Skip to main content
sharethis

ครม.เคาะงบกว่า 45,000 ล้านบาทดำเนิน 10 มาตรการเร่งด่วนบรรเทาผลกระทบพลังงานแพงของ 'ประยุทธ์' ขณะเดียวกัน ครม. รับทราบภาพรวมการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2565 จนถึงสิ้นปี 2564 พบมีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.3 ล้านล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรวม 3.1 ล้านล้านบาท โดยกระทรวง อว. ครองแชมป์เบิกจ่ายสูงสุด ขณะที่กระทรวงศึกษาฯ เบิกงบน้อยสุด ส่วนการเบิกจ่ายตาม พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับแรกใช้ไปแล้วเกิน 80% ขณะที่ พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับสองเบิกแล้วกว่า 60% 

29 มี.ค. 2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (29 มี.ค. 2565) ว่า ครม. เห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานอันเนื่องจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรประหว่างยูเครน-รัสเซีย กรอบวงเงินเบื้องต้น 45,102.65 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพใก้แก่ประชาชนและลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบอาชีพในภาคขนส่ง รวมถึงดูแลประชาชนผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงานและกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการช่วยเหลือแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก มาตรการช่วยเหลือในระยะเร่งด่วน 10 ข้อ ประกอบด้วย

  1. ทยอยปรับขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เดือนละ 15 บาท/ถัง เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เม.ย.-มิ.ย. 2565 โดยราคาก๊าซหุงต้มเดือน เม.ย. ถังละ 333 บาท เดือน พ.ค. ถังละ 348 บาท และเดือน มิ.ย. ถังละ 363 บาท กรอบวงเงินเบื้องต้น 6,380 ล้านบาท ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้บริการจัดการ
  2. ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15.59 บาท/กิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1,590 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
  3. ลดค่า Ft ลง 22 สตางค์/หน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ส.ค. 2565 ให้แก่ผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย/เดือน กรอบวงเงินเบื้องต้น 2,000-3,500 ล้านบาท โดยใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งมาจากงบประมาณปี 2565
  4. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาท/ลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 หลังจากนั้นรัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง ตั้งแต่ พ.ค.-มิ.ย. 2565 โดยอัตราชดเชยประมาณ 8 บาท/ลิตร กรอบวงเงินเบื้องต้น 33,140 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกรมสรรพสามิตเป็นผู้บริหารจัดการ
  5. ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน จะได้รับส่วนลดค่าน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาท/เดือน (5 บาท/ลิตร รวม 50 ลิตร) เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 120 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
  6. ผู้ขับขี่รถแท็กซี่มิเตอร์ที่เข้าร่วมโครงการลมหายใจเดียวกัน จำนวน 17,460 คน สามารถซื้อก๊าซ NGV ได้ในราคาพิเศษ 13.62 บาท/กิโลกรัม วงเงินไม่เกิน 10,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 171 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
  7. เพิ่มส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มให้กลุ่มเปราะบางผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินเป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน จากเดิม 45 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 200 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณปี 2565 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น
  8. ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 5,500 คน ได้รับส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. 2565 กรอบวงเงินเบื้องต้น 1.65 ล้านบาท โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการ
  9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้าง จำนวน 4.9 แสนราย และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 11.2 ล้านคน จาก 5% เหลือ 1% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2565
  10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1.9 ล้านคน จาก 9% เหลือ 1.9% เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. 2565 และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 จำนวน 10.7 ล้านคน จาก 70–300 บาท ลดลงเหลือ 42–180 บาท/เดือน เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ ก.พ.-ก.ค. 2565

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ อาทิ 1) การดูแลกลุ่มเกษตรกร ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งดำเนินการจัดทำแนวทางช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรโดยการแก้ปัญหาปุ๋ยราคาแพงและปุ๋ยขาด รวมถึงปัญหาอาหารสัตว์ 2) ยกเลิกการจ่ายเงินชดเชยราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเกรดพรีเมี่ยม ตั้งแต่แมษายน 2565 เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นน้ำมันที่ใช้กับกลุ่มรถยนต์ของผู้ที่มีกำลังซื้อสูง เพื่อลดภาระการสนับสนุนของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3) การสนับสนุนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพของราคาพลังงานของประเทศ โดยพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่กองทุนน้ำมันฯ ในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สถาบันการเงินที่จะให้สินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องแก่กองทุนน้ำมันฯ 4) การดูแลกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม พิจารณาลดอัตราหรืองดจัดเก็บค่าใช้จ่ายในการต่ออายุทะเบียนรถบรรทุกและรถโดยสารสาธารณะในปี 2565

รัชดา กล่าวด้วยว่า มาตรการช่วยเหลือในระยะต่อไป ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย ร่วมกันพิจารณาติดตามและปรับปรุงมาตรการการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่เหมาะสมตามสถานการณ์ของราคาพลังงานในตลาดโลก โดยคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อม และความสามารถทางการเงินของภาครัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

นอกจากนี้ เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลยังรายงานเพิ่มเติมว่าไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามแร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐครั้งที่ 1/2565  เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2565  โดยพบว่าภาพรวมการเบิกจ่ายเงินประจำปีงบประมาณ 2565 ตั้งแต่ต้นปีงบประมาณจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1,306,123 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณรายจ่ายรวม 3,100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 31.73 แยกเป็น งบกันไว้เบิกเหลื่อมปี จำนวน 237,241 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 75,530 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 31.84, เงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจจำนวน 287,439 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 53,269 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.53

ขณะที่โครงการภายใต้ พ.ร.ก.เงินกู้ ฉบับที่ 1 หรือพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (กรอบวงเงิน 1 ล้านล้านบาท) จำนวน 88,408 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 73,877 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 83.56 ส่วน พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับที่ 2 หรือโครงการภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 (กรอบวงเงิน 500,000 ล้านบาท) จำนวน 191,441 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 119,833 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 62.60

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2565 มีโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มูลค่าโครงการตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไปรวม 102 โครงการ มีมูลค่าโครงการทั้งหมด 2.51 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 35,418 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.37 ของแผนการใช้จ่ายเงิน ส่วนผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุน กระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.), กระทรวงการคลัง, สำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายต่ำสุด ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net