Skip to main content
sharethis

เครือข่ายคัดค้านร่าง “พ.ร.บ.คุมการรวมกลุ่มประชาชน” เดินเท้าบุกไปทำเนียบรัฐบาบ เพื่อยื่น 13,379 รายชื่อ ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การรวมกลุ่มทุกฉบับ ตั้งข้อสังเกตพ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ฉบับคณะกรรมการกฤษฎีกาขาดความโปร่งใส

25 มี.ค. 2565 เวลา 10.00น. เครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน จำนวน 80 คน ทำกิจกรรมเดินเท้าจากหน้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ไปยังทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือประชาชนลงนาม 13,379 รายชื่อ จากการล่ารายชื่อบน Change.org ถึงนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน และขอให้กระทรวงพม.ยุติการขับเคลื่อนและการรับฟังความเห็นของกฎหมายโดยทันที

13,379 รายชื่อ ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.การรวมกลุ่ม ทุกฉบับ

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง รองประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชน กล่าวว่า “13,379 ที่แสดงความคิดเห็นของ Change.org เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ควบคุมภาคประชาสังคม มีการติดต่อ สื่อสารกันโดยตลอดเวลา จะมาเมื่อไร ในนามองค์กร ได้รับการตอบรับนัดหมายที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่หัวถนน ค่อยๆ ยื่นๆ ต่อรองขอผ่านมาทีละรั้ว”

สุนทรีอธิบายต่อว่า บัดนี้ยังไม่มีการตอบรับการภาครัฐมารับเรื่อง พ.ร.บ.การแสดงความคิดเห็น โดยข้อเรียกร้องมีเพียง 1 ประการ ยังทำกิจกรรมยืนสงบไว้อาลัยให้กับความพยายามแสดงความกีกกันแสดงความคิดเห็นประชาชน 1 นาที

“ขอให้ยุติกระบวนการผลักดันและขับเคลื่อนกฎหมายเพื่อควบคุมองค์กรประชาชน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ด้วยรายชื่อ 1,867 องค์กร จาก 19 เครือข่ายองค์กรประชาชน ซึ่งมีทั้งเครือข่ายผู้หญิง เครือข่ายคนพิการ เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายชาติพันธุ์ เครือข่ายเกษตร เครือข่ายผู้สูงอายุ ขอให้ยุติการแสดงตัวไม่เป็นมิตรของประชาชน ที่ต้องการจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชน จะต้องได้รับการประกัน การมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะต้องได้รับการเคารพบทบาทประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศและภาคีการพัฒนา จะต้องได้รับการเคารพ ท่านนายกประยุทธ์ และนายกรัฐมนตรี นี้จะไม่ใช่ครั้งแรกการเคลื่อนไหวของประชาชน” สุนทรี กล่าว

กลุ่มเปราะบางลำบากทั่วประเทศ

ด้านปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย อธิบายว่า ร่างพ.ร.บ.ควบคุมแล้วก็ระรานองค์กรภาคประชาสังคม สมาคมและกลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาทำงาน กฎหมายนี้เป็นเหมือนเครื่องมือที่สร้างความชอบธรรมให้รัฐในการควบคุมการรวมกลุ่มของภาคประชาชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจะได้รับผลกระทบกันหมด ไม่ใช่แค่ได้รับโทษ แต่อาจจะได้รับการปราบปราม ทั้งที่หลายองค์กรเหล่านี้ทำงานเคียงข้างประชาชน คนพิการและผู้หลากหลายทางเพศ และผู้ประสบผลลำบากต่างๆ

“เพราะฉะนั้นถ้าเกิดอะไรขึ้นกับองค์กรเหล่านี้ คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือคนเล็กคนน้อยและก็ประชาชน มันเป็นเหมือนกับว่า ใครส่งเสียงท้าทายกับภาครัฐก็จะโดนจัดการด้วยกฎหมายซึ่งมันมีทั้งโทษปรับร้ายแรง แม้กระทั้งวิธีการจัดการไม่เป็นมิตรกับองค์กรเหล่านี้เลย“ ปิยนุชกล่าว

ไม่โปร่งใส

ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ชี้ว่า จุดยืนของเครือข่ายคัดค้านร่างกฎหมายควบคุมการรวมกลุ่มของประชาชนไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายเหล่านี้ผ่าน เนื่องจากมีความเคลือบแคลงในถึงโปร่งใส ทั้งเรื่องการปราศจากการแสดงความคิดเห็น ช่องทางการให้ลงชื่อที่สับสน ประชาชนไม่สามารถมีส่วนร่วมได้

“ตอนนี้ไม่ใช่แค่ตัวแทนประชาชนไทย สังคมไทย แล้วตัวแทนจากทูตเกือบทุกประเทศก็ได้ออกมาพูดกับรัฐบาล สหภาพยุโรป 23 ประเทศ เพราะว่าประเทศไทยเราเป็นภาคีที่มีพันธะสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ค.ศ. 1966 ว่าด้วยเรื่อง เสรีภาพในการรวมกลุ่ม การสมาคม และการแสดงความคิดเห็นตามกฎหมายระหว่างประเทศ” ปิยนุชกล่าว

ทั้งนี้ ไม่มีตัวแทนจากภาครัฐออกมารับหนังสือจากประชาชนที่เดินทางมายื่น ทำให้ประชาชนที่มาทำกิจกรรมล้อเลียนแต่งกายใส่หน้ากากเป็นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมารับมอบหนังสือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net