Skip to main content
sharethis

ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษารับฟ้องหลังใช้เวลาไต่สวนนานเกือบ 3 ปี กรณีบริษัทฟาร์มไก่กล่าวหา 'อังคณา-พุทธณี-ธนภรณ์' นักสิทธิมนุษยชนข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ขณะที่ 'อังคณา' ยืนยันแสดงความคิดเห็นในฐานะ กสม.โดยสุจริต ซื่อตรง เพื่อปกป้องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้าน 'พุทธณี' ระบุการถูกฟ้องคดีสร้างภาระและส่งผลกระทบทางจิตใจ 

13 ก.ย. 2565 วานนี้ (12 ก.ย.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้นัดสามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ (UN Human Rights Expert- WGEID) พุทธณี กางกั้น ผู้อำนวยการ The Fort พื้นที่สำหรับผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ ธนภรณ์ สาลีผล อดีตเจ้าหน้าที่ Fortify Rights เข้ารับฟังว่าศาลจะมีคำสั่งรับฟ้องในคดีที่บริษัท ธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจฟาร์มไก่เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งสามคนในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 326 และ 328 ประมวลกฎหมายอาญา หรือไม่ 

ทั้งนี้ ศาลใช้เวลาในการอ่านคำสั่ง ประมาณครึ่งชั่วโมง โดยศาลพิพากษาว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยให้ความเห็นโดยสุจริต อีกทั้งตามมาตรา 161/1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในชั้นนี้ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องโดยไม่สุจริต เพื่อกลั่นแกล้งจำเลย จึงมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์สําหรับจําเลยไว้ พร้อมทั้งนัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดนัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 14 พ.ย.65 เวลา 09.00 น. ซึ่งภายหลังจากศาลมีคำสั่งรับฟ้อง ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งสามคนได้ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลไปยังห้องเวรชี้ซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อรอการประกันตัวทันที โดยทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่ใช้หลักประกัน เนื่องด้วยคดีมีอัตราโทษไม่ถึง 10 ปี ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเรียกประกัน หรือหลักประกัน ในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 อีกทั้งจำเลยไม่มีเจตนาหลบหนี หรือยุ่งเกี่ยวกับพยาน ตามหลักการพิจารณาคดีของศาลฎีกา จนเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. ศาลได้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสามคนโดยไม่ใช้หลักประกัน

“อังคณา” ยืนยันแสดงความคิดเห็นในฐานะ กสม.โดยสุจริต ซื่อตรง เพื่อปกป้องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวภายหลังจากได้รับการปล่อยตัวว่า คดีนี้ศาลใช้เวลาไต่สวนนานเกือบ 3 ปี ก่อนรับฟ้อง ซึ่งไม่ทราบว่าจะใช้เวลาอีกนานเท่าไรกว่าจะสิ้นสุดการพิจารณาจนถึงชั้นฎีกา ตนยืนยันว่าในการทำหน้าที่ หรือแสดงความคิดเห็นในฐานะ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ผ่านมาได้กระทำโดยสุจริต อีกทั้งการแสดงความเห็นต่าง ๆ เป็นการให้ความเห็นทางวิชาการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกระทำด้วยความซื่อตรงเพื่อปกป้องคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ไม่เคยกระทำการใดๆเพื่อต้องการกลั่นแกล้งหรือใส่ร้ายป้ายสี หรือมีอคติต่อผู้ใด

“ด้วยความเคารพศาล แต่ดิฉันมิอาจเห็นด้วยกับคำสั่งในวันนี้ เพราะการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเพื่อปกป้องสิทธิของผู้อื่นไม่ใช่การก่ออาชญากรรม และไม่สมควรถูกดำเนินคดีอาญา และประเทศไทยต้องไม่ปล่อยให้ใครก็ได้สามารถไปฟ้องศาลเพื่อปิดปาก หรือเพื่อกลั่นแกล้งคนที่ออกมาปกป้องสิทธิเสรีภาพของคนที่ถูกละเมิดสิทธิ การยืนยันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกโดยสุจริตและเปิดเผยเป็นหลักการสำคัญของสังคมประชาธิปไตย”

“พุทธณี” ระบุการถูกฟ้องคดีสร้างภาระและส่งผลกระทบทางจิตใจ

ด้านพุทธณี ระบุว่า เราคิดอยู่ว่ามีความเป็นไปได้ที่ศาลจะรับฟ้องและเข้าใจ ยอมรับ และเคารพคำสั่งของศาลในวันนี้แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ากว่าศาลจะดูว่าคดีมีมูลหรือไม่นั้นในการที่จะรับฟ้องใช้เวลาเกือบ 3 ปี เราดูข่าวเช่นคดีฆ่าหรือคดีอาชญากรรมที่มันใหญ่กว่านี้รุนแรงกว่านี้ยังใช้เวลาน้อยกว่านี้ในการพิจารณาคดี ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมในการพิจารณาคดีแบบของพวกเราจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีความรวดเร็วกว่านี้ ไม่ว่าเราจะผิดหรือถูกเราก็ยินดีที่จะรับคำตัดสิน

ถึงแม้คดีที่พวกเราถูกฟ้องร้องหลายคนอาจจะบอกว่าไม่ได้เป็นคดีใหญ่ แต่มันก็สร้างภาระให้กับเราและส่งผลกระทบทางจิตใจอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเวลาเรื่องของทรัพยากร ซึ่งเราควรได้ใช้เวลาของเราไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่านี้ เราคิดถึงว่าเราอยู่ในสถานภาพที่ดีกว่าคนอื่นในแง่ที่ยังมีภาคประชาสังคมมีองค์กรที่สนับสนุนการต่อสู้ แต่ถ้าเราไม่ได้อยู่ในสภาพแบบนี้คนอื่นที่เขาโดนคดีแบบนี้แล้วไม่ได้มีต้นทุนเท่าเราเขาจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เขาเผชิญ

“ธนภรณ์”ชี้การดำเนินคดีเพี่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือระงับไม่ให้อีกฝ่ายใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ถือเป็นการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP ซึ่งมุ่งสร้างภาระให้กับจำเลย

ขณะที่ธนภรณ์ ระบุว่า วันนี้ศาลมีคำสั่งรับฟ้องเราก็รู้สึกค่อนข้างแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาหลาย ๆ คดีที่นักปกป้องสิทธิถูกบริษัทเอกชนแห่งนี้ยื่นฟ้อง ศาลก็ได้มีคำตัดสินให้ยกฟ้อง อย่างไรก็ตามตนก็พร้อมจะต่อสู้ไปตามกระบวนการยุติธรรมและไม่ยอมแพ้อย่างแน่นอน การดำเนินคดีเพี่อใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือระงับไม่ให้อีกฝ่ายใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเกี่ยวกับประเด็นสาธารณะ ถือเป็นการฟ้องปิดปากหรือ SLAPP ซึ่งมุ่งสร้างภาระให้กับจำเลย ทั้งภาระในเรี่องคดีความ เวลา และค่าใช้จ่าย เช่น ความช่วยเหลือทางกฎหมายจากทีมทนายความ การเดินทางมาศาลตามนัดตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา และการจัดหาหลักทรัพย์ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดีมาเตรียมไว้ล่วงหน้า โดยที่ยังไม่รู้ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เป็นต้น

ด้านทิตศาสตร์ สุดแสน ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า โดยปรกติตามขั้นตอนของการไต่สวนมูลฟ้องจะดูว่าคดีมีมูลพอที่ศาลจะรับฟ้องไว้พิจารณาหรือเปล่า ซึ่งวันนี้ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้อง และในส่วนของการที่จะพิจารณาว่าข้อความที่โพสนั้นเป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์หรือไม่อย่างไร ศาลยังไม่ได้มีการพิจารณา นอกจากนี้หลักข้อยกเว้นว่าเป็นการติชมด้วยความสุจริตและเพื่อประโยชน์สาธารณะที่เราได้ยื่นต่อศาลไปนั้นศาลบอกว่าข้อยกเว้นเหล่านี้ก็ต้องนำสืบกันในชั้นพิจารณาต่อไป ส่วนที่เรายื่นคำร้องตามมาตรา 161/1 ว่าโจทก์ฟ้องร้องไม่สุจริต มีเจตนาที่จะกลั่นแกล้งหรือฟ้องปิดปากไม่ให้เรารายงานเกี่ยวกับการละเมิดแรงงานของตัวโจทก์ ศาลมองว่ายังไม่มีหลักฐานพอที่จะแสดงว่าเป็นการฟ้องกลั่นแกล้ง

ตนมองว่ามันจะมีปัญหาในเรื่องแนวบรรทัดฐานในการไต่สวนมูลฟ้องที่ตนมองว่าค่อนข้างห่างไกลกับการะทำความผิดมากพอสมควร เพราะเรื่องข้อความหมิ่นประมาทก็ไม่ใช่ข้อความที่จำเลยโพส แต่เป็นการแชร์ลิงค์ที่มีการลิงค์ต่อ ๆ ซึ่งในบางโพสต้องเข้าไป 4-5 ชั้นถึงจะเจอ ซึ่งเจตนาตนมองว่าเหตุมันไปไกลกว่าผลพอสมควร และเป็นการสร้างภาระให้จำเลยเอาแค่ในชั้นไต่สวน คดีนี้เริ่มฟ้องตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 ศาลเพิ่งมีคำสั่งรับฟ้องในปีนี้ พ.ศ. 2565 ซึ่งวันนี้ศาลวางแนวไว้ชัดเจนว่าศาลจะไม่วินิจฉัย แค่คุณโพสข้อความหมิ่นหรือไม่หมิ่นก็รับฟ้องไว้ก่อน มันจะทำให้กระบวนการฟ้องหมิ่นประมาทโดยการฟ้องเองทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ภายหลังศาลมีคำสั่งรับฟ้อง จำเลยทั้ง 3 ได้ถูกนำไปไว้ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจศาลระหว่างการรอประกันตัว โดยปรกติต้องวางหลักทรัพย์ประกัน 5 หมื่นบาทต่อคน คดีนี้เรามองว่าเป็นการสร้างภาระที่ตัวจำเลยไม่ควรมารับตั้งแต่แรก เราเลยยื่นคำร้องขอให้มีการปล่อยตัวทั้งสามคนแบบไม่ต้องใช้หลักประกัน หลังจากนี้เราก็จะสู้ตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

Protection International เผย ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีหลังจากรัฐประหารมีนักปกป้องสิทธิฯถูกข่มขู่คุกคาม ด้วยการฟ้องปิดปาก มากกว่า 450 คน

ด้านปรานม สมวงศ์ จาก Protection International กล่าวว่าองค์กรได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่นักปกป้องสิทธิฯโดยเฉพาะผู้หญิง จำนวนมากถูกข่มขู่คุกคาม ด้วยการฟ้องปิดปาก มากกว่า 450 คนตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีหลังจากรัฐประหาร ทั้งรัฐและเอกชนใช้การฟ้องปิดปากหรือการใช้กระบวนการยุติธรรมในการคุกคามนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะคดีหมิ่นประมาทต่อบุคคล คดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการกระทำจากการแสดงออกโดยสุจริต เพื่อให้มีการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการแชร์ทวีตให้กำลังใจแรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิฯท่านอื่นๆ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิของตน การถูกดำเนินคดีเช่นนี้ไม่เพียงทำให้เสียเวลาและเสียเงิน หากยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาวะทางอารมณ์ เนื่องจากเป็นการโจมตีอย่างจงใจและมียุทธศาสตร์ เมื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่มีชื่อเสียงและมีความสำคัญถูกฟ้อง ย่อมส่งผลให้ผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่น ๆ เกิดความหวาดกลัว และกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรม

ความน่าเชื่อถือต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (NAP) ที่รัฐไทยภูมิใจนักหนา มีความสั่นคลอนอย่างยิ่ง มันชัดเจนแล้วว่าการมีแผนแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ไม่มีน้ำหนักในกระบวนการยุติธรรมและไม่มีสถานะทางกฎหมายที่จะบังคับใช้ได้ ไม่ส่งผลและไม่น่าเชื่อถือต่อการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ จากการถูกคุกคามแต่อย่างใด

ในปี 2562 มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 161/1 และ 165/2 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพื่อหาทางแก้ปัญหาการฟ้องคดีฟ้องปิดปาก และการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมในรูปแบบอื่น การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเช่นนี้เปิดโอกาสให้ศาลสามารถยกฟ้องคดี หรือห้ามบุคคลเอกชนฟ้องคดีใหม่ กรณีที่เห็นว่าเป็นการฟ้องคดี “โดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้มาตราใหม่นี้อย่างเป็นผล ในกฎหมายไม่มีการให้นิยามคำว่า “โดยไม่สุจริต” ด้วยซ้ำ ส่งผลให้ตกเป็นดุลพินิจของศาล จนถึงปัจจุบัน การร้องขอต่อศาลให้ใช้อำนาจตามมาตรา 161/1 ในคดีต่อผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มักถูกปฏิเสธ

สำหรับมูลเหตุแห่งการถูกฟ้องคดีในครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อสามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้โพสต์ทวิตเตอร์สนับสนุนให้กำลังใจ สุธารี วรรณศิริ และ งามศุกร์ รัตนเสถียร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ซึ่งถูกบริษัทเอกชนรายดังกล่าวฟ้องคดีในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีออกมาวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสิทธิการจ้างงานแรงงานข้ามชาติเมียนมาของบริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 โดยคดีของงามศุกร์ศาลอาญากรุงเทพได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องและมีคำสั่งไม่รับฟ้องในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ส่วนคดีของสุธารี ศาลอาญา (รัชดา) ได้ยกฟ้องโดยระบุว่าสุธารีแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท

บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ได้ฟ้องร้องอดีตคนงานชาวเมียนมา 14 คน ที่ศาลแขวงดอนเมือง โดยกล่าวหาว่า แรงงานทั้งสิบสี่คนใช้ข้อความอันเป็นเท็จร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงาน เมื่อปี 2559 ว่าสภาพการจ้างงานในฟาร์มไก่ของบริษัทฯ ไม่เป็นไปตามหลักกฎหมายแรงงาน และมีการละเมิดสิทธิแรงงาน แต่ศาลได้ตัดสินยกฟ้องแรงงานทั้ง 14 คน โดยเห็นว่าการร้อง กสม. ของจำเลยทั้งหมดเป็นความจริง และจำเลยใช้สิทธิโดยสุจริตในการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตน นอกจากนี้ศาลฏีกาแรงงานยังได้พิพากษาให้แรงงานได้รับค่าชดเชยจากนายจ้างรวม 1.7 ล้านบาทอีกด้วย

นอกจากนี้บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ยังได้ฟ้องสุชาณี คลัวเทรอ อดีตผู้สื่อข่าว วอยซ์ ทีวี แผนกข่าวต่างประเทศ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีรีทวีตแจ้งข่าวของแรงงานข้ามชาติเมียนมาทั้ง 14 คนนี้ด้วย ซึ่งล่าสุดในวันที่ 9 ส.ค. 65 ที่ผ่านมาศาลฎีกาได้ยกฟ้องและระบุว่าสุชาณี เป็นผู้สื่อข่าว มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นธรรม

ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทฟาร์มไก่แห่งนี้ได้ฟ้องร้องดำเนินคดีทั้งแพ่งและอาญากับแรงงาน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักข่าว รวมทั้งหมด 22 คน 38 คดี ด้วยข้อหาหมิ่นประมาทบริษัทเป็นหลักโดยส่วนใหญ่แล้ว ศาลไม่รับฟ้องหรือยกฟ้อง แต่ล่าสุดกรณีของสามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องและนัดตรวจพยานหลักฐานและกำหนดนัดวันสืบพยานเป็นวันที่ 14 พ.ย.65 เวลา 09.00 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net