระแล้ว ไทยต้องเล่นเกมการทูตให้ชัดเจนเพราะหากไทยยังนิ่งเฉย และปล่อยสถานการณ์มันบานปลายไปเรื่อยๆ ที่สุดแล้ว เรากำลังส่งเสริมสถานการณ์ความรุนแรงในพม่า เพราะคนพม่าจะเชื่อในการต่อสู้แบบสันติวิธีปราศจากอาวุธลดลง และหันไปใช้ความรุนแรงมากขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย  

การทูตไร้สันหลัง ระวังถูกหลอกใช้

แม้การทูตไผ่ลู่ลม เป็นนโยบายการต่างประเทศที่ไทยดำเนินบ่อยครั้งเวลาที่ต้องอยู่ตกอยู่ในวงล้อมความขัดแย้ง เนื่องจากสามารถหาประโยชน์ได้จากคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย แต่ในมุมมองของสุรพงศ์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาวันนี้ กล่าวถึงกรณีการทูตไทยต่อพม่าว่า การนโยบายการทูตแบบนี้แม้ให้ประโยชน์ แต่ต้องระวังถูกหลอกใช้ เอาไปอิงแอบสร้างความชอบธรรม และกลายเป็นการสร้างปัญหาตามมา

สุรพงศ์ ชัยนาม มองการทูตไทยต่อกรณีพม่าเมื่อครั้งมีรัฐประหารในอดีตเมื่อปี 2531 ว่า ขณะนั้นนายพลซอหม่อง ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นประเทศเดียวใน 5 สมาชิกอาเซียนที่ให้การรับรอง และพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม เดินทางเยือนพม่าพร้อมนักธุรกิจ ก่อนกลับมาพร้อมกับสัมปทานป่าไม้ สัมปทานหยก จำนวนมาก

เอกอัครราชทูต สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก

สุรพงศ์ มองว่า แม้ไทยจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากมาย แต่เกมของพม่าคือการหวังผลทางการเมือง สร้างความชอบธรรมและดึงนักลงทุนเข้ามาในประเทศ เนื่องจากขณะนั้นพม่าถูกประเทศตะวันตกคว่ำบาตรหนัก ผลจากการเกมการทูตไทยตอนนั้น คือถูกสื่อต่างประเทศวิจารณ์ไทย และเราต้องมานั่งแก้ปัญหาภาพลักษณ์ต่างนานา ข้าราชการที่ส่งไปต้องเรียกกลับหมด 

สุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ในกรณีล่าสุดที่มินอ่องหล่ายทำรัฐประหาร ไทยเป็นประเทศเดียวที่รับรองรัฐบาลทหารพม่า แต่การเล่นทูตแบบนี้กำลังส่งผลกระทบทางลบต่อไทย เพราะเมื่อสร้างความชอบธรรมให้ทหารพม่าอยู่ในอำนาจ ไทยก็ได้รับผลกระทบอื่นๆ ไม่มีวันจบ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ลี้ภัยจากการปราบกองกำลังชนชาติพันธุ์ ปัญหายาเสพติด และอื่นๆ

ไทยต้องมีจุดยืน

ในมุมมองของสุรพงศ์ เขาเห็นว่า ไทยควรมีจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่านี้ เวลาที่พม่าละเมิดหลักคุณค่าสากล เช่น กรณีที่สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ คนที่ 24 เคยออกมาวิจารณ์พม่าที่กำลังสลายการชุมนุม “Saffron Revolution” หรือการปฏิวัติแซฟฟร่อน เมื่อปี 2550 ซึ่งทำให้นานาชาติเห็นว่า ไทยไม่ใช่ประเทศตลบแตลง และมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก 

อนึ่ง การปฏิวัติแซฟฟร่อน คำว่า “แซฟฟรอน” แปลว่า หญ้าฝรั่น ซึ่งมีสีเดียวกับจีวรของพระสงฆ์พม่า ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมหลักที่ออกมาประท้วงกองทัพ ก่อนที่ต่อมา กองทัพพม่าจะใช้ความรุนแรงปราบปรามพระสงฆ์จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยอ้างว่าเป็นการชำระล้างพุทธศาสนา 

นอกจากนี้ อดีตอธิบดีฯ มองว่า ไทยควรใช้อำนาจทางการทูตในการควบคุมพม่าให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในช่วงสมัยที่พม่าขอเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เขาเสียดายมาก 

“ตอนที่พม่ามาขอเข้าอาเซียน และไทยเองสามารถสั่งสอนให้พม่ารู้จักประพฤติ ไม่เอาแต่ใจตัวเอง… ประเทศไทยเป็นประเทศที่ถ้าคุณ (พม่า) อยากเป็นสมาชิกอาเซียน คุณต้องมีความประพฤติยังไงถ้าไม่ปรับตัวก็ไม่ให้เข้า อีก 4 ประเทศอาเซียน เพราะไทยบอกไม่ได้ ไม่เกิด consensus ก็ไม่ให้สิทธิเข้ามา เราเสียโอกาสนั้นไปมาก ให้พม่าปรับตัวมีท่าทีนโยบายไม่เป็นภัย” สุรพงศ์ กล่าว พร้อมระบุว่า พอพม่าทำรัฐประหารครั้งล่าสุด ละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง ก็ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของอาเซียน ต้องมาตามแก้ปัญหาอย่างที่เห็นทุกวันนี้

ดังนั้น สุรพงศ์ กล่าวเตือนไทยตีโจทย์ให้ดีว่าผลประโยชน์ของตัวเอง และต่างประเทศอยู่ตรงไหน มองโลกในความเป็นจริง ถ้าทำไม่ได้จะไม่สามารถวิเคราะห์ต่างประเทศได้เลย และจะไม่รู้ว่าเราควรยืนอยู่จุดไหน

ปรับมุมมองความมั่นคง

ปรีดา คงแป้น สมาชิกคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. อีกหนึ่งผู้ร่วมเสวนา กล่าวถึงการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยจากพม่า และการแก้ปัญหา โดยเธอเกริ่นว่า หลังรัฐประหารพม่าครั้งล่าสุด ทาง กสม.มีการรับเรื่องราวร้องเรียนด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ลี้ภัย ประชาชนตามแนวชายแดนที่ได้รับผลกระทบจากกระสุนปืนใหญ่ แรงงานพม่า การค้ามนุษย์ ฯลฯ 

ปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.

เธอกล่าวต่อว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่ายังไงจะกระทบของไทยไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง และจะมีผู้ลี้ภัยเข้ามาในไทยเยอะขึ้น แต่รัฐไทยกลับมีการแก้ปัญหาโดยอยู่บนหลักความมั่นคงแบบเดิม คือ ถ้าเหตุการณ์ฝั่งพม่าสงบเกิน 72 ชั่วโมงเมื่อไร ก็จะมีการผลักดันผู้ลี้ภัยจากเมียนมากลับไปทันที เพราะกลัวว่าพวกเขาจะตกค้างในไทยเหมือนศูนย์พักพิงชั่วคราวที่ยังหลงเหลือคนจำนวนมากนับหมื่นคน ที่ยังไม่ได้เดินทางกลับมาตุภูมิ   

ดังนั้น เธออยากให้ไทยมองกรอบความมั่นคงนอกกรอบ เพราะกรอบเดิมทำให้กฎหมายขยับอะไรไม่ได้เลย จนเรียกว่าเป็น “ผีความมั่นคง” ซึ่งหลอกหลอนทั้งคนและรัฐไทย

“ต้องหาวิธีคิดเรื่องความมั่นคงรูปแบบใหม่ ความมั่นคงของประชาชน มันคือความมั่นคงของรัฐ คิดว่าจะทำยังไง คนที่หนีร้อนมาพึ่งเย็น เป็นเรื่องความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม” ปรีดา กล่าว พร้อมระบุว่า อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนทัศนคติยังคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา" ปรีดา คงแป้น กล่าว 

นฤมล กล่าวเสริมว่า ในเรื่องแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยทั้งเก่าและใหม่ เธออยากให้รัฐไทยปรับมุมมองด้านความมั่นคงใหม่แบบนอกกรอบ นำพวกเขามาเป็นแรงงาน ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังเดินทางเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก 

ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฒฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net