Skip to main content
sharethis

วลาดิเมียร์ ปูติน มักยกวาทกรรมต่างๆ เพื่ออ้างความชอบธรรมรุกรานยูเครน หนึ่งในนั้นคือการต่อต้าน "ค่านิยมตะวันตก" และฟื้นคืน "ค่านิยมประเพณีดั้งเดิม" อันรวมไปถึงการต่อต้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ แต่ก็เกิดแรงต้านกลับ ทำให้ภูมิทัศน์การเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ+ ในยุโรปรวมถึงในยูเครนเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ทั้งนี้น่าสังเกตว่าวาทกรรมแบบสองขั้วตรงข้ามเช่นนี้จะกลายเป็นการลดทอนความซับซ้อนในการต่อสู้ของ LGBTQ+ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องภูมิศาสตร์การเมืองหรือเปล่า

การรณรงค์การจ้างงานเท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อ LGBT ที่ยูเครนเมื่อ ค.ศ. 2015 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia)

สำหรับนักกิจกรรมด้านสิทธิ LGBTQ+ ในยูเครนแล้ว ชัยชนะของรัสเซียจะกลายเป็นภัยต่อการดำรงอยู่ของทั้งอธิปไตยยูเครนและของสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ

เมื่อพิจารณาจากสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา ปูตินอ้างความชอบธรรมในการรุกรานยูเครนโดยมีประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในนั้น ผู้นำรัสเซียมองว่าสิทธิความหลากหลายทางเพศเป็น "ค่านิยมจอมปลอม" แบบตะวันตกที่จะทำลาย "ค่านิยมประเพณีดั้งเดิม"

ทำให้สำหรับชาว LGBTQ+ บางคนในยูเครน สงครามนี้เป็นเสมือนการเรียกรวมพลเพื่อต่อสู้กับรัสเซีย ทั้งจากสาเหตุที่ว่าพวกเขาต้องการปกป้องบ้านเกิดของตัวเองและต้องการปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศของตัวเอง ขณะที่ชาว LGBTQ+ บางส่วนเห็นว่าการคุกคามของรัสเซียเสี่ยงจะทำให้พวกเขาถูกปราบปราม พวกเขาจึงจำเป็นต้องหนีเอาชีวิตรอด

แต่ด้วยอำนาจของกฎอัยการศึกในยูเครนทำให้ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนบางคนถูกกีดกันห้ามไม่ให้ลี้ภัยข้ามพรมแดนแล้วถูกผลักให้กลับเข้าประเทศ ขณะที่ชาว LGBTQ+ บางส่วนเลือกจะหนีออกจากประเทศด้วยเส้นทางที่อันตรายกว่า

สื่อต่างประเทศได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมชาวโปแลนด์ในกรุงวอร์ซอเมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ผู้ให้สัมภาษณ์เล่าเรื่องราวของชายข้ามเพศคนหนึ่งที่ถูกกีดกันไม่ให้ลี้ภัยและถูกผลักไสให้กลับประเทศ เจ้าหน้าที่ด่านตรวจยูเครนอ้างกับชายข้ามเพศผู้นี้ในลักษณะทั้งเหยียดคนข้ามเพศและผลิตซ้ำแนวคิดความเป็นชายแบบเป็นพิษ (toxic masculinity) ว่า "ถ้าหากคุณต้องการจะเป็นผู้ชายจริงๆ คุณต้องพิสูจน์ให้เห็น ด้วยการอยู่ในประเทศแล้วช่วยสู้รบ"

ในประเด็นเรื่องที่ว่าชาว LGBTQ+ ควรจะอยู่ช่วยสู้รบในยูเครนดีหรือไม่นั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันออกไปในเรื่องนี้ ขณะที่องค์กรอย่าง เคียฟไพรด์, ยูเครนไพรด์ และ LGBTIQ Military มีจุดยืนว่าการที่ LGBTQ+ มีส่วนร่วมกับกองทัพยูเครนเพื่อสู้รบกับรัสเซียเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการอยู่รอดของชาว LGBTQ+ ในยูเครน เช่น มีโพสต์ในอินสตาแกรมที่เรียกร้องให้เกย์ชายสู้รบเพื่อประเทศยูเครน และมีแดร็กควีน (drag queen) ที่นำชุดทหารมาสวมพร้อมข้อความว่า "แดรกควีนยูเครนทำลายพวกรัสเซียผู้ยึดครอง!"

แต่กลุ่ม LGBTQ+ ชาวยูเครนที่หนีออกจากประเทศรู้สึกว่าข้อความเหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกอับอาย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่าสื่อตะวันตกบางส่วนยังได้รายงานข่าวถึงกรณีการสู้รบที่เกิดขึ้นว่าเป็นการสู้รบเพื่อรักษาสิทธิของ LGBTQ+ ต่อประเทศรัสเซียที่มีลักษณะล้าหลัง อนุรักษ์นิยม และไม่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การใช้ชุดคำอธิบายเช่นนี้มาสวมการพูดถึงสงครามยูเครนยังได้ส่งอิทธิพลต่อการเมืองของสหภาพยุโรปด้วย

เป็นเวลานานมาแล้วที่คณะกรรมการยุโรปวิพากษ์วิจารณ์ฮังการีและโปแลนด์ซึ่งเป็นสมาชิกอียูในเรื่องจุดยืนประเด็น LGBTQ+ ของสองประเทศนี้ ในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมาอียูได้ดำเนินกระบวนการทางวินัยต่อฮังการีที่จะทำให้อียูตัดงบประมาณของพวกเขาต่อประเทศนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าเพราะฮังการีมีกฎหมายต่อต้าน LGBTQ+ ซึ่งนับเป็นการละเมิดหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอียูให้มีการดำเนินกระบวนการแบบเดียวกันนี้กับโปแลนด์ จากที่รัฐบาลขวาจัดชุดปัจจุบันของโปแลนด์มีนโยบายกีดกันเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ เช่นกัน

เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าอียูเริ่มมีความพยายามต้องการปกป้อง "คุณค่าแบบยุโรป" ด้วยการลุกขึ้นเผชิญหน้ากับประเทศสมาชิกอียูที่มีมาตรฐานประชาธิปไตยถดถอยลง

นักกิจกรรม LGBTQ+ ในโปแลนด์ก็มองไปในทางเดียวกันว่าวาทกรรมจากสงครามเช่นนี้เป็นโอกาสที่พวกเขาจะเปลี่ยนแปลงความคิดจิตใจของคนในประเทศตัวเอง ประธานาธิบดีฝ่ายขวาของโปแลนด์ อันเดรจ ดูดา ผู้ชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นคนที่หาเสียงในลักษณะต่อต้าน "อุดมการณ์แบบ LGBTQ+"

สำหรับนักกิจกรรม LGBTQ+ แล้ว การเปรียบเทียบความเหมือนกันระหว่างดูดากับปูติน มีความสำคัญต่อการรณรงค์ของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากผู้คนมีความคิดว่าการสนับสนุน LGBTQ+ หมายถึงการต่อต้านรัสเซีย นักกิจกรรมในโปแลนด์มองว่าการอาศัยวาทกรรมเช่นนี้อาจจะเป็นความหวังสำหรับพวกเขา

อย่างไรก็ตามการเรื่องนี้ยังได้สะท้อนให้เห็นปัญหาในปัจจุบันว่า มีการแบ่งแยกในเรื่องสิทธิ LGBTQ+ ในเชิงภูมิศาสตร์การเมืองอย่างสุดโต่งมากขึ้นในปัจจุบัน เดนนิส อัลต์แมน และ โจนาธาน ไซมอนส์ เขียนเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ "เควียร์วอร์ส" ระบุว่าผู้นำประเทศอย่างรัสเซีย, ฮังการี และโปแลนด์ ต่างก็อาศัยจุดยืนและนโยบายแบบต่อต้าน LGBTQ+ ในทำให้ตัวเองดูเหมือนเป็นผู้ปกป้องค่านิยมประเพณีดั้งเดิมและต่อต้าน "ความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรมของตะวันตก" (western degeneracy) และรัสเซียก็ถึงขั้นใช้เรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในเรื่องที่สร้างความชอบธรรมต่อสงครามยูเครน

คำว่า "ความเสื่อมทรามทางวัฒนธรรม" หรือ "degeneracy" นี้ ในประวัติศาสตร์เคยมีการนำมาใช้โดยกลุ่มคนขาวในสหรัฐฯ ที่ร่ำรวยและเชื่อว่าตัวเองสูงส่งทางศีลธรรมมากกว่า ใช้เหยียดกลุ่มคนที่พวกเขาไม่ปรารถนาอย่าง ฮิปปี้ หรือ คนรักเพศเดียวกัน และมักจะมีการนำมาใช้โดยนักอาณานิคมตะวันตกเช่นพวกนักสำรวจหรือพวกมิชชันนารีในเชิงเหยียดเชื้อชาติสีผิวต่อผู้อาศัยอยู่ดั้งเดิม  ในทำนองว่าเป็นพวกป่าเถื่อนไร้อารยธรรม อีกทั้งยังเป็นคำเดียวกับที่พวกเผด็จการนาซีเคยนำมาใช้เหยียดชาวยิว คนผิวดำ และคนที่พวกเขามองว่าเป็นศัตรูด้วย

ขณะที่เราอาจจะมองเรื่องความเกี่ยวเนื่องระหว่างสงครามกับความหลากหลายทางเพศในทำนองความขัดแย้งเชิงภูมิศาสตร์การเมืองได้ แต่ ไค วิลคินสัน นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศก็เตือนว่าการมองเช่นนี้เสี่ยงต่อการลดทอนความซับซ้อนของการเคลื่อนไหวปลดแอกด้านความหลากหลายทางเพศ โดยการเอาวาทกรรมแพ้ชนะแบบเป็นกลุ่มก้อนเดียวมาแทนที่มุมมองการต่อสู้เพื่อสิทธิที่มีความซับซ้อนและมีลักษณะแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของแต่ละพื้นที่

เช่นเดียวกับที่ จัสบีร์ ปัวร์ นักปรัชญาและนักทฤษฎีเควียร์เคยพูดถึงเรื่องนี้โดยนำคำว่า "ชาตินิยมคนรักเพศเดียวกัน" (homonationalism) มาใช้เรียกการลดทอนความซับซ้อนของการเรียกร้องสิทธิความหลากหลายทางเพศให้กลายเป็นแค่เรื่องของค่านิยมแบบยุโรปหรือค่านิยมตะวันตกที่ปะทะกับค่านิยมของตะวันออกหรือของประเทศอื่นๆ ที่มีภาพลักษณ์ว่ามีการยอมรับความต่างได้น้อยกว่า

แนวคิดลดทอนเช่นนี้ส่งผลกระทบด้านลบต่อสิทธิมนุษยชน ในแง่ที่ว่ามันถูกแปลงให้เป็นโวหารสร้างความชอบธรรมให้กับการกีดกันผู้ลี้ภัย จากการอ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้เป็นภัยต่อค่านิยมแบบยุโรปซึ่งก็คือค่านิยมเรื่องเสรีนิยมและการยอมรับความหลากหลาย เมื่อนำเรื่องนี้มาบวกกับการความเกลียดกลัวอิสลามแบบไม่มีเหตุผลแล้วยิ่งเป็นการตอกย้ำการกีดกันผู้ลี้ภัยมากขึ้นไปอีก

เช่นในปี 2560 นักการเมืองเยอรมนี เจนส์ สปาห์น เคยอ้างว่าผู้ลี้ภัยมีค่านิยมที่แตกต่างจากชาวเยอรมนีโดยอ้างว่าผู้ลี้ภัยเหล่านี้มีความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและเกลียดกลัวคนข้ามเพศอย่างไม่มีเหตุผล ข้ออ้างเช่นนี้นักการเมืองหลายคนในสหรัฐฯ ก็นำมาอ้างใช้เพื่อหลอกให้นักสิทธิความหลากหลายทางเพศกับชาวมุสลิมตีกันเองโดยอ้างวาทกรรมเรื่องที่ว่ารัฐบาลต่างชาติเป็นภัยและอ้างเรื่องภัยก่อการร้าย

แล้วเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับยูเครนอย่างไร สำหรับสงครามในยูเครนแล้ว การที่คนส่วนหนึ่งอ้างใช้เรื่องสงครามมาใช้สร้างความฮึกเหิมให้กับการปกป้องสิทธิความหลากหลายทางเพศ เสี่ยงต่อการทำให้เรื่องสิทธิและการปลดแอกด้านความหลากหลายทางเพศถูกกลืนหายไปกับวาทกรรมของสงครามหรือวาทกรรมแบบ "ชาตินิยมคนรักเพศเดียวกัน" ได้

เรื่องนี้ยังจะลดทอนการต่อสู้ของชาว LGBTQ+ ยูเครนที่ลี้ภัยสงครามด้วย ถึงแม้ว่าพวกเขาคาดหวังว่าจะได้รับเสรีภาพและความปลอดภัย แต่ผู้ลี้ภัยที่เป็น LGBTQ+ จากยูเครนก็เผชิญกับช่องว่างความไม่เท่าเทียมในการให้ความคุ้มครองผู้ลี้ภัย ในการเข้าถึงบริการสาธารณะและในการเข้าถึงความช่วยเหลือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหากพวกเขาไม่ใช่คนขาว หรือไม่ใช่คนที่ถือหนังสือเดินทางของยูเครน

ทำให้ถึงแม้ว่าการมองเชิงเปรียบเปรยแบบแบ่งขั้วตรงข้ามระหว่างชาติตะวันตกผู้ยอมรับความหลากหลายกับชาติตะวันออกที่ไม่ยอมรับความหลากหลายจะเป็นเรื่องที่น่าดึงดูด แต่สภาพความเป็นจริงมีความซับซ้อนมากกว่านั้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคอยสำรวจวาทกรรมหรือคำอธิบายเหล่านี้ เพื่อทำให้เข้าใจว่าสภาพที่แท้เป็นจริงที่ชาว LGBTQ+ ต้องเผชิญนั้นเป็นอย่างไร

เรียบเรียงจาก

The Ukraine War Is Transforming the LGBTQ+ Rights Landscape in Europe, Out Traveler, 16-05-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://rationalwiki.org/wiki/Degenerate
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net