Skip to main content
sharethis

ส.ว.สหรัฐฯ ออกจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้ประเทศไทยยกเลิก 'ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน' โดยระบุว่าเป็นกฎหมายที่ทำร้ายภาคประชาสังคมและสร้างผลกระทบทางลบในการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประเทศใกล้เคียงอย่างพม่า


แฟ้มภาพเครือข่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มประชาชน เดินเท้าบุกไปทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่น 13,379 รายชื่อ ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การรวมกลุ่มทุกฉบับ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2565

วุฒิสมาชิก 2 ราย คือ เอ็ดเวิร์ด เจ มาร์กี ส.ว. รัฐแมสซาชูเซตต์ และ เจฟฟรีย์ เอ เมิร์กลีย์ ส.ว. รัฐโอเรกอน เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลไทยและรัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน นั้น "จะกลายเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จำกัดเอ็นจีโอมากที่สุดในเอเชียและจะทำให้เกิดผลกระทบในระดับที่ทำให้กลับคืนมาไม่ได้ต่อภาคประชาสังคมในไทย"

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ประยุทธ จันทร์โอชา มีความต้องการจะผ่านร่างกฎหมายที่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งนี้ ซึ่งจะกลายเป็นการใช้อำนาจควบคุมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในไทย รวมถึงห้ามไม่ให้กลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ประยุทธอ้างว่าอาจจะทำลายความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยในสังคม

กลุ่มเอ็นจีโอทั้งในไทยและระดับนานาชาติต่อต้านร่างกฎหมายใหม่นี้ บอกว่ามันเป็นการคุกคามการทำงานของภาคประชาสังคมและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

จดหมายเปิดผนึกของมาร์กีและเมิร์กลีย์ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทย "ยกเลิกบทบัญญัติที่เป็นอันตราย" และระบุว่า พ.ร.บ. เอ็นจีโอ เป็นร่างกฎหมายที่ "เสี่ยงต่อการทำลายพื้นที่ที่หลังจากนี้อาจจะเป็นแหล่งสุดท้ายที่ภาคประชาสังคมพม่าจะปฏิบัติงานได้"

จดหมายของสอง ส.ว. ระบุอีกว่า "ดังนั้นแล้ว พวกเราถึงเรียกร้องให้มีแนวทางอย่างเร่งด่วนและมีการประสานงานจากรัฐบาลทุกภาคส่วนเพื่อกดดันให้รัฐบาลไทยยกเลิกการพิจารณาทั้งหมดต่อร่างกฎหมายที่อันตรายฉบับนี้"

สอง ส.ว. สหรัฐฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกนี้ให้กับ แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ, เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ และ ซาแมนธา พาวเวอร์ ผู้อำนวยการองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID)

รัฐบาลประยุทธเคยรับรองร่างกฎหมายฉบับนี้ในเชิงหลักการเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็มีขั้นตอนการสอบถามความคิดเห็นของประชาชน แต่ทว่าขั้นตอนดังกล่าวมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น โดยที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.พรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศว่าถึงแม้ผลจะออกมาว่าผู้ทำแบบสำรวจร้อยละ 70 สนับสนุนกฎหมายนี้แต่ผู้คนส่วนใหญ่ที่ทำแบบสอบถามนี้เป็นคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล ขณะที่ภาคประชาชนไม่สนับสนุนร่างกฎหมายนี้

ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ถูกวิจารณ์ว่าสามารถตีความไปในทางที่รัฐบาลจะอ้างสั่งห้ามกิจกรรมขององค์กรใดๆ ก็ได้ ศูนย์นานาชาติเพื่อกฎหมายองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร (ICNL) ระบุว่าร่างกฎหมายนี้มีบทบัญญัติที่ควบคุมกิจกรรมของเอ็นจีโออย่างกดขี่บังคับและเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายนานาชาติหลายข้อ

ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าร่างกฎหมายนี้จะส่งผลกระทบทางลบอย่างรุนแรงต่อความพยายามช่วยเหลือกลุ่มคนที่เสี่ยงถูกล่วงละเมิดในสังคมไทยรวมถึงคนจำนวนมากที่หนีจากพม่าหลังการรัฐประหารปี 2564 โรเบิร์ตสันบอกอีกว่าภายใต้น้ำมือของประยุทธ์และรัฐบาลกึ่งทหารของเขากฎหมายนี้อาจจะกลายเป็น "หายนะสำหรับภาคประชาสังคมและกลุ่มเอ็นจีโอที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน การปฏิรูปการเมือง การต่อต้านการค้ามนุษย์" และการคุ้มครองสิทธิของผู้คนในสังคมที่เสี่ยงถูกละเมิด

สอง ส.ว. ยังได้เขียนจดหมายเปิดผนึกต่อ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย ระบุว่า ความช่วยเหลือข้ามพรมแดนสามารถให้ความช่วยเหลือระดับความเป็นความตายของกลุ่มคนที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดเหล่านี้ได้ และขอให้รัฐบาลไทยทำงานร่วมกับประชาคมโลกเพื่อเพิ่มความช่วยเหลือไปสู่พม่ารวมถึงในพื้นที่ๆ ไม่ได้ถูกควบคุมโดยเผด็จการทหาร นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้ต้องมีการอนุญาตให้องค์กรภาคประชาสังคมและสหประชาชาติเข้าถึงเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมได้โดยไม่มีการขัดขวาง อีกทั้งยังระบุขอให้ไทยใช้เสียงของตัวเองในฐานะสมาชิกอาเซียนในการกดดันพม่า

สมบัติ บุญงามอนงค์ นักกิจกรรมทางการเมืองและประธานมูลนิธิกระจกเงากล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศว่าร่างกฎหมายนี้มาจากการที่ประยุทธ์ไม่พอใจเอ็นจีโอ เป็นกฎหมายที่มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมเอ็นจีโอ ให้เหลือแต่เฉพาะเอ็นจีโอที่เป็นมิตรกับรัฐบาลเท่านั้น ทำให้ไม่มีเอ็นจีโอที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเหลืออยู่

โรเบิร์ตสันกล่าวอีกว่าร่างกฎหมายใหม่จะทำให้เกิดการปราบปรามเสรีภาพในการชุมนุมรวมกลุ่ม เสรีภาพในการแสดงออก และเสาหลักอื่นๆ ของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาของการเมืองไทย และบอกว่า ส.ว. สหรัฐฯ ทำถูกต้องแล้วที่ประเมินร่างกฎหมายนี้ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ และการพัฒนาสังคม ไปในทางที่เลวร้ายลงกว่าเดิม


ที่มา
US lawmakers urge Thai government to drop restrictive provisions in NGO bill, Radio Free Asia, 24-03-2022

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net