'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' แจงข้อมูลจากกล้องและพยานยันทหารไทยทำลายสะพานของผู้ลี้ภัยจริง

'ฟอร์ตี้ฟายไรต์' แจงข้อมูลจากกล้องและพยานยันทหารไทยทำลายสะพานของผู้ลี้ภัยจริง ระบุนโยบายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยของไทยอาจส่งผลร้ายแรงต่อผู้ลี้ภัย ทางการไทยควรสอบสวนการละเมิดตามข้อกล่าวหาต่อผู้ลี้ภัยบริเวณพรมแดน และให้การคุ้มครองที่จำเป็นต่อบุคคลทั้งปวง

6 พ.ค.2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์ออกข่าวมาชี้แจงเรื่องคลิปที่ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนชั่วคราวที่ผู้ลี้ภัยชาวพม่าใช้หลบหนี โดยได้ยืนยันว่าภาพในคลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2565 โดยมีทั้งข้อมูลเมตะดาต้าและคำให้การของพยานที่ใช้ยืนยันได้ จึงไม่ได้เป็นไปตามที่กองทัพภาคที่ 3 ออกมาชี้แจงแก้ต่างเมื่อ 4 พ.ค.ที่ผ่านมาว่าเป็นภาพเจ้าหน้าที่ทหารทำลายทางข้ามของขบวนการค้ายาเสพติดเมื่อปี 2564 ขณะนั้นยังไม่เกิดการสู้รบกันระหว่างทหารพม่ากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยยังไม่มีกลุ่มหนีภัยความไม่สงบชาวพม่า

“วิดีโอชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นความย้อนแย้งต่อเนื่อง ระหว่างสิ่งที่ทางการไทยลงมือปฏิบัติ กับพันธกิจที่ประกาศว่าจะคุ้มครองผู้ลี้ภัย” เอมี สมิธ (Amy Smith) ผู้อำนวยการบริหารฟอร์ตี้ฟายไรต์กล่าว “รัฐบาลไทยไม่เพียงต้องสอบสวนเหตุการณ์นี้ หากยังต้องบังคับใช้มาตรการโดยทันที เพื่อขัดขวางไม่ให้มีการละเมิดต่อผู้ลี้ภัยเช่นนี้อีก ทางการไทยควรเน้นการดำเนินงานตามระบบเพื่อขึ้นทะเบียนและช่วยเหลือผู้ลี้ภัย แทนที่จะทำลายสะพานที่ผู้ลี้ภัยใช้งาน”

คลิปที่ทางฟอร์ตี้ฟายไรต์เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ทางองค์กรณ์ระบุว่าบันทึกจากฝั่งประเทศเมียนมา ณ พรมแดนประเทศไทย-เมียนมา เผยแพร่ภาพทหารไทยในเครื่องแบบสองนายขณะที่มีการทำลายสะพาน และเป็นการบันทึกภาพโดยพลเรือนซึ่งอยู่ในฝั่งของเมียนมาที่สามารถมองเห็นเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจนนั้น เผยภาพขณะที่ทหารไทยสองนายกำลังทำลายสะพานไม้ไผ่สำหรับเดินข้าม โดยมีทหารอีกนายหนึ่งเฝ้ามองอยู่ ทหารไทยคนหนึ่งยังใช้ถ้อยคำหยาบคายและขู่ฆ่าเป็นภาษาไทยกับคนถ่ายซึ่งเรามองไม่เห็นตัวจากภาพในวิดีโอ และอยู่ทางฝั่งพรมแดนของเมียนมา โดยทหารใช้คำพูดว่า “เฮ้ย ถ่ายอะไรวะ ไอ้เหี้ยนี่? มึงอยากตายเหรอ?”

จากภาพวิดีโอของฟอร์ตี้ฟายไรต์ ที่บันทึกไว้ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 เผยให้เห็นภาพบุคคลอย่างน้อย 45 คน ในจำนวนนี้มีทั้งผู้หญิงและเด็ก กำลังแบกกระสอบซึ่งดูเหมือนสัมภาระส่วนตัว ขณะเดินข้ามสะพานดังกล่าวจากเมียนมา ในช่วงกลางวันแสก ๆ

ฟอร์ตี้ฟายไรต์ได้ตรวจสอบข้อมูลเมตะดาต้าของวิดีโอ และยังได้พูดคุยกับบุคคลที่รู้จักสะพานนี้ดี เพื่อยืนยันว่าวิดีโอดังกล่าวเป็นการบันทึกภาพถ่ายจากสะพานแห่งเดียวกัน รวมถึงเพื่อยืนยันว่าวันและเวลาที่มีการทำลายสะพานแห่งนี้เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2565 ฟอร์ตี้ฟายไรต์เก็บบันทึกหลักฐานเหล่านี้ไว้ที่สำนักงาน แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูลเหตุการณ์นี้ไม่ให้ถูกตอบโต้

แหล่งข่าวที่คุ้นเคยกับสะพานและพื้นที่ดังกล่าวให้ข้อมูลกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า ผู้ลี้ภัยจากเมียนมา โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงวัย ใช้สะพานแห่งนี้เพื่อหลบหนีจากความรุนแรงและการประหัตประหาร และผู้ทำงานด้านมนุษยธรรมอย่างไม่เป็นทางการก็ใช้สะพานนี้เพื่อลำเลียงสิ่งของบรรเทาทุกข์จากประเทศไทยไปให้กับผู้พลัดถิ่นในประเทศในฝั่งเมียนมา

'Fortify Rights' เผยแพร่คลิปวิดีโอ ทหารไทยทำลายสะพานข้ามพรมแดนของผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา

สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติได้บันทึกข้อมูลการพลัดถิ่นฐานของพลเรือนเป็นระยะในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งอยู่ติดกับพรมแดนประเทศไทย โดยการพลัดถิ่นดังกล่าวเป็นผลมาจากการโจมตีของกองทัพเมียนมา ตั้งแต่ความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ตามข้อมูลของเอกสาร U.N. Inter-agency Update ที่เผยแพร่โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ว่ามีผู้ลี้ภัยจากเมียนมาถึง 17,000 คนเดินทางข้ามมาประเทศไทยในช่วงหนึ่งปีภายหลังการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมา นอกจากนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังรายงานข้อมูลความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งส่งผลให้เกิดการอพยพระลอกใหม่เข้าสู่ประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ไปจนถึงก่อนหน้านี้ รวมทั้งการอพยพในเดือน ธันวาคม 2564, มกราคม 2565, และ มีนาคม 2565

ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 ทหารไทยที่ประจำการอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเมยบริเวณพรมแดนประเทศไทย-เมียนมา ยืนยันกับฟอร์ตี้ฟายไรต์ว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังนเรศวร กองทัพบก ซึ่งเป็นหน่วยพิเศษที่มีหน้าที่ “คุ้มครอง” พรมแดนไทย เขายังได้ยืนยันว่าได้รับคำสั่งให้ขัดขวางไม่ให้ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาเดินทางข้ามแม่น้ำเข้าสู่ดินแดนของไทย

หลักการไม่ส่งกลับ (non - refoulement) ซึ่งเป็นกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ห้ามไม่ให้ “ปฏิเสธบุคคลบริเวณพรมแดน จับกุม และส่งกลับในทางอ้อม” กรณีที่บุคคลนั้นเสี่ยงต่อการประหัตประหาร เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ลี้ภัยและบุคคลอื่นไม่ให้ถูกบังคับส่งกลับ หรือโดนปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศในบริเวณพรมแดน แม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาว่าด้วยสถานะของผู้ลี้ภัย พ.ศ. 2494 และพิธีสาร พ.ศ. 2510 แต่หลักการไม่ส่งกลับเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งย่อมมีผลบังคับใช้ต่อรัฐทุกแห่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย

นับแต่เกิดรัฐประหารในเมียนมา ฟอร์ตี้ฟายไรต์ และ Schell Center for International Human Rights คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเยล ได้บันทึกข้อมูลกรณีที่รัฐบาลทหารเมียนมาสังหาร ทรมาน คุมขัง ทำให้สูญหาย บังคับโยกย้าย และประหัตประหารพลเรือน ในลักษณะที่ถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเดินทางหลบหนีเพื่อความปลอดภัย ข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (OCHA) ณ วันที่ 19 เมษายน 2565 ระบุว่ายังคงมีผู้พลัดถิ่นในประเทศ 912,700 อีกคนในเมียนมา โดยในจำนวนนี้ มีพลเมือง 566,100 คนที่ต้องการเป็นผู้พลัดถิ่นฐานจากความพยายามทำรัฐประหารของกองทัพ

“นโยบายของประเทศไทยเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย อาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อครอบครัวที่หลบหนีจากการโจมตีร้ายแรงถึงชีวิตโดยรัฐบาลทหารของเมียนมา และยังส่งผลกระทบต่อต่อผู้พลัดถิ่นในประเทศที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อให้มีชีวิตรอด” เอมี สมิธกล่าว “ทางการไทยควรสอบสวนการละเมิดตามข้อกล่าวหาต่อผู้ลี้ภัยบริเวณพรมแดน และให้การคุ้มครองที่จำเป็นต่อบุคคลทั้งปวง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท