Skip to main content
sharethis

ก่อนหน้านี้เคยมีกระแสข่าวในสหรัฐฯ ว่าศาลสูงฯ มีแผนคว่ำคำตัดสินคดีประวัติศาสตร์ Roe v. Wade ที่ให้สิทธิทางเลือกคนทำแท้ง ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักการกฎหมายที่จะจำกัดการทำแท้งมากขึ้น ด้านสื่อยังวิเคราะห์ว่าการคว่ำ Roe v. Wade จะไม่เพียงแค่ส่งผลจำกัดสิทธิทางเลือกการทำแท้งเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปถึงการจำกัดการผสมเทียมหรือเทคโนโลยีช่วยเหลือการมีลูก สำหรับผู้ที่มีบุตรยากไปด้วย

ที่มาของภาพประกอบข่าว: Wikipedia/Merlilindberg

จากร่างความคิดเห็นของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ที่รั่วไหลออกมาระบุว่าอาจจะมีการคว่ำคำตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเลือกในการทำแท้งหรือสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ ซึ่งทำให้เกิดคำถามตามมาจำนวนมากเกี่ยวกับประเด็นนี้ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลว่าจะมีการจำกัดสิทธิทางเลือกในการทำแท้งของผู้คน หรือความกังวลของกลุ่มคู่รักในสหรัฐฯ ที่ไม่สามารถมีลูกได้ เพราะการคว่ำตัดสินคดีโดยศาลอาจจะส่งผลต่อการผสมเทียมแบบปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF)  และเทคโนโลยีช่วยเหลือการมีลูก (ART) อื่นๆ ไปด้วย ซึ่งในสหรัฐฯ มีคู่รักอัตราส่วน 1 ใน 8 ของทั้งหมดที่ไม่สามารถมีลูกได้

เดนา ชาร์ป ทนายที่ทำคดีเกี่ยวกับ IVF จากองค์กร "จีราร์ด ชาร์ป" ระบุว่าการที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯ มีแผนการจะทำลายสิทธิทางเลือกในการทำแท้ง และกฎหมายการผสมเทียม ต่างก็เป็นประเด็นสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ทั้งสิ้น เธอบอกว่า "มันไม่ควรจะกลายเป็นเรื่องที่มีการโต้แย้งเลยแม้แต่น้อย กับการที่ใครสักคนจะตัดสินใจคัดแยกส่วนประกอบในร่างกายตัวเองเพื่อการเก็บรักษา หรือเพื่อการใช้ปฏิสนธิโดยทันที เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงสิทธิในการเจริญพันธุ์" นี่คือสาเหตุที่ทำไมกลุ่มคนที่ไม่สามารถมีลูกได้ถึงกังวลต่อการพลิกคำตัดสินของศาลเกี่ยวกับสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์

IVF กับ ART คืออะไร เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

เว็บไซต์โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ระบุความหมายของการผสมเทียมด้วยการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) ว่า คือการนำไข่และอสุจิมาผสมกันจนทำให้เกิดการปฏิสนธิภายนอกร่างกายในห้องปฏิบัติการ จากนั้นจึงนำไข่ที่ผสมแล้ว เรียกว่าเป็น "ตัวอ่อน" ย้ายกลับเข้าไปในมดลูกของผู้ที่มีความประสงค์จะตั้งครรภ์ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ต่อไป สำหรับสิ่งที่สื่อตะวันตกเรียกว่าเป็น "เทคโนโลยีการช่วยเหลือด้านการเจริญพันธุ์" (ART) รวมเอากระบวนการนี้เข้าไปด้วย

อย่างไรก็ตามนิยามของคำว่า "เทคโนโลยีการช่วยเหลือด้านการเจริญพันธุ์" จะไม่ครอบคลุมขั้นตอนที่มีการจัดการกับสเปิร์มแต่อย่างเดียว (เช่นการนำสเปิร์มฉีดเข้ารังไข่โดยตรง หรือที่เรียกว่า IUI) และจะไม่รวมถึงกรณีการกระตุ้นการตกไข่โดยไม่มีการนำไข่ออกมาภายนอกหรือนำมาเก็บไว้ ขณะที่วงจรของ IVF ทั้งหมดจะจัดเป็นวงจรของ ART ด้วย

หมายความว่า "เทคโนโลยีการช่วยเหลือด้านการเจริญพันธุ์" (ART) จะนิยามรวมถึงภาพกว้างๆ ของกระบวนการภายนอกร่างกายคนที่ทำให้เกิดการเจริญพันธุ์ของตัวอ่อนเพื่อนำส่งต่อ ขณะที่ "การปฏิสนธินอกร่างกาย" (IVF) จะหมายถึงการผสมไข่ของมนุษย์ภายนอกรังไข่ จากนิยามนี้มีการเก็บสถิติในสหรัฐฯ ระบุว่ามีการทำวงจร "เทคโนโลยีการช่วยเหลือด้านการเจริญพันธุ์" ถึง 300,000 วงจรในปี 2563 ภายในสหรัฐฯ

ในเชิงปฏิบัติแล้วมักจะมีการใช้คำว่า IVF เวลาพูดกับผู้รับบริการทางแพทย์ แต่มักจะใช้คำว่า ART ในการอธิบายกระบวนการ อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและแพทย์ศาสตร์ด้านอนามัยเจริญพันธุ์ต่อมไร้ท่อ มักจะใช้ ART มากกว่า และองค์กรอย่างศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ ก็มักจะเก็บข้อมูลโดยดูจากกระบวนการ ART ด้วย

สำหรับกระบวนการ IVF นั้น ผู้รับบริการจะได้รับยาเพื่อกระตุ้นให้เกิดเซลล์ฟอลลิเคิลหรือถุงไข่ในรังไข่พร้อมๆ กันหลายเซลล์ เมื่อมีฟอลลิเคิลที่ช่วยเหลือในการเติบโตของไข่มากพอก็จะมีการคัดแยกนำไข่หลายใบออกมาจากตัวผู้รับบริการ จากนั้นก็จะนำไปทำการปฏิสนธิกับสเปิร์มที่เตรียมไว้ แต่เช่นเดียวกับการปฏิสนธิผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ไข่บางส่วนจะไม่เกิดการปฏิสนธิและสำหรับไข่ส่วนที่เกิดการปฏิสนธิก็ไม่ใช่ว่าทุกใบที่จะกลายไปเป็นตัวอ่อน ทำให้ผู้ปฏิบัติการต้องทำการตรวจสอบไข่ทุกวันเป็นเวลา 7 วันถัดจากนั้น เพื่อดูว่ามีไข่ที่ปฏิสนธิแล้วใบไหนที่ไม่มีพัฒนาการต่อ และในช่วงระหว่างวันที่ 5-7 ไข่บางส่วนจะเริ่มมีการเจริญเป็น "ตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์" (Blastocyst) ซึ่งเป็นช่วงก่อนจะสามารถฝังตัวกับมดลูกได้ จากนั้นจะนำตัวอ่อนระยะนี้ไปฝังในมดลูกหรือไม่เช่นนั้นก็เก็บรักษาด้วยการแช่แข็งต่อไป

สำหรับสาเหตุที่ว่าทำไมตัวอ่อนระยะบลาสโตซิสต์ต้องมีการเก็บรักษาด้วยการแช่แข็งด้วยนั้นมีหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาว่ามีโรคผ่านทางพันธุกรรมระหว่างคู่ที่ทำการผสมเทียมหรือไม่ หรือตรวจเพื่อให้แน่ใจว่ามีคู่โครโมโซมอยู่ครบ การแช่แข็งจะทำให้รักษาความสมบูรณ์ของตัวอ่อนไว้ได้ในช่วงที่มีการตรวจวินิจฉัย และถึงแม้ในกรณีที่ไม่ได้มีการปฏิบัติการใดๆ เพิ่มเติมกับตัวอ่อน คนส่วนใหญ่ที่ทำ IVF ก็มักจะเลือกที่จะแช่แข็งตัวอ่อนไว้เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพที่จะเกิดขึ้นและทำให้เกิดความคุ้มค่าที่สุดในการทำ IVF

นอกจากนี้แล้วการแช่แข็งตัวอ่อนเพื่อถ่ายเข้ามดลูกที่ละครั้งในช่วงวงจรเป็นสิ่งที่ทางการแพทย์แนะนำให้ทำเพราะการถ่ายตัวอ่อนเข้ามดลูกทีเดียวหลายๆ ตัวอ่อน เสี่ยงต่อผลกระทบเลวร้ายทางสุขภาพของทั้งทารกในอนาคตและของผู้ตั้งครรภ์ การแช่แข็งตัวอ่อนที่ยังไม่ใช้เอาไว้ก่อน ทำให้สามารถนำมาใช้ในวงจรถัดไปได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการถ่ายเข้ามดลูกครั้งก่อนหน้านี้ไม่ได้ผลหรือเพราะคู่ที่ทำ IVF ทำสำเร็จแล้วและต้องการเก็บเอาไว้ใช้ในการมีลูกครั้งถัดไป

แล้วการคว่ำคดีด้านสิทธิในการทำแท้งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผสมเทียมพวกนี้ด้วยหรือ? เกี่ยวข้องอย่างไร?

สาเหตุที่ต้องอธิบายกระบวนการผสมเทียมเช่นนี้ เพราะมันเกี่ยวข้องกับเรื่องของการพลิกคดี Roe v. Wade ของศาลสหรัฐฯ ฌอน ทิปตัน หัวหน้าสำนักงานว่าด้วยการส่งเสริม, นโยบาย และการพัฒนา ของ สมาคมเพื่อเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์อเมริกา (ASRM) กล่าวว่า ถ้าหากมีการพลิกคำตัดสินเรื่องสิทธิทางเลือกในการทำแท้งอย่างกรณี Roe v. Wade การเปลี่ยนแปลงจะไม่เกิดขึ้นแบบชั่วข้ามคืน แต่ผลพวงในระยะยาวจะคงอยู่ในแง่ที่ว่ารัฐต่างๆ จะออกกฎหมายสั่งแบนหรือจำกัดกระบวนการเกี่ยวกับเรื่องการเจริญพันธุ์ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องทางเลือกในการทำแท้งแต่หมายถึงการผสมเทียมเพื่อมีลูกด้วย

การพลิกคำตัดสินกรณี Roe v. Wade อาจจะทำให้เกิดการห้ามกระบวนการ ART ในบางรัฐไปโดยปริยาย เพราะมันจะมีปัญหาในเรื่องสถานะทางกฎหมายของไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว ซึ่งนิยามนี้กินความทั้งกับกรณีการทำแท้งและกรณีการช่วยเหลือผู้ไม่สามารถมีลูกได้

ทิปตันยกตัวอย่างว่า การใช้ภาษาในกฎหมายของบางรัฐในอเมริกามีจุดที่พยายามจะนิยามสถานะ "มนุษย์ที่กำลังเติบโต" ในเชิงกฎหมาย โดยระบุนิยามให้นับตัวอ่อนหรืออาจจะถึงขั้นไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิอยู่ในสถานะข้างต้นไปด้วย เช่นระบุว่า "มนุษย์ที่กำลังเติบโต" หมายถึง "ทุกช่วงเวลาที่กำลังมีการเติบโต" "นับจากช่วงที่มีการปฏิสนธิของมนุษย์" การนับว่าไข่ที่ปฏิสนธิแล้วเป็น "มนุษย์" หรือ เป็น "คน" นั้นจะเกิดปัญหาต่อการช่วยเหลือให้คนมีลูกแบบ ART ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ โดยที่ ART นั้นกระทำได้เพราะมองว่าไข่และตัวอ่อนยังไม่นับเป็นคนที่มีสิทธิเต็มที่ในฐานะพลเมือง แต่เป็นทรัพย์สิน เป็นวัตถุดิบจากตัวตน

เดนา ชาร์ป กล่าวว่า แม้กระทั่งก่อนหน้าที่จะมีการพยายามพลิกคดีของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ผู้ที่ประกอบ IVF และ ART ก็ต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องกฎหมายที่พวกเขาต้องการแก้ไขอยู่แล้ว และถ้าหากมีการกำหนดให้แต่ละรัฐเป็นผู้กำหนดนิยามเรื่องเหล่านี้เองก็น่ากังวลว่าจะส่งผลต่อ IVF และ ART อย่างแน่นอน นอกจากนี้ชาร์ปยังมองว่ามีในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายเกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าในยุคก่อนหน้านี้

จะเกิดอะไรขึ้นกับตัวอ่อนที่แช่แข็งไว้?

โจดี มาเดรา ผู้ช่วยผู้อำนวยการของศูนย์เพื่อกฎหมาย, สังคม และวัฒนธรรมที่วิทยาลัยกฎหมายของมหาวิทยาลัยแห่งอินเดียนา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องกฎหมายกับ IVF กล่าวว่า เริ่มมีกฎหมายบางส่วนที่เตรียมเอาไว้แล้วสำหรับการทำให้การทำแท้งกลายเป็นอาชญากรรม โดยมันได้อาศัยการเปลี่ยนแปลงนิยามว่ามนุษย์ที่มีชีวิตแล้วเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่การปฏิสนธิ ซึ่งการนิยามเช่นนี้แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วแช่แข็งเก็บไว้ด้วย มันทำให้ยากที่จัดการกำหนดให้แน่ชัดว่า "ถ้าหากมีการแช่แข็งตัวอ่อนเหล่านี้ในตอนนี้มันจะนับเป็นการฆาตกรรมหรือไม่ ถ้าหากพวกเราทำลายตัวอ่อนเหล่านี้ในตอนนี้ มันจะนับเป็นการฆาตกรรมหรือไม่" มาเดราตั้งข้อสงสัย

มาเดรา อธิบายว่า สาเหตุที่ในปัจจุบันมีการอนุญาตให้บุคคลต่างๆ สามารถกำหนดได้ว่าจะทำให้ตัวอ่อนเป็นอย่างไร จะแช่แข็งตัวอ่อนหรือไม่นั้นเป็นเพราะมีการกำหนดสิทธิทางกฎหมายจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องอิสระในการตัดสินใจด้วยตนเองและเรื่องความเป็นส่วนตัวคอยคุ้มครองการกระทำเหล่านี้ แต่การใช้กฎหมายใหม่ที่จะออกแบบมาเพื่อทำให้การทำแท้งผิดกฎหมายจะยับยั้งสิทธิคุ้มครองในเรื่องนี้ไปด้วย

ปัญหาในเรื่องนี้ทิปตันมองว่ามาจากการที่พวกต่อต้านสิทธิทางเลือกในการทำแท้งพยายามจะบอกว่า ในเชิงกฎหมายและในเชิงการเมืองแล้วไข่ที่ปฏิสนธิแล้วอยู่ในห้องแล็บเป็นเวลา 2 วันเทียบได้กับทารกที่อายุ 2 ปี ทิปตันแย้งว่าแน่นอนว่าคุณจะเอาเด็กอายุ 2 ปี ไปเข้าแช่แข็งไม่ได้เพราะจะทำให้เด็กเสียชีวิต แต่ไข่ที่เพิ่งปฏิสนธิสามารถแช่แข็งได้โดยที่ไม่เป็นอะไร

ทั้งนี้ ยังเคยคำอธิบายจากนักวิทยาศาสตร์ว่า ความคิดที่ว่าตัวอ่อนที่อายุยังไม่เกิน 6 สัปดาห์นับเป็นมนุษย์ได้นั้นเป็นความคิดที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ เพราะตัวอ่อนเหล่านี้ยังไม่มีระบบประสาท รวมถึงไม่มีระบบหัวใจหรือหลอดเลือดแต่อย่างใด

เท็กซัสห้ามยุติการตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 6 สัปดาห์ อ้างการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์, 21 พ.ค. 2564

มีความเสี่ยงทางกฎหมายอื่นๆ ไหม ต่อเรื่องการผสมเทียม?

ทิปตันระบุว่าคนทำงานคลินิกผสมเทียมจะกังวลในเรื่องการเปลี่ยนแปลงนิยามของ "บุคคล" ให้รวมถึงไข่ที่รับการปฏิสนธิแล้วไม่กี่วัน เพราะนิยามนี้จะจำกัดให้ผู้รับบริการไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าควรจะทำอย่างไรกับไข่, สเปิร์ม และตัวอ่อน ที่เก็บรักษาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่อาจจะต้องทิ้งวัตถุดิบที่ช่วยเหลือการเจริญพันธุ์เหล่านี้ทั้งหมด

มาเดรา บอกว่าเรื่องน่ากังวลคือสถานะทางกฎหมายต่อวิธีการแบบ "Selective Reduction" หรือการคัดเลือกลดจำนวนตัวอ่อนลงหลังจากที่ฝังไข่ที่ผสมแล้วหลายใบพร้อมกันให้กับผู้รับตั้งครรภ์แล้วจากนั้นก็ไปลดจำนวนตัวอ่อนลงทีหลังเพื่อลดความเสี่ยงต่อทั้งทารกในอนาคตและต่อผู้ตั้งครรภ์เอง

นอกจากนี้กฎหมายห้ามการทำแท้งจากหลายรัฐอาจจะกระทบต่อการตรวจหาโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนรวมถึงการตรวจหายีนส์ที่ก่อมะเร็งอย่าง BRCA อีกด้วย เพราะวิธีการเหล่านี้้ต้องอาศัยการแช่แข็งตัวอ่อน ซึ่งวิธีการเหล่านี้อาจจะถูกห้ามในหลายรัฐหลังมีการเปลี่ยนนิยามในกฎหมาย เรื่องนี้ทำให้ทิปตันมองว่าถึงแม้การทำ IVF อาจจะไม่ถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียว แต่วิธีการทำ IVF ที่ดีที่สุดจะถูกแบนเพราะนิยามจากกฎหมายห้ามทำแท้ง

มาเดรากล่าวว่า ปัญหาจริงๆ เหล่านี้เกิดจากการเอาคำถามที่แตกต่างกัน 2 คำถามมาปนเปเป็นเรื่องเดียวกัน คำถามแรกคือชีวิตเริ่มเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่เป็นคำถามที่คำตอบขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล, แต่ละศาสนา และนับเป็นคำถามเชิงปรัชญา แต่คำถามสองคือคำถามที่ว่า "สถานะความเป็นบุคคล" เกิดขึ้นเมื่อไหร่กันแน่เป็นคำถามเชิงกฎหมาย การเอาคำถามที่ต่างสาขากันมาผสมปนเปกันเช่นนี้สร้างปัญหาอย่างมาก

ชาร์ปมองว่ามีบางรัฐในอเมริกาที่อาจจะพยายามปกป้องการช่วยเหลือการมีลูกด้วยการออกข้อยกเว้นการนิยามเรื่อง "ความเป็นบุคคล" โดยให้งดเว้นการใช้นิยามนี้กับตัวอ่อนที่มาจากการปฏิสนธิในห้องปฏิบัติการ เช่นที่รัฐแอละแบมาได้ทำไปแล้ว บางก็อาจจะใช้วิธีอ้างอิงสิทธิในทรัพย์สินตามหลักรัฐธรรมนูญโดยระบุกำหนดให้วัตถุดิบที่ใช้สำหรับกระบวนการ ART นับเป็น "ทรัพย์สิน" แทนที่จะเป็น "บุคคล" เพื่ออนุญาตให้มีการเข้าถึงวัตถุดิบจากตัวมนุษย์ได้

สำหรับทิปตันแล้ว การมองไข่ที่รับการผสมและตัวอ่อนที่เพิ่งปฏิสนธิว่าเป็น "บุคคล" นั้นเป็นปัญหาที่เขาพูดถึงอยู่บ่อยๆ และมักจะยกตัวอย่างชวนคิดว่า "ถ้าหากมีไฟไหม้เกิดขึ้นในคลินิกเจริญพันธุ์แล้วคุณมีตัวอ่อนที่ถูกแช่แข็งในฟากหนึ่ง ส่วนอีกฟากหนึ่งเป็นทารกอายุ 6 เดือน คุณสามารถช่วยเหลือได้ฟากเดียว คุณจะช่วยเหลือฟากไหน ... ผมคิดว่าสำหรับคนส่วนใหญ่แล้วมันไม่ใช่การตัดสินใจที่ยากลำบากอะไรเลย"

เรียบเรียงจาก

Overturning “Roe v. Wade” Could Also Hinder Access to IVF, Truth-Out, 27-05-2022

ตีพิมพ์ครั้งแรกใน

The 19th Explains: How would overturning Roe v. Wade affect IVF?, The 19th, 27-05-2022

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

การปฏิสนธิภายนอกร่างกายหรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF),โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net