Skip to main content
sharethis

สถาปนิกชาวอังกฤษและนักข่าวด้านภาพและวารศาสตร์ข้อมูลเผยวิธีการเปิดโปงคำโกหกของรัฐบาลด้วยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและโดรน เพราะการมองจากมุมสูงด้วยเทคโนโลยีไม่อาจหลอกสายตาประชาชนได้

ที่มา: Kata Máthé/Remarker
 

บางทีเทคนิคการสืบสวนที่ยอดเยี่ยมที่สุดที่ถูกพัฒนาขึ้นในปีนี้เห็นจะเป็นการใช้การเซ็นเซอร์เพื่อเปิดเผยศูนย์กักกันชาวอุยกูร์ที่เป็นเครือข่ายลับของจีน

เอลิสัน คิลลิง (Alison Killing) สถาปนิกชาวอังกฤษ กล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุม Global Investigative Journalism Conference ครั้งที่ 12 (#GIJC21) ถึงวิธีการใช้แพลตฟอร์มภาพถ่ายดาวเทียมที่ถูกควบคุมโดยรัฐ โดยเผยวิธีว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้สามารถเปิดเผยสถานที่เป็นความลับได้อย่างไร หลายเดือนก่อนหน้านี้ คิลลิงและเพื่อนร่วมงานสองคนจาก BuzzFeed News เพิ่งได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ สำหรับผลงานในการเปิดเผยสถานที่ ซึ่งมีรายงานว่ามีชาวมุสลิมประมาณหนึ่งล้านคนถูกจองจำเพราะการนับถือศาสนา

ที่มาภาพ: อ้างใน GIJN
 

คิลลิงให้เหตุผลว่าการสอบสวนจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์เชิงพื้นที่คือ “เพราะแหล่งข่าวที่คุณทำงานด้วย อาจถูกส่งไปยังหนึ่งในค่ายเหล่านี้”

นี่เป็นเพียงหนึ่งในแนวทางใหม่ๆ ในการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมและโดรนที่อธิบายไว้ในการประชุม “การสืบสวนด้วยการทำแผนที่และภาพถ่ายดาวเทียม” ซึ่งวิทยากร 3 คนอธิบายว่าเครื่องมือโอเพนซอร์สสามารถใช้เพื่อจับโกหกจากฟากฟ้าได้อย่างไร (ดูคู่มือของ GIJN เกี่ยวกับแหล่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ที่นี่)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

หากผู้ถูกคุมขังชาวอุยกูร์ของจีนถูกซ่อนไว้ ผู้อยู่อาศัยในสลัมมาโกโกของไนจีเรียจะไม่ปรากฏสู่สายตาผู้กำหนดนโยบาย เพราะชุมชนทั้งหมดของพวกเขาสร้างขึ้นบนทะเลสาบใกล้เมืองลากอส (Lagos) เมืองหลวงเก่าของประเทศไนจีเรีย ซึ่งไม่ได้ถูกแสดงบนแผนทางการใดๆ

ด้าน จอห์น เอโรโมเซล (John Eromosele) ผู้จัดการโครงการ Code for Africa องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานด้านข้อมูลสาธารณะ กล่าวว่า โดรนทางอากาศ เครื่องมือโอเพนซอร์ส และการทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันกับคนในท้องถิ่นเป็นส่วนผสมหลักในการเปิดเผยชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้กับทะเลสาบลากอสครั้งนี้ ซึ่งไม่ได้เชื่อมกับระบบสาธารณูปโภคของทางการ เช่นไฟฟ้า น้ำประปา หรือแม้แต่ชื่อถนน เพราะชุมชนของพวกเขาถูกปฏิเสธการมองเห็นจากทางการ

“เราไม่ได้เพียงแค่นำความรู้ทางเทคนิคไปใช้ในโครงการมาโกโกแมปปิ้ง (Mapping Mokoko) เท่านั้น เราสอนวิธีการเหล่านี้ให้คนในชุมชน พวกเขาเรียนรู้และเป็นคนขับโดรนและทำแผนที่” เอโรโมเซลกล่าว “เราทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ด้านการศึกษาในท้องถิ่นเพื่อให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม เพราะโครงการข้อมูลใดๆ ที่อิงตามชุมชนจะต้องให้ความสำคัญกับผู้คนเป็นศูนย์กลาง เราใช้โดรนและทีมภาคพื้นดินพร้อมชุดเครื่องมือข้อมูลเฉพาะ”

เป็นที่แน่นอนว่ารัฐบาลในบางประเทศยังคงโกหกหรือพยายามปกปิดการทารุณกรรมที่มีขนาดใหญ่จนไม่สามารถปกปิดได้ เช่น ควันไฟขนาดมหึมาที่พวยพุ่งจากเหตุไฟป่าที่สร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อป่าแอมะซอนของบราซิลในปี 2019 แต่จาอีร์ บอลโซนาโร ประธานาธิบดีบราซิล ออกมาปฏิเสธขนาดของการเผาไหม้ในปี 2020 และโยนความผิดให้องค์กรพัฒนาเอกชนและชุมชนพื้นเมืองสำหรับการแพร่กระจายของไฟ 

ลอรา เคิร์ตซ์เบิร์ก (Laura Kurtzberg) ปรับใช้ข้อมูลดาวเทียมเพื่อแสดงการตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ในป่าฝนอเมซอน | ที่มาภาพ: Laura Kurtzberg (อ้างใน GIJN)
 

ในการประชุม GIJC21 ลอรา เคิร์ตซ์เบิร์ก (Laura Kurtzberg) หัวหน้าฝ่ายการนำเสนอแผนภาพข้อมูล (Data Visualization) ของ Ambiental Media ซึ่งเป็นสำนักข่าวด้านวิทยาศาสตร์ เธออธิบายว่าโครงการ ‘สโมคสกรีน’ (Smoke Screen) เป็นความร่วมมือที่ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลดาวเทียมอย่างรอบคอบ เพื่อพิสูจน์ว่าแท้จริงแล้ว ต้นเหตุที่ทำให้เกิดภัยพิบัติทำลายป่าครั้งนั้นคือเจ้าของที่ดินขนาดใหญ่ในป่าแอมะซอน

 “เราพบว่าเขตเทศบาล 4 แห่งที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในปี 2019 เป็นเขตเดียวกับที่มีไฟป่ามากที่สุดเช่นกัน และไฟป่า 72% อยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคลขนาดกลางถึงขนาดใหญ่” เคิร์ตซ์เบิร์กกล่าว “และในปี 2020 ก็ยังมีเหตุการณ์แบบเดิมนี้เกิดขึ้น”

เอลิสัน คิลลิง (Alison Killing) กล่าวถึงวิธีที่เธอและทีมงานที่ BuzzFeed เปิดเผยศูนย์กักกันของจีนโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการเซ็นเซอร์ | ที่มาภาพ: Alison Killing (อ้างใน GIJN)
 

คิลลิงและทีมงานของเธอใช้ภาพดาวเทียมที่ถูกเซ็นเซอร์เพื่อค้นหาศูนย์กักกันชาวมุสลิมบนแพลตฟอร์ม Baidu Total View ของจีน และวิธีนี้ทำให้เธอค้นพบค่ายลับอื่นๆ อีกหลายร้อยแห่ง

“เริ่มจากการทำแผนที่ตำแหน่งที่ถูกเซ็นเซอร์เหล่านี้ จากนั้นดูสถานที่เดียวกัน เทียบกับภาพถ่ายดาวเทียมจากแหล่งอื่นๆ เช่น กูเกิ้ลเอิร์ธ (Google Earth) เราค้นพบสิ่งที่เชื่อว่าใกล้เคียงกับเครือข่ายค่ายกักกันทั่วประเทศจีน” เธอกล่าว

คิลลิงยังเสนอเคล็ดลับที่โดดเด่นอีกอย่างหนึ่ง คือ นักข่าวสามารถค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์เพื่อเติมจุดบอดของการถ่ายภาพ เธอเปิดเผยว่าจุดที่กูเกิ้ลเอิร์ธยังขาดภาพล่าสุดของค่ายกักกัน อยู่ทางตอนใต้ของมณฑลซินเจียง อย่างไรก็ตาม ทีมงานพบภาพที่มีความละเอียดต่ำกว่าแต่เป็นภาพปัจจุบันของพื้นที่ดังกล่าวจาก Sentinelhub Playground ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขององค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency)

จากนั้น คิลลิงและทีมงานของเธอได้เปรียบเทียบรูปร่างของอาคารจากภาพเหล่านั้น โดยแสดงวัตถุขนาดเท่ารถยนต์เป็นพิกเซลจุดเดียว เทียบกับรูปแบบที่พบในภาพของกูเกิ้ลเอิร์ธซึ่งมีความละเอียดสูงกว่า เพื่อยืนยันว่าจุดดังกล่าวที่พบใน Sentinelhub Playground เป็นค่ายกักกันชาวอุยกูร์

ส่วนในกรณีที่ไม่มีโอเพนซอร์สให้เลือกเลย คิลลิงกล่าวว่าทีมงานได้ติดต่อทีมสื่อของผู้ให้บริการดาวเทียมเอกชนรายหนึ่ง

“เราติดต่อ Planet Labs ซึ่งมีโปรแกรมสื่อ และพวกเขาช่วยให้เราเข้าถึงภาพที่มีความละเอียดสูงและทันสมัยสำหรับสถานที่สำคัญๆ” เธอกล่าว

เคล็ดลับจากการประชุม GIJC21 ในการตรวจสอบด้วยภาพถ่ายทางอากาศ

  • ใช้กูเกิ้ลเอิร์ธเวอร์ชันเดสก์ท็อปแทนเวอร์ชันเบราว์เซอร์สำหรับการตรวจสอบที่ซับซ้อนบนดาวเทียมซึ่งคุณต้องติดตามฉากต่างๆ เมื่อเวลาผ่านไป
  • เพื่อยืนยันอาคารบนภาพถ่ายดาวเทียม ให้มองหาวัตถุใกล้เคียงที่ผู้คนอาจจำเป็นต้องเข้าไปใช้เหล่านั้น เช่น ที่จอดรถชั่วคราวบนถนนในชนบทหรือทุ่งหญ้าในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งกลายเป็นตัวบ่งชี้ที่ดีของค่ายกักกันในจีน เนื่องจากพวกเขามักไม่สร้างที่จอดรถภายในค่าย เพื่อความปลอดภัยและการก่อสร้างค่ายที่รวดเร็ว นอกจากนี้ รถประจำทาง ป้อมยาม พื้นที่ออกกำลังกาย และกลุ่มคนสวมชุดจั๊มพ์สูทสีแดงเข้มที่ยืนอยู่เป็นแถว ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ที่มีประโยชน์เช่นกัน
ทีมงานของ BuzzFeed ใช้ภาพดาวเทียมที่ถูกเซ็นเซอร์อย่างเช่นภาพนี้ใน Baidu Total View เพื่อเป็นเบาะแสว่าค่ายกักกันชาวอุยกูร์ตั้งอยู่ที่ใดในประเทศจีน | ที่มาภาพ: Alison Killing (อ้างใน GIJN)
 
  • ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมมุมเฉียงเพื่อประเมินขนาดของวัตถุ ทีมงานของ BuzzFeed ใช้มุมเหล่านี้ในการนับจำนวนชั้นของตึกในสถานกักกัน ซึ่งช่วยให้พวกเขาประเมินความจุสูงสุดของเครือข่ายค่ายทั้งหมด สามารถรับผู้ต้องขังสูงสุดจำนวน 1,014,000 คน
  • ลองใช้แพลตฟอร์มการทำแผนที่ Mapbox Studio เพื่อแปลข้อมูลดาวเทียม “บริการของ Mapbox สามารถใช้ได้ฟรีในบางส่วน แต่มันจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับนักข่าว เพราะมีคุณสมบัติเชิงโต้ตอบมากมาย” เคิร์ตซ์เบิร์ก กล่าว “RStudio ก็มีประโยชน์มากเช่นกันและฟรีทั้งหมด”
  • ใช้ QGIS (A Free and Open Source Geographic Information System) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ เคิร์ตซ์เบิร์กกล่าวว่า “QGIS เป็นเครื่องมือหลักที่ฉันต้องการเน้น เป็นโอเพนซอร์สอย่างสมบูรณ์คล้ายกับ ArcGIS และเป็นซอฟต์แวร์เดสก์ท็อป ฉันขอแนะนำสิ่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับนักข่าวจำนวนมาก เพราะคุณสามารถวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือนี้ สามารถสร้างแผนที่และภาพสำหรับเรื่องราวของคุณ และยังสามารถใช้ข้อมูลเวกเตอร์และภาพถ่ายดาวเทียม”
  • สมัครเข้าใช้คุณสมบัติขั้นสูงของ Flourish Visualization Tool ซึ่งเป็นเครื่องมือสร้างภาพได้ฟรี เช่น Flourish Photo Slider ที่สามารถแสดงภาพถ่ายทางอากาศก่อนและหลัง “เครื่องมืออย่าง Flourish และ DataWrapper สามารถช่วยให้คุณสร้างภาพข้อมูลทางอากาศได้อย่างลงตัวภายในไม่กี่นาที” เอโรโมเซลกล่าว “การควบคุมค่าใช้จ่ายของคุณเป็นสิ่งสำคัญ และสำนักข่าวสามารถสมัครเพื่อใช้งานคุณสมบัติระดับพรีเมียมได้ฟรีภายในไม่กี่คลิก”
  • ร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะสิ่งแวดล้อมในภาพ เช่น Ambiental Media ร่วมมือกับศูนย์ติดตามและเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติแห่งชาติของบราซิล และสถาบัน Chico Mendes เพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ในการทำโครงการ Smoke Screen
  • ลองใช้ OpenAerialMap เครื่องมือโอเพนซอร์ส เพื่อประมวลผลภาพถ่ายดาวเทียมและโดรน “เมื่อคุณเอาภาพโดรนทั้งหมดมาปะติดปะต่อกัน คุณจะต้องใช้ OpenAerialMap เพื่อส่งออกไปยัง OpenStreetMap ซึ่งจะทำให้คุณสามารถบันทึกรูปและแก้ไขได้อย่างง่ายดาย” เอโรโมเซลกล่าว

ด้าน มารีนา วอล์กเกอร์ เกวารา (Marina Walker Guevara) บรรณาธิการบริหารของศูนย์การรายงานข่าวในภาวะวิกฤติของพูลิตเซอร์ (Pulitzer Center on Crisis Reporting) และพิธีกรในงานประชุม กล่าวทิ้งท้ายว่า “นักข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนชั้นนำที่กำลังเติบโตตอนนี้ ต่างก็ใช้ภาพถ่ายดาวเทียม การทำแผนที่ และเครื่องมือดิจิทัลอื่นๆ เพื่อต่อต้านการเซ็นเซอร์ เปิดเผยการกระทำผิดกฎหมาย และเปิดโปงสิ่งที่ผู้มีอิทธิพลและสถาบันที่มีอำนาจต้องการปิดซ่อนไว้”

แปลและเรียบเรียงจาก:

โรแวน ฟิลป์ (Rowan Philp) เป็นนักข่าวของ GIJN และเป็นอดีตหัวหน้านักข่าวให้กับสำนักข่าวซันเดย์ไทมส์ของประเทศแอฟริกาใต้ ในฐานะผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เขาเคยรายงานเกี่ยวกับข่าว การเมือง การทุจริต และความขัดแย้งจากประเทศต่างๆ เกือบ 30 ประเทศทั่วโลก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net