Skip to main content
sharethis

สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ออกข้อเสนอให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. 9 ข้อ หนุนโครงการเดิมเรื่องอาหาร ในโรงเรียน กทม. คุณภาพดี เพิ่มผัก ผลไม้ และ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม มีน้ำดื่มสะอาด สถานที่ราชการในสังกัดจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อ พัฒนาคุณภาพอาหาร street food ฯลฯ

20 พ.ค.2565 ในโอกาสที่มีการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานครในวันที่ 22 พ.ค.นี้ ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) ออกข้อเสนอให้ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 9 ข้อดังนี้ 

  1. ขอสนับสนุนโครงการเดิมเรื่องอาหารเช้า และ อาหารกลางวัน คุณภาพดี เพิ่มผัก ผลไม้ และ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ในโรงเรียนในกรุงเทพมหานครทุกแห่ง และ มีน้ำดื่มสะอาดสำหรับทุกคน
  2. ขอให้กรุงเทพมหานครพัฒนาโรงเรียน โรงพยาบาลและสถานที่ราชการในสังกัดให้เป็นต้นแบบ ของการจัดสภาพแวดล้อมด้านอาหารที่เอื้อต่อการป้องกันโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ มีอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพเป็นอาหารที่ลด หวาน มัน เค็ม เพิ่มผัก และ ผลไม้ที่ปลอดภัย และ มีน้ำดื่มที่สะอาดอย่างทั่วถึง
  3. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดระบบและพัฒนาคุณภาพอาหารริมบาทวิถี (street food) ให้ลดหวาน มัน เค็ม และ เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัย
  4. ขอให้กรุงเทพมหานครขยายโอกาสในการมีกิจกรรมทางกายให้แก่เยาวชน โดยมีการสนับสนุนโอกาสให้เด็กทุกคนได้ขยับในชั่วโมงเรียน และ หลังเลิกเรียนเพิ่มขึ้น โดยให้เด็กทุกคนมีโอกาสเล่นกีฬาและมีการเปิดการใช้พินที่ของโรงเรียนการมีกิจกรรทางกายทุกวัน
  5. ขอให้กรุงเทพมหานครเร่งปรับปรุงทางเท้าข้างถนนใหญ่ ให้ปราศจากสิ่งกีดขวาง และ มีพื้นที่เรียบ เพื่อส่งเสริมการเดินของประชาชนทุกกลุ่มวัยให้มากที่สุด
  6. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีบุหรี่ซิกาแรต เป็นภาษีท้องถิ่นเพื่อเป็นงบประมาณเพิ่มเติมในการสร้างเสริมสิ่งแวดล้อมเพื่อสุขภาพของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร (ได้มากกว่า 600 ล้านบาทต่อปี)
  7. ขอให้กรุงเทพมหานครจัดตั้งคณะกรรมการฯ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมาย
  8. ขอให้กรุงเทพมหานครโดยสำนักการศึกษา สำนักอนามัย และ สำนักการแพทย์ร่วมรณรงค์ เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดหนักในหมู่เยาชนคนรุ่นใหม่ที่ถูกมอมเมาไปด้วยข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์  และ สร้างเสริมความตระหนักรู้ (literacy) ทางด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันภาวะโรคไม่ติดต่อแก่ประชาชน
  9. ขอให้กรุงเทพมหานครจริงจังกับการแก้ปัญหาฝุ่นจิ๋ว PM2.5 โดยมีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมในขอบข่ายความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานคร ที่สามารถวัดผลได้

ทั้งนี้ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ให้เหตุผลประกอบ 9 ข้อเสนอดังกล่าวว่า ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบแบบสังคมเมืองยุคใหม่ของประชาชนในกรุงเทพมหานคร ทำให้การดำเนินชีวิตของคนกรุงเทพฯ นำไปสู่โรคภัยไข้เจ็บทั้งโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ  สำหรับโรคติดต่อด้วยสภาพแวดล้อมที่แออัดและระบบบริการสุขภาพที่แยกส่วนทำให้การควบคุมป้องกันโรคระบาดสำคัญ เช่นโรคโควิด-19 นั้นเป็นไปได้ยากและต้องลงทุนจำนวนมหาศาลในการดำเนินการ  อย่างไรก็ตามด้วยวิถีชีวิตของคนเมืองในกรุงเทพมหานครที่รีบกิน รีบเร่ง ขาดความไม่ปลอดภัยในการเดินทาง แน้การทำงานนั่งโต๊ะ ทำให้คนกรุงเทพฯต้องบริโภคอาหารขยะ ที่มีแต่พลังงานแต่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ คือ มีผักผลไม้น้อย แต่อุดมไปด้วยรสหวาน มัน เค็มจัด รวมถึงเมื่อความสะดวกและปลอดภัยในการเดินทางโดยรถยนต์สาธารณะน้อยทำให้หลายคนต้องเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัว ประกอบกับวิถีการทำงานที่นั่งอยู่หน้าโต๊ะหน้าคอมพิวเตอร์ ทำให้โอกาสในการออกกำลังกายลดลงอย่างมาก นำมาซึ่งปัญหาโรคที่ไม่ได้ก่อเกิดจากเชื้อโรค หรือ เรียกรวมกันว่าโรคไม่ติดต่อ ( non-communicable diseases: NCDs) ถ้าฟังจากเพียงชื่ออย่างเดียวก็คิดว่าโรคกลุ่มนี้ไม่น่ากลัวเพราะไม่ติดต่อ แต่เพราะกลุ่มโรคนี้ที่ประกอบด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด (รวมถึงอัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคมะเร็ง  โรคเบาหวาน และ โรคปอดเรื้อรัง เป็นสาเหตุของการตายและภาระโรคที่มากประมาณ 2 ใน 3 ของการตายและภาระโรคทั้งหมดในโลกและในประเทศไทย ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่ากลุ่มโรค NCDs นี้นำมาซึ่งการเสียชีวิตประชากรมากกว่า 23.1 ล้านคนในปี พ.ศ. 2533  และ 41 ล้านคนทั่วโลก พ.ศ. 2564  และคาดว่าอัตราตายจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 55 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 โรคไม่ติดต่อหรือ NCDs จึงเป็นโรคที่สำคัญที่สุดในสังคมในยุคปัจจุบัน ทำให้เกิดคนพิการและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจำนวนมากด้วย ข้อมูลการป่วย การเสียชีวิต ของคนในกรุงเทพมหานคร เมืองฟ้าอมรเราที่เร่งรีบ เร่งกิน เร่งงาน ก็มีสภาพไม่ต่างจากข้อมูลระดับโลกเช่นกัน

การแก้ปัญหาโรคไม่ติดต่อนั้นต้องเน้นเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพตามกลยุทธ์ขององค์การอนามัยโลกคือ กฏบัตรออตาวา (Ottawa charter) ที่เป็นปฐมบทของการสร้างนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี นำไปสู่การป้องกันโรคไม่ติดต่อได้ดีกว่าการบอกให้ประชาชนไปปรับปรุงตนเองให้มีพฤติกรรมดีเพียงอย่างเดียว  การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีพฤติกรรมดีจึงเป็นหัวใจสำคัญในการที่จะทำให้ประชาชนหมู่มากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ในเวลาเดียวกัน และ การมีนโยบายสาธารณะในเมือง เช่น กฎ ระเบียบ ในสถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ที่ดีต่อสุขภาพ การมีสวนสาธารณะที่น่าใช้ เข้าถึงได้ง่าย การมีทางเท้ารวมถึงทางม้าลาย ที่สะดวก ปลอดภัย การมีรถสาธารณะที่เพียงพอ ตรงเวลา ราคาไม่แพง จะทำให้ประชาชนมีโอกาสในการใช้บริการสาธารณะที่ดีต่อสุขภาพ มีโอกาสในการก้าวเดินมากขึ้นหลายร้อยกิโลเมตรต่อปีต่อคน ทำให้โอกาสที่จะกินผัก ผลไม้ สะอาดปลอดภัย ลดการบริโภคอาหารขยะ และ มีกิจกรรมทางกายเพิ่ม เป็นฝันที่สร้างให้เกิด ‘เมืองสุขภาพดี’โดยไม่แค่หวังที่จะให้คนกรุงเทพฯต้องเริ่มเปลี่ยนเพียงฝ่ายเดียว 

"การมีนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนกรุงเทพฯ สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่ายขึ้น (มี easy choices) เพราะมีอาหารสุขภาพอยู่ใกล้ตัว มีทางเดินที่น่าเดินในเมือง มีรถสาธารณะที่ตรงเวลา น่าใช้  มีโรงเรียนที่เน้นให้เด็กกระฉับกระเฉงและบริโภคเหมาะสม และมีกฎระเบียบที่จะทำให้เมืองหลวงกรุงเทพมหานครเป็นเมืองในฝัน ‘เมืองสุขภาพดี’ ได้เกิดขึ้นจริง" สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ให้เหตุผล พร้อมระบุด้วยว่า  การสร้างนโยบายสาธารณุเพื่อสุขภาพที่จะทำให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อจะทำให้ประชาชนในพื้นที่ กรุงเทพมหานครมีพฤติกรรมสุขภาพทั้ง การขยับร่างกายเพิ่มขึ้น การบริโภคอาหารที่มีผัก ผลไม้ มากขึ้น แต่ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ในโรงเรียน ในโรงพยาบาล และ สถานที่ราชการ) การออกกฎหมายในการเรียกเก็บภาษียาสูบเพิ่มเติม (ทำให้กรุงเทพมหานครได้งบเพิ่มเติมกว่า 600 ล้านบาท  และ การตั้งคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอลในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเป็นการออกนโยบายสาธารณะที่ทำให้วิถีชีวิตของคนในกรุงเทพมหานครมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net