เดือนแห่งการรำลึก เชียงใหม่จัดงานดนตรี 5 ปี ‘ชัยภูมิ ป่าแส’

เดือนแห่งการรำลึก เชียงใหม่จัดงานดนตรีรำลึก 5 ปี วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ป่าแส (วันที่ 17 มี.ค. 2560) เครือข่ายเรียกร้องให้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดในที่เกิดเหตุ ขณะที่ครอบครัวเตรียมยื่นฎีกาต่อศาล ขอให้กองทัพบกเยียวยาความเสียหายจากการกระทำวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส

21 มี.ค. 2565 เมื่อวันที่ 19 มี.ค. ที่ผ่านมากลุ่มดินสอสีและเครือข่ายจัดคอนเสิร์ต Dawˇ nawˇ ve awˬ veˆ , Veˆ la pi-oˆ (ด้อ น้อ เว อ่อ เวะ เวะ ลา ปีโอ๊ะ) ดอกความคิดถึง จงเบ่งบาน ขึ้นที่ร้าน Slope เชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึงการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ เมื่อ 5 ปีที่แล้ว (17 มี.ค. 2560)

ชัยภูมิ ป่าแส ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวง ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลจากบ้านของเขายิงเสียชีวิต โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ก่อเหตุกล่าวอ้างว่าพบห่อยาเสพติดจำนวน 2,800 เม็ด ซุกซ่อนในรถที่ชัยภูมิขับมา และชัยภูมิได้ขัดขืนการจับกุมและควักระเบิดจะขว้างใส่เจ้าหน้าที่ ทำให้เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการวิสามัญฆาตกรรมชัยภูมิ ป่าแส จนเสียชีวิตคาที อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของชัยภูมิ ป่าแส ก่อให้เกิดการตั้งคำถามที่การกระทำของเจ้าหน้าที่บริเวณด่าน หลายฝ่ายทั้งครอบครัวแลเครือข่ายนักกิจกรรมที่ไม่เชื่อว่าชัยภูมิจะขนยาเสพติดตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้างจึงได้พยายามเรียกร้องความยุติธรรมให้กับการตายของชัยภูมิ ป่าแส

ชัยภูมิเป็นแกนหลักในการฟื้นฟูและนำเอาการเต้นแจโก่ของคนลาหู่ กลับมาให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้แสดงและบอกเล่าตัวตนในการขับเคลื่อนกิจกรรมสร้างสรรค์ของเยาวชนชนเผ่าร่วมกับเยาวชนต้นกล้าชนเผ่าพื้นเมืองทั่วประเทศ

ภายในงานคอนเสิร์ต Dawˇ nawˇ ve awˬ veˆ , Veˆ la pi-oˆ (ด้อ น้อ เว อ่อ เวะ เวะ ลา ปีโอ๊ะ) ดอกความคิดถึง จงเบ่งบาน มีการแสดงดนตรีจากสุดสะแนน, Klee Bho Ribbindasky, Bluebackrain&Doctoe Ken และ Soulfeed รวมไปถึง Solo Performance "Sending" จากลานยิ้มการละครที่ชวนผู้ร่วมงานเขียนจดหมายถึงชัยภูมิ ป่าแส และ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ

 

เพื่อนร่วมกล่าวรำลึกถึงชัยภูมิ ป่าแส

พชร คำชำนาญ จากภาคี save บางกลอย

พชร คำชำนาญ จากภาคี save บางกลอย จากชัยภูมิถึงบางกลอย ได้กล่าว วันนี้เราทุกคนพยายามจะรำลึกและพูดถึงความฝันของชัยภูมิ ป่าแส ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกวิสามัญฆาตกรรมที่ด่านบ้านรินหลวง เช่นเดียวกับบิลลี่ พอละจีที่เสียชีวิตจากการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของตนเองและชุมชน ด่านที่พี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเจอมี 2 ด่านใหญ่ด้วยกัน  

ด่านแรกคือ อคติที่จำกัดและกีดกันพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์จากการเข้าถึงโอกาสในการสิทธิในการเป็นพลเมืองคนหนึ่ง ซึ่งรัฐยังมีความเข้าใจคาดเคลื่อนเกี่ยวกับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ 3 อย่างด้วยกัน หนึ่ง คนกลุ่มชาติพันธุ์ถูกตีตราว่าไม่ใช่คนไทย เพราะอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนและเป็นภัยความมั่นคง สอง คนชาติพันธุ์มักถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับยาเสพติด สาม กลุ่มชาติพันธุ์ยังคงถูกมองเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านทรัพยากรของคนทั้งประเทศ

ด่านที่สองมาจากรัฐบาลและบรรยากาศทางการเมืองที่เป็นเผด็จการ บิลลี่ พอละจีถูกอุ้มหายในพ.ศ. 2557 ส่วนชัยภูมิ ป่าแส ถูกวิสามัญฆาตกรรมเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2560 ทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2557 ของ คสช. เป็นบรรยากาศทางการเมืองที่ทำให้เกิดการใช้ความรุนแรงและออกกฎหมายกระทบต่อพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์

ทั้ง 2 ด่านนี้เป็นด่านที่ภาคี save บางกลอย ต้องการที่จะทำให้คนกลุ่มชาติพันธุ์ทะลุไปให้ได้

ปรานม สมวงศ์ จากองค์กร Protection international

ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection international กล่าวว่า การถูกวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายต้องมีการไต่สวนการตายเกิดขึ้น ครอบครัวของชัยภูมิได้ขอให้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไต่สวนการตาย โดยหวังว่าศาลจะชี้ให้เห็นว่าเป็นการวิสามัญฆาตกรรมโดยเจ้าหน้าที่หรือไม่ หรืออย่างน้อยศาลจะตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มิได้พิเคราะห์ชี้ขาดทั้งสองประเด็น

ขณะนี้ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส ได้ดำเนินการฟ้องกองทัพบกเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่เจ้าหน้าที่ทหารของกองทัพบกทำให้ชัยภูมิ ป่าแส เสียชีวิต ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ผ่านมาศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินยกคำฟ้องของทางครอบครัว ศาลชี้ว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ถือเป็นการป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมาย กองทัพบกจึงไม่จำเป็นต้องรับผิดค่าเสียหายใดต่อกรณีที่เกิดขึ้น ครอบครัวของชัยภูมิและทางเครือข่ายมีความเห็นแย้งกับศาลในหลายประเด็น ทั้งเรื่องกล้องวงจรปิด หลายครั้งที่ครอบครัวเรียกร้องให้เปิดกล้องวงจรปิด เนื่องจากเป็นพยานหลักฐานที่เป็นประโยชน์ต่อคดี

ปรานมยืนยันว่า ขั้นตอนล่าสุดทางกฎหมายกองทัพบกได้ทำสำเนาภาพจากกล้องวงจรปิดไว้ แต่ในกระบวนการยุติธรรมศาลกลับมิได้เรียกภาพจากกล้องวงจรปิดมาเป็นพยานหลักฐาน และในพยานวัตถุบนหีบห่อยาเสพติดของกลางไม่มีลายมือของชัยภูมิ ป่าแส อยู่ในนั้น ส่วนประเด็นระเบิดที่เจ้าหน้าที่บอกว่าชัยภูมิกำลังจะถอดสลัก ปรากฏว่าระบิดยังมิได้มีการถอดสลักแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ครอบครัวของชัยภูมิ ป่าแส กำลังขอยื่นฎีกาในเรื่องเยียวยาความเสียหายจากกองทัพบกต่อศาล จึงอยากขอให้สังคมช่วยติดตามประเด็นนี้ต่อไปว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาออกมาเช่นไร

พรสุข เกิดสว่าง จากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน

ก่อนจบงานมีการฉายหนังสั้น “จะโบแปลว่าผู้มีวาสนา” ที่ชัยภูมิ ป่าแส เคยร่วมแสดงและร่วมทำงานด้วย พรสุข เกิดสว่าง ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดนที่เคยร่วมงานกับชัยภูมิได้กล่าวว่า การที่เพื่อนของเราจากไป ภารกิจหลังจากนั้นคือการสานต่อปณิธาน ความฝัน ความหวังของเขา หรือสืบทอดงานที่เขาเคยทำสำเร็จไว้แล้ว แต่เวลาที่เพื่อนเราจากไปอย่างไม่เป็นธรรมภารกิจของเราย่อมต้องมากกว่านั้น เรายังต้องแสวงหาความยุติธรรมจากการที่ชัยภูมิและบิลลี่จากไป แม้ว่ายังทำไม่สำเร็จ แต่การต่อสู้ไม่ใช่แค่ในศาล เรายังต้องต่อสู้กับความบิดเบี้ยวของกฎหมายและสังคมที่คนบางกลุ่มมีอำนาจมากจนสามารถทำให้คนบางคนหลายไป เหลือแค่เพียงกระดูกมนุษย์ชิ้นเล็กๆ หรือมีอำนาจจนทำให้ภาพจากกล้องวงจรปิดหายไปราวกับไม่เคยมี และการเสียชีวิตอย่างไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทั้งสองกรณี ยังไม่สามารถเอาผิดใครได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท