Skip to main content
sharethis

ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขระบุว่า มีผู้สูงวัยจำนวนกว่า 2 ล้านคนจาก 12 ล้านคนทั่วประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนโควิด-19 แม้แต่เข็มเดียว และผู้สูงอายุอีกหลายคนยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น นับเป็นสถิติที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เพราะมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่า ประชากรผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการป่วยหรือเสียชีวิตจากโควิดมากที่สุด โดยเฉพาะสายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ที่สามารถแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว

‘ประชาไท’ จึงต่อสายไปยังประธาน “ชมรมแพทย์ชนบท” และ “อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)” ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อไขข้อสงสัยว่าเหตุใดผู้สูงอายุหลายคนไม่ได้รับวัคซีน ทำให้พบว่ามีหลายปัจจัยด้วยกัน 

ตั้งแต่การตกเป็นเหยื่อข่าวปลอม-ข่าวบิดเบือน ที่สร้างความกลัวและเข้าใจผิดๆเกี่ยวกับวัคซีน, ความกังวลใจต่อผลข้างเคียงของวัคซีน, ไปจนถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจและครอบครัว ซึ่งหากดูเผินๆ เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรง แต่ก็เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้หลายคนปฏิเสธวัคซีนเลยทีเดียว

นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท

“เราควรมีหลายมาตรการจูงใจให้มาฉีดวัคซีน เช่น เพื่อที่จะให้เป็น ‘โรคประจำถิ่น’ ได้แท้จริง ไม่งั้นก็เป็นแค่วาทกรรมหนึ่งที่พูดกันเท่านั้น” นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวให้สัมภาษณ์  “หนึ่ง มาตรการความรู้ ต้องสู้กับเฟคนิวส์ ข่าวลวง อันนี้รัฐบาลก็พยายามทำอยู่ แต่ไม่ค่อยได้ผล เพราะสู้ไม่ทัน สู้ไม่ไหว

“สอง เคาะประตูถึงบ้าน ซึ่งทำอยู่ ไปฉีดที่บ้านเลย ซึ่งเป็นหน้าที่ของ รพ.สต. [โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล] และเค้าก็กันทำอยู่แล้ว แต่ก็ฉีดได้เฉพาะคนที่ยอมฉีดอะนะ ที่เหลือ ไม่ยอมฉีด เราจะทำยังไงให้เขายอมฉีด”

นพ.สุภัทรกล่าวด้วยว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ยังมีหลายคนในประเทศไทยไม่ยอมฉีดวัคซีน เพราะในปัจจุบัน ไทยไม่ได้ขาดแคลนวัคซีนอีกต่อไป การฉีดวัคซีนเป็นเรื่องง่ายขึ้นมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์เมื่อปี 2564 จนเกิดสภาวะ “วัคซีนเหลือทิ้ง” ด้วยซ้ำไป 

“ตอนนี้ถึงกับต้องทิ้งวัคซีน หมดอายุเลย อย่างวัคซีนไฟเซอร์ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 พอเอาออกมาจากตู้ ก็มีอายุได้แค่เดือนเดียว ถ้าไม่ฉีด สุดท้ายก็ต้องทิ้ง” นพ.สุภัทรกล่าว

ภาพ อสม. ในพื้นที่ตำบลบางกระเจ้า จ.สมุทรปราการ ฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กลุ่มผู้สูงอายุ วันที่ 21 เม.ย. 2565 (ภาพจาก รพ.สต.บางกระเจ้า) 

ทางด้าน ธีรดา ยะวาวงค์ ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจากตำบลบางกระเจ้า เล่าประสบการณ์ส่วนตัวที่เดินสายบริการฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุถึงแต่ละบ้านว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในพื้นที่ให้ความร่วมมือดี น่าจะไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ได้รับวัคซีน แต่ยังมีบางส่วนที่ไม่ยอมฉีดวัคซีน ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากความกลัวผลข้างเคียงจากวัคซีนโควิด

“เค้ากลัวว่า ฉีดแล้วจะเสียชีวิต กลัวอย่างเดียวเลย” ธีรดากล่าว “เช่น ที่หมู่บ้านมีเคสนึง เราไปกี่รอบๆ อ้อนวอนงอนง้อให้ฉีด แต่เขาก็ยืนยันไม่ฉีด แต่อาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นโควิดแล้ว เขาเลยเพิ่งมาเสียใจ รู้สึกว่าจริงตามที่เราพูด”

ยอดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงยังต่ำกว่าเป้า

ตามข้อมูลของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 131 ล้านโดส ประชากรส่วนใหญ่หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งเข็ม ร้อยละ 72 ได้รับวัคซีนอย่างน้อยสองเข็ม ส่วนประชากรที่รับวัคซีนบูสเตอร์แล้วยังถือว่ามีจำนวนค่อนข้างน้อย หรือประมาณร้อยละ 35

ในแต่ละวันไทยมีการฉีดวัคซีนหลายหมื่นโดสอย่างต่อเนื่อง เช่นข้อมูลประจำวันที่ 21 เม.ย. 2565 ระบุว่า เข็ม 1 มีการฉีดเพิ่ม 21,533 โดส เข็ม 2 ฉีดเพิ่ม 45,539 และเข็ม 3 ฉีดเพิ่ม 61,387 โดส ขณะที่บริการฉีดวัคซีนแบบ “วอล์ก-อิน” ที่ไม่ต้องนัดล่วงหน้าก็แพร่หลายขึ้น เช่น ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ปัจจุบันก็ให้บริการวอล์ก-อินแล้ว 

อย่างไรก็ตาม นพ.สุภัทรเตือนว่าถึงแม้ตัวเลขเหล่านี้จะฟังดูเยอะ แต่หากมาวิเคราะห์ดูอัตราการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ ยังถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประชากรอื่นๆ 

“ยอดฉีดวัคซีนในกลุ่มสูงอายุค่อนข้างนิ่งมาสองสามเดือนแล้วครับ ฉีดเพิ่มค่อนข้างต่ำ ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ นักเรียนทั้งนั้น เพราะวัคซีนเด็กเพิ่งมา” นพ.สุภัทรอธิบาย  “แต่การวัคซีนผู้สูงอายุถือว่าน้อย ประมาณ 5,000 คนต่อวันโดยเฉลี่ย ถือว่าน้อยมาก ไทยเรามี 10,000 รพ.สต. แปลว่าในวันนึงๆ มีผู้สูงอายุฉีดวัคซีน ตำบลไม่ถึงคน” 

ข้อมูลที่เผยแพร่โดยกรมควบคุมโรคชี้ว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (หมายถึงประชากรที่อายุไม่ต่ำกว่า 60 ปี) ประมาณ 12.07 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนที่ไม่ฉีดวัคซีนแม้แต่เข็มเดียวประมาณ 2.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 6 ของประชากรสูงอายุทั้งหมด 

“เราต้องมาคิดว่า จะปล่อยให้เกิดสถานการณ์นี้ไว้เหรอ” นพ.สุภัทรกล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา พญ.สุมนี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ระบุว่ามีเพียง 7 จังหวัดเท่านั้นที่ยอดผู้สูงอายุรับวัคซีนเข็มกระตุ้นถึงร้อยละ 70  ซึ่งเป็นตัวเลขเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขได้วางไว้ 

สำหรับสถานการณ์ภาพรวมทั้งประเทศ มีผู้สูงอายุได้รับเข็มกระตุ้นแล้วเพียงแค่ร้อยละ 37.2 เท่านั้น ทำให้ประชากรกลุ่มนี้เสี่ยงต่อการป่วยหรือเสียชีวิตจากสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมีหลักฐานชี้ว่าระบาดได้อย่างรวดเร็วแม้ในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็ม 

“ปัจจัยเสี่ยงระบาดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ยังเป็นการติดเชื้อในผู้สูงอายุ ที่ไม่ค่อยออกนอกบ้าน ยังพบรายงานเสียชีวิตทุกวัน เป็นการติดเชื้อจากญาติหรือคนไปเยี่ยม ดังนั้น ต้องรับวัคซีนแม้จะอยู่ในบ้าน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังทำงานได้ ก็เสี่ยงติดเชื้อจากเพื่อน ตลาด ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ” พญ.สุมนีกล่าว

ข้อมูลชี้ชัด ผู้สูงวัยควรฉีดวัคซีน

ในการแถลงข่าวครั้งนั้น พญ.สุมนีกล่าวด้วยว่า ข้อมูลฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่มสูงอายุแสดงให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ลดการเสียชีวิตได้ 31 เท่า เมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้วัคซีน ขณะที่การฉีดเพียง 2 เข็ม ลดการเสียชีวิตลงได้ 5 เท่า

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับภาพรวมในหลายประเทศ ซึ่ง “5 องค์กรวิชาชีพทางการแพทย์” ได้หยิบยกมาเป็นตัวอย่างในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อต้นเดือนเมษายนเช่นกัน 

“[วัคซีนเข็มกระตุ้น]สามารถลดการนอนโรงพยาบาล การเกิดปอดอักเสบ การนอนในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก การใช้เครื่องช่วยหายใจ และการเสียชีวิต ได้ดีกว่าการรับเพียง 2 เข็มมาก โดยมีการศึกษาประสิทธิผลของการใช้วัคซีนในโลกแห่งความจริง (real world study) ที่ยืนยันถึงผลดีของการให้วัคซีนเข็มกระตุ้นในประเทศต่าง ๆ เช่น อิสราเอล อังกฤษ การ์ตา และสหรัฐอเมริกา” แถลงการณ์ระบุ 

“นอกจากนี้ จากการติดตามสถานการณ์ภายในประเทศและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่ติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตนั้น ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น แม้เป็นผู้สูงอายุหรือมีโรคประจำตัว ถ้าได้รับวัคซีนครบถ้วน ก็มักจะมีอาการเพียงเล็กน้อย และไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน หายจากโรคได้ในเวลาอันรวดเร็ว”

ทั้งนี้ สายพันธุ์โอมิครอนยังคร่าชีวิตกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ตามข้อมูลหน่วยงานรัฐ มีผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 เมษายนทั้งหมดรวม 129 ราย ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่ (108 ราย หรือร้อยละ 84) เป็นผู้สูงอายุ 

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุด้วยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มี.ค. 2565 มีผู้สูงอายุเสียชีวิตจากโควิดอย่างน้อย 2,701 ราย ในจำนวนนี้มากกว่าครึ่ง หรือ 1,589 ราย เป็นผู้สูงวัยที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลยแม้แต่เข็มเดียว 

ขณะที่กลุ่มสูงอายุที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม เป็นกลุ่มที่เสียชีวิตน้อยที่สุด หรือ 112 ราย

“มีอีกเคสนึงค่ะ เพิ่งเกษียณ 3 ปีที่แล้ว ไม่ยอมฉีดวัคซีน ดื้อ แล้วตอนหลังมาเป็นโควิดจริงๆ” ธีรดา ประธาน อสม.จากบางกระเจ้า กล่าวให้สัมภาษณ์ “ตอนแรกแกเริ่มเป็นไข้ ที่บ้านบอกถ้าอีก 2-3 วันไม่ดีขึ้นจะพาไปหาหมอ พอวันที่ 3 เลยไปตรวจ ผลออกมาเป็นบวก ไม่กี่วันเสียชีวิตเลย อายุ 62 เอง”

“เราอยากให้ผู้สูงอายุหลายคนเค้าเห็นเคสนี้เป็นเคสตัวอย่าง ฉีดไปเถอะ วัคซีนช่วยได้ ดีกว่าไม่ฉีดเลย” ธีรดากล่าว

ความกลัวผสมความเข้าใจผิด

นพ. สุภัทรและธีรดากล่าวตรงกันว่าสาเหตุการไม่ยอมฉีดวัคซีนที่พบเจอค่อนข้างบ่อยในกลุ่มผู้สูงอายุ คือกลัวว่าจะมีผลข้างเคียงที่รุนแรง กลัวเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิต ทั้งที่โอกาสที่จะเกิดเช่นนั้นถือว่าน้อยมากๆ

“บางคนเค้ามีโรคประจำตัว เค้ากลัวว่าถ้าฉีดวัคซีน จะแพ้มั้ย กลัวตาย เค้าไปดูแต่ส่วนน้อย[ที่แพ้วัคซีน] เราก็บอกเค้าว่า หนึ่งในพัน หนึ่งในล้านต้องมีอยู่แล้ว มันมีตามสุขภาพหรือภูมิต้านทานของเค้า ให้ดูส่วนใหญ่ดีกว่า ฉีดแล้วไม่เป็นไร บางคนเค้าก็ยอม” ธีรดากล่าว 

สาเหตุหนึ่งที่หลายคนกลัวผลข้างเคียงจากวัคซีนเกินความเป็นจริง อาจจะเป็นเพราะการรายงานของสื่อที่ขาดความเข้าใจ

“ภาษาการแพทย์คือ coincidence หมายถึงเหตุที่เกิดร่วมกัน เช่น ในทุกวันเนี่ย ประเทศไทยเรามีผู้เสียชีวิตอยู่แล้ววันละพันคน เสียชีวิตรวมปีละ 400,000 ราย ยังไงต้องมีคนเสียชีวิตอยู่แล้ว” นพ. สุภัทรกล่าว “ช่วงที่ระดมฉีดวัคซีนใหม่ๆ แล้วมีคนตาย ก็ไปโยงกัน ออกข่าวว่าฉีดวัคซีนได้ไม่กี่วัน ตายแล้ว มันสร้างความเข้าใจผิด และสะสมความเข้าใจผิดนี้มายาวนาน รวมกับทัศนคติส่วนบุคคลอยู่แล้ว บางคนก็ชีวจิต ปฏิเสธสารเคมี”

ตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ปฏิเสธวัคซีนด้วยเหตุผลดังกล่าว คือ รสนา โตสิตระกูล ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างความฮือฮาด้วยการประกาศในรายการทีวีแห่งหนึ่งว่า ตนไม่เคยฉีดวัคซีนโควิดแม้แต่เข็มเดียว เพราะมองว่าไทยมียาสมุนไพรอย่างฟ้าทะลายโจรอยู่แล้ว ไม่ต้องพึ่งพาวัคซีนซึ่งตนมองว่าเป็นยาจาก “ต่างชาติ”

ธีรดากล่าวว่าผู้สูงอายุหลายคนก็ไม่ยอมฉีดวัคซีนเพราะตนเองหรือคนรอบตัวคิดว่าไม่จำเป็น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่สร้างความเสี่ยง

“ในบางกรณี ลูกหลานก็ไม่ให้ฉีด เพราะคิดว่าไม่จำเป็น แม่ไม่ไปไหนหรอก แม่อยู่แต่ในบ้าน เค้าอยู่เฉยๆ” ธีรดาเล่า “เราก็บอกว่า แล้วตัวเราล่ะ เราไม่ได้อยู่เฉยๆนะ อาจจะติดได้นะ เพราะออกไปข้างนอก”

นอกจากความกลัวหรือความเข้าใจแล้ว นพ. สุภัทรกล่าวว่าบางคนก็ไม่ยอมฉีดวัคซีนเพราะ “เกรงใจ” ลูกหลานตัวเองว่าต้องหยุดงานมาดูแล หากตนเองเป็นไข้หรือนอนซมจากวัคซีน ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยก็มีปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง

“บางคนก็สูญเสียโอกาสทำงานนะครับ บางคนต้องเฝ้าร้านทุกวันไง ถ้าไปฉีดวัคซีนก็ต้องปิดร้าน เดินทางไปก็เสียค่ารถอีก บางพื้นที่ยังไม่มี[บริการวัคซีน]เข้าถึงบ้านเขาไงครับ แล้วถ้ามีอาการเป็นไข้จากวัคซีน กลับมาก็ต้องนอนพัก เปิดร้านไม่ได้หนึ่งวัน สองวัน ก็เป็นรายได้ที่เขาสูญเสียไปนะครับ” นพ. สุภัทรกล่าว

ต้องสร้างแรงจูงใจ

ด้วยเหตุผลข้างต้น นพ.สุภัทรจึงเสนอให้ภาครัฐจ่าย “ค่าเสียเวลา” และค่าเดินทาง เพื่อชดเชยให้กับผู้ที่เดินทางมาฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชนบท โดยเสนอว่าอาจจะให้ในรูปแบบเข็มละ 500 บาท หรือ 1,000 บาท ตามแต่หน่วยงานรัฐจะพิจารณา

“ผมเชื่อว่าจะช่วยให้มาฉีดได้เพิ่มขึ้นครับ” นพ. สุภัทรกล่าว พร้อมเสริมว่ารัฐไม่ควรใช้วิธีบังคับ แต่เน้นที่การเชิญชวนหรือสร้างแรงจูงใจ “ทำวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องเชิญชวนให้มาฉีดให้ได้ ในจำนวน 2 ล้านคนที่ยังไม่ได้วัคซีน แค่ให้มาฉีดซัก 500,000 ก็ยังดี”

ธีรดาเล่าว่าในพื้นที่บางกระเจ้า ก็เริ่มมีการสร้างแรงจูงใจในกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยการแจกอาหารและของกินของใช้อื่นๆ ให้คนเฒ่าคนแก่ที่ยอมฉีดวัคซีน เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ ฯลฯ ปรากฏว่าได้ผลดี 

“อสม. เราก็ไม่ได้ร่ำรวยหรอกค่ะ เราใช้ผู้นำชุมชนกับกำนันช่วยบริจาค ใครมีไรก็เอาของมาให้เราแจก อย่างศาลพระพิฆเนศ เค้าก็ช่วยให้ข้าวสารมาแจก” ธีรดาเล่า “ทีนี้มากันเลย บางคนไม่ถึงกำหนดฉีดวัคซีน อยากมาฉีดเลย (หัวเราะ) คุณลุงคนนึงเพิ่งฉีดไฟเซอร์ไม่กี่เดือน อยากมาฉีดอีก เราก็ไม่ฉีดให้ บอกคุณลุงไปว่ายังไม่ถึงกำหนด” 

นอกจากนี้ การรายงานข่าวของสื่อมวลชนก็สามารถมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุเปลี่ยนทัศนคติต่อวัคซีนได้เช่นกัน

“มีรายนึงเป็นผู้ป่วยติดเตียง ก่อนหน้านี้เค้าไม่ยอมฉีด แต่เค้าดูทีวี เห็นข่าวออกว่าโอมิครอนก็มีผู้สูงอายุตายทุกวัน เริ่มกลัว ตอนนี้กลายเป็นเพิ่งจะฉีดเข็ม 3 แล้วค่ะ จากที่ตอนแรกไม่ฉีดเลย”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net