Skip to main content
sharethis

“สมชาย ปรีชาศิลปกุล” มองความตายของทหารเกณฑ์ 'วรปรัชญ์' วัย 18 ปี จากการถูก 'ซ่อมวินัย' สะท้อนให้เห็นว่า กองทัพ “ไม่หือไม่อือ” กับความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในค่ายทหาร ระบุ ทหารเกณฑ์ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานชาวบ้านธรรมดาเป็น “กลุ่มคนที่เสียงไม่ดัง” ต่อให้กองทัพหรือครูฝึกปฏิบัติต่อพลทหารแย่เช่นไร ปีหน้าก็มีคนเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์อีก ตราบใดยังไม่มีการแก้ไขระบบการเกณฑ์ทหาร

 

16. ส.ค. 2567 หลังมีข่าว ทหารเกณฑ์ 'วรปรัชญ์ พัดมาสกุล' อายุ 18 ปี ถูกครูฝึกค่ายนวมินทร์ จ.ชลบุรี 'ซ่อมวินัย' เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 ส.ค. ผ่านมา หลังเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้ไม่ถึง 3 เดือน โดยแพทย์ระบุว่า ทหารเกณฑ์วรปรัชญ์เสียชีวิตจากอาการสมองบวม ซีโครงหักทั้ง 2 ข้าง ปอดฉีก ปอดรั่ว ไหปลาร้าหัก และกระดูกสันหลังหัก

ประชาไทชวน “สมชาย ปรีชาศิลปกุล” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งทำงานวิจัยเรื่อง “วิสามัญมรณะ” ความตายของสามัญชนที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง มามองความตายซ้ำแล้วซ้ำเล่าของ “ทหารเกณฑ์” ในค่ายทหารปรากฎการณ์นี้สะท้อนปัญหาอะไรในระบบการเกณฑ์ทหารของไทย

สมชายมองว่าความตายในค่ายทหารที่เกิดขึ้นต่อทหารเกณฑ์วรปรัชญ์ว่า เป็นความตายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหตุการณ์ที่เป็นข่าวก็จะมีการดำเนินการอะไรขึ้นมา ธำรงวินัยหรือการซ่อมเป็นเหตุทำให้ทหารเกณฑ์หลายคนบาดเจ็บไปจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่เป็นข่าว

“เมื่อ 2-3 วันก่อนก็มีข่าวที่มีทหารเกณฑ์ถูกซ่อม ผลปรากฏว่าถูกซ่อมอย่างรุนแรง พอเป็นข่าวออกมา ก็มีข่าวคราวเพียงว่าผู้บังคับบัญชาจะลงโทษสั่งกักขังครูฝึก อันนี้ผมคิดว่าจะทำให้สิ่งที่เรียกว่า “การทำร้าย” ไม่ว่าจะโดยแตะเนื้อต้องตัวหรือไม่ จะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังไม่มีความจริงจังในการป้องกัน” สมชาย กล่าว

โดยสมชายเสนอว่า มี 2 ส่วนที่ต้องคำนึกถึงคือ การป้องกันและการทำให้เกิดความรับผิดชอบเกิดขึ้นอย่างจริงจังต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ที่ถูกกระทำ ตราบใดที่ยังไม่มีการทำให้เกิดความรับผิดอย่างจริงจังปรากฏการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทหารเกณฑ์

“ทหารเกณฑ์เป็นกลุ่มคนที่มักจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น และถ้าจริงๆ ผมคิดว่านี่คือ “กลุ่มคนที่เสียงไม่ดัง” เพราะว่าส่วนใหญ่จะเป็นลูกชาวบ้าน ถ้าเป็นลูกหลานชนชั้นกลางหรือลูกหลานคนที่พอมีฐานะส่วนใหญ่ก็จะหนีทหารด้วยการเรียน รด. หรือถ้าเป็นคนดังหน่อยคุณก็หนีทหารด้วยการเป็นโรคหืดหอบ เพราะฉะนั้นก็จะเหลือคนจำนวนหนึ่งคือลูกหลานของชาวบ้านธรรมดาๆ ทั่วไป และมักจะถูกดำเนินการถูกปฏิบัติอย่างที่เป็นข่าวขึ้น คนพวกนี้ผมคิดว่าเสียงไม่ดังคือหมายความว่าพอเวลาเกิดเหตุขึ้นเสียงไม่ดัง จะมีบางกรณีที่เสียงดังจึงค่อยมีการดำเนินการกันอย่างจริงจัง” สมชาย กล่าว

ทหารเกณฑ์

ทหารเกณฑ์ 'วรปรัชญ์ พัดมาสกุล' 

ขณะที่ในแง่ของการป้องกันแม้ว่าจะความพยายามในการปรับมาตรการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ระบุว่า ห้ามมีการแตะเนื้อต้องตัวทหารเกณฑ์หรือผู้อยู่ภายใต้บังคับบัญชา สมชายระบุว่า ในความเป็นจริงเหตุการณ์ทหารเกณฑ์ถูกธำรงวินัยหรือถูกซ่อมก็ยังคงมีให้เห็น

“เอาเข้าจริงก็ยังมีอยู่และเวลาเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอาจจะบาดเจ็บหรือล้มตาย สิ่งที่เรียกว่าความรับผิดชอบก็มีอยู่เบาบางมาก อาจจะมีเฉพาะในบางเหตุการณ์เท่านั้น ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ทำให้เห็นว่ามีความรับผิดชอบเกิดขึ้นอย่างจริงจัง” สมชาย กล่าว

 

คลิปสั้น  

 

 คลิปสัมภาษณ์เต็ม

สมชายระบุว่า ความตายของทหารเกณฑ์ในค่ายทหารเช่นนี้ ส่วนใหญ่ในความเป็นจริงความรับผิดของตัวผู้กระทำผิดจะออกมาอย่างน้อยๆ ใน 2 แนวทางด้วยกัน แบบแรกคือความรับผิดทางอาญา ซึ่งเป็นความรับผิดที่ทำให้คนตาย

มันจะมีความรับผิดอย่างน้อยๆใน 2 แบบด้วยกันแบบแรกคือความรับผิดทางอาญาคือหมายความว่าเป็นความรับผิดฐานที่ทำให้คนตาย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ความตายในค่ายทหารเป็นคดีที่ต้องขึ้นศาลทหารและเอาผิดต่อตัวผู้กระทำได้ยากมาก

“สมมุติว่าผู้คุม ผู้บังคับบัญชา ทำให้คนตาย เป็นความรับผิดทางอาญา ซึ่งความรับผิดทางอาญาเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะว่าในกรณีที่เกิดการตายแบบนี้ขึ้น ก่อนหน้านี้ (ทางกฎหมาย) เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐจะเป็นผู้ดำเนินการ ตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ และก็ส่งให้อัยการ แล้วก็ไปขึ้นศาลทหาร เราจะพบว่าก่อนหน้าที่จะมีพระราชบัญญัติซ้อมทรมานฯ เจ้าทุกข์ไม่สามารถฟ้องร้องคดีด้วยตนเองได้ จึงมีเรื่องของตำรวจและการขึ้นศาลทหาร ซึ่งหมายความว่าถ้าเกิดทางเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการอย่างจริงจัง เราจะพบว่าหลายคดีแทบไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นหรือมีผลการดำเนินการต่ออย่างไร” สมชาย กล่าว

สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สมชายยกตัวอย่างกรณีการเสียชีวิตของภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย นักเรียนเตรียมทหารที่เสียชีวิตเมื่อปี 2560 ขณะฝึกในค่ายทหารเช่นกัน โดยที่อวัยวะภายในของศพคือ หัวใจ กระเพาะอาหาร และสมอง หายไปทั้งหมด “ผมเคยสอบถามญาติของผู้เสียหายไปเมื่อ 2 ปีก่อน เขาบอกว่าเขาก็ไม่รู้ว่าคดีตอนนี้ถึงไหน คือหมายความว่ามันไม่มีความคืบหน้าอะไรให้เห็นเลย ในทางอาญาน้อยมากที่จะเกิดความรับผิดเกิดขึ้น”

น้องเมย หรือ ภคพงศ์ ตัญกาจน์ ภาพตอนเป็นนักเรียนเตรียมทหาร

รวมไปถึงกรณีของชัยภูมิ ป่าแส นักกิจกรรมเยาวชนชาวลาหู่ ที่ถูกเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณด่านบ้านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยิงเสียชีวิต ในทางอาญาก็ไม่สามารถทำให้เกิดความรับผิดได้

ส่วนความรับผิดอีกทางหนึ่งคือความรับผิดทางแพ่ง การเรียกร้องค่าเสียหายในทางละเมิด ในคดีของชัยภูมิ ป่าแส ทางครอบครัวมีการมีการยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง ทางศาลฎีกาได้ตัดสินให้มีการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากการละเมิดให้แก่ครอบครัวของชัยภูมิ 2 ล้านบาท ซึ่งสมชายระบุว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย ในการดำเนินคดีไม่ใช่เรื่องง่าย และในแง่ของพยานหลักฐานในคดีทหารเกณฑ์เสียชีวิตหรือคนที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการถึงแก่ความตายหรือบาดเจ็บ ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในสถานที่ปิด เช่น ค่ายทหาร ฯลฯ ที่การหาพยานหลักฐานไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากพยานหลักฐานอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กล้องวงจร ฯลฯ ยิ่งถ้าเกิดผู้บังคับบัญชาเป็นคนกระทำผิดโอกาสในการเข้าถึงพยานหลักฐานยิ่งยากขึ้น

“คำถามคือว่าเพื่อนทหารเกณฑ์ที่เห็นเหตุการณ์จะกล้ามาให้ปากคำปรักปรำครูฝึกว่าเป็นคนกระทำกระนั้นหรือ บางคดีที่ผมไปสังเกตการณ์ตอนเกิดเหตุเขาอาจจะบอกว่าเห็น แต่ว่าพอหลังจากนั้นเช่นต้องไปเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม จะพบว่าพยานก็จะเริ่มให้ปากคำที่แตกต่างออกไปจากภายหลังเหตุการณ์ เพราะฉะนั้นในแง่นี้พยานหลักฐานในคดีพวกนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย” สมชาย กล่าว

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

ชัยภูมิ ป่าแส

ประเด็นต่อมาที่สมชายชวนให้คิดตามคือ ค่าเสียหายที่กองทัพต้องชดใช้ให้แก่ครอบครัวของเหยื่อ เงินส่วนนี้มาจาไหน

“ในคดีของชัยภูมิ ป่าแส สุดท้ายศาลฎีกาเป็นคนสั่งให้ชดใช้กองทัพบกชดใช้ประมาณ 2 ล้านบาท คำถามคือว่า 2 ล้านบาทเนี่ยเงินใคร เงินภาษีประชาชนนะครับ แปลว่าการตายที่เกิดขึ้นภายในความรับผิดของทหาร พวกเราทั้งหลายคือพวกที่ไปร่วมกันจ่ายเยียวยา ถามว่าอันนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ ผมคิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง” สมชาย กล่าว

สมชายระบุว่า ในกรณีเช่นนี้เท่ากับว่าบทลงโทษในทางแพ่งลงโทษกับประชาชนที่เสียภาษีแทน และการชดเชยเยียวยา 2 ล้านบาท แลกกับการสูญ 1 ชีวิต เป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่า

“แม้ว่าจะมีการจ่ายเยียวยาให้ 2 ล้านบาท ผมคิดว่าถามว่าสำหรับชีวิตหนึ่งเป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ 17 - 18 ปี สูญเสียชีวิตไป และได้รับการเยียวยา 2 ล้านบาท คุ้มหรือเปล่า มันคุ้มหรอกับชีวิตหนึ่งด้วยเงิน 2 ล้านบาท” สมชาย กล่าว

นอกจากนี้ สมชายมองว่ายังมีปัญหาในแง่ของกระบวนการทางกฎหมายในการคำนวณค่าชดเชย “คนรวยตายจ่ายเยอะ คนจนตายจ่ายน้อย” คิดถึงคุณค่าของชีวิตคนในระบบกฎหมายไทยยังมีความไม่เป็นอยู่มาก

“ถ้าคนรวยตายจ่ายเยอะ คนจนตายจ่ายน้อย คนรวยคนจนในที่นี้หมายถึงความสามารถในการหารายได้ เช่นถ้าผู้พิพากษาถูกยิงตาย เขาก็จะคำนวณว่าผู้พิพากษาคนนั้นเงินเดือนเท่าไหร่ เช่นเงินเดือน 80,000 บาท ก็จะเอา 80,000 บาท เลื่อนไปเรื่อยๆ จนถึงอายุ 60 หรือ 65 ปี นั่นคือรายได้ที่หาได้ แต่ถ้าเกิดเป็นชาวบ้านที่มีรายได้ไม่ชัดเจน ไม่มีเงินเดือน เขาก็จะคำนวณให้เดือนละ 4,000 บาท 5,000 บาท ผมคิดว่านี่เป็นการคำนวณที่ไม่เป็นธรรม ต่อให้มีการเยียวยาเกิดขึ้น ผมคิดว่าวิธีการในการคิดถึงคุณค่าของชีวิต ผมคิดว่าแบบที่เป็นอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของไทยอันนี้ไม่เข้าท่าและไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง” สมชาย กล่าว

ส่วนประเด็นที่คดีความตายในค่ายทหารหรือในความดูแลของเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลานาน สมชายมีความคิดเห็นว่า บางคดีผู้ถูกกล่าวหาตายไปก่อนตัดสินคดีก็มี คดีที่สามารถเป็นตัวอย่างของกระบวนการยุติธรรมที่ยาวนานได้ดีคือคดีของ “พลทหารวิเชียร เผือกสม” ซึ่งใช้ระยะเวลาในการสู้คดีจนกระทั่งตัดสินรวมทั้งหมด 12 ปี นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์

“12 ปี เป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก ซึ่งภายใต้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก หมายความว่าพยานหลักฐานต่างๆ ก็อาจจะถูกทำให้อ่อนแรงอ่อนน้ำหนักลงได้ เช่นคนที่มาเบิกความเรื่องเหตุการณ์ คนที่มาเป็นพยาน หรือแม้กระทั่งหลักฐานทั้งหมด เป็นปัญหามาก เพราะฉะนั้นหลายคดีเราจะพบว่าใช้เวลายาวนานมากและยิ่งยาวนานขึ้นจริงๆ นักเรียนกฎหมายเราก็รู้กันดีว่าว่าความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความอยุติธรรม หรือความยุติธรรมที่ถูกปฏิเสธ” สมชาย กล่าว

สุดท้ายเมื่อถามว่าควรมีการยกเลิกการเกฑณ์ทหารหรือปฏิรูปกองทัพหรือไม่ สมชายมองว่า ในหลายประเทศก็มีกองทัพ มีทหารเกณฑ์ แต่ว่าหลายประเทศหันมาใช้การเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจแทน ในแง่หนึ่งวิธีการนี้จะทำให้กองทัพต้องปรับตัว ปรับสวัสดิการ ความปลอดภัย ความมั่นคง หรือความเจริญก้าวหน้าให้มากขึ้น ถ้ายังอยากให้มีคนมาสมัครเกณฑ์ทหารในแต่ละปี

“ผมคิดว่าที่กองทัพก็ไม่หือไม่อือกับเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะกองทัพรู้ว่าเดี๋ยวปีหน้าเราก็สามารถเกณฑ์คนมาได้อีก ยกเว้นลูกหลานชนชั้นกลางซึ่งหนีทหารด้วยการเรียน รด. ยังไงเราก็เกณฑ์คนมาได้อยู่แล้ว เราเกณฑ์คนมาได้ปีละหลายหมื่นคน ใครหนีทหารไปก็ถูกจับ ถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นต่อให้พวกเราปฏิบัติต่อพลทหารเฮงซวยยังไง เดี๋ยวปีหน้าก็มีคนเข้ามาเป็นทหารเกณฑ์อีกนั่นแหละ” สมชาย กล่าว

ในแง่นี้ข้อเสนอเรื่องการเกณฑ์ทหารโดยความสมัครใจจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เนื่องจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแรงกดดันจากสังคมที่ทำให้กองทัพต้องปรับตัว ต้องโปร่งใส ซึ่งจะทำให้เรื่องที่มีทหารเกณฑ์ถูกซ้อมตาย ทหารได้กินแต่ผักต้ม หรือไปเป็นทหารเกณฑ์แต่กลับบ้านได้ ทิ้งบัตร ATM ไว้ที่ค่ายทหารก็พอ เรื่องทำนองจะเกิดขึ้นน้อยลง รวมไปถึงการซ่อมหรือการธำรงวินัยที่ใช้ความรุนแรงกับทหารเกณฑ์ โดยไม่มีความรับผิดชอบ เพราะกองทัพต้องปรับตัว

“ความรับผิดที่เกิดขึ้นที่ผ่านมา ก็จะเป็นความรับผิดเฉพาะผู้คุมที่เป็นคนลงมือกระทำ ไม่มีผู้บังคับบัญชาคนไหนเคยถูกลงโทษ กรณีเช่นผู้คุมไปซ้อมทหารเกณฑ์จนตาย คนที่ถูกลงโทษคือผู้คุมคนนั้นที่ลงมือ แต่คนที่เป็นเจ้ากรม คนที่เป็นระดับผู้บังคับบัญชาไม่เคยมีใครถูกลงโทษ เพราะฉะนั้นก็เลยเป็นเรื่องที่จะยังคงเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ” สมชาย กล่าว

สมชายเสนอให้คิดถึงการระบบทหารเกณฑ์แบบสมัครใจเพิ่มมากขึ้น และต้องเรียกร้องกับพรรคการเมืองที่รับผิดชอบเกี่ยวกับกระทรวงกลาโหมให้มากขึ้น เป็นกิจจะลักษณะ และมีแผนในการดำเนินการอย่างจริงจัง

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net