Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านแก่งคอย-มวกเหล็ก คัดค้านการต่ออายุ 'เหมืองปูน TPI จ.สระบุรี' ระบุไม่เคยฟื้นฟูพื้นที่ป่า ชี้ ครม.ผ่อนผันพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A 1B  ที่อุดมสมบูรณ์มีสัตว์ป่าอาศัย มีวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ และพระนามาภิไธยของ ร.5 แถมมีโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้รายงานผลกระทบนอกพื้นที่มาอ้าง ก่อให้เกิดมลพิษมีปัญหาต่อสุขภาพกระทบอาชีพเกษตรและท่องเที่ยว จับตาการทำ 'ประชาพิจารณ์' ถามชาวบ้านในพื้นที่เริ่ม 8 พ.ค.-13 พ.ค.นี้  

8 พ.ค. 2565 ดร.เรืองเกียรติ สุวรรณโนภาส ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรป่ามิตรภาพ และแกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงปัญหาการทำเหมืองหินและโรงฟ้าถ่านหินจ.สระบุรีที่ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ ว่า เมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ผ่อนผันในการขอต่ออายุ เหมืองปูนของ บริษัท ทีพีไอ  ซึ่งเมื่อประมาณปี 2562 ทางกลุ่มได้คัดค้านไปแล้ว สิ่งที่ชาวบ้านคัดค้านคือ การขอต่ออายุสัมปทาน ที่ผ่านมา เหมืองปูนดังกล่าวไม่เคยฟื้นฟูพื้นที่ป่า นอกจากนี้ชุดที่ขอมีแปลงใหม่แอบแฝงเข้าไปด้วย เป็นแปลงที่ละเมิด บุกรุกไปยังพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งไม่ได้ขออนุญาตไว้  จนกระทั่งทางการมีการจับกุม และพบว่ามีการขนแร่อื่นๆออกจากพื้นที่ด้วย 

“เรากลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นการทำผิดให้เป็นถูก เราจึงได้คัดค้าน เริ่มจากเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ซึ่งสนามกีฬามวกเหล็กรวมทุกหมู่บ้านด้วยกัน ก็มีการล้มเวทีชาวบ้านไม่เอาด้วยกับโรงปูนทีพีไอ หลังจากนั้นอีกประมาณ 3 เดือนก็มีการจัดใหม่โดยการทำประชาพิจารณ์แบบแยกหมู่ ซึ่งจัดทำในยามวิกาล  ผมและชาวบ้านได้ออกไปคัดค้าน ฝ่ายตรงข้ามมีการพกพาอาวุธเข้าไป ชาวบ้านไล่จับการ์ด ของบริษัททีพีไอ  แล้วส่งไปที่โรงพักๆก็ไม่ยอมนำเข้าห้องขัง คนของผมก็ต้องตามไปถึงโรงพัก” ดร.เรืองเกียรติ กล่าว

แกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินฯ กล่าวอีกว่า จนกระทั่งกลางปีที่ผ่านมา จึงมีมติ ครม.ผ่อนผัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำ 1A 1B ทำให้พวกเราไม่ยอมเช่นกัน และได้ข่าวว่าทางบริษัททีพีไอ ได้ประสานไปทาง ต.ทับกวาง ซึ่งเหมืองพื้นที่ทั้งหมดติดต่อระหว่าง อ.แก่งคอยกับ อ.มวกเหล็ก  ซึ่งที่แก่งคอยนั้นจะมีหมู่ 10 วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ และถ้ำแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีการอนุรักษ์จากกรมศิลปากร  ตรงนี้จากเดิมมีระยะห่างจากเหมือง 2 กิโลเมตร  แต่ตอนนี้เหลือ 500 เมตร ไม่ทราบว่ากินพื้นที่เข้ามาได้อย่างไร เพราะเหมืองกระจายออกมาหมด และพื้นที่แถวนี้อุดมสมบูรณ์มาก อีกทั้งวัดถ้ำฯ แห่งนี้ รัชกาลที่ 5  เคยทรงเสด็จประพาส และข้างบนเขาเป็นศิลา มีพระนามาภิไธย ของรัชกาลที่ 5 มีการอนุรักษ์ไว้ และมีภาพสลักนูนต่ำสมัยทวาราวดี อายุประมาณ 3000 ปี อีกทั้งภูเขาบริเวณนั้นสวยมาก  อุดมไปด้วยสัตว์ป่า พืชพรรณนานาชนิดที่หายาก ที่สำคัญคือ มีถ้ำลำพูทอง เป็นถ้ำยาวที่สุดของพื้นที่ภาคกลางประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมจากบริเวณหมู่ 3  ต.มิตรภาพ กับหมู่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

“พื้นที่บริเวณนี้เป็น Buffer Zone ติดกับเขตเขาใหญ่ สมัยก่อนไม่มีฝุ่นเลยอากาศเย็น แต่ทุกวันนี้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4-5 องศา เคยเจาะน้ำบาดาลลงไปประมาณ 10 กว่าเมตร แต่ปัจจุบันต้องเจาะลงไป 50 - 60 เมตรเนื่องจาก เหมืองนำน้ำไปใช้หมด ขณะที่ลำน้ำมวกเหล็กลงไปสู่น้ำตกมวกเหล็ก และน้ำตกเจ็ดสาวน้อยน้ำก็เริ่มแห้ง ถ้าฝนไม่ตก เราจึงต้องออกมาป้องกันเคลื่อนไหว ไม่ให้เป็นการทำลายธรรมชาติรอบรอบตัวเรา พื้นที่บริเวณนี้ถือว่าอุดมสมบูรณ์ มีทั้งเลียงผา , กระทิงและสัตว์ป่า  ดังนั้น ตามที่รัฐบาลอนุมัติ เพื่อการพัฒนาประเทศและอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้งรกร้างว่างเปล่าถูกทอดทิ้งนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่  และทุกวันนี้เหมืองเริ่มขยับเข้ามายังพื้นที่นี้อีก นอกจากแปลงที่ขอเดิมอยู่แล้ว”  แกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินฯ กล่าว

ดร.เรืองเกียรติ กล่าวอีกว่า  นอกจากนี้ บริเวณโรงปูน มีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 7 โรง รวมประมาณ 440 เมกกะวัตต์  5 ปีที่ผ่านมาเราพบว่ามีปัญหาเรื่องเหมือง และมีการจัดเวทีรับฟัง พอเราจะเข้าไป ฟังเรากลับไปเจอเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหิน 150 เมกะวัตต์ ที่สำคัญคือแอบสร้างเกือบเสร็จแล้ว  เราต้องไล่ตรวจสอบข้อมูล จึงได้สอบถามไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด ๆ หลังจากที่เราทำหนังสือคัดค้าน และร้องเรียนไปยัง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) แต่เวลาทำรายงานผลกระทบ ทางบริษัทกลับใช้ค่าวัดมลพิษจาก อ.ท่าลาน ซึ่งไม่ใช่พื้นที่ๆตั้งโรงงาน  ผลของการวัดค่าในภาวะที่ลมสงบสามารถไปไกลได้ถึง 25 กม ทิศทางลม 4 เดือน ไปทาง ตลาดมวกเหล็ก อีก 8 เดือนเข้าสระบุรีและ กรุงเทพฯ  ซึงเป็นที่มา ของ PM 2.5  

“สิ่งที่เกิดจากเหมืองปูนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นละออง สารพิษตกค้าง ไปทั่วบริเวณ เกิดปัญหาสุขภาพ ด้านระบบทางเดินหายใจ ปอด และมะเร็ง  อีกทั้งยังมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม และอาชีพทางการเกษตร การปลูกผักปลอดสารพิษ  และกระทบการท่องเที่ยว เนื่องจากสารพิษดังกล่าวได้กระจายไปยังแปลงผัก แปลงหญ้า ลงไปยังดิน และน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค  ในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและรัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ อุตสาหกรรมเหมืองปูนและโรงไฟฟ้า จึงเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ วงจรชีวิตของสัตว์ป่า ซึ่งสัตว์ป่าหลายชนิดเสี่ยงต่อการสูญพันธ์  นอกจากนั้นยังทำลายวิถีชุมชน และด้านสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขของรัฐบาล ซึ่งไม่คุ้มค่ากับการลงทุนของอุตสาหกรรมดังกล่าว” ดร.เรืองเกียรติ  กล่าว

ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรป่ามิตรภาพ กล่าวด้วยว่าขอเชิญพี่น้องชาวมวกเหล็ก , มิตรภาพ , ปากช่องและพญาเย็น และประชาชนทุกท่าน ออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมทำประชาพิจารณ์ คัดค้านการทำเหมืองปูนทีพีไอ โดยมีกำหนดการดังนี้ คือ

วันที่ 8 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 7 บ้านไทรงาม ต. มิตรภาพ

วันที่ 8 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 5 ต.ทับกวาง อ. แก่งคอย

วันที่ 9 พ.ค. 2565  หมู่ที่ 8 บ้านคลองระบัง ต. มิตรภาพ

วันที่ 10 พ.ค 2565 หมู่ที่ 10 บ้าน อมรศรี  ต.มิตรภาพ

วันที่ 11 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 3 ต.มิตรภาพ

วันที่ 12 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 4 บ้านซับพริก

วันที่ 13 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 2 บ้านคั่นตะเคียน

วันที่ 15 พ.ค. 2565 หมู่ที่ 10 บ้านน้ำพุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

วันที่ 17 พ.ค. 2565 หมู่บ้านไทย ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย

หมายเหตุ ช่วงเวลาประชาพิจารณ์แต่ละหมู่บ้านในแต่ละวันเป็นไปตามประกาศของทางบริษัทที่แนบมาด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net