Skip to main content
sharethis

สื่อสหรัฐฯ รายงานว่ารัสเซียขอสนับสนุนกำลังทหารและอาวุธจากจีนตั้งแต่ช่วงเริ่มบุกยูเครนเมื่อปลายเดือน ก.พ. ด้านจีนยังไม่ตอบโต้รายงานดังกล่าว แต่ชี้ว่าการให้ข่าวของสหรัฐฯ เป็น 'วาทกรรมโจมตีจีน' ขณะที่สภาคองเกรสของสหรัฐฯ รวมตัวกดดัน ‘โจ ไบเดน’ ให้ช่วยเหลือยูเครนมากกว่าการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ-ประธานาธิบดีเซเลนสกีขอให้สหรัฐฯ สั่งห้ามรัสเซียใช้น่านน้ำสากล

14 มี.ค. 2565 สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ (The Washington Post) และไฟแนนเชียลไทม์ส (Financial Times) รายงานโดยอ้างอิงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่ทางการสหรัฐฯ ที่ระบุว่ารัสเซียขอความช่วยเหลือด้านอาวุธและกำลังทหารจากจีนนับตั้งแต่เริ่มบุกยูเครนเมื่อ 3 สัปดาห์ก่อน แต่แหล่งข่าวไม่ได้อธิบายเพิ่มเติมว่าอาวุธที่ทางการรัสเซียขอจากจีนนั้นเป็นอาวุธชนิดใด และทางการจีนได้ตอบรับคำขอดังกล่าวหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวได้รับการยืนยันอีกครั้งจากเจค ซัลลิวาน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว ที่เดินทางไปยังกรุงโรม เมืองหลวงของอิตาลี เพื่อพบกับหยางจีฉือ (Yang Jiechi) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนในวันนี้ (14 มี.ค. 2565) โดยก่อนหน้านี้ ซัลลิวานโพสต์ข้อความผ่านทางดซเชียลมีเดียของเขาว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ได้ “สื่อสารโดยตรงอย่างเป็นส่วนตัวกับรัฐบาลจีนว่าจะมีผลกระทบที่ตามมาอย่างแน่นอน” หากจีนกระทำการใดๆ เพื่อช่วยเหลือรัสเซียให้รอดจากการคว่พบาตรทางเศรษฐกิจจากพันธมิตรชาติตะวันตก

“เราจะทำให้มั่นใจว่าจีนหรือประเทศใดก็ตามจะไม่ชดใช้ความเสียหายเหล่านี้แทนรัสเซีย” ซัลลิวานให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ NBC ของสหรัฐฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา “ส่วนวิธีการที่เฉพาะเจาะจในเรื่องนั้น ย้ำอีกครั้งว่าผมจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ แต่เราจะพูดคุยกันในทางลับกับรัฐบาลจีนตามที่เราได้ทำมาแล้วและจะทำต่อไป” เขากล่าวเพิ่มเติม

ก่อนหน้านี้ ซัลลิวานให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNN เช่นกันว่าฉากทัศน์เรื่องการช่วยเหลือรัสเซียของจีนนั้นเป็นเรื่อง “น่ากังวล”

“เรากำลังจับตามองอย่างใกล้ชิดว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนที่จีนจะช่วยเหลือรัสเซียจริงๆ ไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งด้านอุปกรณ์ที่จับต้องได้หรือด้านเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่เรากังวล และเราได้คุยกับรัฐบาลจีนแล้วว่าเราจะไม่สนับสนุนและไม่ยอมให้ประเทศใดก็ตามชดใช้แทนรัสเซียในเรื่องความเสียหายที่เกิดจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” ซัลลิวานกล่าว

ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของทางการสหรัฐฯ ระบุเพิ่มเติมว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียนั้นมีปริมาณค่อยๆ ลดลง

“หากจีนให้ความช่วยเหลือทางการทหารแก่รัสเซียไม่ว่ารูปแบบใดผลกระทบที่เหลือล้นจากนโยบายระหว่างสหรัฐฯ-จีนจะส่งผลในวงกว้าง” เอริค เซเยอร์ส อดีตที่ปรึกษาประจำหน่วยบัญชาการอินโดแปซิฟิกของสหรัฐฯ กล่าว “มันอาจจะทำให้วิถีทางการทำงานร่วมกับรัฐบาลจีนต้องจบลงในทันที ที่สำคัญยิ่งกว่านั้น มันอาจจะผลักให้รัฐบาลอเมริกันเร่งการกระทำเพื่อเอาคืนและถอยห่างด้านความสัมพันธ์กับรัฐบาลจีน รวมถึงสร้างแรงกดดันใหม่ให้กับบริษัทต่างๆ ที่ทำธุรกิจอยู่ในจีนขณะนี้” เขากล่าวเพิ่มเติม

ด้านสำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานว่าสถานเอกอัครราชทูตจีนในกรุงวอชิงตันระบุว่า “สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการทำให้มั่นใจว่าสถานการณ์ที่ตึงเครียดจะไม่ยกระดับหรือไปไกลเกินควบคุม” ขณะที่รายงานของเดอะวอชิงตันโพสต์อีกฉบับอ้างอิงคำพูดของหวังเหวิน นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเหรินมินในกรุงปักกิ่ง ที่ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ปักกิ่งเดลี (Beijing Daily) ซึ่งเป็นสื่อทางการของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยเขาอธิบายถึง “กับดักวาทกรรม 10 ประการ” ของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงความคิดที่ว่า “จีนดีใจที่เห็นสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนย่ำแย่ลงเรื่อยๆ” และการที่จีนส่งมอบอาวุธให้กับรัฐบาลรัสเซีย

“จีนตกเป็นประเด็นเรื่องการคานอำนาจทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯ มาอย่างนาวนาน และจีนเองก็เห็นใจรัสเซียอย่างยิ่งในเรื่องสถานการณ์ความมั่นคงที่ถูกคุกคาม” หวังเหวินกล่าว ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวของเดอะวอชิงตันโพสต์นั้นเกี่ยวกับความเห็นของชาวเน็ตจีนต่อการรายงานข่าวทางการจีนเรื่องรัสเซีย-ยูเครน

คองเกรสประสานเสียงกดดัน ‘ไบเดน’ ส่งอาวุธช่วยยูเครน

สำนักข่าว CNN เมื่อวันที่ 10 มี.ค. ที่ผ่านมาว่าสภาครองเกรสของสหรัฐฯ ส่งสัญญาณกดดันไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต่อกรณีการให้ความช่วยเหลือยูเครน โดยเฉพาะด้านอาวุธ หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐปฏิเสธการส่งเครื่องบินรบให้แก่ยูเครนผ่านฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ในเยอรมนี หวั่นเกิดการเผชิญหน้ากับรัสเซียจนทำให้สงครามในยูเครนบานปลาย อีกทั้งสภาคองเกรสยังไม่พอใจผลของนโยบายคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจรัสเซียตามที่ไบเดนประกาศ เพราะผ่านมาร่วม 3 สัปดาห์แล้วแต่ยังไม่มีทีท่าว่ารัสเซียจะหยุดรุกรานยูเครน

ในการประชุมคณะกรรมาธิการหลายสาขา สมาชิกสภาคองเคสของสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันรวมถึงพรรคเดโมแครตบางส่วนวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจของไบเดนที่ไม่ส่งเครื่องบินรบให้ยูเครนตามข้อเสนอของรัฐบาลโปแลนด์ สมาชิกวุฒิสภาประจำคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแสดงความไม่พอใจอย่างมากต่อการตัดสินใจครั้งนี้ พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดรัฐบาลอเมริกันจึงตัดสินใจเช่นนี้ หลังจากที่มีทีท่าสนับสนุนยูเครนในช่วงสัปดาห์ก่อนหน้า

CNN รายงานเพิ่มเติมว่าท่าทีของรัฐบาลสหรัฐฯ ต่อเรื่องการส่งเครื่องบินรบให้โปแลนด์เป็นการย้ำจุดยืนของสหรัฐฯ ในตอนแรกที่ระบุว่ากองทัพสหรัฐฯ จะไม่เข้าไปในยูเครน เพราะยูเครนไม่ใช่สมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต้ (NATO) และการทำเช่นนั้นจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดสงครามชายแดนระหว่างรัสเซียและพันธมิตรนาโต้

ส.ส.จากพรรครีพับลิกันคนหนึ่งบอกกับ CNN ว่าความคิดเห็นของสมาชิกสภาคองเกรสทั้ง 2 ฝ่ายค่อนข้างตรงกัน และการตัดสินใจเช่นนี้ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นระหว่างทำเนียบขาวและสภาคองเกรส ขณะที่แนนซี เพโลซี โฆษกสภาคองเกรสกล่าวในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า แม้เธอจะไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารแต่เธอก็หวังว่ารัฐบาลจะหาวิธีการช่วยเสริมกำลังทัพทางอากาศให้แก่ยูเครนได้

ถึงแม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะปฏิเสธข้อเสนอของรัฐบาลโปแลนด์ เพราะกังวลว่าการส่งอาวุธให้โปแลนด์จะสร้างเงื่อนไขให้รัสเซียสามารถเปิดฉากสงครามชายแดนกับพันธมิตรนาโต้ แต่เมื่อวานนี้ (13 มี.ค. 2565) สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งรายงานตรงกันว่ากองทัพรัสเซียเปิดโจมตีทางอากาศ ยิงขีปนาวุธมากกว่า 30 ลูกใส่ฐานทัพยูเครนซึ่งตั้งอยู่ทางตะวันตกของเมืองลวีฟและอยู่ห่างชายแดนโปแลนด์น้อยกว่า 25 กิโลเมตร การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้มีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย และมากกว่ามากกว่า 130 ราย โดยกระทรวงกลาโหมของรัสเซียออกมาประกาศว่าการโจมตีทางอากาศครั้งนี้เพื่อทำลายคลังอาวุธต่างชาติที่กองทัพยูเครนสะสมไว้ พร้อมระบุว่ากองทัพรัสเซียสามารถสังหารทหารรับจ้างในยุเครนได้ถึง 180 ราย โดยสำนักข่าวอัลจาซีรายืนยันว่าคำกล่าวของทั้งยูเครนและรัสเซียเป็นความจริง

ปธน.ยูเครนขอสหรัฐฯ คว่ำบาตรรัสเซียให้แรงกว่านี้

สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์รายงานวันนี้ (14 มี.ค. 2565) ว่าเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ดวโลดีมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครนขอให้ประธานาธิบดีไบเดนขยายมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่รัสเซีย โดยแหล่งข่าวระบุว่าเซเลนสกีกล่าวกับไบเดนระหว่างการสนทนาทางโทรศัพท์ว่าขอให้สหรัฐฯ กระทำการอื่นๆ มากกว่าการตัดรัสเซียออกจากการค้าโลกแบบที่ทำอยู่ เช่น เพิ่มรายชื่อเจ้าหน้ารัฐรัสเซียในลิสต์บุคคลที่ถูกคว่ำบาตร รวมถึงห้ามรัสเซียใช้เส้นทางน่านน้ำสากล

แม้ว่าจะไม่มีรายละเอียดออกมาว่ามาตรการการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจะเข้มข้นขึ้นหรือไม่ แต่เซเลนสกีทวีตข้อความหลังการพูดคุยกับไบเดน โดยระบุว่าเขาได้พูดคุยอย่างมีนัยสำคัญกับสภาครองเกรสเรื่องสงครามในยูเครนและอาชญากรรมที่รัสเซียกระทำต่อพลเรือนชาวยูเครน และยูเครนกับสหรัฐฯ ตกลงกันว่าจะสนับสนุนกันต่อไปอีกก้าวเพื่อการป้องกันประเทศ รวมถึงจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรแก่รัสเซีย ด้านโฆษกทำเนียบข่าวปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อทวีตดังกล่าวของประธานาธิบดียูเครน แต่ระบุสั้นๆ ในแถลงการณ์ว่าประธานาธิบดีไบเดนบอกกับประธานาธิบดีเซเลนสกีว่าสหรัฐฯ เน้นย้ำจุดยืนการสนับสนุนประชาชนชาวยูเครนตราบใดที่พวกเขายืนยันจะต่อสู้เพื่อปกป้องประเทศจากการรุกรานของรัสเซียที่ยั่วยุและไม่เป็นธรรม

แปลและเรียงเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net