Skip to main content
sharethis

3 กลุ่มสถาบันขนส่ง ร่วมจัดงานในวาระครบ 100 วันการจากไปของ ‘หมอกระต่าย’ ชี้บทลงโทษทางกฎหมายต่อผู้ละเมิดกฎจรจรต้องเข้มงวด ควบคู่กับสร้างความตระหนักรู้ พร้อมฟังทัศนะจากผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ต่อการยกระดับความปลอดภัยบนท้องถนนในเมืองกรุง

 

30 เม.ย. 2565 เป็นวันครบรอบ 100 วัน การจากไปของหมอกระต่าย หรือ พญ.วราลัคน์ สุภวัฒน์จริยากุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลราชวิถี หลังเธอประสบอุบัติเหตุถูก ส.ต.ต.นรวิชญ์ บัวดก ขับขี่บิ๊กไบค์ ยี่ห้อ ‘ดูคาติ’ ชนขณะที่กำลังข้ามถนนบนทางม้าลาย และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุเมื่อ 21 ม.ค. 2565 ซึ่งต่อมา เหตุการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหลายประเด็น รวมถึงความปลอดภัยจากการข้ามถนนบนทางม้าลาย และการขับขี่ยานพาหนะที่เร็วเกินไปในเขตชุมชน

เมื่อ 29 เม.ย. 2565 สถาบันขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ จุฬาฯ ร่วมกับกลุ่ม MAYDAY (เมล์เดย์) ซึ่งเป็นกลุ่มสนใจพัฒนาเรื่องการเดินทาง และระบบขนส่งสาธารณะ และกลุ่ม Rabbit Crossing ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเพื่อนหมอกระต่าย เพื่อยกระดับความปอดภัยของผู้ใช้ทางสัญจร ร่วมจัดงาน “100 วัน หมอกระต่าย ก้าวต่อไปบนทางเท้า”

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการ การขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUTI กล่าวเปิดงานว่า จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์คุณหมอกระต่าย สร้างการตระหนักรู้ในสังคม เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบัน 

รศ.ดร.มาโนช โลหเตปานนท์ ผู้อำนวยการ การขนส่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ CUTI (ที่มา Chulalongkorn University Transportation Institute)

รศ.ดร.มาโนช กล่าวเสริมอีกว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนต่อประชากรที่สุด เป็นอับดับต้นๆ 1-3 ของโลก มาโดยตลอด กรุงเทพมหานครในปี 2564 มีอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด 97,426 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 816 คน และในปี 2565 จนถึงวันที่ 21 เมษายน มีอุบัติเหตุบนท้องถนนแล้ว 32,153 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 316 คน และหนึ่งในนั้นคือหมอกระต่าย และเพื่อเป็นการระลึกถึงคุณหมอกระต่าย ในงานได้มีการยืนสงบนิ่ง เพื่อรำลึกถึงการจากไปของหมอกระต่าย

เปิดโครงการรถคันนี้ไม่ฝ่าไฟแดง  

ผอ.CUTI กล่าวด้วยว่า CUTI ดำเนินโครงการร่วมกับทางบริษัทไปรษณีย์ไทยในการณรงค์ให้ผู้ขับขี่ของบริษัทไปรษณีย์ไทย มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขับขี่ที่ปลอดภัยและอาศัยพลังของไปรษณีย์ไทยที่จะส่งต่อความรู้ตรงนี้สู่ประชาชนที่รับบริการจากไปรษณีย์ไทย โดยตั้งเป้าว่าจะอาศัยพลังของบุรุษไปรษณีย์ไทย 200,000 คน 1 คนกระจายข่าวต่อ 10 ครัวเรือน ความตั้งใจและความคาดหวังของเราคือ 200,000 คนในประเทศไทยต้องมีความรู้เกี่ยวกับความปลอยภัยในการขับขี่ นี้คือโครงการเพื่อนแท้ร่วมทาง

นอกจากนี้ มีโครงการม้าลายกระต่ายน้อย ซึ่งริเริ่มโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีการปรับปรุงทางม้าลายและทางกายภาพรอบๆ บริเวณโรงพยาบาลจุฬาฯ ทางสถาบัน CUTI ก็หยิบตัวนั้นมาขับเคลื่อนต่อ สร้างเป็นสติกเกอร์ติดบนหลังรถยนต์ เพื่อเป็นสัญญาเตือนเพื่อหยุดรถให้คนข้ามทางม้าลายได้ ไม่ให้รถคันด้านหลังขับมาชนเรา 

สุดท้าย CUTI กล่าวเปิดโครงการ “รถคันนี้ไม่ฝ่าไฟแดง” มีเจตนารมย์สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้ขับจักรยานยนต์ ปัจจุบันพบว่ามีผู้ขับขี่จักรยานยนต์เป็นจำนวนมากที่ไม่เคารพกฎจราจรและฝ่าไฟแดงอยู่ตลอดเวลา

กฎหมายต้องถูกแก้เพื่อความปลอดภัย

นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล พ่อของหมอกระต่าย กล่าวถึงเหตุการณ์อุบัติเหตุของลูกสาวว่า เป็นความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้น 100 วัน เป็นวันแห่งความจริง แต่ในหัวอกความเป็นพ่อ และครอบครัวยังคงมีแต่ความเศร้า ความมืดมน ทำให้รู้สึกว่าวันคืนมันไปช้ามาก การสูญเสียของหมอกระต่าย อาจจะส่งผลกระทบต่อวงกว้าง โดยเฉพาะความรู้สึกของคนในครอบครัวและคนในสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะทางม้าลาย มีการรณรงค์ความปลอดภัยของคนข้ามถนน ปรับปรุงทางม้าลายให้ดีขึ้น มีกิจกรรมรณรงค์ถึงความปลอดภัย ทุกๆ วันที่ 11 ของเดือน ซึ่งเป็นกระแสที่มาค่อนข้างแรง แต่จะเห็นได้ว่าระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน กระแสเริ่มเงียบลง เลยจะขอความร่วมมือจากทุกๆ หน่วงงาน ได้ช่วยกันสานต่อไม่ให้มันเงียบ เรายังอยากให้แรงตรงนี้  มั่นคง เกิดประสิทธิภาพและเกิดผลที่ดีต่อไปในอนาคต

นพ.อนิรุทธ์ สุภวัตรจริยากุล พ่อของหมอกระต่าย (ที่มา Chulalongkorn University Transportation Institute)

นพ.อนิรุทธ์ มองว่า ทางด้านกฎหมายต้องถูกกำหนดและเปลี่ยนแปลงโดยเร็วเพื่อความปลอดภัย โดยเฉพาะความเร็วในเขตชุมชน เราจะยึดกฎ 80 กิโลเมตร (กม.) ไม่ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้นกับหมอกระต่ายมันไม่ใช่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่มัน 128 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มันเป็นเรื่องของการจงใจ ใครจะขับรถ 128 ด้วยประมาทผมว่ามันไม่ใช่ โดยเฉพาะขับชนคนข้ามทางม้าลาย มันต้องเป็นโทษหนัก ไม่ใช่แค่โทษประมาท ไม่มีลดหย่อน ไม่มีละเว้น ซึ่งโทษหนักก็ควรจะกระทำเป็นตัวอย่าง จะได้เป็นที่จำจดเขา ประชาชนคนใช้รถให้ปรับเปลี่ยนเป็นพฤติกรรม สามัญสำนึกในเรื่องของการขับขี่รถ ถ้าเราควบคุมตรงนี้ได้ดี โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ 

“ทุกชีวิตมีคุณค่า เหตุการณ์เช่นนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้น สังคมไทยควรที่จะจดจำ แล้วเปลี่ยนแปลงให้มันดีขึ้น ผมยังหวังว่าทุกๆ ท่านที่ได้รำลึกถึงหมอกระต่าย ทั้งหน่วยงานของรัฐเอกชนทั้งหลายก็จะได้สานต่อและผลักดันไปเรื่อยๆ เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมในเรื่องของการปลอดภัยจากการใช้รถใช้ถนนของสังคมไทยอย่างยั่งยืนตลอดไป” นพ.อนิรุทธ์ ระบุ

3 เรื่องที่ต้องผลักดัน

กลุ่ม Rabbit Crossing นำทีมโดย หมอเจี๊ยบ หรือ พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ หมอน้ำ หรือ พญ.มาริน ศตวิริยะ และหมอจิ๋ว หรือ พญ.สุวิมล ปรัศว์เมธีกุล โดยหมอเจี๊ยบเล่าว่า RabbitCrossing จัดตั้งโดยกลุ่มเพื่อนของหมอกระต่าย และอยากทำอะไรบางอย่างเพื่อไม่ต้องเกิดเหตุการณ์ หรือให้ใครต้องมาสูญเสียอีก ทางกลุ่มจึงอยากผลักดัน 3 เรื่องใหญ่ๆ ประกอบด้วย 

1. เป็นเรื่องของกฎหมายที่เกี่ยวกับทางม้าลายโดยเฉพาะ ให้เข้มงวดขึ้น ต้องการเพิ่มโทษให้หนักขึ้น มีการบังคับใช้จริง อย่างที่เห็นว่า ผลคำตัดสินที่ออกมานั้น หมอเจี๊ยบถามทุกคนว่า เห็นด้วยหรอว่ามันควรจะเป็นแบบนั้น กับคนๆ นึงที่ต้องเสียชีวิต ค่าปรับ 4,000 บาท กว่าจะโตมา สิ่งที่สร้างให้กับประเทศชาติมันนับมูลค่าไม่ได้ สิ่งนี้คือสิ่งที่ต้องดำเนินการที่เห็นได้อย่างชัดเจน 

(ขวา) หมอเจี๊ยบ หรือ พญ.ลลนา ก้องธรนินทร์ (ที่มา Chulalongkorn University Transportation Institute)

2.ลักษณะทางกายภาพของทางม้าลายให้ปลอดภัย ถึงแม้ว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว จะมีการปรับปรุงบ้างก็ตาม แต่มันไม่ทั่วถึง เพราะสังคมไทยส่วนใหญ่เป็นไฟไหม้ฟาง ที่จะตื่นตัวกันช่วงแรก อีกนิดก็ซาลง ช่วงนี้มีข่าวการตัดสินโทษของคู่กรณีของหมอกระต่าย ก็เริ่มมาให้ความสนใจอีก แต่สิ่งที่พวกเราต้องการคือ ไม่อยากให้มันจบลงเพียงแค่นี้ อยากให้เกิดขึ้นจริง เห็นผลจริง ทุกวันนี้ทางม้าลายหน้าโรงพยาบาลยังสีซีดอยู่ ยังไม่ปลอดภัย อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงอย่างทั่วถึง 

3.รณรงค์ให้เกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับทางม้าลาย ใช้อย่างมัสามัญสำนึก ไม่ละเมิดทางม้าลาย ทางม้าลายมันต้องศักดิ์สิทธิ์

หมอเจี๊ยบ กล่าวเสริมว่า ยังจะทำกลุ่มต่อไปเพื่อให้เห็นความจริงที่มันเกิดขึ้น ที่ผ่านมาที่เราไปออก ได้ยินคนพูดมาเยอะว่า เรื่องนี้กว่าจะเปลี่ยนใช้เวลาเป็น 8 ปี 10 ปี แต่ทำไมเรื่องที่มันมีประโยชน์มันต้องใช้ระยะเวลานานขนาดนั้น มันไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่พวกเราทำได้คือให้เห็นความสำคัญกับสิ่งนี้ว่ามันคือสิ่งที่พวกเราสมควรได้รับหรอ ประชาชนในประเทศนี้ควรได้รับสิ่งแบบนี้หรอ สิ่งพื้นฐานที่เราควรได้รับ เรายอมกับสิ่งแค่นี้หรอ ถ้าเราไม่ยอมขอให้พวกเราเป็นเสียงหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

บทลงโทษต้องหนักขึ้น สร้างความยำเกรง

หมอน้ำ กล่าวว่า ได้เสนอร่างกฎหมายที่มีบทลงโทษที่หนักมากขึ้นและรัดกุมมากขึ้น เจาะจงกับผู้ที่ใช้ทางม้าลายมากขึ้น เนื่องจากหากเป็นกฎหมายที่มีโทษเบา มันไม่สร้างความยำเกรง หรือผู้ที่ใช้รถใช้ถนนก็ไม่ได้เคารพกฎอย่างจริงจัง เพราะคิดว่าทำผิดไป มันก็ไม่ได้ถูกลงโทษจริงจังอะไร ผู้ที่บังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือว่าผู้เก็บค่าปรับต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติของจริงจังด้วยเช่นกัน ซึ่งตอนนี้ได้ยื่นเสียงที่ทุกคนได้ช่วยกันลงในเว็บไซต์ที่ทางกลุ่ม (Rabbit Crossing) ได้สร้างขึ้น มีคนเห็นด้วยทั่วทั้งประเทศไทย ไม่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น 50,000 กว่ารายชื่อ และได้ยื่นไปยังหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีที่แม่ของหมอกระต่ายช่วยยื่นให้ มีประธานรัฐสภาท่านก็ได้รับเรื่อง ประธานคณะกรรมาธิการกฎหมาย และพรรคการเมืองหลายพรรค พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ก้าวไกล เราคาดหวังว่าพรรคเหล่านี้หากท่านได้ร่วมรัฐบาลหรือต่อให้ท่านเป็นฝ่ายค้าน จะนำร่างที่เสนอนำไปพิจารณาในระดับนิติบัญญัติ ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่คิดว่า นอกจากเราได้ทำในเชิงรณรงค์ ทางกายภาพแล้ว ทางกฎหมายก็เป็นทางที่จะต้องลงมือช่วยเราอย่างจริงจัง

เรื่องการรณรงค์ ตัวของคุณหมอเองคิดว่าจริงๆ ประเทศไทยก็มีการรณรงค์เรื่องความปลอดภัย ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กๆ เราก็เห็นกันอยู่ว่ามันไม่ได้เกิดผลจริง ตอนนี้ทางกลุ่มเองก็พยายามที่จะเข้าถึงประชาชนมากที่สุด คิดว่าไอเดียที่ทำร่วมกับไปรษณีย์ไทยนั้นดีมากๆ ทางกลุ่มเองก็ได้ติดต่อกับทางภาพเอกชน ตอนนี้มีทาง LINE MAN ที่เริ่มตอบสนองกับมา ทางกลุ่มอยากให้กลุ่มไรเดอร์ช่วยด้วยเหมือนกัน ถ้าเกิดมีหน่วยงานหรือบริษัทอื่นๆ ที่ใช้รถใช้ถนนหรือผู้ขับขี่เยอะ ยินดีที่จะร่วมงานด้วย เพื่อที่จะกระจายเสียงเหล่านี้ออกไป เพราะท่านเป็นผู้ที่ใช้ถนนจริงๆ อยากได้ความปลอดภัยจากท่านด้วย ในเรื่องของกายภาพ ทางกลุ่มไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นปลายที่ที่เป็นคนรักษาคนไข้ด้วยซ้ำ ถ้ามีหน่วยงานอื่นๆ ที่อยากรณรงค์เรื่องกายภาพ เรายินดีที่จะเป็นกระบอกเสียง เป็นสื่อกลางสื่อหนึ่งจะแนะนำให้กับทุกๆ ทางประสานงานกับสำนักการขนส่งและจราจร

“ เราอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เบื้องต้นอยากให้ทุกคนได้ข้ามทางม้าลายที่ปลอดภัยก่อน อยากให้ทุกๆคนเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วก็ความสูญเสียที่มันเกิดขึ้น มันประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้กฎหมายมันลงโทษรุนแรงกว่านี้ ก็ไม่สามารถชดเชยความสูญเสียที่ทุกคนได้รับ” หมอน้ำ หรือ พญ.มาริน ศตวิริยะ กล่าว 

ปัจจุบัน Rabbit Crossing มีช่งอทางรับเรื่องร้องเรียน ถ้าใครประสบปัญหาบนท้องถนน สามารถแจ้งมาทางกลุ่มได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้ Twitter : @rabbitcross_th, Facebook : @rabbitcrossing, LINE :  @rabbitcrossing และ Instagram : @rabbit.crossing.group 

MAYDAY จัดทำคลิปวิสัยทัศน์จากผู้สมัครผู้ว่า กทม. ต่อความปลอดภัยของผู้สัญจร

MAYDAY เป็นกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีความสนใจสูงมากเรื่องการเดินทางและพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองให้ดีขึ้น ได้ทำวิดีโอแสดงวิสัยทัศน์ ผู้สมัครผู้ว่า กทม.มีแนวทางอย่างไรที่จะทำให้อุบัติเหตุทางจราจร “ลดลง” ไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก “ในระยะยาว”

ผู้สื่อข่าวสรุปมาให้ดังนี้ โดย ‘ศิธา ทิวารี’ ผู้สมัครพรรคไทยสร้างไทย หมายเลข 9 มองว่า กทม.ต้องสำรวจให้ชัดเจนว่าพื้นที่ไหนที่เป็นจุดเสี่ยง พื้นที่ไหนคนใช้บริการเยอะ และจัด Priority (ลำดับความสำคัญ) ที่ถูกต้องในการที่จะไปสร้างสะพานลอยคนข้าม รถที่ขับผิดกฎหมายก็ต้องทำให้น้อยลง กล้อง CCTV วงจรปิดต่างๆ การปรับ ถ้าเกิดมีคนก้าวขาหรือคนยืน แสดงเจตจำนงที่จะข้ามถนน รถต้องจอดให้และถ้าเกิดไม่จอดให้ ไม่ต้องรอให้เกิดอุบัติเหตุก่อนคุณถึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่าให้ถึงจุดนั้น ต้องการ Preventive เป็นการทำให้คุณรู้ว่าคุณต้องจอด

“เป็นเรื่องของการบริหารงบประมาณ และเรื่องการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน  สิ่งที่เข้าไปแล้วทำได้เลย ผมจะทำสะพานลอยคนข้าม โดยติดให้มีลิฟต์ช่วยคนพิการเข้าไป ซึ่งแน่นอน มีสะพานลอยคนข้ามสัก 10 สะพานลอย จะติดลิฟต์ทั้ง 10 ก็อาจจะสิ้นเปลืองเกินไป ก็มาดูให้เหมาะสม” ศิธา กล่าว

อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 6 มองว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนมันเชื่อมต่อกันหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น ทางม้าลาย มันไม่มีตุ่มกดไฟต่างๆ ที่เราก็ทำไปขีดสีตีเส้นให้มันชัดเจนขึ้น เราต้องเริ่มจากรากฐานในโรงเรียนเลย เริ่มจากพฤติกรรมของเด็กเลยว่า ทางม้าลายต้องหยุดให้คนข้ามนะ ต้องชะลอความเร็วนะ พอจ่อถึงขาวแดงก็ต้องจอดแล้ว คือต้องสร้างลักษณะนิสัยให้ประชาชน พอโตขึ้นไปเขาก็จะรู้ว่าเขาไม่ทำหรอกเรื่องอย่างนี้

“ผมว่ามันต้องเป็นเรื่องของจิตสำนึกของมนุษย์ ทางม้าลายทำไหมคุณถึงไม่จอดให้เขาข้าม ต้องสร้างทัศนคติ และสร้างองค์ความรู้ให้เขาว่า ให้เขามีจิตสำนึก” อัศวิน ระบุ  

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครพรรคก้าวไกล หมายเลข 1 เผยว่า เราต้องยอมรับกันตรงๆ แล้วนะ ว่าปัญหาใหญ่ของเรื่องนี้มันคือการบังคับใช้กฎหมาย ต่อให้คุณปรับปรุง ป้าย กล้องวงจรปิด หรืออะไรก็ตาม ถ้าคุณไม่มีกลไกในการบังคับใช้กฎหมาย มันไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะลดลงให้ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ แล้วกลไกอะไรที่จะทำให้คนทำล่ะ กล้องวงจรปิดประมาณ 46,000 ตัว ณ วันนี้ ถ้าเกิดคุณแค่ถูกเฉี่ยว แค่เกือบชน ตำรวจจถามว่า  จำทะเบียนรถได้ไหม?  แล้วผมตั้งคำถามว่าเราเสียภาษีมหาศาลติดกล้องวงจรปิด เพื่ออะไร ถูกไหม ผมว่ามันต้องทำใหเกล้องที่เราลงทุนด้วยเงินภาษีเรา ให้ความเป็นธรรมกับทุกคนได้แล้ว

วิโรจน์ ลัขณาอดิศร จากพรรคก้าวไกล (ที่มา Chulalongkorn University Transportation Institute)

วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 22 ระบุว่า คนขับนี่แหละ ความเร็วของคนขับ ไม่ว่าจะขับมอเตอร์ไซค์หรือรถเก๋ง รวมไปถึงคนขับของพวกรถขนส่งมวลชนด้วยนะ ไม่ว่าจะเป็นรถตู้ รถเมล์ คนขับนี่สำคัญมาก เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรก็ต้องอยู่ในพื้นที่สัญญาณไฟ อาจจะร่วมมือกับเทศกิจ แทนที่จะดูแต่หาบเร่แผงลอยตามฟุตบาท อาจจะมาช่วยทางด้านจารจรด้วย ก็จะดี

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 8 เผยว่า เอาจริงๆ แล้วอาจจะต้องทำสองส่วน อันแรกคือเรื่องกายภาพ ถนนหนทาง ทางข้ามมันต้องให้ได้มาตรฐาน อันที่สองคือวินัยจราจร เราต้องเริ่มแล้วว่าในการควบคุมสปีดความเร็วของถนนที่เป็นชุมชน ถนนที่มีทางข้าม จับ Speedling ถ้าใครทำ ขับเร็วเกิน ก็ต้องโดนปรับ โดนจับ งั้นอาจจริงอาจจังในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย คือต้องรณรงค์ด้วย ทำไมคนไม่หยุดทางม้าลาย ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า คนอื่นไม่หยุด เราก็เลยไม่หยุด แต่ถ้ามีคนหยุด ผมว่าคนที่หยุดจะเยอะขึ้น กฎหมายบังคับ กับการรณรงค์ไปด้วย ผมคิดว่ามันจะช่วยให้พฤติกรรมของคนดีขึ้น 

“ตัวถนนหนทางต่างๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นของกทม เส้นทางต้องปลอยภัยก่อนจะมาตรฐานดี เข้าไปแก้ไขให้ชัดเจน จากนั้นเนี่ยก็ต้องมีการติดตามดุแลอย่างต่อเนื่อง ความสามารถของ กทม. สามารถปักป้ายเตือนลดความเร็วลงได้ เรื่องนี้ กทม. ต้องร่วมมือกับตำรวจจราจร แล้วทำให้อย่างเข้มข้น อาจจะต้องใช้ระบบกำกับดูแลเช่น มีกล้อง CCTV สร้างวินัยจราจร” ชัชชาติ ระบุ

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 (ที่มา Chulalongkorn University Transportation Institute)

หมายเหตุ : สำหรับ วีรภัทรา เสียงเย็น ศิริลักษณ์ คำทา และ กาญจนาภรณ์ ที่รัก ผู้เขียนรายงานชิ้นนี้เป็นนักศึกษาสาขานิเทศศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยระหว่างเขียนงานเป็นผู้ฝึกงานประจำกองบรรณาธิการประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net