Skip to main content
sharethis
  • ‘โรม ก้าวไกล’ รุกต่อ สอบปมค้ามนุษย์ผ่าน กมธ.กฎหมาย คาดสัปดาห์หน้าเรียก 3 ป. เเจงข้อเท็จจริง เหตุ ‘พลตำรวจตรี ปวีณ ลี้ภัย’
  • ร้อง กมธ.ป.ป.ช. หลังโดนหมายเรียกคดีหมิ่นมูลนิธิป่ารอยต่อ ในช่วงสมัยประชุมสภาฯ 
  • ปชช.ร้อง กมธ. ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี ที่เกิดกรณีคนงานพลัดตกลงไปในเครื่องบีบน้ำตาลจนเสียชีวิตแต่ยังคงดำเนินการผลิตต่อไปโดยไม่มีการยับยั้ง
  • ขณะที่ กมธ. พัฒนาการเมืองฯ รับเรื่องร้องเรียน ขอให้ตรวจสอบการใช้ พ.ร.กฉุกเฉิน คุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชนของเจ้าหน้าที่รัฐ พร้อมหนุนร่างพ.ร.บ.แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินของพรรคก้าวไกล

25 ก.พ. 2565 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ (25 ก.พ.) รังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม เเละสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร แถลงต่อสื่อมวลชนว่า จากกรณีที่ได้อภิปรายในประเด็นการค้ามนุษย์เเละการลี้ภัยของพลตำรวจตรี ปวีณ พงศ์สิรินทร์ วันนี้จะนำเรื่องดังกล่าวขอมติต่อคณะกรรมาธิการให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง หากมติกรรมาธิการเห็นด้วย จะเสนอต่อที่ประชุมให้เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องชี้เเจงต่อคณะกรรมาธิการ โดยพุ่งประเด็นไปที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ,พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ,พลตำรวจเอก สุวัจน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รวมถึงผู้บัญชาการทหารเรือ  ยืนยันว่าเรื่องนี้พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญมากจริงๆ เเละจะติดตามตรวจสอบเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด

นอกจากนี้ วันเดียวกัน กมธ.กฎหมายฯ ยังได้รับหนังสือร้องเรียนจาก ธนารัตน์ น้ำคำ ตัวเเทนประชาชนที่มาเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการ ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานโรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งใน จ.อุทัยธานี ที่เกิดกรณีคนงานพลัดตกลงไปในเครื่องบีบน้ำตาลจนเสียชีวิตแต่ยังคงดำเนินการผลิตต่อไปโดยไม่มีการยับยั้งชั่วคราวใดๆ จากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จากกรณีที่ประชาชนมาเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการกรณีนี้ มี 2 ประเด็น ในประเด็นเเรก จากการที่คนงานโรงงานน้ำตาลตกลงไปเสียชีวิต อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพเเละมาตรฐานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลว่ามีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพหรือไม่ ส่วนประเด็นที่ 2 คือกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีที่เกิดขึ้น ซึ่งกรณีนี้ถือว่ามีผลกระทบต่อผู้บริโภค เราจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยจะนำเรื่องเข้าสู่ กมธ. เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเต็มที่

ธนารัตน์ น้ำคำ ในฐานะผู้บริโภคที่มาร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2565 คนขับรถบรรทุกได้ตกไปในเครื่องบีบน้ำตาลภายในโรงงาน ในทำให้เครื่องบีบน้ำตาลบีบร่างจนละเอียด จากกรณีดังกล่าวทำให้บุคคลดังกล่าวได้หายตัวไป ซึ่งเพื่อนร่วมงานได้ทำการค้นหา เเละได้เบาะเเสจากกล้องวงจรปิดที่พบว่าคนงานได้พลัดตกลงไปในเครื่องบีบน้ำตาลจนเสียชีวิต กรณีนี้จึงเป็นที่น่าสงสัยว่าในระบบของโรงงานน้ำตาลเเห่งนี้มีระบบความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐาน เหมือนกับโรงงานน้ำตาลแห่งอื่น เพราะโรงงานน้ำตาลดังกล่าวยังคงผลิตน้ำตาลที่ปนเปื้อนกับร่างผู้เสียชีวิตรวมกับน้ำตาล เเละกรณีนี้พนักงานสอบสวนไม่ได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงใด หรือมีการสั่งระงับให้ปิดโรงงานน้ำตาลดังกล่าวหยุดผลิตน้ำตาลชั่วคราวจนกว่าจะมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงได้นำเรื่องนี้มาขอร้องเรียนต่อกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเเละนำผู้เกี่ยวข้องมาชี้เเจงต่อกรรมาธิการ เพื่อให้ญาติครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับความเป็นธรรม

กมธ. พัฒนาการเมืองฯ รับเรื่องขอให้สอบการใช้ พ.ร.กฉุกเฉิน คุกคามสิทธิเสรีภาพ ปชช.

วันเดียวกัน (25 ก.พ.) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขต25 บางขุนเทียน พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนเเละการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร  พร้อมด้วย อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมาธิการ, กรุณพล เทียนสุวรรณ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ รับเรื่องร้องเรียนจาก สมยศ พฤกษาเกษมสุข พร้อมด้วยตัวเเทนจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ขอให้คณะกรรมาธิการตรวจสอบการดำเนินคดีจากตำรวจที่ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินคุกคามประชาชน 

ณัฐชา กล่าวว่า ในวันนี้ตนรับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ที่ขอให้กรรมาธิการตรวจสอบการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ตำรวจกรณีใช้ พ.รก.ฉุกเฉินคุกคามสิทธิเสรีภาพประชาชน ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าในวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้ใช้เพื่อควบคุมโรค เเต่ใช้เพื่อเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน เห็นได้จากการเข้าไปบุกจับเเละตรวจค้นซึ่งทุกครั้งเจ้าหน้าที่จะกล่าวอ้างในการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่เคยใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินระงับเหตุของโรคระบาดเลย แต่ใช้เพื่อควบคุมไม่ให้พี่น้องประชาชนออกมาเเสดงความคิดเห็น ตามสิทธิตามรัฐธรรมนูญ 

เพลง ทัพมาลัย นายกองค์การบริหารนิสิตมหาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า พวกเราเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาในฐานะผู้ชุมนุมในการละเมิดพรก.ฉุกเฉิน ตามรัฐธรรมนูญ ในวันนั้นเป็นวันสิทธิมนุษยชน ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม พวกเราได้ออกไปเรียกร้องด้านสิทธิมนุษยชน ใน 7 ประเด็น อาทิ ประเด็นการใช้ 112 กับตัวประชาชน ที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพ โดยในวันนั้นพวกเราได้ยื่นหนังสือจำนวน 10 คน ตลอดที่ทำกิจกรรมนั้น เราได้สวมหน้ากากอนามัยโดยตลอด เว้นระยะห่างตามมาตรการของรัฐบาล ซึ่งปรากฎว่า ภายหลังจากนั้นได้มีหมายเรียกจากเจ้าหน้าที่ส่งมายังพวกเรา โดยพันตำวจโท สำเนียง โสพล สน.นางเลิ้ง ในฐานะเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการได้ออกหมายเรียกเรา ด้วยเหตุพลว่าพวกเรากระทำผิด แต่ในวันนั้นเราออกไปเรียกร้องสิทธิ ซึ่งขอถามกลับว่า การที่เราใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญเหตุใดจึงกลายเป็นการกระทำผิด เเละการที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

“เขากล่าวอ้างว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เป็นการป้องกันโควิด เเต่ 2 ปี ที่ผ่านมา เราก็เห็นเเล้วว่า เขาเอามาเป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยขอให้กรรมาธิการร่วมตรวจสอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น และตรวจสอบรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาว่าใช้อำนาจโดยสุจริตหรือไม่ และขอให้ยับยั้งการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน  เเละขอสนับสนุนร่างกฎหมายแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินของพรรคก้าวไกล ที่ได้ให้ความเห็นว่า หากจะใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร" นายกองค์การบริหารนิสิตมหาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว

ขณะที่นาย เจษฎา ศรีปลั่ง ในฐานะผู้ต้องหาคดีอาญา จากการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ของเจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่า ในวันที่ 31 ธค 2564 ควรเป็นวันที่ทุกคนมีความสุขในการฉลองเทศกาลปีใหม่ ซึ่งศูนย์การค้าทุกแห่งสามารถจัดงานเคาท์ดาวน์ได้ เเต่เหตุใดพวกเราไปขออนุญาต จัดกิจกรรมเรียกร้องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมให้นักโทษการเมือง หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมกลับไม่ได้รับอนุญาต โดยสน.ประชาชื่น นำโดย พันตำรวจโทธรรมภณ วงษ์จันทร์เพ็ญ พร้อมด้วย พันตำรวจโท ณรณฤทธิ์ ภู่แก้วได้ดำเนินคดีกับพวกเราทั้ง 25 คน ด้วยข้อหาฝ่าฝืนเเละละเมิด พ.รก.ฉุกเฉิน  ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มและปิดกั้นในการเเสดงความคิดเห็นของประชาชน เเละเป็นการใช้อย่างบิดเบือนตามคำสั่งรัฐบาลในการปราบปรามประชาชน 

อมรัตน์ กล่าวว่า การใช้พรก.ฉุกเฉินมาปราบปรามประชาชน เป็นการนำเอาพ.ร.กฉุกเฉินที่ออกแบบไว้ใช้กับการดูเเลความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นการใช้อย่างผิดฝาผิดตัว จากกลางปี 2564 ถึงต้นปี 2565 มีการนำกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงมาใช้กับคดีการเมืองมากถึง 1,767 คดี เป็นการใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1428 คดี เห็นได้ชัดว่านอกจากใช้อย่างผิดฝาผอดตัว เเต่ยังใช้อย่างสองมาตรฐาน กรณีม็อบที่ท้องสนามหลวง มีม๊อบทั้งสองฝ่าย สองสีเสื้อ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังดำเนินการกับฝ่ายประชาธิปไตยฝ่ายเดียว ถึงเวลาเเล้วที่เราต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เเละสถาบันตุลาการอย่างจริงจัง ไม่อย่างนั้นประเทศเราไปต่อไม่ได้ เราจะกลายเป็นคนหมดอนาคต 

“นี่เป็นที่มาของการเสนอร่างแก้ไขพ.ร.ก.ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ รังสิมันต์ โรมเป็นผู้เสนอ ของพรรคก้าวไกล ที่ตัดอำนาจการควบคุมของตำรวจไม่เกิน 7 วัน  เเละต้องได้รับความเห็นชอบสภาผู้แทนราษฎรจึงจะสามารถประกาศใช้ได้ และการต่ออายุได้ไม่เกิน 30 วัน ที่สำคัญ คือเมื่อประกาศใช้เเล้วนายกรัฐมนตรีต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎร เป็นระยะ ซึ่งจากการที่ตนอภิปรายมาตรา 152 ที่ผ่านมาตนคิดว่าพรรคก้าวไกลจะเสนอจะผลักดันแก้ไขในประเด็นนิรโทษกรรม ที่จะสามารถแก้ไขความขัดเเย้งของประเทศได้" อมรัตน์ กล่าวทิ้งท้าย 

ขณะที่ ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์  ประธาน กมธ. พัฒการเมืองฯ กล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของ กมธ.และจะเชิญ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาชี้แจง ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจทำเกินกว่าเหตุกับกลุ่มผู้ชุมนุม และมีการเลือกปฏิบัติหรือไม่

'โรม' ร้อง กมธ.ป.ป.ช. หลังโดนหมายเรียกคดีหมิ่นมูลนิธิป่ารอยต่อ ในช่วงสมัยประชุมสภาฯ 

ทั้งนี้สำนักข่าวไทยรายงานด้วยว่า รังสิมันต์ ยื่นหนังสือต่อ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้ารัฐที่อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ และขัดต่อมาตรา 157 ในประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากในปี 2563 ตนได้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับเครือข่ายป่ารอยต่อ และตนถูกดำเนินคดีจากมูลนิธิป่ารอยต่อ เป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ต่อมาตนได้อภิปรายทั่วไป เรื่องการปราบปรามการค้ามนุษย์ ก็ถูกตำรวจ สน.บางขุนนนท์ออกหมายเรียก เพื่อจะนำตัวส่งอัยการ

“การออกหมายเรียกในระหว่างสมัยประชุมและไม่สามารถทำได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 125 แต่ถ้าหากจะทำจริงๆ ขั้นตอนของรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า จะต้องทำหนังสือมาขอตัวมาที่สภาผู้แทนราษฎร และให้สภาฯเป็นผู้อนุมัติ โดยทางตำรวจได้ยื่นต่อสภาฯมาแล้ว แต่ยังอยู่ในช่วงสมัยประชุม จึงได้มีการออกหมายเรียกซ้ำอีกครั้ง เพื่อนัดในวันที่ 4 มีนาคม ซึ่งในช่วงนั้นปิดสมัยประชุมแล้ว” รังสิมันต์ กล่าว

รังสิมันต์ ยังตั้งข้องสงสัยว่า การออกหมายเรียกดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะเป็นการกระทำที่จุดเริ่มต้นไม่ได้อยู่นอกสมัยประชุม จึงของให้ กมธ.ป.ป.ช. เรียกพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในคดีนี้ และผู้กำกับสน.บางขุนนนท์ มาชี้แจง ซึ่งนายรังสิมันต์ เชื่อว่า การที่ตำรวจเร่งรัดและแจ้งความดำเนินคดีแก่ตนเอง มาจากการอภิปรายทั่วไป เรื่องการค้ามนุษย์ และโดยเฉพาะ เมื่อเกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ก็จะถูกดำเนินคดีทุกครั้ง

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวคล้ายกันกับกรณีของ ธีรัจน์ชัย พันธุมาศ ส.ส.พรรคก้าวไกล หนึ่งใน กมธ.ป.ป.ช.ที่เคยถูกเรียกตัวในสมัยประชุม โดยเมื่อเรียกตำรวจเจ้าของคดีมาสอบถาม ก็ได้มีการกลับไปถอนคดี และนายธีรัจชัย ก็ไม่ได้มีการติดใจแต่อย่างใด เรื่องของนายรังสิมันต์ ก็เช่นเดียวกัน ก็จะเชิญเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริง นายรังสิมันต์ ก็คงจะไม่ใจร้าย เพราะตำรวจบางทีเป็นชั้นผู้น้อยทำสำนวน นายตำรวจผู้ใหญ่ก็อาจจะหลับหูหลับตาเซ็นต์ไปบ้าง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net