Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผู้อ่านเมื่อเห็นชื่อหัวข้อบทความนี้อาจจะงงๆว่าเป็นไปได้หรือ เพราะขึ้นชื่อว่าประเทศสังคมนิยมย่อมที่จะจำกัดสิทธิทางการเมืองของประชาชนมากกว่าในฝ่ายเสรีประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ซึ่งผมขอเรียนว่าเป็นความเข้าใจที่ถูกต้องเป็นบางส่วนเท่านั้น เพราะการปกครองท้องถิ่นนั้น นอกเหนือจากมิติทางการเมืองแล้ว ยังมีมิติทางด้านอื่นอีกมาก อาทิ เศรษฐกิจ สังคม การเงิน การคลัง ส่วนแบ่งรายได้ ฯลฯ

แน่นอนว่าในด้านสิทธิทางการเมืองการปกครองทั่วไปของประเทศสังคมนิยมจะเป็นการปกครองที่เรียกว่าโคงสร้างขนานระหว่างพรรคกับรัฐ คือ พรรคคอมมิวนิสต์กับรัฐมีความสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น จนไม่สามารถแยกพรรคกับรัฐออกจากกันได้ เพราะผู้บริหารและสมาชิกสภาฯในทุกระดับต่างเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งเวียดนามก็เป็นเช่นนั้น

แต่เป็นที่น่าสนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่งว่าในการปกครองท้องถิ่นของเวียดนาม นั้น  การได้มาซึ่งผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่นจะผ่านการเลือกตั้งในรูปแบบที่รัฐสามารถควบคุมได้ คือ จัดให้มีการเลือกตั้งจริงในหน่วยการปกครองท้องถิ่นต่างๆ แต่ในการเลือกตั้งนั้นไม่มีการแข่งขัน ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคคอมมิวนิสต์ และต้องได้รับการรับรองจากพรรคคอมมิวนิสต์ก่อน จึงจะสามารถสมัครเข้าเป็นผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นได้

โครงสร้างการปกครองของเวียดนามนั้นน่าสนใจมาก เพราะมีแบ่งเป็น 2 ระดับ (two-tiered government system) คือ ราชการส่วนกลาง (central government) กับราชการส่วนท้องถิ่น (local government) เท่านั้น ซึ่งต่างจากของไทยที่มีราชการส่วนภูมิภาคด้วย การปกครองส่วนท้องถิ่นของเวียดนามแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ ระดับจังหวัด (provinces) ประกอบด้วย provincesและcities (under the central government) /ระดับเมือง (district) ประกอบด้วยcities (under provinces) ,urban disricts,towns และ rural districts/ระดับคอมมูน (commune) ประกอบด้วย wards,town districts และ communes ซึ่งจำนวนจังหวัดได้เพิ่มขึ้นจาก 40 จังหวัดในปี1986 เป็น 61 จังหวัดในปี1997 และ ล่าสุดเป็น 64 จังหวัดในปี 2004 (ข้อมูลจาก Vu Thanh Tu Anh : Vietnam –Decentralization Amidst Fragmentation)

หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการปกครองท้องถิ่นที่สำคัญ คือ สภาประชาชน/คณะกรรมการประชาชน/ศาลประชาชนและตัวแทนประชาชน ซึ่งสภาประชาชนและคณะกรรมการประชาชนมีอำนาจหน้าที่ในการร่วมตัดสินใจในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในท้องถิ่น เช่น ความปลอดภัยของท้องถิ่น ความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ศิลปะวัฒนธรรม กลุ่มชาติพันธุ์ ฯลฯ

สิ่งที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ ประเด็นเรื่องการจัดสรรงบประมาณหรือรายได้ระหว่างส่วนกลางกับท้องถิ่น ซึ่งเวียดนามมีกฎหมายงบประมาณของรัฐ (State Budget Law) ที่เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 1996 และแก้ไขล่าสุด ปี 2002 โดยกฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการแบ่งงบประมาณออกเป็นสองส่วนใหญ่คืองบประมาณส่วนกลางและงบประมาณส่วนท้องถิ่น

แหล่งที่มาของรายได้ของรัฐบาลกลางและท้องถิ่น (ข้อมูลปี 2002 จากนรุตม์ เจริญศรี : ระบบการปกครองท้องถิ่นประเทศประชาคมอาเซียน –ข้อมูลปี 2014 จากWorld bank )

งบประมาณส่วนกลาง – อากรจากการนำเข้าและส่งออก/ภาษีมูลค่าเพิ่มจากสินค้านำเข้า/ภาษีสรรพสามิตจาดสินค้านำเข้า/ภาษีเงินได้นิติบุคคล/ภาษีและรายได้อื่นๆจากน้ำมันดิบ/รายได้จากการให้กู้จากรัฐบาล (governmental lending) และผลการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากปัจจัยทุน (capital contributions) /ความช่วยหลือที่ไม่ได้รับคืน (non-Refundable Aids) สำหรับรัฐบาลกลาง/ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ (fees and charges) /รายได้ที่ไม่ได้ใช้จากปีงบประมาณก่อน ฯลฯ

งบประมาณท้องถิ่น – ภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดิน/ภาษีทรัพยากรธรรมชาติ (ยกเว้นน้ำมันดิบ) /ภาษีจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต (License Tax) /ภาษีการโอนที่/ภาษีการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร/ภาษีการใช้ที่ดิน/ภาษีการให้เช่าที่ดิน/รายได้จากการขายหรือการให้เช่าดำเนินงานของอาคารของรัฐ/ค่าจดทะเบียน/รายได้จากสลากกินแบ่ง/รายได้จากการให้ยืมและผลการขยายตัวของมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากปัจจัยทุน (capital contributions) /เงินให้กับท้องถิ่น/ค่าธรรมเนียมและค่าบริการ (fees and charges) /รายได้จากการใช้ที่ดินสาธารณะ/รายได้จากธุรกิจและส่วนบุคคล/รายได้ที่ไม่ได้ใช้จากปีงบประมาณก่อน/รายได้จากรัฐบาลกลาง/การบริจาคจากคนในท้องถิ่นเพื่อนำไปก่อสร้างสาธารณูปโภค/การบริจาคตามความสมัครใจ ฯลฯ

งบประมาณร่วมกันระหว่างส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น – ภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้า (ยกเว้นสินค้านำเข้า) /ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ยกเว้นจากเงินรายได้ที่ไม่สามารถระบุได้ว่ามาจากพื้นที่ใด เช่น ไปรษณีย์ โทรคมนาคม ไฟฟ้า เป็นต้น) /ภาษีการโอนกำไรกลับประเทศ (Profit Remittance Tax) /ค่าธรรมเนียมปิโตรเลียม ฯลฯ ที่น่าสนใจและน่าผลักดันให้มาใช้ในประเทศไทยก็คือ ภาษีรายได้ส่วนบุคคล (Personal Income Tax) ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไทยยังไม่มีส่วนแบ่งในภาษีนี้แต่อย่างใด

การปกครองท้องถิ่นเวียดนามก้าวหน้ากว่าไทยหรือไม่

การที่จะกล่าวว่าใครก้าวหน้าหรือล้าหลังกว่าใคร นั้น คงต้องนำปัจจัยหลายอย่างมาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในที่นี้ผมจะขอนำมาเปรียบเทียบใน 3 ประเด็นคือ คน งาน และเงิน

คน – การได้มาซึ่งผู้บริหารและสมาชิกสภาฯของเวียดนามนั้น ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งอย่างแท้จริง เพราะต้องผ่านการคัดเลือกจากพรรคคอมมิวนิสต์มาก่อน และการเลือกตั้งเป็นเพียงการให้การรับรองเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับของไทยแล้วจะชั่วจะดี ก็ยังมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แม้ว่าจะข้อกังขาเรื่องบ้านเล็กบ้านใหญ่ การซื้อสิทธิขายเสียง ฯลฯ

งาน – เรื่องของงานหรืออำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองท้องถิ่นเวียดนามนั้นเหนือกว่าไทยอย่างเห็นได้ชัด เพราะทำได้แทบทุกเรื่องที่อยู่ในท้องถิ่น แม้กระทั่งการรักษาความปลอดภัยหรือความมั่นคงในพื้นที่  แต่ของไทยนั้นทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎหมายจัดตั้งฯและกฎหมายแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯเท่านั้น นอกเหนือจากนั้นไม่สามารถทำได้ ที่แย่กว่านั้นคือแม้ว่าจะบัญญัติไว้ว่าทำได้ หากหน่วยงานอื่นทำแล้วท้องถิ่นก็ทำไม่ได้อีก เว้นแต่จะเป็นการทำเสริมโดยต้องแจ้งให้หน่วยงานนั้นก่อนว่าจะให้ทำหรือไม่

เงิน – ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าเวียดนามก้าวหน้ากว่าอย่างมาก มีกฎหมายกำหนดรายได้และงบประมาณชัดเจน และมีที่มาของรายได้จากหลายแหล่ง เช่น ภาษีรายได้ส่วนบุคคลที่มีส่วนแบ่งกับส่วนกลาง (ไทยไม่มี) ฯลฯ  แต่ของไทยมีรายได้น้อยมาก มีส่วนแบ่งรายได้จากงบประมาณแผ่นดินไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ (ซึ่งเป็นงบฝากจ่ายเสียเป็นส่วนใหญ่ เป็นของท้องถิ่นจริงๆประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น) และงบประมาณปี 2566 ที่จะถึงนี้ยังตัดงบอุดหนุนอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ออกไป 12,000 ล้านไปตั้งไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขโดยไม่คืนวงเงินให้แก่ท้องถิ่นแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมาทั้งหมดคงพอสรุปได้แล้วนะครับว่าใครก้าวหน้ากว่าใคร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net