Skip to main content
sharethis

Fortify Rights องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนเผยแพร่คลิปวีดีโอทหารไทยกำลังทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลการรีดไถผู้ลี้ภัยผ่าน “บัตรตำรวจ” ทั้งนี้ Fortify Rights เรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการตรวจสอบอย่างเร่งด่วน และให้คุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดน

3 พ.ค. 2565 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน Fortify Rights เผยแพร่คลิปวีดีโอทหารไทยกำลังทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดน อ.พบพระ จ.ตาก โดยองค์กร Fortify Rights รายงานว่า รัฐบาลไทยควรดำเนินการตรวจสอบเหตุการณ์ที่ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนชั่วคราว ซึ่งผู้ลี้ภัยใช้หลบหนีเหตุโจมตีอันร้ายแรงในพื้นที่ภาคตะวันออกของเมียนมา

องค์กร Fortify Rights กล่าวว่า คลิปวิดีโอที่บันทึกจากชายแดนฝั่งเมียนมาที่ Fortify Rights ได้รับมา เผยภาพเหตุการณ์ขณะที่ทหารไทยในเครื่องแบบกำลังทำลายสะพานข้ามห้วยวาเล่ย์ ลำน้ำสาขาของลำน้ำเมย อันเป็นพื้นที่พรมแดนระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา หลักฐานใหม่ยังชี้ให้เห็นว่า ทางการไทยทำการจับกุมผู้ลี้ภัยโดยพลการ รวมถึงมีการกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจรีดไถเงินจากพวกเขาในพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นชายแดนระหว่างสองประเทศ

 

“รัฐบาลไทยควรรับประกันว่าจะมีการสืบสวนเหตุที่เกิดขึ้นในบริเวณพรมแดน เพื่อเป็นการให้การคุ้มครองสิทธิของผู้ลี้ภัย ไม่ใช่ละเมิดสิทธิของพวกเขามากขึ้นไปอีก ทั้งนี้ยังควรตรวจสอบเหตุจับกุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการ ตลอดจนเหตุทำลายสะพานอย่างเร่งด่วน” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารองค์กร Fortify Rights กล่าว

 

 

คลิปวิดีโอนี้บันทึกจากฝั่งประเทศเมียนมา ณ พรมแดนประเทศไทย-เมียนมา เผยแพร่ภาพทหารไทยในเครื่องแบบสองนาย กำลังทำลายสะพานไม้ไผ่ขนาดเล็กข้ามห้วยวาเล่ย์ โดยมีทหารไทยอีกนายหนึ่งมองดูอยู่ สะพานคนเดินข้ามแห่งนี้เชื่อมพื้นที่จังหวัดตากของไทย กับรัฐกะเหรี่ยงในเมียนมาที่บอบช้ำจากสงคราม รวมถึงเป็นพื้นที่ซึ่งกองทัพเมียนมาบุกโจมตีและสังหารพลเรือน ตลอดจนผู้เยาว์ ในช่วงหลายสัปดาห์และหลายเดือนที่ผ่านมา

วิดีโอความยาวกว่า 16 นาทีที่ Fortify Rights ได้รับมา เผยให้เห็นภาพทหารไทยนายหนึ่งกำลังใช้มีดพร้าฟันสะพาน ส่วนทหารอีกนายก็กำลังช่วยรื้อสะพาน ทั้งสองทำงานกันอย่างเป็นระบบ มีการทิ้งชิ้นส่วนสะพานลงในแม่น้ำด้านล่าง ในวิดีโอยังได้ยินเสียงประชาชนพูดภาษากะเหรี่ยงและเด็กทารกกำลังร้องไห้ แม้จะไม่เห็นภาพพวกเขา มีทหารไทยนายหนึ่งขู่สังหารบุคคลที่ไม่ปรากฏภาพในวิดีโอและอยู่ฝั่งชายแดนเมียนมา

 

“ถ่ายอะไรวะ ไอ้เหี้ยนี่ มึงอยากตายเหรอ” ในตอนท้ายของวิดีโอ

 

ทหารเหล่านั้นได้รื้อสะพานออกทั้งหมด Fortify Rights ยืนยันว่าภาพวิดีโอดังกล่าวเป็นการบันทึกไว้จริงในเดือนมีนาคม 2565 โดยได้จัดเก็บข้อมูลวันที่เวลาเกิดเหตุโดยเฉพาะเจาะจงไว้ด้วย  

ในขณะเดียวกัน Fortify Rights ยังได้รับคลิปวีดีโอมาอีกไฟล์หนึ่ง ซึ่งถ่ายไว้เมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2565 ก่อนที่ทหารไทยจะทำลายสะพาน เผยภาพให้เห็นว่ามีกลุ่มคนอย่างน้อย 45 คนกำลังเดินทางข้ามสะพาน ไม่ก็ยืนต่อคิวเพื่อข้ามสะพาน โดยในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก วิดีโอดังกล่าว ซึ่งถูกบันทึกไว้เพียงหนึ่งนาที 36 วินาที เผยให้เห็นภาพกลุ่มผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา โดยในจำนวนนั้นมีเด็กจำนวนมาก กำลังเดินทางอย่างเร่งรีบและระมัดระวัง พวกเขาแบกกระสอบซึ่งคาดว่าจะเป็นสัมภาระส่วนตัว ตลอดจนเสบียงอาหารเพื่อหลบหนีจากความรุนแรงในเมียนมา แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับสะพานและพื้นที่ดังกล่าวบอกกับ Fortify Rights ว่า ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงวัย ใช้สะพานนี้เพื่อเดินทางหลบหนีจากความรุนแรงและการประหัตประหาร นอกจากนี้ ผู้ทำงานด้านการบรรเทาทุกข์อย่างไม่เป็นทางการยังใช้สะพานแห่งนี้เป็นเส้นทางเพื่อขนส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อชีวิตจากประเทศไทยไปให้กับผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในเมียนมา

ในวันที่ 3 ก.พ. 2565 Fortify Rights ได้สัมภาษณ์ทหารไทยนายหนึ่ง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเมย ตรงพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ทหารนายนี้ยืนยันว่า เขาเป็นเจ้าหน้าที่ของกองกำลังนเรศวร กองทัพบกไทย ซึ่งเป็นหน่วยรบพิเศษที่ทำหน้าที่ “ปกป้องคุ้มครอง” พื้นที่บริเวณพรมแดนไทย เขาบอกกับ Fortify Rights ว่า ได้รับคำสั่งขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเดินทางข้ามแม่น้ำเข้าสู่ดินแดนไทยได้ โดยในเดือนมีนาคม 2564 ระหว่างที่รัฐบาลทหารเมียนมาบุกโจมตีพลเรือนในช่วงหลังการทำรัฐประหาร นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาสั่งการให้หน่วยงานต่าง ๆ ขัดขวางไม่ให้มีคนจากเมียนมา “เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย” ซึ่งหมายถึงการปิดกั้นการอพยพของผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องเป็นไปตามคำสั่งดังกล่าว ทางการไทยยังได้บังคับส่งผู้ลี้ภัยหลายพันคนกลับไปเมียนมา

นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 Fortify Rights ได้สัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา 15 คน บริเวณพรมแดนไทย-เมียนมา ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิงเจ็ดคน เจ้าหน้าที่ของสหประชาชาติสองคน และผู้ทำงานบรรเทาทุกข์สี่คนในประเทศไทย นอกจากวิดีโอที่เผยแพร่ในวันนี้แล้ว บันทึกการสัมภาษณ์โดยตรงจาก Fortify Rights ทั้งหมดเผยให้เห็นว่าทางการไทยได้จับกุม ควบคุมตัวผู้ลี้ภัยโดยพลการ รวมถึงยังมีรายงานกล่าวว่าพวกเขาใช้อำนาจรีดไถเงินจากผู้ลี้ภัยจากเมียนมาในช่วงปีที่ผ่านมา

บัตรตำรวจ

เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา สำนักข่าว Associated Press รายงานว่ามีการออก “บัตรตำรวจ” ให้กับผู้ลี้ภัยผ่านนายหน้าคนกลาง โดยพวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 350 บาท ผู้ลี้ภัยหลายคนในแม่สอดจ่ายเงินเพื่อซื้อเอกสารไม่เป็นทางการดังกล่าว เพราะเชื่อว่าตนจะไม่โดนจับกุมหากมีบัตรตำรวจไว้กับตัว

อย่างไรก็ดี ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว Associated Press รัฐบาลไทย “ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง” ว่าไม่มีการใช้อำนาจรีดไถเงินผู้ลี้ภัย แต่ถึงกระนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ออกมาแถลงในเวลาต่อมาว่าจะดำเนินการสืบสวนเหตุดังกล่าว รวมถึงจะหาตัวเจ้าหน้าตำรวจผู้มีส่วนรับผิดชอบพัวพันกับระบบบัตรตำรวจ ในการนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ “ที่เข้าไปพัวพันกับระบบออกบัตรดังกล่าว จะถือว่ามีความผิดทางอาญา รวมถึงต้องได้รับบทลงโทษทางวินัย”

ผู้ลี้ภัยหลายคนในอำเภอแม่สอดอธิบายกับ Fortify Rights ถึงระบบซึ่งคนในพื้นที่เรียกว่า “บัตรตำรวจ” โดยผู้ลี้ภัยคนหนึ่งจากเมียนมาบอกกับ Fortify Rights ว่า

“บัตรตำรวจที่เราใช้ ไม่ได้เป็นหลักประกันหรือให้ความปลอดภัยอะไร แต่เราต้องซื้อบัตรนี้เพราะคนอื่น ๆ ก็ใช้บัตรตำรวจแบบเดียวกัน เราได้ยินว่ามาถ้าแสดงบัตรนี้ เราจะไม่โดนจับ” ผู้ลี้ภัยกล่าว

ผู้ลี้ภัยอีกคนจากเมียนมาซึ่งอยู่ในอำเภอแม่สอด เผยความกังวลที่คล้ายกันให้ Fortify Rights ฟัง โดยบอกว่า “แม้เราจะมีบัตรตำรวจ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะถูกจับหรือไม่ เราไม่เคยแสดงบัตรนี้กับใคร แค่จ่ายเงินค่าบัตรไป เราไม่มั่นใจเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของตัวเองด้วย บัตรตำรวจเป็นเอกสารเดียวที่เรามีอยู่”

ผู้ลี้ภัยเอาบัตรตำรวจมาโชว์ให้ Fortify Rights ดู เอกสารดังกล่าวมีลักษณะเป็นกระดาษขนาดไม่มาตรฐานแผ่นหนึ่ง เป็นบัตรที่มีขนาดต่าง ๆ กันไป ซึ่งเขียนด้วยลายมือเป็นตัวเลข ตัวอักษร หรือสัญลักษณ์อยู่ด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยคนหนึ่งบอกกับ Fortify Rights ว่า “เราต้องเอารูปถ่ายขนาดที่ใช้ทำหนังสือเดินทางมอบให้เขาสองใบ....ไม่มีการปั๊มตราหรือลงนามอย่างเป็นทางการในบัตร”

มีรายงานกล่าวอ้างเพิ่มเติมอีกว่าผู้ลี้ภัยสามารถต่ออายุ “บัตรตำรวจ” ได้ทุกเดือนด้วยการจ่ายเงินเพิ่ม

“รัฐบาลไทยควรกำหนดมาตรฐานอย่างเป็นทางการทั่วประเทศ เพื่อออกบัตรประจำตัวให้กับผู้ลี้ภัย เพื่อให้ความคุ้มครองอย่างแท้จริง ในเมื่อตอนนี้ไม่มีมาตรฐานใดรับรองผู้ลี้ภัย พวกเขาจึงต้องจ่ายเงินซื้อบัตรตำรวจเพื่อความปลอดภัยของตัวเอง รัฐบาลไทยควรต้องดำเนินการตามกระบวนการที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ เพื่อจำแนกและรับรองสถานะของผู้ลี้ภัยในพรมแดนของตน กระบวนการเช่นนี้จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการรีดไถเงินและการปฏิบัติมิชอบอย่างอื่น รวมถึงเอื้อให้สามารถเก็บข้อมูลสำคัญ ๆ สำหรับผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่ในประเทศไทย” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กร Fortify Rights กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาหลายคนยังอธิบายว่า พวกเขาเผชิญกับการจับกุมและควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่รัฐไทย เนื่องจากตนไม่มีสถานะทางกฎหมายในประเทศไทย ยกอย่างเช่น กรณีที่ทางการไทยจับกุมตัวผู้ลี้ภัยชาวเมียนมานาม “จออ่อง” (นามสมมติ) และเพื่อนโดยพลการ หลังจออ่องเดินทางมาถึงไทยได้ 10 วัน เมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อหลบหนีการประหัตประหารจากคณะรัฐประหาร จออ่องเคยเป็นนักศึกษาที่ย่างกุ้งซึ่งเข้าร่วมการรณรงค์ระดับชาติของขบวนการอารยะขัดขืนมวลชน (CDM) การเคลื่อนไหวระดับประเทศเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาภายหลังเกิดเหตุรัฐประหาร

จออ่องอธิบายกับ Fortify Rights ถึงเหตุการณ์ที่เขาและเพื่อนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารไทยที่แม่สอด โดยระบุว่า “ทหารมาพร้อมกับปืน พวกเขาถามว่าเราข้ามพรมแดนมาได้อย่างไร ตอนนั้นเรากลัวมาก”

จากนั้นกองทัพไทยได้ส่งตัวจออ่องและเพื่อนไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวไว้ เขาบอกกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า “ (เจ้าหน้าที่ตม.) จับเราพิมพ์ลายนิ้วมือ ทำเหมือนเราเป็นอาชญากร ที่สำนักงานตม. พวกเขาขู่ว่าจะส่งตัวเรากลับไปพม่า (เมียนมา) จากนั้นก็พาเราไปส่งที่ชายแดน”

ทนายความชาวไทยซึ่งทำงานในหน่วยงานแห่งหนึ่งเพื่อสนับสนุนผู้ลี้ภัย ได้ยื่นมือเข้าช่วยเหลือเพื่อให้ทางการปล่อยตัวจออ่องและเพื่อน

Fortify Rights ยังบันทึกข้อมูลกรณีตำรวจไทยจับกุม “ทูเล” (นามสมมติ) กับเพื่อน ในเดือนมกราคม 2565 บริเวณด่านตรวจในอำเภอแม่สอด ทูเลบอกกับ Fortify Rights ว่า

(ตอนที่ถูกจับ ตำรวจ) ถามว่า “คุณมาจากที่ไหน? มาทำอะไรที่นี่?” ....พวกเขายังขอข้อมูลทุกอย่าง.... มีการถ่ายรูปเราด้วย ตำรวจขอตรวจโทรศัพท์ ประวัติการเดินทาง กับพวกข้อมูลอื่น ๆ..... ยิ่งถ้าพวกคุณเป็นนักกิจกรรม พวกเขาก็จะยิ่งรีดเงินเรามากกว่านั้นอีก ของแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ผมรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกส่งกลับไปเมียนมา

ทูเลและเพื่อนถูกกักตัวเป็นเวลาหลายชั่วโมง จนกระทั่งมีคนที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สอด กับเพื่อนของเขามาช่วยเจรจากับตำรวจ โดยยอมจ่ายเงิน 8,000 บาท เพื่อแลกกับอิสรภาพของเขา

ผู้ลี้ภัยอีกคนหนึ่งซึ่งทำงานเป็นผู้สื่อข่าวในเมียนมา และหลบหนีมาประเทศไทยเมื่อเดือนธันวาคม 2564 บอกกับ Fortify Rights ว่า เขาจ่ายเงินให้ตำรวจไทย 6,000 บาทเมื่อเดือนธันวาคม 2564 เพื่อให้ปล่อยตัวเพื่อนนักข่าวสองคนจากเมียนมา ซึ่งถูกจับในอำเภอแม่สอดระหว่างหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทย “โชคดีมากที่เราจ่ายแค่คนละสามพันบาท” เขาบอกกับ Fortify Rights “ปกติแล้วพวกเขาจะเรียกเงินมากถึง 10,000 หรือ 20,000 บาทต่อคน”

 

ขอเรียกร้องให้รัฐไทยดำเนินการคุ้มครองผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาโดยเร่งด่วน

ประเทศไทยยังขาดกรอบกฎหมายเพื่อรับรองสถานะ หรือให้ความคุ้มครองกับผู้ลี้ภัย ในเดือนธันวาคม 2562 รัฐบาลไทยประกาศใช้ระเบียบเพื่อจัดทำกลไกคัดกรองระดับชาติเพื่อ “จำแนกตัวบุคคลที่ต้องการความคุ้มครอง มอบสถานะด้านกฎหมายและการเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นให้กับพวกเขา” อย่างไรก็ดี การดำเนินงานตามกลไกนี้เป็นไปอย่างเชื่องช้า และไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะดำเนินการให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศหรือไม่

เนื่องจากไม่มีสถานะด้านกฎหมายในประเทศไทย ผู้ลี้ภัยจึงอาจถูกลงโทษทางอาญาตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งห้ามการเข้าเมืองหรือพักอาศัยในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยในประเทศไทยเสี่ยงที่จะถูกจับกุมโดยพลการ ถูกควบคุมตัว หรือถูกบังคับส่งกลับ

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วย หลักการไม่ส่งกลับ (non-refoulement) ห้ามไม่ให้ “ปฏิเสธการเข้าเมืองที่พรมแดน จับกุม หรือการส่งกลับในทางอ้อม” กรณีที่เป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการประหัตประหาร หลักการให้การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับในที่นี้ หมายรวมถึงการดำเนินงานใด ๆ เพื่อปฏิเสธการเข้าเมืองบริเวณพรมแดน แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 แต่หลักการไม่ส่งกลับ เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ จึงมีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่ง รวมทั้งประเทศไทย ตามหลักการนี้ ทุกประเทศต้องคุ้มครองบุคคลไม่ให้ถูกส่งกลับไปยังดินแดนที่จะทำให้ได้รับอันตรายหรือถูกประหัตประหาร

ประเทศไทยควรเริ่มกระบวนการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสารโดยทันที และในระหว่างนั้น ควรมีการลงทะเบียนผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ ตลอดจนมอบสถานะเพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเป็นการชั่วคราวด้วย Fortify Rights กล่าว

นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 กองทัพเมียนมาบีบให้พลเรือนหลายหมื่นคนต้องหลบหนีออกจากประเทศ รายงานความยาว 193 หน้า โดย Fortify Rights และ Schell Center for International Human Rights คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 ได้ระบุข้อมูลกรณีรัฐบาลทหารเมียนมาสังหาร ทรมาน คุมขัง บังคับให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐาน และประหัตประหารพลเรือน ซึ่งเป็นการกระทำที่รุนแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ตามข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ จวบจนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2565 มีผู้พลัดถิ่นในประเทศกว่า 889,900 คนในเมียนมา ในจำนวนนี้ พลเมือง 519,500 คนต้องกลายมาเป็นผู้พลัดถิ่นจากความพยายามก่อรัฐประหารของกองทัพ

 

“เป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่มีต่อผู้ลี้ภัยจากเมียนมา และปฏิบัติตนให้เป็นตัวอย่างในระดับสากล รัฐบาลของประเทศที่เกี่ยวข้องควรสนับสนุนให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อคุ้มครองผู้ลี้ภัยจากเมียนมา และผู้พลัดถิ่นบริเวณพื้นที่ชายแดน” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กร Fortify Rights กล่าว

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net