Skip to main content
sharethis

บทเรียนจากประเทศ 'โตโก' การสร้างความตระหนักรู้คือกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก สร้างความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยกจาก 'ที่ทำงาน' สู่ 'โรงเรียน'


ที่มาภาพ: Education International

ช่วงเดือน มิ.ย. 2024 สหภาพแรงงานคนทำงานภาคการศึกษานานาชาติ (Education International) รายงานว่า โครงการนำร่องที่ดำเนินการโดยสหภาพแรงงานการศึกษาแห่งชาติ (Fédération des Syndicats de l'Education Nationale - FESEN) ในภูมิภาคโซตูบัว (Sotouboua) ในตอนกลางของประเทศโตโก กำลังช่วยเปลี่ยนทัศนคติให้การใช้แรงงานเด็กไม่เป็นที่ยอมรับอีกต่อไป การทำงานในภาคเกษตรกรรมและงานบ้านเป็นกิจกรรมหลักที่ขัดขวางการเรียนของเด็ก ๆ ในภูมิภาคนี้

โครงการนี้เมื่อปี 2019 มีการฝึกอบรมครู คณะกรรมการบริหารโรงเรียน และผู้นำชุมชน หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการฝึกอบรมคือการแยกแยะระหว่าง 'การใช้แรงงานเด็ก' (ที่ต้องห้าม) กับ 'การทำงานเพื่อสังคม' ซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อการเรียน สุขภาพ หรือพัฒนาการของเด็ก

การฝึกอบรมเหล่านี้ทำให้ครูและผู้บริหารโรงเรียนตระหนักถึงบทบาทในการขจัดการใช้แรงงานเด็กในชุมชนของพวกเขา “ทันทีที่นักเรียนคนหนึ่งออกจากโรงเรียน เราจะไปพบครอบครัวของเขา” พานาเดมา บายาเบนเซ (Panadèma Bayabenze) ครูโรงเรียนหมู่บ้านเมเวเด (Mèwèdè village school) กล่าว “ก่อนที่จะมีโครงการนี้ เราไม่ได้ตอบสนองเท่าที่เราเป็นในปัจจุบัน ผู้ปกครองมักไม่ตระหนักถึงอันตรายที่ลูก ๆ ของพวกเขาอาจเผชิญเมื่อลาออกจากโรงเรียน เราใช้ที่ประชุมของโรงเรียนเมื่อผู้ปกครองทุกคนมารวมตัวกันเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องนี้”

การโน้มน้าวผู้ปกครอง


ที่มาภาพ: Education International

การสร้างความตระหนักรู้ในชุมชน เกี่ยวกับความสำคัญของการศึกษา เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของโครงการโดยสหภาพ FESEN “ผู้ปกครองหลายคนไม่เคยเข้าโรงเรียนมาก่อน ดังนั้นพวกเขาจึงไม่รู้ถึงคุณค่าของการศึกษา” สมาชิกของคณะกรรมการบริหารโรงเรียนในหมู่บ้านเมเวเดอธิบาย “การอบรมของ FESEN ทำให้เราได้ข้อโต้แย้งใหม่เมื่อเราพูดคุยกับพวกเขา เช่น คุณไม่ได้ไปโรงเรียนเพียงเพื่อหวังจะเป็นข้าราชการเท่านั้น คุณไปเพื่อพัฒนาตนเอง แม้กระทั่งเพื่อเป็นเกษตรกรที่ดียิ่งขึ้น”

'คณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก' (Village committees to combat child labour) ถูกจัดตั้งขึ้นในท้องถิ่นโดยสหภาพ FESEN สมาชิกของคณะกรรมการเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีอิทธิพลที่สุด เช่น หัวหน้าหมู่บ้าน หรือผู้ที่มีความสนใจในการมีส่วนร่วมเพื่อเด็ก ๆ พวกเขาช่วยครูในการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเสี่ยงของการออกจากโรงเรียน “โครงการนี้ทำให้เราตระหนักถึงความจำเป็นที่เด็กทุกคนต้องอยู่ในโรงเรียน” ซังบาลาโอ พูเวเดโอ (Sangbalao Pouwèdéo) หัวหน้าหมู่บ้านทูคูโจ กล่าว “ก่อนโครงการ เมื่อเด็กออกจากโรงเรียน เราจะพูดคุยกับผู้ปกครอง แต่ก็ไม่เป็นทางการ หลังจากการฝึกอบรมของเรา มันเป็นระบบมากขึ้น: เมื่อเด็กคนหนึ่งออกจากโรงเรียน เราจะไปหาผู้ปกครองและสร้างความตระหนักรู้ ผลที่ได้คือเด็กหลายคนกลับมาเรียนหนังสือ”

สหภาพ FESEN ยังฝึกอบรมครูในพื้นที่โครงการเกี่ยวกับมาตรฐานระดับชาติและระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก รวมถึงวิธีการสอนที่น่าสนใจและครอบคลุมมากขึ้น โดยเน้นที่การยกเลิกลงโทษทางร่างกาย การฝึกอบรมนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับครูในชุมชนที่ได้รับคัดเลือกจากหมู่บ้าน เพื่อทดแทนการขาดแคลนครู

การมีส่วนร่วมของนักเรียนในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก


ที่มาภาพ: Education International

ชมรมต่อต้านการใช้แรงงานเด็กได้ถูกจัดตั้งขึ้นในโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ นักเรียนที่เป็นสมาชิกของชมรมเหล่านี้จะอยู่ภายใต้การดูแลของครูที่ได้รับการฝึกอบรมโดยสหภาพ FESEN พวกเขาทำกิจกรรมทางศิลปะ (ละครริมถนน เพลง การเต้นรำ บทกวี) ที่สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิทธิของเด็กและความสำคัญของการศึกษา ผ่านการติดต่อส่วนตัว นักเรียนช่วยโน้มน้าวเด็กที่ทำงานในชุมชนให้กลับมาเรียนหนังสือ “เมื่อสมาชิกของชมรมสังเกตเห็นว่าเด็กคนหนึ่งถูกแสวงหาประโยชน์จากแรงงาน เขาหรือเธอจะแจ้งครูหรือสมาชิกของคณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก จากนั้นเราจะดำเนินการติดต่อครอบครัวของเด็กคนนั้น” บายาเบนเซอธิบาย

ระหว่างปี 2019-2023 เด็ก 137 คน สามารถกลับมาเรียนหนังสือได้ ทุกคนได้รับการเรียนเสริมเพื่อให้ตามทันเพื่อนในวัยเดียวกัน โครงการนี้มีโรงเรียนเข้าร่วม 9 แห่ง ในช่วงเวลานี้สหภาพ FESEN และพันธมิตรระหว่างประเทศของพวกเขากำลังขยายโครงการไปยังโรงเรียนเพิ่มเติมอีก 9 แห่ง ในปี 2024-2025

รณรงค์สร้างโรงอาหารในโรงเรียน

ในช่วง 2 ปีข้างหน้า สหภาพ FESEN จะเพิ่มความพยายามในการสร้างโรงอาหารในโรงเรียน โรงอาหารแห่งแรกได้ถูกจัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนเมเวเด ด้วยความร่วมมือของครูและชุมชน โดยทำอาหารแจกจ่ายเด็ก 195 คน ทุกวัน โรงอาหารมีบทบาทสำคัญในการดึงดูดเด็กที่ยากจนที่สุดให้มาเรียนหนังสือ และป้องกันไม่ให้พวกเขาลาออกจากโรงเรียน

การพัฒนาโครงการเหล่านี้ยังช่วยให้สหภาพ FESEN สามารถเสริมสร้างการเจรจาทางสังคมกับหน่วยงานท้องถิ่น ในเขตการปกครองคาซาบัว (Kazaboua) โครงการนำร่องที่พัฒนาโดย FESEN ในโรงเรียน 4 แห่งได้รับการส่งเสริมโดยหน่วยงานท้องถิ่นไปทั่วทั้งเขต ลานโต อาคาบา-อาบาโล (Lanto Akaba-Abalo) หัวหน้าของเขตการปกครองคาซาบัวกล่าวว่า "โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจในโรงเรียนนำร่อง รวมถึงการลดการลาออกจากโรงเรียนได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นเราจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน สร้างความตระหนักรู้ และฝึกอบรมครูของโรงเรียนอีก 6 แห่งในเขตการปกครองให้ทำตามแบบเดียวกัน วันนี้ไม่มีเด็กคนใดลาออกจาก 10 โรงเรียนประถมในเขตการปกครองของเรา การสร้างความตระหนักรู้ที่ดำเนินการโดยทุกคนยังช่วยลดจำนวนการทารุณเด็กทั่วทั้งเขตการปกครองด้วย"

เรื่องของอาเมเล

อาเมเล (Amele) เด็กหญิงอายุ 9 ปี อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเมเวเดอ และลาออกจากโรงเรียนในปี 2023 เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

คณะกรรมการหมู่บ้านเพื่อต่อสู้กับการใช้แรงงานเด็ก ได้ติดต่อครูที่ได้รับการฝึกอบรมโดยสหภาพ FESEN ในโรงเรียนของเธอ เพื่ออธิบายเหตุผลที่เธอลาออก: แม่ของอาเมเลได้ออกจากบ้านไปอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ ทิ้งเธอให้อยู่กับพี่ชายสองคนอายุ 12 และ 13 ปี ก่อนหน้านี้พ่อของเธอได้ทิ้งครอบครัวไปแล้ว และอาเมเลไม่มีญาติคนอื่นในหมู่บ้าน เมื่อไม่มีผู้ใหญ่คอยดูแล อาเมเลจึงลาออกจากโรงเรียนเพื่อทุ่มเทให้กับงานบ้าน

บายาเบนเซ ครูผู้ดูแลโครงการของสหภาพ FESEN ที่โรงเรียนเมเวเด ได้ไปที่บ้านของอาเมเล เขาพูดกับเธออย่างอ่อนโยน โดยไม่มีการตำหนิแม้แต่น้อย อ้างอิงจากคำแนะนำที่เขาได้รับในหลักสูตรการฝึกอบรมของโครงการ เขาซื้อสมุดให้เธอและสามารถโน้มน้าวให้เธอกลับมาโรงเรียนทุกวัน เขาอธิบายว่า "โรงอาหารในโรงเรียนที่พัฒนาขึ้นจากโครงการของสหภาพ FESEN เป็นเหตุผลสำคัญในการโน้มน้าวให้อาเมเลกลับมาโรงเรียน: ที่นี่ อย่างน้อยเธอก็มั่นใจได้ว่าจะมีอาหารดี ๆ กินทุกวัน"


ที่มาภาพ: Education International

โครงการนำร่องโดยสหภาพ FESEN นี้ ดำเนินการโดยได้รับการสนับสนุนจาก Education International, AOb, Mondiaal FNV (เนเธอร์แลนด์) และมูลนิธิ GEW Fair Childhood Foundation (เยอรมนี)


ที่มา:
Togo: Raising awareness is the key to combating child labour (14 June 2024)

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net