Skip to main content
sharethis

'วงเสวนาบทเรียนและก้าวต่อไปของการเมืองไทย' ชี้การเมืองไทยก็วนลูป เชื่ออาจมี 'รัฐประหาร' อีก ระบุ 'เหมือนการข่มขืน' เหตุ 'ทหาร' อยากจะมี 'อำนาจ' เมื่อไหร่ กลับมาทำ 'รัฐประหาร' อยากอยู่ยาวในตำแหน่ง พร้อมเรียกร้อง จิตสำนึก 'นักการเมือง' ขอ 'ปชช.' ร่วมกำหนดทิศทางตัวเอง ว่าพวกเขาอยากได้ประเทศที่เดินไปทางไหน

27 เม.ย.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานจาก เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ว่าเมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา วงเสวนา ประสานมิตร : 30 ปี พฤษภา 35  “บทเรียนและก้าวต่อไปของการเมืองไทย” ซึ่งจัดที่ ห้องประชุม รศ.ดร. ธวัช บุรีรักษ์ ชั้น 12  คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดโดย ครป. ร่วมกับ คณะกรรมการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรม และ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวเปิดงานโดย ภูมิ มูลศิลป์  คณบดีคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวนำอภิปราย  โดยมีร่วมอภิปราย ดังนี้ โคทม อารียา ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม, มนต์ชีพ  ศิวะสินางกูร สมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย, ยิ่งชีพ  อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกคณะราษฎร  ดำเนินรายการโดย ปรีชญา  นักฟ้อน  อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

อดุลย์ เขียวบริบูรณ์ กล่าวว่า ตอนนี้ญาติวีรชน กลุ่มไทยไม่ทน และสภาที่สาม ที่ตนตั้งขึ้นมาได้รับการยอมรับสูงมาก เพราะประกอบไปด้วยคนที่เก่งและมีคุณภาพศักยภาพเป็นที่ต้องการ สิ่งหนึ่งที่เราได้มีการพูดคุยและวิเคราะห์ตลอด 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา  ในที่สุดเราได้กระบวนการและวิธีการทุกอย่าง ที่คิดว่าจะสามารถแก้ไขประเทศไทยที่กำลังมีปัญหาได้โดยทุกฝ่าย น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกคน ซึ่งตรงนี้จะถูกนำเสนอในการอภิปราย “สภาที่สาม” เรื่อง "ทางออกของประชาชน/พรรคการเมือง/ประเทศไทย" ใน วันศุกร์ที่ 29 เม.ย. 2565 เวลา 13.30 น-16.30 น. ห้องประชุมชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน  

ประธานคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 กล่าวว่า  ในการจัดเสวนา ถ้าทุกอย่างเดินไปตามนี้ เราจะเห็นบ้านเมืองดีขึ้น และเห็นประเทศไทยดีกว่านี้ ตนขอให้กำลังใจคนรุ่นใหม่ได้ต่อสู้เพื่อบ้านเมืองเราดีกว่านี้ เพราะสิ่งที่ตนอยากเห็นคืออนาคตของชาติ

ยิ่งชีพ กล่าวว่า ตนคิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองไม่ว่าปีพ.ศ. ไหน และในเหตุการณ์ไหนสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ใช่เพียงแค่การชนะอะไรบางอย่างในระยะสั้น แต่เราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงสังคมในระยะยาว  ซึ่งไม่ใช่การชนะทางการเมืองชั่วคราว หรือเขียนตัวบทกฏหมายบางอย่างไว้ชั่วคราว  แต่จะต้องอาศัยการต่อสู้ที่ทำให้เปลี่ยนแปลงทัศนคติ ให้ความเข้าใจของผู้คนในสังคม อุดมคติหรืออุดมการณ์ เข้าไปอยู่ในใจของคน ซึ่งตนคิดว่าถ้าคนในสังคม จากเดิมที่ไม่เคยเชื่ออะไรบางอย่าง แล้วหันมาเชื่ออะไรบางอย่างร่วมกันด้วยตัวเองได้  ตรงนี้น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในระยะยาว  ตนอยากเห็นภาพนี้มากกว่า ที่จะเห็นภาพโครงสร้างขนาดใหญ่

ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า  เหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 กับข้อเรียกร้องของคนยุคนั้น กับสิ่งที่เกิดขึ้นในปี 2563 หรือ 2564 แทบจะเป็นเรื่องเดียวกัน การต่อสู้กับ ทหาร ที่ยึดอำนาจทำรัฐประหาร แล้วพยายามจะอยู่ยาวในตำแหน่ง  ต่อการไม่เอานายกรัฐมนตรีคนนอก  หรือต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชนทั้งฉบับ ก็เป็นข้อเรียกร้องแบบเดียวกัน  แล้วก็ควรจะเป็นเหตุการณ์เดียวกันด้วย

ยิ่งชีพ กล่าวว่า ทั้งนี้ถ้าพฤษภาคม 2535 ชนะจริง หมายความว่าหลักการนี้ต้องสถิตเข้าไปในใจของประชาชนชาวไทยตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว  วันนี้พอมีคนพยายามเขียนรัฐธรรมนูญ ว่าให้มีนายกฯคนนอก ให้คณะรัฐประหารสืบทอดอำนาจได้ ทุกคนต้องพูดพร้อมกันได้ว่าไม่ถูกต้อง และเราจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นไม่ได้  นอกจากประชาชนคนไทยหลายล้านคน ที่โอเคกับการที่จะให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก  ในรัฐธรรมนูญให้มีสมาชิกวุฒิสภา โดยทหารแต่งตั้ง ยังมีอีกหลายท่านที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในพฤษภาคม 2535 ชัดเจน ถึงวันนี้ยังไม่เคยพูดอะไรเลยว่า สิ่งที่เขาเรียกร้องในปี 2535 ตอนนี้ถูกทำลายไปหมดแล้ว

ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า  ถ้าย้อนกลับไปจะเห็นว่า สิ่งที่เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลง คือได้ตัวนายกรัฐมนตรีชั่วคราว ขณะที่เมื่อทหารอยากจะมีอำนาจเมื่อไหร่ ก็กลับมาทำรัฐประหารได้อีก  อุดมคติที่อยากจะปลูกฝังหลักการบางอย่างให้เข้าไปดูในสังคมไทยได้จริงทำไม่ได้ เพราะถ้าทำได้จะไม่เป็นอย่างนี้ในวันนี้

“เหตุการณ์พฤษภา 35  จบด้วยเหมือนกับประชาชนจะมีชัยชนะ ขณะเดียวกันประชาชนก็สูญเสียจำนวนมาก มีทั้งผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญหาย ภาพจำก็คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงมีบทบาทด้วยในการยุติความขัดแย้ง ทั้งนี้ ในปี 2563 มีประชาชนออกมาชุมนุมในท้องถนน ลักษณะคล้ายกัน คือ ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร  มวลชนหลักเป็นคนในเมือง ชนชั้นกลาง มีทั้งมือถือใช้อินเตอร์เน็ตเป็นหลักในการสื่อสาร บรรยากาศและการรวมพลัง  เปลี่ยนไป คือ นัดง่าย รวมตัวง่ายรวดเร็ว แต่ก็กลับบ้านง่าย  กลับไปดู LINE ที่บ้านก็ได้ แล้วกลับไปทวิตต่อก็ได้” ผู้จัดการ iLaw กล่าว  

ยิ่งชีพ กล่าวว่า  หลายคนเชื่อว่าถ้าสู้แบบปี 2535 ชนะไปแล้ว คือรักษาเพดานเท่าเดิม อาจจะจบแบบเดิมก็ได้ แต่ปรากฏว่าใครก็ไม่รู้ตัดสินใจว่า ไม่อยากให้จบแบบเดิม คือเป้าหมายแค่เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีในบางช่วงเวลา ไม่ใช่เป้าหมายในการต่อสู้ระยะยาว  เป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 60 ให้ได้ภายในวันนี้ เพื่อต่อรอง ยอมอะไรบางอย่างไม่ใช่เป้าหมายที่อยากจะเห็น

ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่า  ในระยะยาวเขาจึงเลือกว่าต้องเล่นเพดานสูงกว่านั้น แล้วก็เลือกไปแล้วถูกผิดไม่ทราบแต่ก็เลือกไปแล้ว และอาจจะมีคนเป็นล้านคน ที่เข้าใจว่าการชุมนุมในปี 63-64 นั้นสิ้นสุดลงแล้ว หรือการต่อสู้ในยกนี้จบแล้วด้วยความพ่ายแพ้บางอย่าง เพราะข้อเรียกร้องไม่มีอะไรได้มา  แต่ถ้าเราคิดว่าการต่อสู้ทางการเมืองมีเป้าหมาย เพื่อจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อยู่ในใจผู้คน คือ ค่อยๆขยับอุดมการณ์ ความเชื่อของคนหลายล้าน การต่อสู้ในปี 63-64 ที่ผ่านมาก็ถือว่าได้ขยับอะไรไปมากแล้วเช่นกัน

ยิ่งชีพ กล่าวว่า  คงปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสความ ไม่นิยม ในตัวพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างกันมากระหว่างมีการชุมนุมและไม่มีการชุมนุม โอกาสที่จะยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 ก็ต่างกันมาก ส่วนประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์มีม็อบหรือไม่มีม็อบก็เปลี่ยนไปมาก  เพดานการรับรู้ของคนในสังคมขยับไปเยอะมากแล้ว ตั้งแต่มีม็อบในปี 63 ทำให้สภาผู้แทนราษฎรไม่กล้าที่จะออกกฏหมาย หรือเสนอกฎหมาย เพราะการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ , การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อให้ทุกคนที่อยู่ในอำนาจเห็นด้วยกันหมด ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรซึ่งกำลังทำงานอยู่  คำถามอยู่ที่ว่าการเคลื่อนไหวในปี 63-64 ได้เปลี่ยนแปลงไปหลักการความเชื่อความคิด สิ่งที่อยู่ในใจของผู้คนในสังคมไทยหลักล้าน หรือหลัก 10 ล้านคนได้จริงหรือไม่

“คนที่ออกมาเคลื่อนไหว อาจจะไม่ชอบคุณประยุทธ์ แล้วถ้าวันหนึ่งไม่ใช่คุณประยุทธ  แต่เป็นทหารคนใหม่ที่หล่อกว่า ฉลาดกว่า คล่องแคล่วกว่า เขาอาจจะโอเคก็ได้ ผมไม่ทราบจริงๆว่าจะเป็นอย่างไร  แต่การทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คงไม่ได้ตัดสินว่าเราจะออกไปบนถนน 7 วัน 10 วัน แล้วเราจะชนะเปลี่ยนตัวนายกฯได้หรือไม่ แต่เราต้องดูว่าเปลี่ยนใจผู้คนในระยะยาวได้จริงหรือไม่ ตรงนี้เป็นเรื่องท้าทายมากกว่า เพราะต่อให้ไม่มีม็อบในช่วง 2-3 เดือนมานี้ แต่ก็มีการทำงานกันอีกมากเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น” ผู้จัดการ iLaw กล่าว

โคทม กล่าวว่า ฉากทัศน์ในอนาคตที่ทุกคนในนี้ เห็นตรงกันคือ ไม่ปรารถนาที่จะเห็นรัฐประหารเกิดขึ้นอีก เพราะการรัฐประหารเหมือนการข่มขืน มีบางคนเต็มใจแต่มีจำนวนมากที่ไม่เต็มใจ ตนจึงตีความหมายการเมืองในอนาคต ที่ควรจะเป็นว่า การเมืองคือการต่อสู้เพื่อสร้างอนาคต โดยใช้ “สันติวิธีสร้างอนาคต”  ตอนนี้คนไทยสับสนว่าสร้างอนาคตโดยรัฐประหาร

ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า นักรัฐประหารพยายามปลอมตัว บอกว่าตนเองไม่ใช่นักการเมือง จนบัดนี้ยังยอมรับแบบอ้อมแอ้มว่าเป็นนักการเมืองหรือไม่ แต่ความจริงเป็นตั้งแต่วันที่ทำรัฐประหาร ออกมาจากกรมกองนั่นคือการเมือง แต่ไม่ใช่การเมืองที่ควรจะเป็น การต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อสร้างอนาคตของสังคม ต้องดีขึ้น  
รศ.ดร.โคทม  กล่าวว่า การตระหนักรู้อาจจะใช้ระยะเวลา แต่ในประสบการณ์ของหลายประเทศ จุดเปลี่ยนคือการเปลี่ยนของฝ่ายตุลาการ เลิกให้การยอมรับการรัฐประหาร นักกฎหมายยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่มารวมกันตรงนี้ เราไม่ต้องการคนส่วนมากของประเทศ ที่มีการศึกษาและเข้าใจประชาธิปไตยอย่างผู้รู้ ทั้งหลายในวงการตุลาการถ้ารัฐประหารแล้วท่านไม่ให้การยอมรับ

“ประเด็นสำคัญที่สุด คือ นักการเมืองควรจะมีสำนึก ว่าการเมืองคือตัวเลขที่รวมตัวเลขให้ได้มากกว่า 250 คน ในบรรดาพรรคการเมืองที่ไม่สนับสนุน การสืบทอดอำนาจ ถ้าคุณไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ คุณมารวมตัวกันให้ได้ชนะเลือกตั้ง แล้วจะเป็นกี่พรรคก็ตามมีเสียงเกิน 250 เสียง ถือว่าชัดเจนแปลว่าไม่สืบทอดอำนาจ” โคทม  กล่าว

ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม กล่าวว่า เรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการกระจายอำนาจสู่ฐานราก โดยเฉพาะอำนาจการเมือง สู่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชน ตนอยากเห็นเรื่องนี้ อยากให้เป็นนโยบายของหลายพรรคการเมือง ขณะเดียวกันอยากเห็นทั้งด้านเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจแบบเน้นชีวภาพ  นำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เดินหน้าไปตามนี้ได้ ก็แปลว่าประเทศไทยจะร่วมสร้างอนาคตกับประเทศอื่นๆ และต่อสู้กับภาวะโลกร้อน ซึ่งถือว่าเป็นภาวะสำคัญของโลก ตนอยากเห็นพรรคการเมืองบางพรรคออกมายืนยันในเรื่องเหล่านี้ ที่สำคัญมีพรรคการเมืองไหน กล้าออกมาพูดหรือไม่ว่าจะเลิกทะเลาะกับเยาวชน  และเน้นให้โอกาสในเรื่องของการศึกษา เพราะเป็นหัวใจสำคัญ  ตนอยากเห็นนโยบายเหล่านี้

ภัสราวลี กล่าวว่า  การเมืองไทยก็วนหลูบอยู่แบบนี้ แต่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ทำให้เราได้เก็บบทเรียนหลายอย่าง และหาช่องว่างของรอยรั่วประชาธิปไตยว่าเราจะอุดมันอย่างไร  สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เราได้รับจากบทเรียน พฤษภาคม 2535 คือ ผู้ที่เคยกระทำผิดในเหตุการณ์ครั้งนั้น  ผู้ที่เป็นคนออกคำสั่งในการสังหารเข่นฆ่าประชาชน ทำร้ายประชาชนไม่เคยถูกรับโทษ หรือถูกเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเต็มที่ สมาชิกคณะราษฎร  กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราต้องกลับมาฉุกคิด ว่าทำให้เกิดสิ่งที่เราเรียกว่า “วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด” ต่อเนื่องมาเรื่อยๆ แม้แต่กระทั่งตอนนี้ เมื่อไหร่ก็ตามที่เป็นเรื่องราว ของคนที่มียศ , มีตำแหน่ง , ผู้มีอำนาจ , คนมีสีเป็นผู้กระทำความผิด ในช่วงที่ตัวเองมีอำนาจนั้น ย่อมจะถูกปล่อยให้เวลาผ่านไป

“ผู้ที่ได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับความเป็นธรรมกลับคืนสิ่งที่เขาได้รับความสูญเสียไปในวันนั้น ไม่เคยได้รับการตอบข้อสงสัย ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วใครเป็นคนทำ แล้วคนเหล่านั้นควรได้รับโทษอย่างไรบ้าง เรายังติดกับอยู่ในวัฒนธรรมการลอยนวลของคนที่กระทำความผิด และเรายังคงเปิดโอกาสให้ทหารเข้ามามีส่วนร่วม ในทางการเมืองอย่างเต็มตัว แม้ว่าจะเห็นซ้ำซากว่าทหารก็เป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้การเมืองไทย  ถูกกำหนดกรอบว่า ให้ผลประโยชน์ไปอยู่กับข้างเขาอย่างชัดเจน จนถึงปัจจุบันทหารก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้อง ทางการเมืองอยู่อย่างต่อเนื่อง  และการรัฐประหารก็ไม่ควรเกิดขึ้นต่อจากนี้อีกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การเมืองแบบไหน” ภัสราวลี กล่าว

ภัสราวลี กล่าวว่า  การรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุกครั้ง ส่วนนึงอาจจะเป็นเพราะ ตอนนั้นประชาชนเรายังรู้สึกว่าเราไม่สามารถทำอะไรได้ กับการรัฐประหารมากนัก เราจำเป็นต้องยอมไปเพราะทหารเอง ก็มีทั้งอำนาจ อาวุธและการเขียนความชอบธรรมให้ตัวเอง  ซึ่งทำให้ประชาชนไม่กล้าขึ้นมาต่อกรอย่างเต็มตัว ดังนั้น  
เราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนมุมมองกันใหม่  

สมาชิกคณะราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันในเมื่อเราเห็นแล้วว่าเกิดการรัฐประหารขึ้นมาหนึ่งครั้ง เกิดผลเสียอะไรบ้างกับประเทศชาติและประชาชน จึงจำเป็นที่เราต้องหาวิธีการอย่างไรก็ได้ ให้เรายึดมั่นหลักไว้ก่อนว่า  ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นเราจะทำอย่างไร หรือเราจำเป็นต้องคิดและรู้สึกอย่างไร เพราะการรัฐประหารทุกครั้ง ต้องมีการฉีกรัฐธรรมนูญ ถ้าเกิดการวางรากฐานอำนาจต่อ หลังจากนั้นนี่คือแพตเทิร์น  เพราะกลุ่มคนเหล่านี้จ้องแต่จะเข้ายึดอำนาจ อยู่ในอำนาจ และสืบทอดอำนาจตัวเองอย่างไร

ภัสราวลี กล่าวว่า  ประชาชนต้องตอบตัวเองด้วยว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ต้องการให้ประเทศเราถูกปกครอง ด้วยระบอบประชาธิปไตยเต็มใบ หรือการที่ประชาชนจะมีอำนาจ ในการกำหนดทิศทางตัวเองอย่างเต็มที่หรือไม่  แต่เขาอยากจะเป็นผู้กำหนดทิศทางตัวเอง ว่าพวกเขาอยากได้ประเทศที่เดินไปทางไหนอย่างไรผลประโยชน์ในภายภาคหน้าจะเป็นอย่างไร

สมาชิกคณะราษฎร ยอมรับว่า ปัจจุบันการตื่นตัวทางการเมือง เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน มีการชุมนุมและเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เราเรียกร้องสังคมที่ดีกว่า ถ้าหากเราอยากได้สังคมที่ดีกว่า ต้องมีการตรวจจับอะไรบ้างในเหตุการณ์แต่ละวันที่เกิดขึ้น ซึ่งการชุมนุมเรียกร้องในปัจจุบัน  ต้องพูดกันมากในเรื่องของการแก้ไขและธรรมนูญ  การให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการรัฐประหาร  การเชื่อมโยงทางโครงสร้างอำนาจ  เพื่อให้เราเข้าใจว่าฝั่งที่เขาพยายามควบรวมอำนาจ ไปจากประชาชนเขากำลังคิดอะไรอยู่ และกำลังวางอะไรไว้อยู่ และอะไรที่เราจำเป็นที่จะต้องนำกลับมาใช้ในเรื่องของรัฐธรรมนูญ

“สิ่งที่คนในยุคปัจจุบันจำเป็น ต้องให้ความสำคัญมากๆ คือ วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดต้องยกเลิก  แล้วเรื่องรัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่การตรากฎหมาย ขึ้นมาเฉยๆแต่คือการเซ็ตโครงสร้างทางอำนาจ ว่าใครในประเทศจะมีอำนาจตรงส่วนไหน อย่างไรบ้าง ประชาชนอย่างเราจะมีอำนาจในการทำอะไรหรือไม่ทำอะไรได้บ้าง เป็นรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ที่เราสามารถยึดถือและเชื่อมั่นได้ เป็นจุดที่สามารถเป็นหลักประกันให้เราได้ในอนาคต ว่าเรายังคงมีประชาธิปไตย ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญที่เราทุกคนได้มีส่วนในการออกแบบด้วย” ภัสราวลี กล่าว

มนต์ชีพ กล่าวว่า  ตนสนใจการเมืองมานานแบบลงลึก จนมองว่า 1-2 ปีมานี้ไม่ค่อยไหว หลายคนบอกว่าการเมืองเป็นเรื่องน้ำเน่าสกปรก อย่าไปยุ่งเลย แต่ตนพบความจริงว่าถึงเราไม่ยุ่งกับมัน การเมืองก็มายุ่งกับเรา เช่น ถนนที่เราขับรถ ทางที่เราเดินดีหรือแย่ การเมืองมีส่วน เราจ่ายภาษีเท่าไหร่ แล้วภาษีเราไปสู่อะไรบ้าง กฎระเบียบที่สร้างขึ้นมาให้เราต้องปฏิบัติ ทุกสิ่งทุกอย่างมันคือการเมืองมีผลหมด  

“การเมืองเหมือนอากาศที่เราหายใจ ต่อให้เรารังเกียจมันอย่างไร เราก็ต้องอยู่กับมัน แต่ในเมื่อเรารู้สึกว่ามันไม่ดีแล้ว เราคิดว่าเราดีเราก็ต้องหันหน้ามาเจอกับมัน แก้ไขนี่คือหลักคิดของผมจึงเข้ามาสู่การเมือง สิ่งแรกที่ผมมองว่าไม่ดี คือ การรัฐประหารและไม่ควรที่จะยอมรับได้”  

สมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย กล่าวว่า  สิ่งหนึ่งที่ตนเห็นความเปลี่ยนแปลง คือ จากปี 2516 และ 2519 ซึ่งรุนแรงมีคนตายจำนวนมาก ค่อยๆมีความรุนแรงน้อยลงสูญเสียน้อยลง สู้รบน้อยลง ซึ่งตนกลับมองว่านี่เป็นเรื่องไม่ดี ไม่ใช่หมายความว่าตนอยากให้มีความรุนแรง แต่ตนรู้สึกว่าคนไทยจำนวนหนึ่ง เริ่มรู้สึกว่าปฏิวัติไปก็ไม่เห็นมีอะไร บางคนรู้แล้วว่าควรจะลากประเทศไปสู่จุดไหน เพราะลากไปถึงจุดนั้นเดี๋ยวทหารออกมา ตนมองว่ามันมีสูตรสำเร็จ  ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรจะยอมรับอย่างนี้

“ในช่วงที่ผมยังเด็กหรือก่อนที่ตนเกิด เป็นการรัฐประหารที่เหมือนไม่มีการเขียนบทเป็นความบริสุทธิ์ แต่มาช่วงหลังหลายๆ คนเริ่มเห็นสูตรว่าจะดึงสถานการณ์ การเมืองอย่างไร ไปสู่มุมไหน แล้วแช่มันอยู่ตรงนั้น เอาหัวชนฝาตรงนั้น อยู่ในมุมนั้นเดี๋ยวทหารก็ออกมา ผมเชื่อว่าสูตรนี้ยังอยู่ในใจหลายคน ว่าถ้าสถานการณ์ไม่เข้าท่า ก็จะลากบ้านเมืองไปสู่ในจุดนั้น แล้วเดี๋ยวจะมีรถถังออกมา ตรงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก  ถามว่าจริงๆแล้วคนไทยเราควรเรียนรู้จากตรงนี้หรือไม่” มนต์ชีพ กล่าว

มนต์ชีพ กล่าวว่า  ช่วงหลังเริ่มมีการนำไปสู่จุดรัฐประหาร โดยเหมือนเขียนบทคร่าวๆไว้ คนไทยควรจะเรียนรู้อย่างไร เพราะจะมีจุดวิกฤตบางจุด ที่เริ่มส่งสัญญาณและมีกลิ่นว่าไปไหนไม่ได้ เช่นรัฐประหารปี 2557 ที่มีกลุ่มคนพยายา มบอกว่าจะต้อง “ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง” ส่วนตัวไม่เห็นด้วยและไม่เคยไปร่วมชุมนุมใดๆ  แต่เห็นว่าตรงนี้คือการลากประเทศไทย ไปสู่จุดและมุมที่ไปไหนต่อไม่ได้ จนกลัวว่าจะเกิดขึ้นอีกถ้าเราไม่เรียนรู้ว่า เขากำลังสร้างสถานการณ์ กำลังหยิบบางช่วงของเหตุการณ์หรือเหตุผล ที่ถูกตัดตอนมาแค่บางช่วง  ซึ่งคนที่รู้ว่าเป็นการนำไปสู่มุม ที่ไม่มีทางออกคือ เป็นการโยนระเบิด  

สมาชิกพรรคสร้างอนาคตไทย  กล่าวว่า  ตนคิดว่าเราเหนื่อยกับเรื่องรัฐประหารมาพอแล้ว ประเทศไทยเราถอยหลังมาพอ  คนไทยจำนวนไม่น้อยที่ถูกชี้นำในลักษณะดราม่าแม้กระทั่งการประชามติรัฐธรรมนูญปี 60 ตเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ ไม่เข้าใจว่าเนื้อหาจริงของรัฐธรรมนูญคืออะไร รู้แต่ว่าต้องเป็นคนหนึ่งที่โหวตไม่รับรัฐธรรมนูญ  เพราะตนเห็นเนื้อหารัฐธรรมนูญหลายที่  ต้องคิดว่าไม่ควรจะยอมรับ เช่น การที่ยอมให้ ส.ว. 250 คน มีอำนาจในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี

“อารมณ์ของคนสังคมไทยก็ถูกดึงไปดึงมา และถูกสร้างขึ้นมาว่าให้มีพระเอกมีผู้ร้าย  เรื่องนี้ประเทศไทยถูกลากเรื่องนี้ไปสู่มุมอับ แล้วทำให้ระเบิดลง ดังนั้นถ้าจะมีรัฐประหารต่อไป เชื่อว่าในช่วงอายุของผมนั้น มีสิทธิ์ที่จะได้เห็นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้มีไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่เรามีโอกาสที่จะได้เห็นอีก ถ้าคนไทยยังไม่ได้เรียนรู้และยังเสพการเมืองแบบดราม่าอยู่” มนต์ชีพ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net