‘กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได’ ลงพื้นที่ตรวจเหมืองหินดงมะไฟ หลังบริษัทฯ เหมืองแร่ ขนย้ายถุงสารเคมี โดยไม่ได้รับอนุญาต

กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู ร่วมกับหน่วยงานรัฐลงพื้นที่ตรวจเหมืองหินดงมะไฟ หลังบริษัทฯ เหมืองแร่ ขนย้ายยุทธภัณฑ์ถุงสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรท โดยไม่ได้รับอนุญาต ด้านสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ร่วมตรวจสอบเหมืองทำตามมาตรการ EIA หรือไม่

29 เม.ย. 2565 กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จ.หนองบัวลำภู รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา ทางจังหวัดหนองบัวลำภูได้มีการนัดหมายกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ลงตรวจสอบพื้นที่ในเวลา 10.00 น. ตามคำสั่งให้คณะกรรมการตรวจสอบพื้นที่หลังสิ้นอายุประทานบัตรของผู้ประกอบการ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได แจ้งว่ามีการขนย้ายสารแอมโมเนียไนเตรทออกจากสถานที่เก็บวัตถุระเบิดของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาถึงบริเวณนัดหมายในเวลา 11.00 น. โดยมีรองผู้อำนวยการกองกำลังรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดหนองบัวลำภู (กอ.รมน.) , ตัวแทนสำนักงานอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เขต 2 อุดรธานี , ตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดหนองบัวลำภู (ทสจ.นภ.) , ตัวแทนนายอำเภอสุวรรณคูหา , ตัวแทนผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรสุวรรณคูหา , เกษตรอำเภอสุวรรณคูหา , ป้องกันจังหวัดหนองบัวลำภู , ตัวแทนกำนันผู้ใหญ่บ้านในเขตพื้นที่ประทานบัตร พร้อมด้วยชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ร่วมกันลงพื้นที่

เจ้าหน้าที่จากศูนย์ดำรงธรรมได้ชี้แจงภารกิจที่จะทำร่วมกัน 2 เรื่อง คือ 1.การตรวจนับถุงสารเคมีแอมโมเนียมไนเตรทที่เหลืออยู่ในพื้นที่เก็บวัตถุระเบิด และ 2.การตรวจสอบว่าเหมืองแร่มีการทำตามมาตรการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมครบถ้วนหรือไม่

จากการตรวจสอบสารแอมโมเนียมไนเตรทตัวแทนหน่วยงานต่างๆ เข้าตรวจพื้นที่เก็บวัตถุระเบิดของบริษัทฯ พบว่ามีสารเคมีเหลืออยู่เพียง 6,000 กิโลกรัม (การตรวจสอบครั้งล่าสุดในรายงานมีจำนวน 8,625 กิโลกรัม) และพบแก๊ปไฟฟ้า 1,495 นัด ส่วนในห้องดินปืนไม่พบว่ามีดินปืนอยู่ในคลัง ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารที่รับผิดชอบในส่วนนี้ได้ชี้แจงว่าจะต้องมีการให้ทางบริษัทฯ ได้ชี้แจงเหตุผลในส่วนที่หายไป ซึ่งทางบริษัทฯอาจจะขอให้มีการขนย้ายหรือขอให้มีการทำลายก็ได้

หลังจากการตรวจสอบยุทธภัณฑ์เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานได้เดินทางกลับ เหลือเพียงเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำเหมือง เช่น กพร.เขต 2 อุดรธานี อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภู และ เจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ได้มาชี้แจงมาตรการ EIA ของเหมืองแร่ให้ชาวบ้านฟังและลงพื้นที่ตรวจสอบร่วมกัน

จากการฟังมาตรการ EIA ที่เจ้าหน้าที่ได้ชี้แจง ชาวบ้านได้ตั้งคำถามต่อมาตรการที่ถูกระบุอย่างมากมาย โดยเฉพาะในส่วนของการตรวจสอบว่าบริษัทฯ จะทำตามมาตรฐานจริงหรือไม่ และมาตรฐานที่ถูกกำหนดนั้นสามารถป้องกันผลกระทบได้จริงหรือไม่ เพราะเมื่อมีการทำเหมืองในพื้นที่ ชาวบ้านพบว่ามีหลายเรื่องที่ไม่เป็นไปตามมาตรการไม่ว่าจะเป็นการไม่ปลูกพืชที่ใช้เป็นแนวกันชนป้องกันฝุ่นละออง การฉีดพรมน้ำเพื่อป้องกันฝุ่น การคลุมผ้าเมื่อมีการขนหิน หรือแม้แต่การระเบิดที่สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่อาศัย และทำเกษตรในบริเวณใกล้เคียง

หลายข้อของมาตรการ EIA เป็นเรื่องทางเทคนิคที่ชาวบ้านไม่สามารถตรวจสอบเองได้ และในส่วนของการโม่หินชาวบ้านก็ไม่สามารถตรวจสอบได้เช่นกัน เพราะโรงโม่หินได้ออกไปก่อนที่จะมีการตรวจสอบ ชาวบ้านจึงทำได้เพียงเล่าเรื่องราวของผลกระทบที่เกิดขึ้นให้เจ้าหน้าที่ฟัง

ทางเจ้าหน้ายังคงยืนยันว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดความยุติธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วนทางชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังคงยืนยันว่าพื้นที่นี้ไม่เหมาะสมในการทำเหมืองแร่ เพราะพื้นที่ประทานบัตรทับแหล่งโบราณคดีของหนองบัวลำภู และเป็นพื้นที่แหล่งต้นน้ำของคนในพื้นที่

สำหรับชาวบ้าน มาตรการ EIA ไม่สำคัญเท่าวิถีชีวิตของคนในชุมชน ความร่ำรวยและผลประโยชน์ของคนเพียงไม่กี่คน ไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่าของคนในชุมชน EIA ที่มองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชน วิถีชีวิต และ ธรรมชาติที่มีความเปลี่ยนแปลง ย่อมไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะมาใช้ในการพิจารณาต่ออายุการทำเหมือง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท