Skip to main content
sharethis

'พิภพ ธงไชย' ยกเหตุการณ์พฤษภา’ 35 เกิดแรงกระเพื่อมของความตื่นตัวของประชาชนถึงคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันจนรับไม่ได้กับรัฐประหาร ชี้ทหารคิดแบบศักดินา-อำนาจนิยมทำตัวเป็นเจ้าของประเทศมองประชาชนเป็นผู้อาศัย เสนอนำทหารที่จบ จปร.มาพูดในงาน '30 ปีพฤษภาประชาธรรม' แนะให้แก้ที่จิตสำนึกอำนาจนิยม เตือนใช้ ม.112 จัดการกับคนรุ่นใหม่จะกระทบต่อสถาบันฯ ความล้มเหลวการปฏิรูปมาจากการลูบหน้าปะจมูกของรัฐบาลและถูกขัดขวางจาก ขรก.ประจำ 'ประยุทธ์' ไม่คิดเรื่องการปฏิรูป คิดเอาตัวรอดอย่างเดียว หวังภาคประชาชนทำปฏิรูปคิดนอกกรอบไม่พึ่งพารัฐ


พิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35

13 มี.ค. 2565 ทีมสื่อสภาที่ 3 แจ้งข่าวต่อสื่อมวลชนว่านายพิภพ ธงไชย ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา’ 35 ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูปสภาที่ 3 ถึง วาระ 30 ปี เหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 NGO และภาคประชาชนได้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างไร ว่าน่าสนใจมากในรอบ 30 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่พฤษภาคม 2535 มีอะไรเกิดขึ้นในบ้านเมืองหลายอย่าง เป็นครั้งแรกที่นายทหารที่นายทหารออกมาปราบประชาชนถูกสอบสวน คนอาจจะลืมไปแล้ว ซึ่งคนที่ทำเรื่องนี้คือ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี การสอบสวนคราวนั้นนำไปสู่การย้ายนายทหาร ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาคม ออกจากตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย ในอดีตที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้ แต่ก็ยังเป็นบทเรียนอยู่ว่ายังไม่สามารถนำนายทหาร ที่คุมกำลังและสั่งการฆ่าประชาชนบนถนนราชดำเนิน เอามาลงโทษได้คิดว่ายังทำไม่ได้จนวันนี้ ทั้งที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ได้มีการรัฐประหารตามมาอีก 2 ครั้งใหญ่ๆ ดังนั้น สังคมไทยจึงขยับไม่ออกจากการที่ทหารจะมาทำรัฐประหารซ้ำอีก และสิ่งที่ได้จากพฤษภาคม 2535 คือความตื่นตัวของประชาชน อย่าลืมว่าคนพฤษภาคม 35 คือ คนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 19 และมาพฤษภาคม 2535 

นายพิภพ กล่าวต่อว่าสิ่งที่ได้จากพฤษภา 35 คือการได้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 อันนี้จะต้องตราไว้และเป็นรัฐธรรมนูญที่ เป็นคนเดือนพฤษภาคม และคนเดือนตุลาเคลื่อนไหว ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ แล้วก็ต้องตราไว้ว่าคนที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เขียนออกมา ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด มีอยู่ 3 คน คือ 1.นพ.ประเวศ วะสี ซึ่งถูกทาบทามให้มาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จากประธานรัฐสภาในตอนนั้น ซึ่ง นพ.ประเวศได้ทำงานวิจัยอยู่กว่า 10 ฉบับ งานวิจัยนี้เป็นฐานทำให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญหลายเรื่อง นำมาจากการวิจัยนี้ 2. นายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญนี้ คืออดีตผู้ที่ถูกจับในเหตุการณ์ต่อต้านการรัฐประหารตัวเองของ 3 ทรราช วันนั้นถ้าสภาร่างรัฐธรรมนูญไม่มีนายอุทัยเป็นผู้นำตนคิดว่าโอกาสที่จะได้รัฐธรรมนูญแบบนี้ก็ยากและ 3. นายอานันท์ ปัญญารชุน ซึ่งเป็นประธานยกร่างรัฐธรรมนูญ  

“กระบวนการของประชาชนที่เคลื่อนไหว ในตอนนั้นคือ 30 องค์กรประชาธิปไตย ที่เคลื่อนไหวทุกสัปดาห์ว่าร่างรัฐธรรมนูญแต่ละมาตราควรจะเขียนอย่างไร เพราะฉะนั้นองค์ประกอบนี้ทำให้ได้แล้วธรรมนูญตามนั้น โดยมีความคิดที่จะแก้ไขรัฐบาลที่อยู่ปีต่อปี ให้เป็นรัฐบาลอันที่อยู่ได้ครบ 4 ปีได้ คือ เอาแบบสิงคโปร์ อยากมีพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง และอันนี้คืออานิสงส์จากเหตุการณ์พฤษภา 2535 และทำให้ไม่มีการรัฐประหารมาถึง 15 ปี ซึ่งถือว่านานมาก แต่โชคร้ายของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 คือ เราได้นายทักษิณ ชินวัตร ถ้าเราได้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรี ต่อจากคุณชวน หลีกภัย ซึ่งคนลืมไปแล้วรัฐธรรมนูญ 2540 คุณชวนเป็นนายกรัฐมนตรี 3 ปี แต่สิ่งที่คุณชวนไม่ได้ทำเลย คือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สาเหตุที่ไม่ได้ทำเพราะตอนนั้น มีภาวะเรื่องต้มยำกุ้ง ของรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ รัฐบาลชวนก็มัวแต่ไปแก้ไขปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ขณะที่รัฐสภาไม่เอาใจใส่การออกกฎหมายประกอบธรรมนูญ  ดังนั้นความล้มเหลวของผลจากธรรมนูญ 2540 ไม่ใช่ตัวรัฐธรรมนูญแต่เป็นตัวกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และความล้มเหลวนี้มีมาตลอด เพราะว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถที่จะเขียนรายละเอียดได้มากพอ จำเป็นที่จะต้องมีประกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องออกโดยรัฐสภาและโดยรัฐบาล” 

ประธานที่ปรึกษาญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวต่อว่า  มาสมัยคุณทักษิณต่อจากคุณชวน ก็ไม่เอาใจใส่เรื่องนี้ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 พูดได้เลยว่าถูกทำลายโดยคุณทักษิณ องค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาซึ่งเป็นครั้งแรก ที่เรามีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเพราะรัฐธรรมนูญก่อนปี 2540 ไม่มีองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งอาจารย์โคทม อารียา ยังพูดอยู่ว่าจะทำอย่างไร ให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตอนนั้นเถียงกันมากว่าจะให้ไปอยู่ในผู้ตรวจการรัฐสภา  แล้วก็มีองค์กรอิสระอื่นๆตามมาอีก แต่การสรรหาองค์กรอิสระก็ยังไปอยู่ในมือของรัฐสภาอยู่  เมื่อรัฐสภามีความจงใจที่จะไม่เลือก คนที่จะมาทำงานให้มีประสิทธิภาพในองค์กรอิสระ ก็เกิดความล้มเหลวขึ้น ซึ่งนายทักษิณตั้งใจที่จะแทรกแซงองค์กรอิสระเพราะเป็นคนโดนองค์กรอิสระ คือ ศาลรัฐธรรมนูญเล่นงาน ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ถูกเล่นงานในคดีซุกหุ้น เมื่อผ่านไปจากคุณทักษิณก็เกิดกระบวนการในระหว่างที่คุณทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี ขบวนการเสื้อเหลือง และต่อมาก็เกิดขบวนการเสื้อแดง 2 ส่วนนี้กลายเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ทำให้ทหารถือโอกาสรัฐประหาร เรื่องนี้เป็นสิ่งที่พฤษภาคม 35 ที่เราพูดกันว่าจะใช้บทเรียนตัวนี้ ไม่ให้ทหารฉวยโอกาสในการรัฐประหารได้หรือไม่ ถ้าครบรอบ 30 ปี แต่ก็ยังไม่เห็น

“ผมเห็นสร้างมาตรการกันเยอะ เลยเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เขียนว่าห้ามทำรัฐประหาร คนทำรัฐประหารจะผิดกฎหมาย  แต่พอทำรัฐประหารแล้วเขาก็รื้ออันนี้ แล้วก็ออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม  มันก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นมาตรการไม่ได้อยู่ที่กฎหมาย แต่อยู่ที่จิตสำนึกของประชาชน ไม่ว่าเสื้อเหลืองเสื้อแดง ยังมีความคิดแบบอำนาจนิยม ซึ่งจิตสำนึกนั้นสำคัญ เพราะถูกหล่อหลอมด้วยระบบราชการ , ระบบการศึกษาไทยแล้วเรามีวัฒนธรรมแบบออมชอม เพราะฉะนั้นก็ไม่สามารถที่จะเอาคนที่ทำผิดกฎหมาย ล้มล้างรัฐธรรมนูญมาลงโทษได้  เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะแก้ไขปัญหา โดยการเขียนเป็นตัวบทกฎหมายอย่างไร ก็แก้ไม่ได้นอกจากความตื่นตัว” นายพิภพ กล่าว 

นายพิภพ กล่าวอีกว่าตนมักจะไปเทียบกับประเทศเกาหลี ซึ่งเกิดเหตุการณ์ 18 พฤษภาคมเมื่อ 12 ปีก่อนเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 แล้วตนก็ตั้งคำถามว่า ทำไมเกาหลีเขาไปต่อได้ คือเหตุการณ์ที่กวางจูทำไมไปต่อได้ สิ่งที่เขาไปต่อได้คือ 1.ความสุดโต่งของเขา แต่ไทยเราไม่สุดโต่ง 2.ถ้าเกาหลีไม่เป็นประชาธิปไตยทหารยังทำรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก คนเกาหลีก็บอกว่าถ้าอย่างนั้น ไปรวมกับเกาหลีเหนือก็หมดเรื่อง เป็นเผด็จการไปเลย เพราะฉะนั้นการเผชิญหน้าระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ทำให้คนเกาหลีตื่นตัว ที่จะไม่ยอมให้ทหารทำรัฐประหารอีก ฉะนั้นเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งตนเห็นว่าวาระมันไม่มี ว่าทำไมเกาหลีไปได้แต่ทำไมไทยไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ มายึดอำนาจ มีคนส่วนหนึ่งมองว่า ต้องเข้ามาจัดการระบอบทักษิณก่อน แนวคิดนี้เกี่ยวกับเรื่องจิตสำนึกด้วยหรือไม่ ที่ทำให้ทหารมีความชอบธรรมในการรัฐประหารและทำอย่างไรที่จะไม่มีความคิดแบบนี้ นายพิภพ กล่าวว่า  ตนคุยกับนายทหารคนหนึ่ง แล้วคุยกับประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ว่าความจริงแล้วทหารที่ทำรัฐประหาร แค่กลุ่มเล็กๆที่คุมกำลังและเป็นคนที่จบจากโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.)  และตนได้มีโอกาสคุยกับนายทหารที่จบจปร. ซึงยังเป็นนายทหารอยู่ เขาบอกว่าในระบบจปร.เป็นระบบศักดินามากและอำนาจนิยมมาก ซึ่งระบบอำนาจนิยมมันฝังอยู่ในสังคมไทยผ่านระบบการศึกษา แต่เรานึกไม่ถึงว่าในโรงเรียน จปร.ยังมีระบบอำนาจนิยมฝังอยู่  ถ้าพูดตามคำของ ส.ศิวรักษ์ คือทหารรู้สึกเป็นเจ้าของประเทศ และประชาชนเป็นผู้อาศัย คำถามที่ต้องถามต่อไปว่าแล้วทหารรู้สึกอย่างนั้นได้อย่างไร ว่าเขาเป็นเจ้าของประเทศ

เมื่อถามว่า ความคิดของภาคประชาชนทำอย่างไร ไม่ให้มีความคิดเหล่านี้อยู่ว่ารัฐประหารเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤต สมมุติว่าเกิดความขัดแย้งครั้งหน้าอีก ทหารจะฉวยโอกาสได้อีกหรือไม่ และมีคนจะหนุนแนวคิดให้ทหารแก้วิกฤติอีกหรือไม่  ที่ปรึกษาญาติวีรชนพฤษภา 35 ตอบว่า ตนถึงได้เสนอว่าจะต้อง ให้ทหารมาพูดในงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม ว่าทหารที่จบจากโรงเรียนจปร. มีความคิดอะไรความคิดที่เราเห็น คือ ทำตัวเป็นเจ้าของประเทศ ตัวเองเป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพที่สุดในระบบขององค์กร ไม่มีองค์กรใดมีประสิทธิภาพเท่ากับระบบกองทัพ แล้วตนก็ถามเปรียบเทียบว่า ทำไมทหารอเมริกันถึงไม่รัฐประหาร เรียนนายร้อยเวสต์ปอยต์ (West Point) ที่อเมริกาสอนอะไร ทหารอังกฤษทำไมถึงไม่ทำรัฐประหาร  โรงเรียนนายทหารเขาสอนอะไร เรามีทหารจำนวนหนึ่งที่จบจากเวสปอยท์  ไม่ได้จบจปร.พอจบเตรียมทหารก็ไปเรียนเวสต์ปอยต์เลย  แต่ตนยังไม่มีโอกาสสัมภาษณ์ จึงคิดว่าเราต้องหาข้อมูลตัวนี้ ว่าอะไรเป็นตัวหล่อหลอมความคิดของทหาร

“เรารู้แล้วว่าอะไรเป็นตัวหล่อหลอมความคิดของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กปปส. พอเคลื่อนตัวไปในการต่อสู้ทางการเมืองกับนักการเมือง ก็มักจะหันกลับมานึกถึงทหาร ทำไมล่ะเราถึงหันกลับไป ลึกๆแล้วประชาชนก็รู้ว่าตัวเองไม่มีกำลัง พอที่จะโค่นล้มนักการเมืองที่ฉ้อฉลได้  แต่ตอนนี้การจัดการกับภาคประชาชนเปลี่ยนไป เลิกใช้มาตรา 112 ซึ่งก็อาจจะเป็นการโยงสถาบันเข้ามา อันนี้ไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดอะไร เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากทหารแล้วใช้มาตรา 112 ในการจัดการกับการเคลื่อนไหวของประชาชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งแต่ก่อนไม่มี การต่อสู้ของประชาชนกับฝ่ายอำนาจรัฐพัฒนามา ตอนนี้ใช้กระบวนการของกฎหมายทั้งหมด เมื่อก่อนสมัยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย สมัยกกปส.และนปช. ใช้กฎหมายจัดการหมด อย่างที่ผมเคยไปติดคุกมาแล้ว และก็กำลังจะติดคุกต่ออีก แต่มายุคนี้กลับใช้มาตรา 112 ชัดเจนที่สุด นั่นคือการใช้กฎหมาย ในการมาจัดการ แต่เปลี่ยนแปลงกฎหมาย หยิบประเด็นกฎหมายมา ในเรื่องมาตรา 112”

ผู้สื่อข่าวถามถึง การใช้กฎหมายมาตรา 112 จัดการกับ การเคลื่อนไหวเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์มีผลดีหรือผลเสียกับสถาบันอย่างไร  นายพิภพ กล่าวว่า ถ้าจะพูดเรื่องนี้ก็ต้อง อ้างในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเคยทรงมีพระราชดำรัสอย่างเปิดเผย และเป็นการภายในด้วยว่าการใช้มาตรา 112 จัดการกับคนที่มีความคุมเครือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหรือเปล่า  ว่าจะตกอยู่กับสถาบันอันนี้รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสไว้   เพราะฉะนั้นถ้าจะอ้างในหลวงรัชกาลที่ 9 อย่างคำถามของคุณก็คือ จะมีผลกระทบต่อสถาบันแน่นอน อย่างน้อยคนรุ่นใหม่ก็จะมีความรู้สึกไม่ดี แล้วจริงหรือเท็จไม่รู้ก็พยายามจะโยงไป ซึ่งตนขอยืนยันตรงนี้ว่าไม่จริงสถาบันไม่รู้เรื่อง ภาคการเมืองเป็นคนนำกฎหมายมาใช้เอง แต่ที่น่าสงสัยก็คือว่า นายกรัฐมนตรีทำไมไม่นำกฎหมายอื่นมาใช้ ทำไมถึงเจาะจงเอามาตรา 112

“ผมชื่อว่าคนที่ถูกกล่าวหาในเรื่องมาตรา 112 มากกว่า 50% จะหลุดคดีและตอนนี้ก็เริ่มหลุดแล้ว ตอนนี้ก็ใช้กระบวนการของศาล ในการที่จะไม่ให้ประกันอันนี้ก็เลยทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ไว้วางใจ สถาบันตุลาการไปด้วย  ตรงนี้ก็กลายเป็นข้อเสียที่นายกรัฐมนตรี ได้ใช้กฎหมายอย่างไม่ระมัดระวัง  แต่ผมก็ไม่เข้าใจว่าศาลทำไมจึงคิดอย่างนั้น ผมก็โดนประกันตัวจะไปต่างประเทศ ก็ต้องขออนุญาตศาลจะต้องคิดว่าทำไมจึงไม่ให้ประกันตัวออกมา แล้วถ้าผิดก็ตั้งเบี้ยประกันให้สูงขึ้น เพื่อแทนที่จะไม่ให้ประกัน ในความเห็นของตน  ในกรณีของผมก็ให้ประกันก่อน แต่เงินประกันสูงมากเกือบหนึ่งล้านบาท”

เมื่อถามว่า สรุป 30 ปีพฤษภา 2535 รัฐบาลจะสร้างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตยหรือเพื่อประชาชนได้อย่างไร นายพิภพ กล่าวว่า 30 ปีพฤษภา 35 เป็นแรงกระเพื่อม ในการตื่นตัวของประชาชนมาตลอด  จนกระทั่งมาถึง 7 ปีรัฐบาลประยุทธ์จะลงไปที่คนหนุ่มสาว ตอนนั้นเราคิดว่าคนที่มาร่วมกับนปช. หรือคนที่มาร่วมกับ กกปส. และคนที่มาร่วมกับพันธมิตรฯ ที่เป็นชนชั้นกลางแก่ๆทั้งนั้น  แต่วันนี้ก่อนจะถึง 3 นิ้วมันเกิดแฟลชม็อบก่อน เป็นครั้งแรกที่คนหนุ่มสาวมารวมตัวแล้ว ใช้วิธีแบบแฟลชม็อบซึ่งเลียนแบบการเล่นดนตรี แบบแฟลชม็อบของยุโรป คือเล่นดนตรีเสร็จก็กลับแล้วเราก็ต้องถามว่า ความตื่นตัวนี้เป็นผลมาจากพฤษภาคม 2535 หรือเปล่า แต่คิดว่ามี เพราะความตื่นตัวที่เกิดจากการไม่หยุดการทำรัฐประหารของทหาร คิดว่ามาถึงจุดๆหนึ่งคนรุ่นใหม่รับไม่ได้แล้วและชนชั้นกลางคนรุ่นพันธมิตรฯ คนรุ่นกกปส.ก็เริ่มรับไม่ได้ที่มีรัฐประหาร

เมื่อถามถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยเฉพาะเสื้อเหลืองในเรื่องของการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แล้วพล.อ.ประยุทธ์เข้ามามีอำนาจ 8 ปี ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายจะหมดความหวังแล้ว เหมือนเสียของไปแล้วใช่หรือไม่ คิดว่าการปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจมากคือ ถ้าพฤษภา 35 ไม่ได้ชูประเด็นเรื่องปฏิรูป แต่ชูประเด็นว่านายกฯ จะต้องมาจากการเลือกตั้ง และรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ก็ไม่ได้ชูเรื่องการปฏิรูปเด่นชัดมากนัก พอมาแล้วธรรมนูญ 2550 ปฏิรูปเริ่มเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญมีพัฒนาการ คนรู้สึกว่าจะต้องปฏิรูป แต่พอรัฐธรรมนูญ 2560 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มองเห็นตรงนี้ ถึงแม้ว่าเราจะโทษคุณมีชัย ที่ไปเขียนให้รัฐธรรมนูญ ต้องมี ส.ว. 250 คน แต่เป็นครั้งแรกที่คุณมีชัย  นำเรื่องปฏิรูปไปกำหนดในรัฐธรรมนูญ แต่ความล้มเหลวของการปฏิรูปคืออะไร ก็คือการลูบหน้าปะจมูกของรัฐบาล และถูกขัดขวางจากข้าราชการประจำ เพราะการปฏิรูปจะไปกระทบกับข้าราชการประจำซึ่งเป็นอำนาจใหญ่  เพราะฉะนั้นการปฏิรูปก็เลยแปลผันไป เห็นชัดคือจะปฏิรูปตำรวจ , ปฏิรูปการศึกษาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็ถูกบิดเบี้ยวไป แต่ความรู้สึกในการต้องการปฏิรูปมันมีมากขึ้นในหมู่ประชาชน

เมื่อถามว่าภาคประชาชนยังมีความหวังอยู่หรือไม่ว่า จะเกิดการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นนายพิภพ กล่าวว่า  ตนหวังว่าภาคประชาชนจะทำการปฏิรูป ต้องคิดนอกกรอบไม่ไปพึ่งพารัฐแต่ต้องสร้างอำนาจ แต่ตนนึกไม่ออกว่าตำรวจในเรื่องกระบวนการยุติธรรม ประชาชนจะสร้างอำนาจนอกกรอบอย่างไร  แต่การศึกษาตนทำได้คือทำการศึกษาทางเลือก ส่วนการแพทย์ทำได้ก็คือแพทย์ทางเลือก  แต่น่าสังเกตว่าการแพทย์เขาสามารถปฏิรูปตัวเองได้ อาจจะเพราะแพทย์นั้นฉลาดและมีกระบวนการทำงาน ที่มีคนนำ เช่น นายแพทย์ ประเวศ วสี เพราะฉะนั้นจะบอกไปว่าในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมา  

ที่ปรึกษาญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่าในปาฐกถาของ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน์ ได้ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการปฏิรูปการแพทย์ ทำมาได้โดยตลอดในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ  ตนก็พยามทำกับการศึกษาโดยให้ นายแพทย์ชูชัย  ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไปเขียนเรื่องการศึกษาทางเลือก ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็เขียนสำเร็จและให้เขียนในและธรรมนูญฉบับร่างของ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ก็สำเร็จด้วยแต่ก็ถูกลบไปก่อนจะถูกรัฐธรรมนูญ 2560 และที่น่าสังเกต คือ ตนขอพบนายมีชัยในระหว่างการเขียน รัฐธรรมนูญ นายมีชัยเห็นปัญหานี้แล้วก็อยากจะ ทุบกระทรวงศึกษา จึงได้ไปใส่ในนั้นแต่คุณประยุทธไม่ต้องการทุบ  

"เพราะฉะนั้นถ้าสื่อถามว่าปฏิรูป ยังมีความหมายอยู่หรือไม่ ผมคิดว่าเรื่องคิดนอกกรอบเหมือนกับ 20 ปีที่แล้ว มีการประกาศธรรมนูญจังหวัด ผมคิดว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่ธรรมนูญจังหวัดจะไปบวกกับอบต.ได้หรือไม่ เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งความจริงแล้วก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 นิดนึง พล.อ.ชวลิต ประกาศให้กระจายอำนาจ แล้วก็ถูกสวมอยู่ในรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอันนี้ การกระจายอำนาจมันอยู่ในรัฐมนูญแล้ว 2 เรื่อง คือ อบต.และเทศบาล ซึ่งคนลืมไปแล้วว่าเทศบาลเป็นการกระจายอำนาจรูปแบบหนึ่ง มาตั้งแต่ 2475 นายปรีดี พนมยงค์ เป็นคนเริ่มเพราะฉะนั้นถ้าเราไปขยาย การกระจายอำนาจ 2 ตัวนี้คือให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต้องคิดว่านั่นคือการปฏิรูป ที่กระจายอำนาจสู่ประชาชน ส่วนการศึกษานั้นเกิดแล้ว คือ การศึกษาทางเลือกอย่างไรก็ตาม ในส่วนของพลเอกประยุทธ์นั้น ไม่ได้คิดเรื่องการปฏิรูป ตอนนี้แกคิดเอาตัวรอดอย่างเดียวก่อน" นายพิภพ กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net