เท็กซัสห้ามยุติการตั้งครรภ์ที่อายุเกิน 6 สัปดาห์ อ้างการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์

เท็กซัสลงนามกฎหมายห้ามยุติการตั้งครรภ์ฉบับใหม่ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียง โดยห้ามไม่ให้ยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์ครบ 6 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะตัวอ่อนหัวใจเต้นแล้ว นักสูตินรีเวชศาสตร์ชี้ตีความข้อมูลผิด เนื่องจากตัวอ่อนระยะนี้ยังไม่มีระบบประสาทรวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นเพียงชีพจรไฟฟ้าจากกลุ่มเซลล์

เท็กซัสถือเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดรัฐแรกที่สั่งห้ามยุติการตั้งครรภ์ในสหรัฐอเมริกาอย่างเข้มงวด ในระดับที่ห้ามยุติการตั้งครรภ์ในอายุครรภ์เพียง 6 สัปดาห์ ซึ่งเป็นเวลาที่คนส่วนมากยังไม่ทราบว่าพวกเขาตั้งครรภ์แล้ว ในบทเฉพาะกาลยังระบุให้การบังคับใช้กฎหมายนี้อยู่ในดุลยพินิจของแต่ละบุคคล ไม่ได้บังคับใช้โดยตรงจากภาครัฐ แต่ยังสามารถฟ้องร้องแพทย์หรือใครก็ตามที่ให้ความช่วยเหลือคนตั้งครรภ์ในการยุติการตั้งครรภ์ได้

กฎหมายใหม่นี้ได้รับการลงนามรับรองโดยผู้ว่าการรัฐเท็กซัสจากพรรครีพับลิกัน เกร็ก แอบบ็อตต์ ทำให้เท็กซัสกลายเป็นหนึ่งในจำนวนสิบกว่ารัฐที่สั่งห้ามยุติการตั้งครรภ์หากมีอายุครรภ์ 6 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอ้างว่าเป็นช่วงที่ตัวอ่อนหัวใจเต้นแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้ออ้างนี้ไม่เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์และนับเป็นการตีความข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ผิด

กฎหมายห้ามยุติการตั้งครรภ์อ้างถึง "การเต้นของหัวใจทารกในครรภ์" ว่าเป็นสัญญาณการเริ่มมีชีวิตของตัวอ่อน แต่ในทางวิทยาศาสตร์ ตัวอ่อนในครรภ์ยังคงเป็นกลุ่มเซลล์ที่มีขนาดเพียง 3-4 มิลลิเมตร ส่วนข้ออ้างเรื่องหัวใจเต้น จริงๆ แล้วตัวอ่อนในระยะนี้ยังไม่มีระบบประสาท รวมถึงระบบหัวใจและหลอดเลือด อาจจะมีแค่เซลล์ที่กำลังจะพัฒนาไปสู่ระบบนี้แต่ยังเล็กน้อยมาก

เจนนิเฟอร์ เคิร์นส์ นักสูตินรีเวชศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก และซาราห์ ฮอร์วาธ นักสูตินรีเวชศาสตร์จากวิทยาลัยอเมริกัน กล่าวถึงการเต้นของหัวใจที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมอ้าง ว่าเป็นเพียง "ชีพจรไฟฟ้าจากกลุ่มเซลล์" ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะระบบหลอดเลือดหัวใจ

นักสูตินรีเวชศาสตร์ อีกราย คือ เจน กุนเธอร์ เคยเขียนในเรื่องนี้ไว้เมื่อปี 2561 ว่า ถ้าคุณคิดว่าการค้นพบชีพจรจากกลุ่มเซลล์ของตัวอ่อน อยู่ในสภาพเหมือนหัวใจเต้นตึกตักอยู่ในอก คุณก็จินตนาการผิดพลาด และระบุในทำนองเดียวกันว่า ชีพจรนั้นเป็นของกลุ่มเซลล์ที่ยังไม่ได้พัฒนาเป็นหัวใจอย่างเต็มที่เท่านั้น และเป็นชีพจรที่ไม่มากพอจะทำให้ดำรงชีพได้ จึงเป็นเรื่องน่ากังขาว่า ชีพจรดังกล่าวนำมาใช้อ้างว่าตัวอ่อนอายุ 6 สัปดาห์ "มีชีวิต" ได้จริงหรือไม่

ก่อนหน้านี้ศาลแห่งสหพันธรัฐ สกัดกั้นไม่ให้มาตรการห้ามยุติการตั้งครรภ์หลังตรวจพบ "การเต้นของหัวใจทารกในครรภ์" มีผลบังคับใช้ในหลายรัฐ แต่ต่อมา ศาลฎีกาหรือศาลสูงของสหรัฐอเมริการับพิจารณากฎหมายใหม่ของมิสซิสซิปปี ที่ห้ามยุติการตั้งครรภ์หลังอายุครรภ์ 15 สัปดาห์ขึ้นไป โดยอาจเริ่มการพิจารณาในช่วง ก.ย.-พ.ย. 2564 และมีคำพิพากษาในปี 2565

กลุ่มนักกิจกรรมสนับสนุนทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์กังวลว่า ถ้าหากปล่อยให้มีการออกกฎหมายในทางที่สนับสนุนอำนาจรัฐจะยิ่งเป็นการวางรากฐานให้จำกัดทางเลือกในการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งรวมถึงการผ่านกฎหมายการเต้นของหัวใจทารกในครรภ์ด้วย 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลว่าการที่รัฐเท็กซัสอนุญาตให้ใครเป็นผู้ฟ้องร้องในเรื่องนี้ก็ได้ แม้แต่คนนอกรัฐ อาจจะทำให้กลุ่มต่อต้านการยุติการตั้งครรภ์แห่ยื่นฟ้องเรื่องนี้ต่อศาล ทำการคุกคามหมอ, คนไข้, พยาบาล, ผู้ให้คำปรึกษาด้านความรุนแรงในครอบครัว, เพื่อนที่ขับรถพาผู้ตั้งครรภ์ไปคลินิก, กระทั่งพ่อแม่ที่จ่ายค่าทำหัตถการ

ปัจจุบัน เท็กซัสมีกฎหมายห้ามการยุติการตั้งครรภ์หลังอายุครรภ์เกิน 20 สัปดาห์อยู่แล้ว เว้นแต่กรณีที่การตั้งครรภ์ทำให้ผู้ตั้งครรภ์เสี่ยงต่อชีวิต หรือตัวอ่อนมีความผิดปกติอย่างมาก แต่การแก้ไขกฎหมายครั้งล่าสุดนี้จะลดอายุครรภ์เหลือเพียง 6 สัปดาห์แรก ซึ่งศูนย์ควบคุมโรคติดต่อของสหรัฐฯ ระบุว่า การยุติการตั้งครรภ์มากกว่าร้อยละ 90 มักจะเกิดขึ้นในช่วง 13 สัปดาห์แรก

เรียบเรียงจาก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท