Skip to main content
sharethis

สปสช.ประชุมชี้แจงหน่วยบริการทั่วประเทศ ระดมขอความร่วมมือเร่ง “ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล” เริ่ม 1 พ.ค.–31 ส.ค. นี้ ดูแลประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงทุกสิทธิการรักษา เบื้องต้นเน้นผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงก่อน อาทิ ผู้ป่วยโรคร่วม ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น พร้อมย้ำ ปี 2565 ปรับบริการเปิด Walk-in ใครไปก่อน มีสิทธิฉีดก่อน ยกเว้น กทม.ที่เปิดให้จองคิวผ่านแอปเป๋าตัง พร้อมส่งข้อความถึงประชาชนกลุ่มเสี่ยงผ่านแอปเป๋าตังเตือนฉีดวัคซีนฯ 

 

27 เม.ย.2565 ทีมสื่อ สปสช. รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงแนวทางการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ปี 2565 ให้กับผู้แทนหน่วยบริการทั่วประเทศและประชาชนที่สนใจ ผ่าน Facebook Live สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อการดำเนินการในบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเป็นไปในแนวทางเดียวกันและบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

นพ.จักรกริช กล่าวว่า สิทธิประโยชน์บริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สปสช.และกรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการต่อเนื่องเพื่อให้บริการมากว่า 10 ปีแล้ว และในปี 2565 เรายังคงดำเนินการต่อเนื่องเพื่อดูแลประชาชน กำหนดเป้าหมายบริการจำนวน 4.2 ล้านโดส (ไม่รวมหญิงตั้งครรภ์ที่รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตลอดทั้งปีจำนวน 2 แสนโดส) พร้อมเร่งรณรงค์เพื่อให้บริการฉีดในช่วง 3 เดือนแรก คือ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม -31 กรกฎาคม 2565 จะเน้นไปที่กลุ่มเสี่ยง 608 โดยกรมควบคุมโรคยืนยันแล้วว่า การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ควบคู่กับการฉีดวัคซีนป้องก้นโรคโควิด-19 สามารถฉีดพร้อมกันได้โดยที่ไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ต้องขอความร่วมมือหน่วยบริการในการร่วมให้บริการ เพื่อลดอัตราเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต จากภาวะแทรกซ้อนของโรคไข้หวัดใหญ่ 

ด้าน นพ.ชนินันท์ สนธิไชย หัวหน้ากลุ่มพัฒนางานวัคซีนพื้นฐาน กองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่ก่อนโควิด-19 แพร่ระบาด ผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อัตราการป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดใหญ่ได้ลดลง ผลจากการรณรงค์มาตรการป้องกันทำให้ลดการแพร่กระจายของโรคไข้หวัดใหญ่ตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตามขอย้ำว่ากลุ่มเสี่ยงยังคงต้องรับการฉีดวัคซีนป้องโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล เพราะด้วยขณะนี้ได้มีการเริ่มมาตรการผ่อนคลายแล้วและอาจส่งผลให้โรคไข้หวัดใหญ่กลับมาแพร่ระบาดได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่โดยเร็ว   

“วัตถุประสงค์การวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลก็เพื่อลดอัตราป่วยและเสียชีวิต รวมถึงภาวะแทรกซ้อนจากโรคไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยง ขณะเดียวกันยังช่วยลดจำนวนวันการนอนในโรงพยาบาลของผู้ป่วยลงได้ โดยปีนี้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลครอบคลุมป้องกัน 3 สายพันธุ์  (an A/Victoria/2570/2019 (H1N1) pdm09-like virus, an A/Darwin/9/2021 (H3N2)-like virus; และ a B/Austria/1359417/2021 (B/Victoria lineage)-like virus.) ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดพร้อมกับวัคซีนโควิด-19 ได้ โดยให้ฉีดที่แขนคนละข้าง” นพ.ชนินันท์ กล่าว 

ด้าน นพ.สาธิต ทิมขำ อำนวยการกลุ่มภารกิจสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิและการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค สปสช. กล่าวว่า บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ ในปี 2565 นี้ ต่างจากปีที่ผ่านมา โดย สปสช. ได้ยกเลิกการกำหนดให้หน่วยบริการเปิดระบบการจองฉีดวัคซีน (Slot)  แต่ให้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจและความพร้อมของหน่วยบริการ ซึ่งหน่วยบริการที่ไม่มีระบบจองวัคซีนจะให้บริการในรูปแบบ Walk-in ใครไปก่อนมีสิทธิได้รับบริการก่อน (First come – Frist serve) ยกเว้นกรุงเทพมหานครที่ยังคงระบบเปิดให้จองฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ล่วงหน้า ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอป “เป๋าตัง” เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา โดยเป็นความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และในปีนี้ ยังมีการส่งข้อความเตือนรับบริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฯ ให้กับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงผ่านแอป “เป๋าตัง” พร้อมตรวจสอบหน่วยบริการที่อยู่ใกล้ผ่านแอปนี้ได้ โดยอาจโทรสอบถามกับหน่วยบริการก่อนเข้ารับบริการได้ 

นอกจากนี้ในส่วนของกลุ่มเป้าหมายรับบริการในปีนี้ ทางกรมควบคุมโรคได้ จากปีที่ผ่านมากรมควบคุมโรคได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้ป่วยโรคโควิด-19 กลุ่มที่อยู่สถานที่ที่มีการร่วมตัวของประชาชนจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการระบาด และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ขึ้นกับสถานการณ์ ในปีนี้ สปสช. ได้ยกเลิกบริการวัคซีนทั้ง 3 กลุ่มนี้ โดยกำหนดบริการเฉพาะประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงเท่านั้น อย่างไรก็ตามข้อมูลปี 2565 จำนวนประชากรที่อยู่ใน 7 กลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ 11,555,334 คน ซึ่งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ สปสช. จัดสรรเพื่อให้บริการมีจำนวน 4.2 ล้านโดส หรืออยู่ที่ร้อยละ 36.35 ของกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น ดังนั้นขอให้หน่วยบริการเลือกผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง อาทิ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังร่วม ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย เป็นต้น เข้ารับบริการฉีดวัคซีนก่อน 

“การรณรงค์ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลก่อนที่จะมีการแพร่ระบาด โดยขณะนี้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้เริ่มกระจายวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฯ ให้กับหน่วยบริการแล้ว หากหน่วยบริการไหนมีความพร้อมก็สามารถให้บริการได้เลย” นพ.สาธิต กล่าว   

กลุ่มเป้าหมายประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยง ในการรับบริการวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ฯ  ได้แก่ 1) หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี) 2) เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปีทุกคน 3) ผู้มีโรคเรื้อรัง ดังนี้ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน 4) บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 5) โรคธาลัสซีเมียและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ) 6) โรคอ้วน (น้ำหนัก> 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร) และ7) ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้  

ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand 

สปสช.-ธ.ไทยพาณิชย์-กู๊ด ด็อกเตอร์ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดด้วยเทเลเมดิซีน 

26 เม.ย. 2565 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. มีการแถลงข่าวเรื่อง สปสช.จับมือธนาคารไทยพาณิชย์ และ กู๊ดด็อกเตอร์ ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเขียว ด้วยระบบการแพทย์ทางไกล “พบแพทย์ผ่านออนไลน์ จัดส่งยาถึงบ้าน ตามแนวทางเจอ แจก จบ”  

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียวหรือกลุ่มที่มีอาการเล็กน้อย โดยเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้ปรับปรุงแนวทางเวชปฏิบัติ การวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกัน กรณีโรคโควิด-19 สำหรับผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีภาวะเสี่ยง โดยให้การรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน (Out-patient with self-Isolation) หรือ “เจอ แจก จบ” ในสถานพยาบาลต่างๆ นั้น 

เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา สปสช.ได้ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้ารับบริการของประชาชน ไม่จำเป็นต้องไปที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลตามสิทธิ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มสีเขียวรับยาที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่21 มีนาคม 2565 และครั้งนี้ได้ร่วมมือกับ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้ดำเนินการแอปพลิเคชัน SPRING UP (สปริงอัพ) ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสุขภาพครบวงจร และ บริษัท กู๊ดด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและการแพทย์ทางไกล หรือเทเลเมดิซีน (Telemedicine) ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเขียว ตามแนวทางผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้านหรือ เจอ แจก จบ ของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการและได้รับยาอย่างรวดเร็วผ่านแอป SPRING UP  

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จะเริ่มให้บริการตั้งแต่วันนี้ (26 เม.ย.65) เป็นต้นไป เบื้องต้นเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑลก่อน ซึ่งบริการนี้ครอบคลุมประชาชนที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทหรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สามารถใช้บริการได้ฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังไม่ครอบคลุมสิทธิประกันสังคม ซึ่งขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานประกันสังคมเพื่อขยายสิทธิให้ครอบคลุม  

ด้าน นพ.สุทธิชัย โชคกิจชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท กู๊ดด็อกเตอร์ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) กล่าวว่า บริษัทให้บริการให้คำปรึกษาของแพทย์ เภสัชกร โภชนากร หรือนักจิตวิทยา ผ่านระบบเทเลเมดิซีน (Telemedicine) โดยให้บริการแล้วใน 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซียและไทย ในส่วนของไทยมีการจัดตั้งคลินิกและเริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564 ลูกค้าส่วนใหญ่คือกลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น ซีพีออล และ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในช่วงของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าและโอมิครอนในช่วงที่ผ่านมา บริษัทได้สมัครเข้าร่วมให้บริการ Home Isolation ครอบคลุมพื้นที่ทั่ว กทม. โดยให้บริการผู้ป่วยไปแล้วประมาณ 4,000 คน จากนั้น สปสช. มองว่าศักยภาพในระบบเทเลเมดิซีนของบริษัทฯ ที่สามารถดูแลประชาชนได้มากกว่านี้ ประกอบกับมีระบบบริการแบบผู้ป่วยนอก "เจอ แจก จบ" ขึ้น จึงได้ร่วมมือกับ 3 ฝ่าย นำบริการของบริษัท กู๊ดด็อกเตอร์ เทคโนโลยีฯ มาปลั๊กอินในแอปพลิเคชัน SPRING UP ซึ่งเป็นฟรีแอปฯ ของธนาคารไทยพาณิชย์ ให้คนไข้สามารถลงทะเบียนรับบริการเจอ แจก จบได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องผ่านช่องทาง 1330 ของ สปสช. ทั้งนี้ ในเบื้องต้นบริการนี้จะให้บริการในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลก่อน 

นพ.สุทธิชัย กล่าวว่า สำหรับขั้นตอนการรับบริการนั้น อันดับแรกผู้ป่วยสามารถดาวน์โหลดแอปฯ SPRING UP ลงในมือถือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เลือกแบนเนอร์ “ตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด หาหมอออนไลน์ รับยาเจอ แจก จบ ฟรี รับสิทธิ์เลย ด้วยความห่วงใยจาก สปสช. Spring Up GDTT”เมื่อคลิกเข้าไปแล้วผู้ป่วยจะต้องกรอกข้อมูล เช่น ชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ ที่อยู่ อาการของโรค ฯลฯ รวมทั้งแนบภาพถ่าย ATK ที่แสดงผลบวก แล้วคลิกลงทะเบียน ข้อมูลทั้งหมดจะส่งมาที่บริษัท จากนั้นเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเบื้องต้นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับบริการแบบเจอ แจก จบได้หรือไม่ เช่น ไม่เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองหรือแดง ไม่เป็นกลุ่ม 608 เป็นต้น เมื่อตรวจสอบแล้วอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถให้บริการได้ เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับผู้ป่วยเพื่อยืนยันตัวตนและเข้ารับบริการกับแพทย์ได้เลย เมื่อแพทย์ตรวจอาการเสร็จก็จะสั่งยา ข้อมูลการสั่งยาจะถูกส่งไปที่ร้านยาในเครือข่ายซึ่งมีกว่า 400 แห่ง หลังจากร้านยาจัดยาเสร็จ จะมี Rider ของ Grab มารับยาไปส่งให้ผู้ป่วยถึงบ้าน และเมื่อครบ 48 ชั่วโมง แพทย์ก็จะติดตามอาการผู้ป่วยอีกครั้ง 

ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB DBANK) กล่าวว่า “จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศที่ยังคงมีจำนวนผู้ป่วยสะสมเป็นจำนวนมาก “เอสซีบี ดีแบงก์” (SCB DBANK) หน่วยงานด้านดิจิทัลแบงก์กิ้งภายใต้ธนาคารไทยพาณิชย์ มีความยินดีและพร้อมนำศักยภาพทางด้านเทคโนโลยีมาร่วมสนับสนุนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่เป็นผู้ป่วยนอกตามสิทธิการรักษา ได้แก่ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ด้วยการเพิ่มช่องทางในการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ และสั่งจ่ายยาผ่านฟีเจอร์ Telemedicine ซึ่งเป็นหนึ่งในฟีเจอร์หลักบนแอปพลิเคชัน “SPRING UP” ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านสุขภาพที่ SCB DBANK ร่วมกับกู๊ด ด็อกเตอร์ เทคโนโลยี ประเทศไทย พัฒนาขึ้น  

โดยผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวที่มีผล ATK เป็นบวก สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน SPRING UP เพื่อลงทะเบียนเข้ารับการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล ผู้ป่วยจะสามารถแชทขอคำแนะนำและปรึกษาทีมแพทย์ผ่านออนไลน์ รวมถึงสามารถรับบริการจัดส่งยาตามแพทย์สั่งถึงบ้าน นอกจากนี้ระบบจะติดตามอาการเมื่อครบ 48 ชั่วโมง โดยที่ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาล มุ่งช่วยลดความเสี่ยงและคลายความกังวลใจให้กับผู้ป่วย เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแอปฯ “SPRING UP” จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรคท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความเข้มข้นได้อย่างทันท่วงที” 

สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มสีเขียว ที่เป็นผู้ป่วยนอกตามสิทธิการรักษา ได้แก่ สิทธิบัตรทอง 30 บาท สิทธิข้าราชการ และสิทธิพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “SPRING UP” ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อสุขภาพออนไลน์ครบวงจร ลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล “พบแพทย์ผ่านออนไลน์ จัดส่งยาถึงบ้าน ตามแนวทางเจอ แจก จบ” ได้ที่ ลิงก์สำหรับดาวน์โหลด http://onelink.to/7a4nu9 

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net