Skip to main content
sharethis

พบ 'Gig worker ในแอฟริกา' เผชิญการเลือกปฏิบัติ ลูกค้าแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย คนทำงานขาดความมั่นคงและไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ


ที่มาภาพประกอบ: UNHCR/Michele Sibiloni

  • ในแอฟริกามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 800 ล้านคน มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 590 ล้านคน และมีคนทำงานในแอฟริกากำลังทำงานดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ภายใต้เศรษฐกิจ Gig Economy
  • พบ Gig worker ในแอฟริกาเผชิญการเลือกปฏิบัติ ลูกค้าแพลตฟอร์มจ้างฟรีแลนซ์ไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา มีชาวแอฟริกันที่ลงทะเบียนไว้ใน Upwork ที่เคยได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น
  • คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย คนทำงานขาดความมั่นคง ค่าแรงต่ำ และต้องทำงานหลายงานต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ

ทุกวันนี้ประชากรโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งสามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ในแอฟริกามีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่า 800 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตมากกว่า 590 ล้านคน 

การกระจายตัวของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การเชื่อมต่อทั้งโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมในทวีปแอฟริกา 

การเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งคือคนทำงานในลากอส โจฮันเนสเบิร์ก จนถึงไนโรบี กำลังทำงานดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต ตัวอย่างงานเหล่านั้นก็ได้แก่ การถอดเทป การเขียนบทความ การติดแท็กรูปภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพกลไกค้นหาทางออนไลน์ และการบริการลูกค้าทางออนไลน์ ฯลฯ งานเหล่านี้สามารถทำได้ในทุกที่ที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาล องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคประชาสังคมต่างๆ จึงมองว่างานดิจิทัลนั้นอาจแก้ไขปัญหาให้กับประเทศในแอฟริกา ทั้งการว่างงาน ความยากจน และความเหลื่อมล้ำ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

คุณภาพงานของงานดิจิทัลยังคงเป็นที่น่าสงสัย - คนทำงานขาดความมั่นคง


หนังสือ The Digital Continent เขียนโดย Mohammad Amir Anwar นักวิชาการด้านแอฟริกันศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ 

ในหนังสือ The Digital Continent เขียนโดย Mohammad Amir Anwar นักวิชาการด้านแอฟริกันศึกษาและการพัฒนาระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเอดินเบอระ ที่ได้ทำการศึกษาเป็นเวลา 5 ปี เพื่อตรวจสอบงานคอลเซ็นเตอร์ งานทางไกล และผลกระทบต่อคนทำงาน 5 ประเทศในแอฟริกา ได้แก่ แอฟริกาใต้ เคนยา ยูกันดา ไนจีเรีย และกานา ได้แสดงให้เห็นว่าแม้ว่างานดิจิทัลจะช่วยให้คนทำงานมีความอิสระและความยืดหยุ่น แต่ก็ทำให้คนทำงานไม่มั่นคงและเผชิญกับความเปราะบางด้วยเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ได้ทำการสัมภาษณ์เชิงลึกพนักงานคอลเซ็นเตอร์และพนักงานทำงานระยะไกล (Remote work) เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์การทำงานดิจิทัล รายได้ ชั่วโมงการทำงาน ความสัมพันธ์ในการจ้างงาน และอิทธิพลของอัลกอริทึม (algorithms) ที่มีต่อคนทำงาน ซึ่งคนทำงานส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์ระบุว่างานดิจิทัลเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้ที่สำคัญของพวกเขา 

งานประเภทคอลเซ็นเตอร์นั้นมักใช้สัญญาจ้างระยะสั้นและยืดหยุ่น ในอุตสาหกรรมนี้มักใช้การจัดหาพนักงานชั่วคราวเพื่อลดต้นทุนด้านแรงงาน บริษัทจัดหาคอลเซ็นเตอร์สามารถจ้างพนักงานและเลิกจ้างพวกเขาได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างเช่นตัวแทนบริษัทจัดหาคอลเซ็นเตอร์ในไนโรบีรายหนึ่งระบุว่าเดือน เม.ย. 2559 บริษัทของเขาเลิกจ้างพนักงานถึง 70 คน

นอกจากนี้บริษัทต่างๆ สามารถย้ายที่ตั้งได้อย่างสะดวกสบาย แม้ว่าในแอฟริกาใต้ธุรกิจคอลเซ็นเตอร์จะเติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีหลายแห่งที่ปิดตัวลง อย่างในเคนยา ไนจีเรีย และกานา บางบริษัทย้ายไปยังจุดหมายปลายทางที่ค่าแรงที่ถูกกว่า 

ในทำนองเดียวกัน คนทำงานในทวีปแอฟริกามองว่าเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นโอกาสใหม่ แม้ว่าอุปสรรคทางเทคโนโลยีจะลดลง แต่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายในการหาเลี้ยงชีพตามวิถีของ Gig Economy ซึ่งเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก แนวโน้มที่น่าเป็นห่วงคือมีคนทำงานเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สร้างรายได้บนแพลตฟอร์มงานดิจิทัลได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจริงๆ


แม้ว่าจะมีแรงงานล้นเกินบนแพลตฟอร์ม แต่ลูกค้าบางรายกลับไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา | ที่มาภาพประกอบ: WeeTracker (อ้างใน The Exchange Africa)

Upwork ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มหางานฟรีแลนซ์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นที่นิยมมากที่สุดในหมู่คนทำงานฟรีแลนซ์ในทวีปยุโรป แต่จากการประมาณการในหนังสือเล่มนี้พบว่าชาวแอฟริกันที่ลงทะเบียนไว้ใน Upwork ที่เคยได้รับเงิน 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นไปมีเพียง ร้อยละ 6 เท่านั้น ในกรณีของกานาและยูกันดา ตัวเลขนี้ต่ำลงไปอีกที่ ร้อยละ 3.1 และ ร้อยละ 2.7 ตามลำดับ

แพลตฟอร์มยังช่วยให้นายจ้างเข้าถึงแรงงานได้ทั่วโลก ในหนังสือเล่มนี้ยังระบุว่าลูกค้าต้องการแรงงานที่มีต้นทุนต่ำ เช่น อินเดีย และฟิลิปปินส์ และแม้ว่าจะมีแรงงานล้นเกินบนแพลตฟอร์ม แต่ผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าลูกค้าบางรายไม่ต้องการจ้างงานคนทำงานจากทวีปแอฟริกา

งานบนแพลตฟอร์ม ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นการทำงานระยะสั้นๆ งานบางอย่าง (เช่น งานติดแท็กรูปภาพ) ใช้เวลาเพียงนาทีเดียวก็เสร็จสมบูรณ์, ส่วนงานอื่นๆ อาจใช้เวลานานขึ้น (เช่น งานผู้ช่วยเสมือน) คนทำงานต้องค้นหางานบนแพลตฟอร์มอย่างต่อเนื่องเพื่อหารายได้ให้เพียงพอ เนื่องจากบางแพลตฟอร์มจ่ายเพียง 0.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่องาน คนทำงานจึงต้องหางานให้มากที่สุด ซึ่งหมายถึงชั่วโมงที่ยาวนานขึ้น บางกรณีใช้เวลาทำงานถึง 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เลยทีเดียว

การควบคุมโดยอัลกอริทึม

ปัจจุบันแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ใช้อัลกอริธึมควบคุมกระบวนการทำงานมากขึ้น ในด้านหนึ่งมันได้เพิ่มความเสี่ยงให้กับคนทำงานมากขึ้นด้วย

ในงานคอลเซ็นเตอร์ มีการใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น การจัดการลูกค้าสัมพันธ์และการจัดการกำลังคน เครื่องมือนี้ถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มเวลาการทำงานของพนักงานคอลเซ็นเตอร์อย่างเต็มที่ โดยคนทำงานแทบจะไม่มีเวลาพักระหว่างสายหนึ่งไปยังอีกสายหนึ่ง

ในระบบ Gig Economy คนทำงานยังต้องเผชิญกับแรงกดดันที่คล้ายคลึงกันกับอัลกอริธึมที่คอยติดตามพวกเขาโดยการจับภาพหน้าจอจากเว็บแคมของแล็ปท็อป

แม้ว่าแพลตฟอร์มบางรายสามารถกำหนดเวลาและสถานที่ทำงานได้ตามต้องการ แต่ความยืดหยุ่นนี้ไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน ส่วนใหญ่แล้วความยืดหยุ่นนี้จะมีไว้เฉพาะคนทำงานที่มีประสบการณ์มากแล้วเท่านั้น

การเฝ้าระวังและการควบคุมโดยอัลกอริธึมส่งผลให้เกิดความแปลกออกจากสังคม มีการร้องเรียนเกี่ยวกับความเครียดทางจิตใจและร่างกาย รวมถึงการอดนอน เป็นเรื่องปกติในหมู่ผู้ตอบแบบสอบถามในหนังสือเล่มนี้

แพลตฟอร์ม Gig Economy บางแห่งมีนโยบายที่ว่าลูกค้าไม่ต้องจ่ายเงินให้กับฟรีแลนซ์ หากงานไม่บรรลุเป้าหมายหรือหากลูกค้าไม่พอใจ มีคนทำงานหลายสิบคนในกลุ่มตัวอย่างไม่เคยได้รับเงินจากการทำงาน ทั้งนี้การปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างนั้น ถือว่าเข้าข่าย 'การบังคับใช้แรงงาน' ตามคำนิยามขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

ขาดโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ


งานคอลเซ็นเตอร์ผ่านแฟลต นอกเหนือจะถูกอัลกอริธึมควบคุมอย่างเข้มงวด งานหนักยาวนานแล้ว ก็ยังไม่ค่อยมีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพอีกด้วย | ที่มาภาพประกอบ: RemoteDesk

งานคอลเซ็นเตอร์มีโอกาสก้าวหน้าในอาชีพน้อยมาก จากการสัมภาษณ์ส่วนใหญ่พบว่าพวกเขาไม่คาดหวังจะทำอาชีพคอลเซ็นเตอร์นี้ในระยะยาว ในหนังสือเล่มนี้พบว่ามีคนทำงานคอลเซ็นเตอร์มากว่า 5 ปี โดยไม่มีความก้าวหน้าทั้งในด้านเงินเดือนหรือสภาพการทำงาน

บริษัทแพลตฟอร์มและองค์กรต่างๆ เช่น ธนาคารโลก ได้สร้างวาทกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ Gig Economy ว่าจะช่วยผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ประกอบการได้ แต่ในหนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นความเป็นจริงในเชิงบวกน้อยลง โอกาสในการทำงานดิจิทัลไม่ได้แปลว่างานจะมีคุณภาพดีเสมอไป รวมทั้งไม่มีความยั่งยืน

ในหนังสือเล่มนี้ระบุว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งในการวิจัยที่จะเปิดเผยให้เห็นถึงวิธีการทำงานในระบบเศรษฐกิจ Gig Economy นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการป้องป้องสิทธิแรงงาน และสนับสนุนการสร้างความสมานฉันท์ของคนทำงานในเครือข่ายเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

ที่มา
For workers in Africa, the digital economy isn’t all it’s made out to be (The Conversation, 22 February 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net