Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วง 2 ปีมานี้นับว่าเป็นปีที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในด้านการแสดงออก การแสดงความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่ในเรื่องของการเมือง หรือแม้แต่การกล้าตั้งคำถามต่อความเป็นอยู่ของสถาบันกษัตริย์ การแสดงความเห็นในหลายๆ ครั้งออกมาในรูปแบบของม็อบ

จุดเริ่มต้นของม็อบกลุ่มคนรุ่นใหม่เริ่มมาจาก การที่ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2563 นับตั้งแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็มีการนัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อมีสถานการณ์ระบาดของ COVID – 19 ที่ภาครัฐออกมาตรการเข้มงวดเรื่องการห้ามรวมกลุ่มกันก็ทำให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาต้องยุติการรวมกลุ่มในช่วงเดือน มีนาคม 2563 – มิถุนายน 2563 แต่เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงนั้นลดลงรัฐบาลผ่อนปรนบางมาตรการ ก็ทำให้กลุ่มนักเรียนนักศึกษาและประชาชนออกมาเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว

มีหลายเหตุการณ์ในตอนนั้นที่ปลุกความไม่พอใจของประชาชนต่อรัฐบาล เช่น การหายตัวไปอย่างปริศนาของนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ เหตุการณ์ได้จุดฉนวนให้เยาวชนพูดถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และเป็นจุดเปลี่ยนอย่างมากที่ทำให้ผู้คนกล้าที่จะพูดถึงสถาบันฯ อย่างเปิดเผย

ต่อมาไม่นานมีการจัดชุมนุมที่หน้าหอศิลป์ฯ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้นายวันเฉลิม ซึ่งนำโดยนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “เพนกวิน” มีกระแสที่เคลื่อนไหวและตื่นตัวต่อเรื่องนี้อย่างมากในสื่อโซเชียลในแฮชแท็ก “Saveวันเฉลิม” ต่อมามีการจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยนำโดย กลุ่มเยาวชนปลดแอก มีการยื่น 3 ข้อเรียกร้องคือ หยุดคุกคามประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และยุบสภา

ต่อมากระแสการจัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยเป็นกระแสไปทั่วประเทศมีการนัดชุมนุมตามจุดต่างๆ ของแต่ละจังหวัด แม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็มีการนัดตามแนวสถานีรถไฟฟ้าทุกวันซึ่งก็มีผู้เข้าร่วมชุมนุมมากทุกครั้ง ม็อบที่น่าสนใจที่ผู้เขียนอยากพูดถึงคือม็อบแฮมทาโร่ และม็อบเป็ดยาง 

ม็อบแฮมทาโร่จัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยกิจกรรมที่จัดในครั้งนั้นคือ นักเรียนนักศึกษาพากันวิ่งรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมกับร้องเพลงที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนแฮมทาโร่ “วิ่งนะวิ่งนะแฮมทาโร่ ของอร่อยที่สุดก็คือภาษีประชาชน” และม็อบเป็ดยางซึ่งเป็นม็อบที่จัดขึ้นเมื่อ เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็ดยางถูกนำมาใช้สัญลักษณ์ในการยึดพื้นที่นอกรัฐสภา และเป็นเครื่องกำบังการฉีดน้ำและการยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

นอกจากนี้ยังมีการใช้สัญลักษณ์แทนการเรียกร้องประชาธิปไตยอีกหลายรูปแบบที่น่าสนใจเช่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทุกๆ วิธีการที่ประชาชนพยายามจะสื่อสารไปถึงรัฐบาล หรือสื่อถึงสถาบันฯ ล้วนแต่เป็นสันติวิธีทั้งสิ้น มีอีกหลายๆ ม็อบที่ผู้เขียนอาจจะกล่าวถึงไม่หมด การเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังแม้ว่าจะผ่านมา 2 ปีแล้ว

สิ่งที่ผู้เขียนอยากสื่อในบทความนี้คือ เป็นแรงบันดาลใจอย่างมาให้คนรุ่นหลังได้เปิดโลก สิ่งที่คนรุ่นก่อนๆ ไม่กล้าพูดถึง ในวันนี้ก็กล้าที่จะพูดถึงและกล้าตั้งคำถามอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าท่าทีของรัฐบาล และสถาบันฯ จะดูเมินเฉยต่อม็อบต่างๆ แต่ถ้ามองไปลึกๆ แล้ว เหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้รัฐเผด็จการหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้นจนต้องตามจับกุมแกนนำและดำเนินดคีกับพวกเขา

ผู้เขียนมองว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สูญเปล่า เพราะตอนนี้ถ้าให้มอง “เป็ดยางเหลือง” “แฮรี่พอตเตอร์” หรือ “แฮมทาโร่” ก็คงไม่ได้มองว่าเป็นการ์ตูน ภาพยนตร์ หรือของเล่นธรรมดาอีกต่อไป แต่มันชวนให้นึกถึง ความหวังของคนรุ่นใหม่ที่อยากให้สังคมไทยเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net