โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (1): ยุทธศาสตร์การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

1. บทนำ

บทความนี้ผู้เขียนมีความมุ่งหมายที่จะอภิปรายให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้นเกี่ยวกับลักษณะโดยทั่วไปของระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบัน อันจะทำให้พวกเราผู้ถูกครอบงำ ถูกกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบ และถูกเบียดขับจากระบบดังกล่าว หรือที่เรียกโดยรวมว่า “กรรมาชีพ” (Proletariat) ได้เห็นถึงเลห์เหลี่ยมหรือกลไกต่าง ๆ ที่ระบบดังกล่าวใช้เพื่อผลิตซ้ำตัวเองเพื่อให้มันยังคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ ซึ่งกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือการเผยให้เห็นธาตุแท้คือความเลวร้ายของระบบทุนนิยมที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อพวกเราชาวชนชั้นกรรมาชีพนั่นเอง โดยเมื่อเราเข้าใจลักษณะของระบบทุนนิยมแล้ว ก็จะทำให้พวกเราใช้เป็นกรอบข้อพิจารณาเบื้องต้นในการกำหนดแนวทางของยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในต่อสู้ที่ไม่หลงทิศหลงทาง เพื่อปลดปล่อยเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้ เพราะการต่อสู้ตลอดจนไปถึงการปฏิวัติที่แท้จริง พวกเราต้องเข้าใจและเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การอภิปรายหรือกล่าวให้เป็นนามธรรมขึ้นมาอีกหน่อยก็คือการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมือง (Critiques of Political Economy) จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด ซึ่งเมื่อกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วการวิพากษ์เศรษฐกิจการเมืองก็คือมรรควิธีที่คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx) ใช้เริ่มต้นในการวิเคราะห์และวิพากษ์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมนั่นเอง

การอภิปรายในเรื่องโฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบันนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการอภิปรายลักษณะของระบบทุนนิยมในปัจจุบันผ่านยุทธศาสตร์ “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” (Accumulation of Dispossession) โดยใช้งานการวิเคราะห์ของนักภูมิศาสตร์-เศรษฐศาสตร์การเมืองสำนักมาร์กซิสต์ ชาวอังกฤษ ที่ชื่อว่าเดวิด ฮาร์วี (David Harvey) เป็นหลักในการเขียน ซึ่งในตอนนี้จะใช้ชื่อว่า “โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (1): ยุทธศาสตร์การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” ส่วนในตอนที่ 2 จะเป็นการอภิปรายลงไปในระดับของกระบวนการผลิตในระบบทุนนิยมในปัจจุบันที่มีลักษณะ “ยืดหยุ่น” และเป็น “อวัตถุ” มากขึ้น โดยจะใช้ชื่อตอนนี้ว่า “โฉมหน้าของระบบทุนนิยมในปัจจุบัน (2): กระบวนการผลิตที่มีความยืดหยุ่นและมีความเป็น ‘อวัตถุ’” ทั้งนี้ผู้เขียนตระหนักดีว่าถึงแม้ในยุคปัจจุบันโครงสร้างทางเศรษฐกิจหรือระบอบของการสะสมทุน (Regime of Accumulation) และรวมไปถึงยุทธศาสตร์ของการสะสมทุน (Accumulation Strategy) ของรัฐทุนนิยมทั่วโลกจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ลักษณะการพัฒนาของแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาคอาจมีความเฉพาะเจาะจงที่ดำเนินไปอย่างไม่สม่ำเสมอกัน ดังนั้น ลักษณะของระบบทุนนิยมในปัจจุบันที่จะอภิปรายต่อไปนี้จึงเป็นเพียงลักษณะโดยทั่วไปเท่านั้น

 

2. ลักษณะ “ขั้นมูลฐาน” ของระบบทุนนิยม

ขอให้ทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่าในปัจจุบันเวลาเราพูดถึง “ระบบทุนนิยม” (Capitalism) บางครั้งเรามักจะสับสนและใช้ปะปนกับคำว่า “ทุน” (Capital) ทั้งที่ความหมายของสองคำดังกล่าวมีความแตกต่างกัน กล่าวคือ คำแรกมีความหมายถึงระบบ โครงสร้าง หรือชุดของความสัมพันธ์ทางสังคมของการผลิต (Social Relation of Production) ทั้งหมด ที่หมายรวมถึงพื้นที่ของการผลิต การบริโภค การแจกจ่าย และการหมุนเวียนทั้งหมดของยุคสมัยหนึ่ง ๆ หรือที่เรียกว่า “วิถีการผลิต” (Mode of Production) เรียกรวมกับระบบทุนนิยมได้ว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยม” (Capitalism Mode of Production) ส่วนคำหลังมีความหมายถึง “กลุ่มทุน” กลุ่มหนึ่ง ๆ ในชนชั้นนายทุน เช่น ทุนการเงิน ทุนสื่อสาร ทุนอุตสาหกรรม ทุนการค้า ฯลฯ เป็นต้น โดยวิถีการผลิตแบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคที่คาร์ล มาร์กซ์ ยังมีชีวิตอยู่ อันเป็นบริบทช่วงเวลาในการวิเคราะห์ระบบทุนนิยมของเขากับทุนนิยมในยุคปัจจุบันซึ่งอยู่ในศตวรรษที่ 21 นั้นย่อมต้องมีลักษณะบ้างประการที่แตกต่างกันออกไป กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ย่อมมีลักษณะของการผลิตที่ซับซ้อนมากกว่าทุนนิยมในศตวรรษที่ 19 และศตวรรษที่ 20 โดยระบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 ตามความเห็นของนักวิชาการหลายคน เช่น เดวิด ฮาร์วี (David Harvey) จอร์จ ลิโอดากิส (George Liodakis) วิลเลียม โรบินสัน (William Robinson) ที่ต่างก็เห็นคล้ายกันว่าพัฒนาการล่าสุดของระบบทุนนิยมเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1970 (วินัย 2563, 50) กระนั้นก็ดี ถึงแม้ระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันจะเริ่มต้นก่อตัวขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 แต่เนื่องจากเป็นพัฒนาการของระบบทุนนิยมที่ดำรงมาจนถึงปัจจุบันและกำลังทำงานอยู่ในช่วงเวลานี้ จึงจะขอนับว่าเป็นวิถีการผลิตแบบทุนนิยมในศตวรรษที่ 21 โดยบทความนี้ขอเรียกวิถีการผลิตในยุคปัจจุบันนี้ว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่” (Neoliberal Capitalism Mode of Production) เนื่องจากระบบทุนนิยมในยุคปัจจุบันอยู่ภายใต้ระเบียบแบบแผนหรือกระแสนโยบายทางเศรษฐกิจยุทธศาสตร์การสะสมทุนของลัทธิเสรีนิยมใหม่ (Neo-liberalism) ภายใต้ระบอบของการสะสมทุนแบบ “หลังฟอร์ดนิยม” (Post-Fordism)

ทั้งนี้ก็ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าพัฒนาการของวิถีการผลิตแบบทุนนิยมในแต่ละช่วงเวลาเป็นเพียงพลวัตการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการหรือระบอบของการสะสมทุนในระบบทุนนิยมเท่านั้น อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปตามการพัฒนาของพลังทางการผลิต (Force of Production) หรือกล่าวให้ชัดเจนขึ้นก็คือเป็นเพียงการปรับตัวจาก “ความพ่ายแพ้” หรือ “วิกฤติ” ภายในของกระบวนการสะสมทุนในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่ต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลียงไม่ได้ ดังที่ฮาร์วี (2562, 9) กล่าวไว้ว่า “วิกฤตการณ์คือหัวใจสำคัญในการผลิตซ้ำระบบทุนนิยม ในช่วงวิกฤตการณ์นี้เองที่ความไร้เสถียรภาพของระบบทุนนิยมจะโผล่หน้าออกมาให้จัดการปรับแต่งและวิศวกรรมใหม่ เพื่อสร้างรูปโฉมใหม่ในสิ่งที่ระบบทุนนิยมพึงเป็น” อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าทุนนิยมจะปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ก็จะยังคงลักษณะบางอย่างที่มีร่วมหรือเหมือนกันและยังคงดำรงอยู่มาจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่วิถีการผลิตแบบทุนนิยมช่วงชิงการครองอำนาจนำมาได้จากวิถีการผลิตแบบศักดินา เนื่องด้วยลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะ “ขั้นมูลฐาน” ของระบบทุนนิยมนั่นเอง

โดยในกระบวนการสะสมทุนของนายทุนจะมีการแยกผู้ผลิตหรือแรงงานออกจากปัจจัยการผลิต แล้วรวมหรือกระจุกปัจจัยการผลิตในรูปแบบการผูกขาดให้อยู่ในมือของชนชั้นเดียวที่เรียกว่า “ชนชั้นผู้ถือครองปัจจัยการผลิต” หรือ “ชนชั้นนายทุน” ภายใต้ความสัมพันธ์ หลักการ หรือกติกาที่เรียกว่า “การถือครองกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล” (Private Property) ดังนั้น จึงมีอีกชนชั้นหนึ่งเกิดขึ้นซึ่งอยู่ตรงข้ามและขัดแย้งทั้งทางผลประโยชน์และจิตสำนึกกับชนชั้นก่อนหน้า คือ “ชนชั้นผู้ไร้ปัจจัยการผลิต” หรือ “ชนชั้นกรรมาชีพ” โดยเป็นชนชั้นที่มีแต่ขายพลังแรงงานหรือกำลังแรงงาน (Labour Power) ของตนเองในฐานะที่เป็นสิ่งที่มีมูลค่าเชิงวัตถุหรือเป็นสินค้า (แมนเดล 2518, 75-82) วิถีการผลิตดังกล่าวจึงเป็นวิถีการผลิตแบบแรกและแบบเดียวที่แรงงานโดยเฉพาะพลังแรงงานของมนุษย์กลายเป็นสินค้า (เก่งกิจ 2558, 30-31) ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดในกระบวนการผลิตเพื่อสร้างมูลค่าในระบบทุนนิยมจึงเป็น “แรงงานที่มีชีวิตอยู่” (Living Labour) หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็คือ “มนุษย์” นั่นเอง (เก่งกิจ 2560ก, 128) ในการขายกำลังแรงงานของชนชั้นกรรมาชีพ สิ่งที่ได้ตอบแทนมาคือจำนวนเงินหรือค่าจ้าง (Wage) อันน้อยนิดเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มกับกำลังแรงงานที่ตนเองใช้ไปในการผลิตมูลค่าสินค้าให้นายทุน

กล่าวโดยสรุปแล้ว วิถีการผลิตแบบทุนนิยมจึงมีลักษณะ “กีดกัน” แรงงานออกจากปัจจัยการผลิต “กดขี่” หรือบังคับแรงงานให้ต้องทำงานหรือออกกำลังแรงงานเกินค่าจ้างที่ตกลงกันไว้ อันเป็นกระบวนการของการ “ขูดรีด” มูลค่าส่วนเกินจากแรงงาน ซึ่งลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการเกิด “สภาวะความแปลกแยก” (Alienation) ในที่สุด ทั้งแปลกแยกจากสิ่งที่ตนเองผลิต (ผลผลิตที่แรงงานออกแรงผลิตต้องตกเป็นของนายทุน) แปลกแยกจากกิจกรรมการผลิต (ไม่อยากทำงาน เช่น ต้องการให้เวลาเคลื่อนไปให้ถึงวันหยุดให้เร็วที่สุด หรือไม่อยากให้เวลาที่เป็นวันหยุดเคลื่อนไปถึงวันจันทร์ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นทำงานในระบบทุนนิยม[1] ฯลฯ) และแปลกแยกจากความเป็นมนุษย์หรือเนื้อแท้ของความเป็นมนุษย์ (ทำงานไปเพื่อความอยู่รอดเท่านั้น ไม่ได้ทำงานเพื่อสร้างสรรค์ที่ใช้ความคิดหรือความรู้สึกเพื่อเปลี่ยนแปลงธรรมชาติตามจิตสำนึก ดังนั้น แรงงานในระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะคล้ายหุ่นยนต์)

ฉะนั้น ภายใต้วิถีการผลิตดังกล่าว แรงงานในระบบทุนนิยมจึงมีลักษณะที่มีความขัดแย้งในตัวเอง กล่าวคือ ในด้านหนึ่งแรงงานดูเหมือนจะมีอิสระอย่างเต็มที่ในการตัดสินใจว่าจะขายพลังแรงงานของตนให้กับใคร ที่ไหน หรือเมื่อใดก็ได้ และยังสามารถเลือกที่จะยกเลิกการขายพลังแรงงานของตนเองเมื่อไรก็ได้ด้วยเช่นกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งของความเป็นอิสระของแรงงานคือการถูกกีดกัน ถูกกดขี่ขูดรีด และถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่ตลอดเวลา ลักษณะเช่นนี้ เอิร์นเนสท์ แมนเดล (Ernest Mandel) (2518, 82) นักเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสต์ ชาวเบลเยียม เรียกว่า “ก้าวหน้ามาหนึ่งก้าว” จากการเป็นไพร่ทาสติดที่ดินในระบบศักดินาปลดแอกตนเองมาเป็นแรงงานเสรีที่มีอิสระในระบบทุนนิยม และ “ถอยหลังหนึ่งก้าว” เพราะถูกกีดกันออกจากปัจจัยการผลิต กล่าวคือ ในยุคศักดินา ไพร่ติดที่ดินมีอิสระในระดับหนึ่งในปัจจัยการผลิตมากกว่าแรงงานเสรีในยุคทุนนิยมที่ไม่มีปัจจัยการผลิตเลยนอกจากกำลังแรงงานของตนเอง

กลับมาที่วิถีการผลิตในศตวรรษที่ 21 หรือที่บทความนี้เรียกว่า “วิถีการผลิตแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่” อันเป็นพลวัตของกระบวนการสะสมทุนของระบบทุนนิยมครั้งล่าสุด ซึ่งเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา ดังนั้น การจะสำรวจหรือพิจารณาพัฒนาการครั้งล่าสุดของระบบทุนนิยมว่ามีลักษณะอย่างไร อะไรบ้างที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด จึงต้องเริ่มต้นจากทศวรรษดังกล่าว โดยเก่งกิจ กิติเรียงลาภ (2558, 60) นักสังคมวิทยามาร์กซิสต์ ชี้ให้เห็นว่าบริบทและเงื่อนไขสำคัญในการทำความเข้าใจระบบทุนนิยมในปัจจุบันคือตั้งแต่วิกฤตของระบบทุนนิยมในทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา ทุนเริ่มเห็นว่ารูปแบบของกาละ (เวลา) และเทศะ (พื้นที่) ที่ตายตัวไม่สามารถใช้ในการควบคุมแรงงานได้อีกต่อไป เราจะเห็นพัฒนาการของการปรับตัวครั้งใหญ่ของทุนในทศวรรษ 1970 จากการอิงแอบอยู่กับโครงสร้างการผลิตแบบอุตสาหกรรม (Industrial Capitalism) ที่เน้นผลิตสร้าง “วัตถุ” (Material) ซึ่งแยกการคิดหรือการสร้างสรรค์กับการผลิตในโรงงานออกจากกัน มาสู่รูปแบบการผลิตหรือสังคมที่เรียกว่า “สังคมหลังอุตสาหกรรม” (Post-Industrial Society) ที่เน้นผลิตสร้าง “อวัตถุ” (Immaterial) มากขึ้น (เก่งกิจ 2558, 75) ซึ่งในด้านหนึ่งก็คือการเปลี่ยนจากทุนนิยมที่มีรูปแบบโครงสร้างที่แน่นอนตายตัว (Organized Capitalism) มาสู่ทุนนิยมที่มีรูปแบบโครงสร้างที่ไม่แน่นอนตายตัว (Disorganized Capitalism) หรือทุนนิยมที่มีโครงสร้างความยืดหยุ่นทั้งในแง่ของการใช้แรงงาน การจ้างงาน การผลิต และการสะสมทุน (เก่งกิจ 2558, 60)

นอกจากนั้น ฮาร์วี (2555, 258) ชี้ว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ “ไม่ใช่การสร้างความมั่งคั่งและรายได้ขึ้นมาใหม่ แต่มันเป็นการจัดสรรความมั่งคั่งและรายได้ขึ้นมาใหม่” ให้แก่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจหรือนายทุน กล่าวในแง่นี้ ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของระบอบและยุทธศาสตร์ของการสะสมทุนแบบใหม่ที่ชนชั้นกรรมาชีพถูกกดขี่ขูดรีดอย่างเข้มข้นมากขึ้นกว่าเดิม โดยได้ละเลยหรือสลัดทิ้งต่อแนวทางที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านั้นอย่างแนวทางแบบเศรษฐศาสตร์ของสำนักเคนเซียน (Keynesian) ที่เสนอขึ้นมาโดยจอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ซึ่งเป็นแนวทางของการปรับปรุงการกระจายรายได้ที่เป็นคุณหรือช่วยประคับประคองชนชั้นกรรมาชีพรายได้ต่ำให้มีมาตรฐานการครองชีพตามอัตภาพ อันเป็นแนวทางที่มีผลต่อการลดความขัดแย้งและการต่อสู้ทางชนชั้นลงไปได้บ้าง ดังนั้น การแพร่ขยายของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จึงเป็นการรื้อฟื้นให้ชนชั้นนายทุนเข้ามามีอำนาจด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลของชนชั้นกรรมาชีพ

 

3. การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง (Accumulation of Dispossession)

ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มีทุนและเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก ภายใต้การเน้นหรือให้ความสำคัญต่อกลไกตลาดเสรีอย่างมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนทั่วโลกอย่างกว้างขวางและเข้มข้นรุนแรงในหลากหลายมิติของชีวิต ความเปลี่ยนแปลงของระบอบการสะสมทุนในครั้งนี้ นอกจากจะเกิดจากการปรับตัวต่อวิกฤติการสะสมทุนในระบบทุนนิยมแล้ว ยังเกิดจากความก้าวหน้าของพลังทางการผลิตโดยเฉพาะเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น มีการนำเอาคอมพิวเตอร์มาใช้ในการรวบรวม จัดเก็บ ถ่ายเท และวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งใช้ฐานข้อมูลขนาดใหญ่มาช่วยในการตัดสินใจในการทำธุรกิจ หรือการเกิดขึ้นของอินเตอร์เน็ตได้ช่วยทำให้พลังของทุนโดยเฉพาะทุนการเงินแทรกตัวไปได้แทบทุกที่บนโลก (วินัย 2563, 279-280) ซึ่งสอดคล้องกับที่ฮาร์วี (2555, 258-267) ชี้ให้เห็นว่าลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการสะสมทุนในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่คือ “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง” โดยการแพร่ขยายของอำนาจภาคการเงิน หรือ “ระบบธนานุวัฒน์” (Financialization) ที่เกิดจากการลดกฎเกณฑ์หรือการลดการกำกับดูแลลงเรื่อย ๆ เพื่อเปิดเสรีทางการเงิน ก็เป็นลักษณะข้อย่อยหรือส่วนประกอบสำคัญข้อหนึ่งในจำนวนทั้งหมด 4 ข้อที่เขาชี้ว่าเป็นวิธีการหลักในการสะสมทุนในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่

ฮาร์วี (2555, 260-261) ยังชี้ให้เห็นด้วยว่าการขยายอำนาจของภาคการเงินมีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากปีค.ศ. 1980 โดยมีลักษณะที่โดดเด่นอยู่ที่ “การเก็งกำไร” และ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ซึ่งจะเห็นได้จากรูปแบบต่าง ๆ ของการเก็งกำไรของนักล่าเงิน การปั่นหุ้นหรือฟองสบู่ การเข้าซื้อกิจการที่ผลการดำเนินงานไม่ดีแล้วนำมาเลือกขายเฉพาะสินทรัพย์ที่ทำกำไรจากนั้นก็ปิดกิจการนั้นโดยอาศัยการควบรวมกิจการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมการก่อหนี้ ซึ่งทำให้ประชากรทั้งชาติหรือแรงงานทั้งสังคมต้องกลายเป็นทาสใช้หนี้ และยังมีการขูดรีดของทุนผ่าน “ค่าเช่า” (Rent) ซึ่งปรากฏตัวอยู่ในรูปของดอกเบี้ย (Interest) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ การที่ระบบทุนนิยมพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาขึ้นมาเพื่อเป็นกลไกในการยึดจับมูลค่าของผลผลิตที่เป็น “อวัตถุ” (เก่งกิจ 2560ข, 102-103) สิ่งซึ่งสะท้อนให้เห็นเป็นรูปธรรมของคลื่นการขยายอำนาจทางการเงิน คือ ตัวเลขของธุรกรรมทางการเงินรายวันที่หมุนเวียนในตลาดระหว่างประเทศ กล่าวคือ ธุรกรรมทางการเงินประจำวันที่หมุนเวียนในตลาดระหว่างประเทศซึ่งมีมูลค่าวันละ 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีค.ศ. 1983 และในปีค.ศ. 2001 ได้เพิ่มเป็นวันละ 130 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ฮาร์วี 2555, 260-261) เมื่อถึงปีค.ศ. 2014 ธุรกรรมทางการเงินประจำวันมีมูลค่าวันละ 4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมูลค่านี้ถือว่าสูงกว่ากิจกรรมในภาคเศรษฐกิจจริงกว่า 20 เท่า โดยต้นเหตุที่ธุรกรรมทางการเงินมีตัวเลขมูลค่าสูงเช่นนี้เป็นเพราะมีการเก็งกำไรมากนั่นเอง (วินัย 2563, 344)

เงินที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดระหว่างประเทศมีปริมาณมากมายมหาศาลและมีรูปแบบที่หลากหลาย ระบบการเงินโลกจึงมีความสลับซับซ้อนสูงมาก วินัย ผลเจริญ (2563, 344) กล่าวว่าหลายครั้งปัญหาที่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจก็มีที่มาจากปัญหาทางการเงินนี่เอง ซึ่งเมื่อวิกฤติเกิดขึ้นแล้วก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ง่าย ๆ และยังมีผลกระทบต่อด้านอื่น ๆ ตามมาอีกไม่น้อย เช่น “วิกฤติต้มยำกุ้ง” หรือ “วิกฤติทางการเงินเอเชีย” ที่เริ่มต้นในประเทศไทยเมื่อปีค.ศ. 1997 แล้วแพร่กระจายไปยังประเทศอื่น ๆ นอกจากนั้น ก็จะเห็นจากปรากฏการณ์ความถดถอยทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่กระจายไปทั่วโลก หรือที่เรียกว่า “ภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่” (The Great Recession) ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2009 ก็เป็นผลอันเนื่องมาจาก “วิกฤติการเงินโลก” (The Global Financial Crisis) ในปีค.ศ. 2008 ที่เริ่มมาจากสหรัฐฯ และกระจายไปทั่วโลก และวิกฤติดังกล่าวก็เป็นผลสืบเนื่องมาจาก “วิกฤติสินเชื่อซับไพรม์” (Subprime Mortgate Crisis) ที่เกิดขึ้นในปีค.ศ. 2007 โดยเริ่มจากสหรัฐฯ เช่นกัน (วินัย 2563, 333-335)

ปรากฏการณ์ที่ยกมาไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่ามันมีสาเหตุมากจากการแพร่ขยายอำนาจของภาคการเงินจากการเปิดเสรีทางการเงินอย่างไร้ขอบเขต ซึ่งเป็นกลไกของการสะสมทุนแบบปล้นชิง ประเด็นที่ต้องการสื่อให้เห็นตรงนี้ก็คือ ต้นสายปลายเหตุของปัญหาดังกล่าวคือทุนนิยมเสรีนิยมใหม่นั่นเอง กระนั้นก็ดี แม้มันจะสร้างปัญหาต่าง ๆ มากมายและบางปัญหาก็มีผลกระทบไปทั่วโลก ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่กลับยังถูกเชิดชูและยังมีการสนับสนุนให้แพร่กระจายจนเติบโตไปทั่วโลกและมีความเข้มแข็งมากกว่าเดิมเสียด้วย ดังจะเห็นได้จากเมื่อประเทศใดเกิดวิกฤติ ระหว่างวิกฤติหรือหลังวิกฤติก็จะมีการเข้าไปจัดระเบียบโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองใหม่ที่ตั้งอยู่บนฐานของการนำเอาหลักการของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ไปใช้อย่างต่อเนื่อง (วินัย 2563, 334-335) ผ่านองค์กรหลักหรือสถาบันสามประสานหรือสามหุ้นส่วนครบวงจรอย่าง “กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกา” (United States Department of the Treasury) ศูนย์กลางทางการเงินของโลกและตลาดหลักทรัพย์ หรือที่นิยมเรียกโดยรวมว่า “วอลล์สตรีท” (Wall Street) และ “กองทุนการเงินระหว่างประเทศ” หรือ “ไอเอ็มเอฟ” (International Monetary Fund หรือ IMF) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากกรณีของประเทศไทยที่มีการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มาก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งแล้ว และเพราะการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจภายใต้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่นี้เองที่มีผลอย่างสำคัญต่อการเกิดวิกฤติดังกล่าว โดยเมื่อเกิดวิกฤติดังกล่าวไทยก็จำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากไอเอ็มเอฟ สิ่งที่ตามมาคือเงื่อนไขที่ต้องทำตามผู้ให้กู้ ซึ่งนั้นก็คือการที่รัฐไทยต้องดำเนินนโยบายไปในแนวทางของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างเข้มข้นมากขึ้น หรือในกรณีการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยที่ทำให้ประเทศยากจนต้องเข้าสู่ภาวะล้มละลายจนในที่สุดก็ต้องยอมรับโครงการการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เช่น กรณีเม็กซิโกที่สุดท้ายสหรัฐฯ ก็เข้ามา “กอบกู้เม็กซิโกไม่ให้ล้มละลาย” เพื่อรักษาการสะสมทุนระดับโลกให้เดินหน้าต่อไป สหรัฐฯ ก็กรุยทางเข้าไปปล้นเศรษฐกิจของเม็กซิโก ลักษณะดังกล่าวเป็นการแสวงหาประโยชน์จากวิกฤตการณ์ ด้วยการเข้าไปแทรกแซง ครอบงำ ผู้ที่เสียหายจากวิกฤตินั้น ๆ และบางครั้งยังมีการสร้างวิกฤติเล็ก ๆ หรือภาวะปัญหาบางอย่างขึ้นมาอีกด้วย เช่น การจงใจสร้างภาวะการว่างงานเพื่อให้เกิดกำลังแรงงานส่วนเกินที่มีจำนวนมาก (ฮาร์วี 2555, 262-264)

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนอย่างชัดเจนถึงสิ่งที่ Harvey เรียกว่า “การบริหารจัดการและการควบคุมเพื่อแสวงหาผลประโยชน์จากวิกฤติการณ์” (Management and Manipulation of Crisis) อันหมายถึง การสร้าง การบริหารและการแสวงผลประโยชน์จากวิกฤตการณ์ ซึ่งเป็นลักษณะข้อหนึ่งของการสะสมทุนด้วยการปล้นชิง เขายังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่าลักษณะทั้งหมดเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ดำเนินไปในเชิงลึกซึ่งทำให้เกิด “กับดักหนี้สิน” อันเป็นการดูดกลืนความมั่งคั่งจากประเทศยากจนไปสู่ประเทศร่ำรวย หรืออธิบายให้ชัดเจนมากขึ้นก็คือ เป็นการแทรกแซงจากรัฐและสถาบันระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีลักษณะของการเข้ามาควบคุมวิกฤตการณ์และการลดค่าเงินในลักษณะที่เอื้อให้การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง โดยไม่ทำให้ติดชนวนจนเกิดการพังทลายครั้งใหญ่และเกิดการลุกฮือของประชาชน ซึ่งโครงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่จัดการโดยสามประสานดังกล่าวจะเป็นผู้ดูแลปัญหาแรก ในขณะที่ปัญหาหลัง กล่าวคือ การลุกฮือของประชาชนจะเป็นหน้าที่ของรัฐในประเทศจะคอยดูแลไม่ให้เกิดขึ้น (ฮาร์วี 2555, 264) เพราะรัฐเป็นผู้ผูกขาดการใช้กำลังและความรุนแรงโดยชอบธรรม รวมถึงยังเป็นผู้ผูกขาดการนิยามความถูกต้องอีกด้วย ในแง่นี้เราจะพบว่า “รัฐ” (State) ก็เป็นหนึ่งในสถาบันที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยตรงกับการจัดสรรความมั่งคั่งและรายได้ใหม่ภายใต้การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง หรือที่ฮาร์วี เรียกว่า “การจัดสรรความมั่งคั่งใหม่โดยรัฐ” (State Redistributions)

ลักษณะข้อนี้ฮาร์วี (2555, 265) กล่าวว่า รัฐเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการดำเนินนโยบายของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐได้กลายเป็นผู้อำนวยการหรือเครื่องมือในการสะสมทุนของนายทุนนั่นเอง ซึ่งอันโตนิโอ เนกรี (Antonio Negri) ก็มีความเห็นไปในแนวทางเช่นเดียวกันว่า รัฐในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ได้กลายมาเป็นตัวแทนของชนชั้นนายทุนทั้งหมด (Collective Capital) ซึ่งรัฐประเภทนี้ไม่ใช่การเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง แต่รัฐทำหน้าที่เป็นกลไกปราบปรามที่ใช้อำนาจและความรุนแรงที่สมบูรณ์แบบอย่างตรงไปตรงมา โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดการและควบคุมสังคมทั้งหมดแทนชนชั้นนายทุน โดยเนกรีเรียกรัฐแบบนี้ว่า “รัฐสังคม” (Social State) (เก่งกิจ 2560ข, 105) นอกจากนั้น ในกรณีประเทศไทยงานศึกษาของษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี (2556, 159) ก็ได้ข้อสรุปคล้าย ๆ กันว่าบทบาทของรัฐไทยมีการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อกระบวนการสะสมทุนในระบบทุนนิยมโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่มีการลดบทบาทตนเองในฐานะผู้รับผิดชอบชีวิตประชาชนพลเมืองของตน แล้วมาเป็นผู้วางเงื่อนไขการค้าและการลงทุนที่เอื้อต่อระบบตลาดเสรี ในแง่นี้มันจึงได้ยืนยันอย่างนักเน้นต่อสิ่งที่มาร์กซ์ และเฟรเดอริค เองเกลล์ (Friedrich Engels) (2553, 43) เขียนไว้ใน The Communist Manifesto ว่า “...รัฐสมัยใหม่เป็นเพียงคณะกรรมการจัดการธุรกิจร่วมกันของชนชั้นนายทุนทั้งชนชั้นเท่านั้นเอง”[2]

การที่รัฐเป็นกลไกในการดำเนินนโยบายจัดสรรความมั่งคั่งใหม่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ Harvey เห็นว่าสอดคล้องกับสิ่งที่มาร์กซ์เคยอธิบายไว้ในหนังสือ “ทุน” เล่มที่ 1 คือ มโนทัศน์เรื่อง “การสะสมทุนแบบบุพกาล” (Primitive Accumulation) อย่างชัดเจน กล่าวคือ การที่รัฐเข้าทำการยึดและขับไล่ชาวนาชาวไร่ออกจากที่ดินของพวกเขา และผลักชาวนาชาวไร่เหล่านั้นให้เข้าสู่เมืองเพื่อขายกำลังแรงงานของตนให้ทุน รวมถึงการแปรเปลี่ยนให้ที่ดินเหล่านั้นกลายเป็นทุนภายใต้ระบบกรรมสิทธิ์เอกชนด้วย (ปวงชน 2555, 120) อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ไม่เพียงแต่ถูกรัฐยึดที่ดินทำกินไปเหมือนแนวคิดที่มาร์กซ์กล่าวไว้เท่านั้น[3] หากแต่พวกเขายังถูกริบทรัพย์ส่วนรวม (The Enclosure of The Commons) ที่ควรจะเป็นของใช้สอยส่วนรวมไปอีกด้วย โดยฮาร์วี (2555, 264-265) อธิบายว่า กระบวนการริบทรัพย์ส่วนรวมแฝงตัวอยู่ในการที่รัฐผลักดันแผนการแปรรูปและตัดลดงบประมาณรายจ่ายที่สนับสนุนค่าจ้างเชิงสังคม (Social Wage) ซึ่งเป็นภาระของรัฐบาล แล้วโยนกลับไปให้ผู้รับบริการหรือประชาชนแบกรับแทน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การแปรรูปสิ่งซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนรวมหรือสมบัติสาธารณะอันจำเป็นในการใช้ชีวิตหรือผลิตซ้ำทางสังคมในชีวิตประจำวันของประชาชน ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของรัฐที่จะต้องทำให้ประชาชนพลเมืองของตน ให้กลายเป็นหน้าที่หรือการบริการโดยภาคเอกชนบนหลักการของเอกชน กล่าวคือ เป็นการทำให้สมบัติส่วนรวมกลายเป็นสินค้าของซื้อขาย (Commodity) เพื่อการสะสมทุนหรือแสวงหากำไร ถึงแม้ในกรณีที่มีการแปรรูปดูเหมือนจะเป็นประโยชน์ต่อชนชั้นล่าง แต่ในระยะยาวกลับส่งผลกระทบในเชิงลบหรือเป็นประโยชน์ต่อนายทุนมากกว่า

ในการแปรรูปทรัพย์สมบัติสาธารณะให้กลายเป็นสินค้าเพื่อแสวงหากำไร ซึ่งเป็นการดำเนินตามแนวทางของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่อย่างเคร่งครัดตามหลักการของการทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า (Commodification of Everything) นี้ มีตั้งแต่สาธารณูปโภคทุกประเภท เช่น น้ำ ไฟฟ้า โทรคมนาคม การขนส่ง ฯลฯ สวัสดิการทางสังคมต่าง ๆ เช่น การเคหะ การศึกษา การดูแลสุขภาพ บําเหน็จบํานาญ ฯลฯ นอกจากนั้น ก็ยังมีสถาบันสาธารณะ เช่น โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องทดลอง คุก ฯลฯ และแม้กระทั่ง “กองทัพ” ในการทำสงคราม (ฮาร์วี 2555, 259) นอกจากการแปรรูปในแบบต่าง ๆ ข้างต้น ฮาร์วี (2555, 260) ยังชี้ให้เห็นอีกด้วยว่ามีการทำให้รูปแบบวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาสร้างสรรค์กลายเป็นสินค้า หรือที่เรียกว่า “สินค้าอวัตถุ” ด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เกิดการปล้นชิงแบบเหมารวม เช่น อุตสาหกรรมดนตรีที่ขึ้นชื่อในเรื่องการดูดกลืนและขูดรีดวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ของประชาชนรากหญ้า สิทธิในทรัพย์สินส่วนรวมซึ่งกว่าจะได้มาก็ต้องอาศัยการต่อสู้ทางชนชั้นอย่างยากลำบากและยาวนาน สิ่งเหล่านี้กลับถูกเปลี่ยนให้กลายเข้าไปอยู่ในอาณาเขตของกรรมสิทธิ์เอกชน หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ กรรมสิทธิ์ของชนชั้นนายทุน ซึ่งการแปรรูปของสิ่งที่เคยเป็นสมบัติสาธารณะหรือทรัพย์สินส่วนรวมให้มีลักษณะเป็นสมบัติหรือกรรมสิทธิ์เอกชนนี้ ก็เป็นลักษณะสำคัญประการหนึ่งของการสะสมทุนด้วยการปล้นชิง ดังที่ฮาร์วีเรียกว่า “การแปรรูปและการทำให้เป็นสินค้า” (Privatization and Commodification) โดยกระบวนการดังกล่าวมีเป้าหมายพื้นฐานอยู่ที่เพื่อการเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ สำหรับการสะสมทุนในอาณาบริเวณที่เคยถือกันว่าอยู่นอกขอบเขตของการคำนวณเพื่อแสวงหากำไร

กลับมาที่บทบาทของรัฐในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ นอกจากรัฐจะทำการแปรรูปและการทำให้เป็นสินค้าของสิ่งที่เป็นทรัพย์สินสาธารณะแล้ว รัฐทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ยังออกกฎระเบียบและนโยบายต่าง ๆ เช่น การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การตัดทอนลดงบประมาณรัฐ การยกเลิกหรือผ่อนปรนกฎระเบียบข้อบังคับของรัฐเพื่อเอื้อต่อการลงทุน หรือที่ฮาร์วี (2555, 266) ยกตัวอย่างรูปธรรมให้เห็นชัดเจนอย่างการจัดสรรความมั่งคั่งและรายได้ใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการเก็บภาษีเพื่อให้เอื้อผลประโยชน์แก่นายทุนมากกว่าชนชั้นกรรมาชีพซึ่งเป็นผู้มีรายได้จากเงินเดือนหรือค่าจ้าง โดยรัฐได้ส่งเสริมการลดภาษีทางตรงอัตราก้าวหน้าที่เก็บจากบรรดานายทุน และยกเลิกภาษีมรดก โดยหันมาจัดเก็บภาษีทางอ้อม หรือที่ฮาร์วีเรียกว่า “ภาษีแบบอัตราถอยหลัง” (Regressive Tax) ซึ่งเป็นระบบภาษีที่ผู้มีรายได้มากหรือนายทุนจะได้จ่ายภาษีน้อยลงและมุ่งหน้าขูดรีดเอาจากชนชั้นกรรมาชีพ เช่น ภาษีการขายซึ่งเป็นภาษีที่เก็บจากผู้ซื้อสินค้า หรือที่เรียกอีกอย่างว่า “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” (Value Added Tax หรือ VAT) นอกจากนั้น ก็ยังมีการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้ใช้บริการ รวมทั้งการจัดหาเงินอุดหนุนแบบต่าง ๆ และการลดหย่อนภาษีให้บริษัทธุรกิจ กระบวนการเหล่านี้ไม่ใช่ทำไปเพื่อวัตถุประสงค์อื่นใด แต่เป็นไปเพื่อเอื้อผลประโยชน์ต่อการสะสมทุนของนายทุนทั้งในและต่างประเทศหรือที่เรียกว่า “บรรษัทข้ามชาติ” (Multinational Corporation) ทั้งสิ้น

การที่รัฐ ๆ หนึ่งออกกฎระเบียบหรือนโยบายที่เอื้อต่อทุนต่างชาติด้วยก็ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอื่นใด แต่เป็นเพราะทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มันขับเคลื่อนตัวเองผ่าน “โลกาภิวัตน์” (Globalization) เพื่อทำให้เกิด “ความเป็นสากลของทุนนิยม” (The Internationalization of Capitalism) ซึ่งเป็นกระบวนการในการพยายามผลิตซ้ำระบบทุนนิยมโลกที่มีสหรัฐฯ เป็นศูนย์กลาง โดยรัฐต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้ระบบโครงสร้างอำนาจโลกต้องปรับตัว ยอมตาม และสนับสนุนระเบียบตลาดเสรี โดยที่รัฐในแต่ละรัฐจะมีส่วนสำคัญในการสร้างเงื่อนไขให้ทุนภายในขยายไปเป็นทุนข้ามชาติ พร้อมกับการทำให้ทุนภายในเชื่อมกับระบบทุนนิยมระดับโลก (กุลลดา 2556, 38) กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็นการผนวกรวมเอาทุกประเทศให้เข้าไปสู่กระบวนการสะสมทุนและการขูดรีดในระดับสากลทั้งภาคการผลิตและภาคการเงินนั่นเอง ส่งผลทำให้ทุนสามารถเคลื่อนย้ายเชิงภูมิศาสตร์ได้อย่างอิสระมากขึ้นกว่าเดิมเป็นอย่างมาก ในขณะที่แรงงานเคลื่อนย้ายได้ยากเพราะการอพยพย้ายถิ่นมีข้อจำกัดหลายประการ หากจะหลบเลี่ยงกำแพงข้อนี้ก็ต้องลักลอบข้ามแดนโดยผิดกฎหมายซึ่งทำให้เกิดแรงงานอพยพที่ขูดรีดง่าย ทำให้ทุนมีอำนาจเหนือแรงงานทั้งโลก (ฮาร์วี 2555, 272) ดังนั้น ในระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เราจะพบเห็นกระบวนการขูดรีดแรงงานภายในรัฐ ๆ หนึ่งโดยกลุ่มทุนต่างชาติมากขึ้น และเรายังจะเห็นอีกว่ากลุ่มทุนภายในรัฐหนึ่ง ๆ บางกลุ่มโดยเฉพาะทุนใหญ่จะพัฒนาตัวเองไปเป็นทุนที่มีลักษณะข้ามชาติมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกไปลงทุนภายนอกประเทศ หรือผ่านการร่วมลงทุนกับทุนภายนอกก็ตาม (กุลลดา 2556, 36)

สำหรับกรณีประเทศไทยนั้นก็ได้รับแรงอิทธิพลในการทำให้เป็นสากลของทุนนิยมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ดังจะเห็นว่าก่อนหน้าวิกฤติต้มยำกุ้ง เหล่าบริษัทข้ามชาติทั้งหลายที่เข้ามาสะสมทุนในไทย ต้องดำเนินการอยู่ภายในกรอบกฎหมายและหลักปฏิบัติที่รัฐกำหนดและบังคับใช้ซึ่งมีข้อห้ามมากมาย เช่น ห้ามดำเนินกิจการหลายอย่างโดยเฉพาะภาคบริการ จนทำให้บริษัทข้ามชาติเหล่านั้นจำต้องร่วมทุนกับกลุ่มทุนไทย ในยุคนั้นกลุ่มทุนไทยจึงมีสถานะสิทธิพิเศษมากกว่าบริษัทข้ามชาติ (ผาสุก 2549, 21) อย่างไรก็ตาม หลักจากวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งมีผลกระทบสร้างความเสียหายต่อกลุ่มทุนไทยหลายสาขา ทำให้รัฐบาลมีความเห็นว่าจำเป็นที่จะต้องยกเลิกกฎระเบียบข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งเป็นมาตรการคุ้มครองหรือให้สิทธิพิเศษแก่กลุ่มทุนไทย และยอมให้กลุ่มทุนข้ามชาติเข้ามาดำเนินกิจการได้อย่างเสรีมากขึ้น (ผาสุก 2549, 23) ส่งผลให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่จำนวนมากอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ จึงสามารถกว้านซื้อกิจการที่ประสบปัญหาหรือล้มละลายได้ในราคาถูกและควบรวมกิจการกับธุรกิจที่ประสบปัญหานั้น ๆ ในแง่นี้ผาสุก พงษ์ไพจิตร (2549, 24) ชี้ให้เห็นว่ามันได้ทำให้บรรษัทข้ามชาติมีพลังมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทย และขณะเดียวกันก็เกิดการกระจุกตัวของสินทรัพย์ในมือกลุ่มทุนไทยจำนวนน้อยบางกลุ่มที่สามารถเอาตัวรอดจากวิกฤติครั้งนั้นได้ นอกจากนั้น กลุ่มทุนไทยที่อยู่รอดเหล่านี้ยังมีความสามารถในการขยับขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศในฐานะบริษัทข้ามชาติได้อีกด้วย การทำให้ทุนเป็นสากลดังกล่าวทำให้เกิด “ชนชั้นนายทุนข้ามชาติ” ขึ้น ซึ่งมีฐานการสะสมทุนอยู่ในตลาดระดับโลก โดยมี “รัฐแบบข้ามชาติ” อันเป็นการรวมตัวกันของสถาบันทางการเมืองและสถาบันทางเศรษฐกิจและการเงินในระดับเหนือชาติกับกลไกระดับรัฐชาติที่ถูกพลังข้ามชาติแทรกเข้าไปครอบงำคอยทำหน้าที่จัดระเบียบการบริหารจัดการที่เอื้อต่อทุนข้ามชาติ และจากพลังที่มากมายของทุนข้ามชาติก็ได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบใหม่และความไม่เท่าเทียมที่มากขึ้นในสังคมโลก (วินัย 2563, 50-51)

กระบวนการที่กล่าวมาทั้งหมดคือการเดินตามหลักการของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ที่เน้นกลไกของตลาดเสรี (Free Market) แบบเข้มข้น โดยปล่อยให้ปัจเจกบุคคลได้แข่งขันกันอย่างเสรีภายใต้ระบบตลาดที่มีกลไกในการจัดการตนเอง หรือที่เรียกว่า “มือที่มองไม่เป็น” (Invisible Hand) หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หลักการของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ก็คือการพยายามเดินทางให้เข้าใกล้คำว่า “ตลาดการแข่งขันสมบูรณ์” (Perfect Competition) นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นมันกลับเป็นไปในทางตรงกันข้ามมากกว่า เนื่องจากการที่ปัจเจกบุคคลสามารถแข่งขันกันได้อย่างอิสระเสรีภายใต้ระบบตลาดนี้นี่เอง กล่าวคือ ในท้ายที่สุดการแข่งขันดังกล่าวมันจะนำพาไปสู่การที่ผู้แข่งขันในตลาดบางรายที่มีต้นทุนสูงหรือความมั่งคั่งที่เหนือกว่าทุนอื่น ๆ หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้วก็หมายถึง “อำนาจทางเศรษฐกิจ” ที่ผู้แข่งขันมีอยู่เหนือผู้แข่งขันคนอื่น ๆ นั่นเอง โดยผู้ที่มีความมั่งคั่งเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นนี้ก็จะใช้ประโยชน์จากศักยภาพที่ว่านี้กำจัดคู่แข่งคนอื่น ๆ ไป ซึ่งท้ายที่สุดก็จะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า “การผูกขาด” (Monopoly) หรือ “การผูกขาดโดยผู้แข่งขันน้อยราย” ในตลาด (สิริพรรณ และคณะ 2557, 115)

สอดคล้องกับวินัย ผลเจริญ (2563, 51) ที่ได้ชี้ให้เห็นว่าภายใต้ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ทุนมีลักษณะที่ผูกขาดมากขึ้นหรือมีการควบรวมกิจการกันมากขึ้นเรื่อย ๆ และเขายังเสริมต่อว่าในการควบรวมกิจการให้เป็นบริษัทที่ใหญ่ขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ไม่จำเป็นจะต้องเกิดจากการรวมตัวกันของบริษัทสัญชาติเดียวกันเท่านั้น ดังที่ปรากฏว่าบรรษัทใหญ่ ๆ ที่เกิดจากการควบรวมกิจการกันนั้นไม่ได้เป็นบริษัทที่เป็นตัวแทนของสหรัฐฯ หากแต่เป็นบริษัทของกลุ่มทุนข้ามชาติ ในแง่นี้เขาจึงสรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า กลุ่มทุนข้ามชาติมีความเหนียวแน่นมากกว่ายุคที่วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin) เรียกว่า “จักรวรรดินิยม” ซึ่งเป็นยุคที่ทุนยังผูกติดอยู่กับสัญชาติใดสัญชาติหนึ่งเมื่อมีการแข่งขันกันก็นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ

ดังนั้น การที่ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เน้นบทบาทของตลาดเสรีเพื่อให้เข้าใกล้คำว่า “ตลาดแข่งขันสมบูรณ์” จึงหมายถึงการเข้าใกล้ภาวะการผูกขาดมากขึ้นของทุนนั่นเอง ซึ่งในประเด็นนี้ฮาร์วี (2562, 208) กล่าวไว้ได้แหลมคมทีเดียวว่า “อำนาจผูกขาดมิใช่ความผิดเพี้ยน [ตามที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกล่าวอ้าง] หากแต่เป็นรากฐานการทำงานของทุน และมันดำรงอยู่ในเอกภาพที่มีความขัดแย้งกับการแข่งขัน” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การแข่งขันในตลาดเสรีเป็นกลไกสำคัญที่จะนำพาไปสู่การผูกขาดในท้ายที่สุดนั่นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนถึงตรงนี้มันประสบความสำเร็จอย่างสวยงามมาได้ไม่ใช่เพียงแค่การที่ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจหรือนายทุนมีอำนาจผู้ขาดทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มันยังหมายถึงการที่ชนชั้นดังกล่าวผูกขาดอำนาจในทางการเมืองด้วย หรือที่เรียกโดยรวมว่า “อำนาจผูกขาดของชนชั้นทุน” (ฮาร์วี 2562, 208-209) ในแง่นี้มันจึงยืนยันอย่างหนักแน่นมากขึ้นไปอีกว่ารัฐเป็นเครื่องมือในกระบวนการสะสมทุนของนายทุน

 

4. มองประเทศไทยใน “ระบอบประยุทธ์” ภายใต้ยุทธศาสตร์ของการสะสมทุนแบบเสรีนิยมใหม่

สำหรับกรณีประเทศไทยในยุคปัจจุบัน หากพิจารณาจากกรอบข้างต้นจะเห็นได้ชัดเจนในสมัยรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ได้สร้าง “โครงการประชารัฐ” ขึ้นมา อันถือว่าเป็นนโยบายที่เป็นแกนหรือนโยบายหลักของนโยบายทางเศรษฐกิจของ “ระบอบประยุทธ์” (The Prayuth Regime) โดยโครงการดังกล่าวมีลักษณะสำคัญคือ เป็นโครงการที่เปิดพื้นที่ให้ทุนใหญ่ของประเทศ (ซึ่งมีทั้งหมด 24 กลุ่มที่เข้าร่วมโครงการ) ได้แสดงบทบาทนำในฐานะ “พี่ใหญ่” หรือ “พี่เลี้ยง” คอยดูแลธุรกิจของผู้ประกอบการในท้องถิ่นหรือผู้ประกอบการรายย่อยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของตน ซึ่งโครงการประชารัฐไม่ใช่โครงการที่มีวัตถุประสงค์ในการเข้าไปส่งเสริมหรือสนับสนุนให้ธุรกิจในท้องถิ่นได้ก้าวทันทุนใหญ่แต่อย่างใด แต่สะท้อนว่ารัฐอำนวยความสะดวกให้ทุนใหญ่เข้าครอบงำกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น หรือมีความพยายามร่วมกันระหว่างรัฐและทุนใหญ่ที่จะเข้าไปทำให้ตลาดที่มีการแข่งขันกลายเป็นตลาดที่มีช่วงชั้น หรือที่เรียกว่า “ทุนนิยมแบบช่วงชั้น” (Hierarchical Capitalism) (ประจักษ์ และ วีรยุทธ 2561, 6-41) ซึ่งการทำเช่นนี้ทำให้ทุนที่เล็กกว่าต้องขึ้นกับทุนใหญ่เพื่อความอยู่รอด เกษียร เตชะพีระ กล่าวว่า “ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบนี้จะกีดกันกลุ่มทุนเล็กหรือทุนหน้าใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาดผูกขาดนี้” (วินัย 2563, 341) หรือกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว โครงการดังกล่าวได้ส่งเสริมให้ทุนใหญ่เข้าไปครอบงำ กีดกัน และกดขี่ขูดรีดเอารัดเอาเปรียบกลุ่มทุนเล็ก ๆ ซึ่งทำให้กลุ่มทุนเล็ก ๆ ในท้องถิ่นอ่อนแอในที่สุด หรือกล่าวตามภาษาของฮาร์วีก็คือ การเข้าไปสร้างวิกฤติและกอบกู้วิกฤติในเวลาเดียวกัน โดยมีรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือจัดสรร จากนั้นก็จะถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการควบรวม ซึ่งในท้ายที่สุดก็จะทำให้เกิดอาการของการผูกขาดนั่นเอง

นอกจากโครงการประชารัฐแล้ว โครงการหรือนโยบายต่าง ๆ ที่เอื้อผลประโยชน์ต่อทุนที่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศออกมา เรายังเห็นได้ผ่าน “แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ซึ่งตามความเห็นของอรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวออกมาเพื่อเกื้อหนุนต่อทุนใหญ่และเหยียบย้ำคนจนและกดขี่คนในภาคการเกษตรกรรมอย่างถึงที่สุด โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ผลที่จะเกิดขึ้นภายใต้ยุทธศาสตร์ดังกล่าวคือประเทศไทยจะกลายเป็นสมบัติของบรรษัท จะมีการเบียดขับชาวนาชาวไร่ออกจากพื้นที่ ซึ่งจะเกิดขึ้นใน 3 ลักษณะ คือ หนึ่ง การสร้างโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคและพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้มีการเปลี่ยนที่ดินเป็นสินค้ามากขึ้น ส่งผลให้เกิดการไล่ชาวนาเช่าออกจากที่ดิน สอง การขยายตัวของอุตสาหกรรมการเกษตร รัฐและทุนใหญ่โดยฉพาะทุนการเกษตรได้ผนวกเป็นเนื้อเดียวกัน เช่น ที่จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่ของทุนใหญ่ได้เดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อบอกชาวบ้านว่าให้เปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาเป็นปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น สาม การขยายตัวของการท่องเที่ยว รัฐได้เข้าไปจัดการการท่องเที่ยวแทนชาวบ้าน หรือเข้าไปเกื้อหนุนภาคธุรกิจเอกชนในการจัดการการท่องเที่ยว การที่รัฐในรัฐบาลประยุทธ์ได้ร่วมมือกับทุนใหญ่เช่นนี้ อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ชี้ว่ามันเป็นการสถาปนา “รัฐบรรษัทอำนาจนิยม” ขึ้นมาในสังคมไทย (วินัย 2563, 341-343) 

ภายใต้การที่รัฐบาลประยุทธ์เอื้อผลประโยชน์ต่อทุนใหญ่ เราจะเห็นทุนใหญ่เหล่านั้นเอื้อผลประโยชน์ หรือสนับสนุนรัฐบาลและเครือข่ายรัฐบาลประยุทธ์เช่นกัน ดังจะเห็นจากเมื่อมีการตั้งพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำจัดตั้ง “รัฐบาลประยุทธ์ 2” ได้มีการจัดระดมทุนในวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2561 และในเวลาต่อมาพรรคพลังประชารัฐก็ได้ติดประกาศรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมระดมทุน โดยมีทั้งหมด 24 ราย เป็นเงินทั้งหมด 90 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ในประเทศทั้งสิ้น (ประชาชาติธุรกิจ 18 มกราคม 2562) หรือจะเห็นได้จากช่วงที่ประเทศไทยกำลังประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิค-19 อย่างรุนแรง ได้มีข่าวว่าประยุทธ์ได้ส่งจดหมายถึงมหาเศรษฐีไทยที่รวยที่สุด 20 คน ซึ่งขอให้มหาเศรษฐีเหล่านั้นช่วยเหลือ โดยให้ส่งเอกสารนำเสนอโครงการที่จะช่วยเหลือประชาชนด้วยวิธีที่เป็นรูปธรรม และต่อมามหาเศรษฐีทั้ง 20 คนก็ได้ตอบรับคำขอร้องของรัฐบาลครบทุกคน (วินัย 2563, 339-340) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นสะท้อนอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลประยุทธ์กับกลุ่มทุนใหญ่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดและเอื้อผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน ภายใต้การเอื้อผลประโยชน์ต่างตอบแทนกันดังกล่าวมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคเศรษฐกิจใหม่ได้ชี้ให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2557-2562) ที่ผ่านมา รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาได้ใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์และสร้างระบบผูกขาด จนทำให้กลุ่มทุนใหญ่มีความมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นอย่างมากชนิดที่เรียกว่า “รวยแบบก้าวกระโดด” (วินัย 2563, 339) ที่อภิปรายกรณีตัวอย่างประเทศไทยมาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นชัดเจนถึงยุทธศาสตร์การสะสมทุนแบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่หรือที่ Harvey เรียกว่า “การสะสมทุนด้วยการปล้นชิง”

5. บทสรุป: ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่คือโครงการทางการเมืองเพื่อการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนายทุน

หากพิจารณาจากสิ่งที่เกิดขึ้นข้างต้น ในมุมมองของฮาร์วี (2555, 33) ก็หมายความว่าทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะมันสามารถฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนายทุนให้ขึ้นมาตั้งมั่นและผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองได้ ดังที่เขากล่าวว่า ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็น “โครงการทางการเมือง ที่มุ่งสถาปนาเงื่อนไขของการสะสมทุนและการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนำทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่อีกครั้ง... และในหลาย ๆ กรณียังหมายถึงการสร้างชนชั้นนำทางเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ด้วย” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็นโครงการทางเศรษฐกิจการเมืองเพื่อการรื้อฟื้นอำนาจของชนชั้นนายทุนที่สามารถอยู่เหนือชนชั้นกรรมาชีพได้อย่างเบ็ดเสร็จ ดังจะเห็นจากตัวเลขซึ่งเป็นหลักฐานที่เป็นรูปธรรมที่สุด โดยฮาร์วี (2555, 29) ชี้ให้เห็นว่า “หลังจากที่มีการแพร่ขยายของทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ในปลายทศวรรษ 1970 ส่วนแบ่งรายได้ประชาชาติของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุดร้อยละ 1 ในสหรัฐฯ กระโดดสูงขึ้นถึงร้อยละ 15 เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ผ่านมา กลุ่มผู้มีรายได้สูงสุดร้อยละ 0.1 ในสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2 ในปีค.ศ. 1979 เป็นมากกว่าร้อยละ 6 ในปีค.ศ. 1999 ในขณะที่ความต่างของรายได้ของกรรมกรโดยเฉลี่ยเมื่อเทียบกับเงินเดือนของระดับผู้บริหารซีอีโอก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก จากที่เคยอยู่ในระดับ 30 ต่อ 1 ในปีค.ศ. 1970 ก็เพิ่มมาเกือบ 500 ต่อ 1 ในปีค.ศ. 2000” กระนั้นก็ดี ฝ่ายที่สนับสนุนทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มักจะกล่าวอ้างถึงความสำเร็จของการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของเสรีภาพ แต่ในความเป็นจริงอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกโดยรวมกลับลดลงอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมภายในประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ดังจะเห็นว่าช่องว่างระหว่างประชาชนในประเทศที่รวยที่สุด 5 อันดับของโลกกับประเทศที่ยากจนที่สุด 5 อันดับของโลกคือ 74 เท่าในปีค.ศ. 1997 ซึ่งเพิ่มจาก 60 เท่าในปีค.ศ. 1970 และ 30 เท่าในปีค.ศ. 1960 (เก่งกิจ 2562, 6)

นอกจากนี้ เราอาจเห็นได้จากตัวเลขสถิติของการครอบครองความมั่งคั่งของ “พวก 1%” (The richest 1%) หรือกลุ่มปัจเจกบุคคลเพียงไม่กี่โหลบนโลกใบนี้ก็ได้ กล่าวคือ ในรายงานของ OXFAM (Oxford Committee for Famine Relief) ได้เผยให้เห็นว่า มหาเศรษฐีหรือคนที่รวยที่สุดในโลก 10% ซึ่งเป็นเจ้าของที่ครอบครองความมั่งคั่งที่มีมูลค่ารวมแล้วมากเท่ากับทรัพย์สินของคน 3,600 ล้านคนรวมกัน ซึ่งเป็นคนที่จนที่สุด 50% ของคนจนทั้งโลก โดยในช่วงปีค.ศ. 2010-2015 กลุ่มคนที่รวยที่สุดดังกล่าวซึ่งมีจำนวน 62 ราย (จากเดิมในปีค.ศ. 2010 มี 388 ราย) ความมั่งคั่งของพวกเขาได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 45% หรือเพิ่มขึ้นโดยรวมกว่าครึ่งล้านล้านดอลลาร์ กล่าวคือ จาก 542 พันล้านดอลลาร์เป็น 1.76 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว ความมั่งคั่งของครึ่งล่างหรือคนจนกลับลดลงมากกว่าล้านล้านดอลลาร์ กล่าวคือ ลดลง 38% (Hardoon, Ayele, and Fuentes-Nieva 2016) นอกจากนี้ จำนวนของคนที่รวยที่สุดดังกล่าวพอมาถึงปีค.ศ. 2017 ก็ได้หดตัวลงอีกเหลือเพียง 8 ราย ในขณะที่สถิติการครองความมั่งคั่งของพวกเขาเมื่อรวมกันแล้วยังเท่ากับคนจนในจำนวนเท่าเดิม (Hardoon 2017)

ในกรณีของประเทศไทย องค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (Oxfam in Thailand) ก็ได้เปิดเผยให้เห็นเช่นกันว่า 5 ปีที่ผ่านมา (นับถึงปีพ.ศ. 2560) คนรวยที่สุด 1% เป็นเจ้าของความมั่งคั่งมากกว่าคนที่เหลือทั้งประเทศรวมกัน และคนที่รวยที่สุด 10% แรกมีรายได้มากกว่าคนที่จนที่สุด 10% สุดท้ายถึง 35 เท่า ในขณะที่เศรษฐีระดับหลายพันล้านของไทยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา (นับถึงปีพ.ศ. 2560) ก็เพิ่มขึ้นจาก 5 คนเป็น 28 คน และทั้งหมดมีทรัพย์สินรวมกันมากถึง 9.14 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในทางกลับกันประชากรของไทย 7 ล้านคนยังอยู่ในเส้นความยากจน นอกจากนี้ อ็อกแฟมประเทศไทยยังเผยให้เห็นอีกว่าคนรวยที่สุด 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ และยังชี้อีกด้วยว่ายิ่งนายทุนหรือกลุ่มทุนมีความมั่งคั่งมากเพียงใด โอกาสที่จะลงเล่นการเมืองหรือเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางการเมืองก็จะมีเพิ่มมากขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้คนรวยสามารถเข้าถึงเครือข่ายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนนโยบายที่ตัวเองได้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ (กรุงเทพธุรกิจ 6 กุมภาพันธ์ 2560) ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่ฮาร์วีเรียกว่า “อำนาจผูกขาดของชนชั้นทุน” นั่นเอง ข้อมูลดังกล่าวถูกตอกย้ำให้ชัดเจนมากขึ้นเมื่อกลุ่มบริษัทที่ให้บริการทางการเงินชื่อ “Credit Suisse” ได้รายงานสถานการณ์ความมั่งคั่งทั่วโลก (Global Wealth Report) ประจำปีค.ศ. 2018 ซึ่งพบว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงมากเช่นกัน ดังจะเห็นจากสัมประสิทธิ์ค่าจีนีที่วัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ซึ่งพบว่าประเทศไทยอยู่ที่ 90.2% (เข้าใกล้ 100% ยิ่งมีความเหลื่อมล้ำ) ซึ่งหมายถึงว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมากนั่นเอง (คมปทิต 2561)

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีความหมายอื่นเลยนอกจากจะหมายถึงสิ่งเดียวกับที่ฮาร์วีกล่าวไว้นั่นคือทุนนิยมเสรีนิยมใหม่เป็นโครงการของการฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนายทุน ซึ่งก็คือการผูกขาดอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจการเมืองนั่นเอง หากมองในแง่นี้ทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ประสบความล้มเหลวอย่างมากในการกระตุ้นการสะสมทุนของระบบทุนนิยมโลก และไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตหรือความอยู่ดีกินดีโดยรวมได้ ดังนั้น หากจะสรุปโดยภาพรวม ระบบทุนนิยมเสรีนิยมใหม่จึงเป็นเพียงระบบ “คนมั่งคั่งครองโลก” (Global Plutocracy) หรือระบบเศรษฐกิจที่ออกแบบมาสำหรับคน 1% (An Economy For the 1%) เท่านั้น

ขอจบตอนที่ 1 ไว้แต่เพียงเท่านี้ โดยในตอนที่ 2 ผู้เขียนจะชี้ในเห็นว่าลักษณะในกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมในปัจจุบันที่มีลักษณะยืดหยุ่นและเป็นอวัตถุนั้นหมายความว่าอย่างไร และเพราะเหตุใดมันจึงเป็นเช่นนั้น ก่อนที่จะสรุปในตอนท้ายว่าในด้านหนึ่งทุนนิยมเสรีนิยมใหม่มันได้ฟื้นฟูอำนาจของชนชั้นนายทุนก็จริง แต่หากมองกลับในอีกด้านหนึ่งมันกำลังขุดหลุมฝังตัวเองอยู่หรือไม่

 

เอกสารอ้างอิง

กุลลดา เกษบุญชู มี้ด. 2556. “กระบวนการเข้าสู่ความเป็นสากลของระบบทุนนิยมและเสรีนิยมใหม่.” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 43, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 7-43.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2558. เอกสารประกอบการสอนรายวิชา 160413 อุตสาหกรรมกับแรงงาน. เชียงใหม่: ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. Academia, เข้าถึงเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2564. https://www.academia.edu/21116836/เอกสารประกอบการสอนวิชาอุตสาหกรรมกับแรงงาน_Industry_ and_Labour_.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560ก. เริ่มต้นจากจุดเริ่มต้น: ทฤษฎีมาร์กซิสต์ในศตวรรษที่ 21. เชียงใหม่: ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2560ข. Autonomia ทุนนิยมความรับรู้ แรงงานอวัตถุ การเมืองของการปฏิวัติ. กรุงเทพฯ: Illumination Editions.

เก่งกิจ กิติเรียงลาภ. 2562. “หน่วยที่ 12 กระแสโลกาภิวัตน์จากรากฐาน.” ใน เอกสารการสอนชุดวิชาเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ รหัส 82324 หน่วยที่ 11-15, พิมพ์ครั้งที่ 6, 1-53. นนทบุรี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.

คมปทิต สกุลหวง. 2561. “ไทยกับปัญหาความเหลื่อมล้ำปี 2018.” The Standard, 7 ธันวาคม 2561. เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2564. https://thestandard.co/global-wealth-report-2018/.

ประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีรยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. 2561. “ระบอบประยุทธ์: การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น.” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 16, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 6-41.

ปวงชน อุนจะนำ. 2555. “บททดลองเสนอเบื้องต้นว่าด้วยการสะสมทุนแบบบุพการ.” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 8, ฉบับที่ 1 (มกราคม-มิถุนายน): 109-137.

ผาสุก พงษ์ไพจิตร. 2549. “บทนำ การต่อสู้ของทุนไทย การปรับตัวและพลวัตหลังวิกฤตปี 2540,” ใน การต่อสู้ของทุนไทย เล่ม 1. บก. ผาสุก พงษ์ไพจิตร, 15-40. กรุงเทพฯ: มติชน.

“พปชร. ติดประกาศรายชื่อเงินระดมทุน 90 ล้าน “บิ๊กธุรกิจ” โผล่อื้อ ทั้ง “คิงพาวเวอร์-มิตรผล-ทีพีไอ.” ประชาชาติธุรกิจ, 18 มกราคม 2562. เข้าถึงเมื่อ 7 ธันวาคม 2563. https://www.prachachat.net/ politics/news-279708.

มาร์กซ์, คาร์ล. และ เองเกลล์, เฟรเดอริค. 2553. แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์. นนทบุรี: ไฟลามทุ่ง.

แมนเดล, เอิร์นเนสท์. 2518. หลักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์เบื้องต้น. แปลโดย ทวี หมื่นนิกร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์.

วินัย ผลเจริญ. 2563. โลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่กับความพ่ายแพ้ของรัฐไทย. มหาสารคาม: โครงการผลิตและเผยแพร่ตำราและผลงานทางวิชาการ วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี. 2556. “ชนชั้นแรงงานเสี่ยง กลุ่มคนชายขอบ บนศูนย์กลางทุนนิยมเสรีนิยมใหม่.” วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 43, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม): 157-172.

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และคณะ. 2557. “Liberalism/ Neo-Liberalism เสรีนิยม และเสรีนิยมใหม่.” ใน คำและแนวคิดในประชาธิปไตยสมัยใหม่, 112-117. กรุงเทพฯ: มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท แห่งประเทศไทย.

“‘อ็อกแฟม’ เผยรายงานสะท้อนความเหลื่อมล้ำสังคมไทย.” กรุงเทพธุรกิจ, 6 กุมภาพันธ์ 2560. เข้าถึงเมื่อ 8 ธันวาคม 2564. https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/739420.

ฮาร์วี, เดวิด. 2555. ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของลัทธิเสรีนิยมใหม่. แปลโดย เก่งกิจ กิติเรียงลาภ นรุตม์ เจริญศรี ภัควดี วีระภาสพงษ์ สุรัตน์ โหราชัยกุล และ อภิรักษ์ วรรณสาธพ. กรุงเทพฯ: สวนเงินมีมา.

Bonefeld, Werner. 2010. “Free economy and the strong state: Some notes on the state.” Capital & Class 34, No. 1 (February): 15-24.

Hardoon, Deborah. 2017. “An economy for the 99%: It’s time to build a human economy that benefits everyone, not just the privileged few.” Oxfam International, 16 January 2017. Accessed 8 December 2021. https://www.oxfam.org/en/research/economy-99.

Hardoon, Deborah., Ayele, Sophia. and Fuentes-Nieva, Ricardo. 2016. “An Economy For the 1%: How privilege and power in the economy drive extreme inequality and how this can be stopped.” Oxfam International, 18 January 2016. Accessed 8 December 2021. https://www.oxfam.org/en/research/economy-1.

 

[1] ผู้เขียนนึกถึงคำพูดที่ว่า “you don’t hate Mondays, you hate Capitalism” ซึ่งมีนัยยะว่า คุณไม่ได้เกลียดวันจันทร์นะ แต่คุณไม่ชอบวันทำงานในระบบทุนนิยมต่างหาก หรือกล่าวให้ถึงที่สุดก็คือ คุณไม่ชอบทำงานในระบบทุนนิยมนั่นเอง

[2] งานศึกษาที่ยืนยันคำกล่าวดังกล่าวของมาร์กซ์ และเองเกลล์ ว่ายังสามารถใช้การได้ดีในปัจจุบันโดยเฉพาะในยุคทุนนิยมเสรีนิยมใหม่ ดู Bonefeld (2010, 15-24)

[3] การสะสมทุนแบบบุพกาลในกรณีการแย่งยึดที่ดินของชาวไร่ชาวนาที่กระทำโดยรัฐที่เห็นชัดเจนในปัจจุบัน ผู้เขียนนึกถึงนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. โดยได้ออกคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งชาวนาชาวไร่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากนโยบายดังกล่าว ดังจะเห็นว่าเมื่อมีคำสั่งดังกล่าวชาวนาชาวไร่ถูกดำเนินคดีจำนวนมากกว่า 46,000 คดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท