Skip to main content
sharethis

หลัง Al Jazeera เผยแพร่สารคดีชีวิตของ พล.ต.ต.ปวีณ ระบุมีกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในไทยขวางกระบวนการการสืบสวนสอบสวนจนเจ้าตัวต้องลี้ภัยนั้น 'ประวิตร' ปัดสั่งคนสนิทโทรล็อบบี้ ให้ พล.ท.มนัส ได้ประกันตัว โฆษกตร.ยันไร้แทรกแซง หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนานาชาติ 'กลาโหม' โต้กล่าวหาเชื่อมโยงพาดพิงเรื่องค้ามนุษย์ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศในภาพรวม

25 เม.ย.2565 หลังจากเมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าว Al Jazeera เผยแพร่สารคดีชีวิตของ พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และหัวหน้าทีมสืบสวนคดีค้ามนุษย์ ปัจจบันเป็นผู้ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ที่มีการระบุถึงกลุ่มบุคคลที่มีอำนาจในประเทศไทยเข้ามาขัดขวางกระบวนการการสืบสวนสอบสวนจนเจ้าตัวต้องลี้ภัยนั้น

ประวิตร ปัดสั่งคนสนิทโทรล็อบบี้ ให้ พล.ท.มนัส ได้ประกันตัว

ทั้งนี้บุคคลสำคัญที่ พล.ต.ต.ปวีณ ระบุในสารคดี คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งคนสนิท ให้โทรศัพท์มาหา เพื่อขอให้ พล.ท.มนัส คงแป้น ผู้ต้องหาคดีค้ามนุษย์ ได้ประกันตัว หลังเข้ามอบตัว ล่าสุด ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวกับผู้สื่อข่าวเพียงสั้นๆ ว่า จะให้ทางตำรวจชี้แจงกรณีนี้

ต่อคำถามที่ว่า ไม่ได้สั่งให้คนสนิท โทรศัพท์ไปหา พล.ต.ต.ปวีณ เพื่อขอให้ พล.ท.มนัส ได้ประกันตัวใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า “โอ้ย ไม่มีหรอก” ก่อนจะวางสายไป

โฆษกตร. ยันไร้แทรกแซง หวั่นกระทบความเชื่อมั่นนานาชาติ

ขณะที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีการเผยแพร่คลิปของสำนักข่าวแห่งหนึ่งซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ ซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 และได้มีการชี้แจงไปแล้วหลายครั้งนั้น

คดีดังกล่าวนี้ เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ให้อัยการสูงสุดเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ซึ่งในการทำงานนั้น เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ได้เข้ามาร่วมบูรณาการปฏิบัติหน้าที่ตามความรับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ

โดยคณะทำงานในคดีนี้ ได้ดำเนินการสืบสวน สอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานอย่างละเอียดรอบคอบ จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาจำนวน 153 หมายจับ จับกุมได้แล้ว 122 ราย หลบหนี 31 ราย ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง เช่น พล.ท.มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และอดีตผู้ต้องขังคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ยืนยันไม่มีการละเว้น ไม่มีการแทรกแซงจากรัฐบาลหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง มีการดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเป็นรูปธรรม

ในชั้นศาลมีการพิจารณาคดีแล้วจำนวน 116 ราย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ 75 ราย (มากที่สุด 1626 ปี) และบางส่วนดำเนินการถึงชั้นศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาแล้ว โดยมีผู้ต้องหาเสียชีวิตระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นศาลจำนวน 4 ราย รวมถึง พล.ท.มนัส ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำ แสดงให้เห็นได้ว่า แม้ผู้กระทำผิดจะมีตำแหน่งหน้าที่หรือฐานะทางสังคมอย่างไร ก็ได้ถูกดำเนินตามการกฎหมายอย่างไม่มีการละเว้น

ขอวอนให้พี่น้องประชาชนได้ดูถึง “ผลลัพธ์ของการดำเนินคดีอย่างเป็นรูปธรรม” จนนำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหากว่า 150 คน รวมถึงผู้ต้องหาบางรายที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง นำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยบางรายมากสุดถึง 1,626 ปี

พล.ต.ต.ยิ่งยศกล่าวว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) ประชุมติดตามความคืบหน้าในคดีนี้และสถานการณ์การค้ามนุษย์โดยรวมในประเทศไทยในวันพรุ่งนี้ ซึ่งหากมีความคืบหน้าในการติดตามผลอย่างไร จะเรียนให้สื่อมวลชนทราบต่อไป

สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความมุ่งมั่นและตั้งใจในการปฏิบัติตามนโยบายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นนโยบายหลักและสำคัญของประเทศ โดยรัฐบาลได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างจริงจัง หากพี่น้องประชาชนท่านใดพบเบาะแสเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ ขอให้ท่านรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจในพื้นที่ใกล้ท่าน หรือโทรสายด่วน 191 หรือสายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

'กลาโหม' โต้กล่าวหาเชื่อมโยงพาดพิงเรื่องค้ามนุษย์ทั้งที่ไม่มีหลักฐาน ไม่เป็นประโยชน์กับประเทศในภาพรวม

อีกองค์กรที่ถูกพาดพิงคือ กระทรวงกลาโหม เหตุ ทหารเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงฯ กล่าวว่า การพาดพิงดังกล่าวดูจะไม่ให้ความยุติธรรมกับกำลังทหารและกองทัพในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมา กองทัพได้เข้าสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างแข็งขัน ในการแก้ปัญหาสำคัญๆที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยเฉพาะ การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สั่งสมมาต่อเนื่องยาวนานในหลายรัฐบาลที่ผ่านมา

ยืนยันว่า กระทรวงกลาโหม สนับสนุนรัฐบาลในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างแข็งขัน และมีนโยบายชัดเจนห้ามกำลังพลเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ หรือ สิ่งผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด ซึ่งผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องกำกับดูแลกำลังพล หากปรากฏพบการกระทำผิดของกำลังพล ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล ที่ต้องสอบสวนเอาผิดทั้งทางวินัยและอาญาให้ถึงที่สุด โดยให้สืบเชื่อมโยงกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่มีการปกป้องหรือยกเว้นเป็นเด็ดขาด และ กระทรวงกลาโหมจะไม่เก็บคนเหล่านี้ไว้ในกองทัพ ให้เกิดความเสื่อมเสียกับองค์กรและประเทศชาติ

สำหรับคดีการจับกุม พล.ท.มนัส คงแป้น ในข้อหาค้ามนุษย์ที่ผ่านมา เป็นการยืนยันถึงความจริงใจในการบังคับใช้กฎหมายแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในสมัยยุครัฐบาล คสช. โดยมีการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมและองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งหากมีการช่วยเหลือ แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและปกป้องกันจริง พล.ท.มนัส คงไม่ติดคุกและได้รับการประกันตัว ซึ่งขณะนี้ความคืบหน้าคดีมีการสืบสวนออกหมายจับแล้ว 153 หมาย มีผู้ต้องหาถูกจับกุมแล้วกว่า 120 ราย

การกล่าวหาเชื่อมโยงพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นแกนหลักระดับนโยบายของรัฐบาล ในการนำและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังที่ผ่านมา จนสถานภาพและปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยดีขึ้นตามลำดับ โดยการกล่าวหาที่ไม่มีข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ จะเป็นการสร้างความสับสนกับสังคมและต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีกับการประเมินสถานภาพการจัดอันดับการค้ามนุษย์ของประเทศไทยที่จะมีขึ้น และจะกระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net