Skip to main content
sharethis

เครือข่ายพลเมืองเน็ต หนุนจุดยืนสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ ครม.เดินหน้าบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งฉบับ ครบทุกมาตรา ตามกำหนดในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ปี ยันคณะกรรมการและการเตรียมการกฎหมายลำดับรองมีความพร้อมเพียงพอแล้ว

 

9 พ.ค. 2565 เครือข่ายพลเมืองเน็ต หรือ Thai Netizen Network รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เครือข่ายพลเมืองเน็ต สนับสนุนจุดยืนของสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้คณะรัฐมนตรีเดินหน้าบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ทั้งฉบับ ครบทุกมาตรา ตามกำหนดในวันที่ 1 มิ.ย. นี้ หลังจากเลื่อนมาแล้ว 2 ปี ยืนยันคณะกรรมการและการเตรียมการกฎหมายลำดับรองมีความพร้อมเพียงพอแล้ว

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต กล่าวว่า ขณะนี้มีความกังวลเกิดขึ้นว่า รัฐบาลอาจเลื่อนการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ให้ครบทั้งฉบับออกไปอีก หลังเลื่อนมาแล้ว 2 ครั้ง หรืออาจมีการยกเว้นไม่บังคับใช้หมวด 6 (ความรับผิดทางแพ่ง) และหมวด 7 (บทกำหนดโทษ)

อาทิตย์ ยืนยันว่ากฎหมายฉบับดังกล่าว ควรเริ่มบังคับใช้ทั้งฉบับตามกำหนดในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 นี้ และการจะยกเว้นหมวดความรับผิดทางแพ่งหรือหมวดบทกำหนดโทษ ก็จะทำให้เหมือนกฎหมายยังไม่ใช้บังคับอยู่ดี เนื่องจากผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลก็จะไม่มีแรงจูงใจที่มากพอในการปรับปรุงการคุ้มครองข้อมูล

“ปัจจุบัน ข้อมูลที่ผู้ให้บริการจัดเก็บไปจากผู้ใช้บริการนั้น ในกิจการส่วนใหญ่ ยังไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของข้อมูล พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พยายามจะกำหนดให้ชัดเจนว่า อะไรคือข้อมูลส่วนบุคคล และกำหนดว่า ตัวเราเป็นเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของเราเอง และเรามีสิทธิ์อะไรบ้าง กฎหมายนี้ถือเป็นกฎหมายพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งในโลกยุคดิจิทัล ที่ชีวิตการงานและชีวิตส่วนตัวนั้นอาศัยการแลกเปลี่ยนข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ตลอดเวลา” อาทิตย์กล่าว

“ที่ผ่านมา เราอาจจะพอเรียกร้องการเยียวยาได้บ้าง หากพบว่าข้อมูลของเราถูกนำไปใช้ในทางเสียหาย แต่จะทำได้ก็ต่อเมื่อความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว และภาระในการพิสูจน์ว่ามีความเสียหายดังกล่าว จะตกอยู่ที่ตัวเราผู้เป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี แต่กฎหมายฉบับนี้พยายามสร้างสมดุลใหม่ ให้ผู้ที่เอาข้อมูลไปหาประโยชน์ต้องรับผิดชอบมากขึ้น เช่น แม้จะยังไม่เกิดความเสียหาย แต่ถ้าพบว่ามาตรฐานการดูแลข้อมูลต่ำกว่าที่กำหนด ก็อาจเป็นความผิดได้ โดยผู้นำข้อมูลไปใช้ มีหน้าที่ในการพิสูจน์ว่าตัวเองนั้นได้ทำตามมาตรฐานที่เหมาะสมแล้ว สิ่งนี้เมื่อรวมกับกลไกร้องเรียนที่สะดวกขึ้น ก็จะช่วยให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือผู้บริโภค ได้รับการคุ้มครองมากขึ้น”

สำหรับข้อเป็นห่วงที่ว่า สำนักงานและคณะกรรมการซึ่งจะเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นยังไม่มีความพร้อม หรือการจัดเตรียมกฎหมายลำดับรองนั้นยังไม่เรียบร้อย จดหมายของเครือข่ายพลเมืองเน็ตได้ระบุว่า การสรรหาและแต่งตั้งคณะกรรมการนั้นเสร็จสมบูรณ์แล้ว และคณะกรรมการได้เริ่มทำงานแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนร่างกฎหมายลำดับรอง 29 ฉบับก็อยู่ในรูปแบบที่พร้อมนำไปประกาศใช้แล้วทั้งหมด เรื่องเหล่านี้จึงไม่ใช่อุปสรรค

“เป็นเวลา 2 ปีแล้ว ที่ฝ่ายบริหารได้อาศัยช่องทางกฎหมาย ขยายขอบเขตการยกเว้นไม่ให้เอากฎหมายนี้มาใช้บังคับกับกิจการและกิจกรรมมากถึง 22 รายการ ครอบคลุมมิติชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นจนเข้านอน”

“การออกพระราชกฤษฎีกามายกเว้นดังกล่าวของฝ่ายบริหาร ที่แม้จะใช้อำนาจตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติ แต่เมื่อมีข้อยกเว้นครอบคลุมกว้างขวางและสามารถประกาศเพิ่มเติมได้โดยไม่สิ้นสุด ฝ่ายบริหารก็ได้กลับสาระหลักให้กลายเป็นข้อยกเว้น และกลับข้อยกเว้นให้กลายเป็นสาระหลัก ทำให้วัตถุประสงค์ของกฎหมายนั้นเสียไป ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควรจับตากับกฎหมายฉบับอื่นๆ ด้วย เนื่องจากหากปล่อยให้ทำได้ต่อไปเป็นปกติ จะเท่ากับว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจในการยับยั้งกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติได้ ซึ่งขัดกับหลักแบ่งแยกอำนาจ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net