คุยกับ 3 นักการเมือง 1 นักวิชาการ ผ่าปมแรงส่งเลือกตั้ง ส.ก. สู่สนามใหญ่ 

‘ประชาไท’ ต่อสายถึงนักการเมืองจาก 3 พรรคใหญ่ “เพื่อไทย-ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์” เพื่อฟังทัศนะว่า ศึกเลือกตั้ง ส.ก. ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป จะมีผลระยะยาวส่งต่อถึงเลือกตั้งสนามใหญ่ (ที่หลายฝ่ายคาดว่าจะมีขึ้นปลายปีนี้) ในแง่มุมต่างๆอย่างไรบ้าง 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปี 2565 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติรับรอง “ชัชชาติ สิทธิพันธ์” เป็นผู้ว่าฯ คนที่ 17 เมื่อวันอังคารที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา

แต่ยังไม่ทันที่การเลือกตั้งผู้ว่าฯ จะปิดฉากอย่างเป็นทางการ ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาหลายคนได้มองข้ามชอตไปถึงว่า “กระแสชัชชาติ” และผลการเลือกตั้งสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) จะส่งผลต่อภูมิทัศน์การเมืองระดับชาติอย่างไรบ้าง เมื่อมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ซึ่งบรรดาเซียนการเมืองคาดกันว่ารัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะชิงยุบสภาและประกาศเลือกตั้งครั้งใหม่ ก่อนรัฐสภาหมดสมัยในต้นปีหน้า

หากกวาดตาดูอย่างเร็วๆ สามารถพูดได้ว่าการเลือกตั้ง ส.ก. ครั้งล่าสุด เป็นชัยชนะของฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็ว่าได้ เพราะ “พรรคเพื่อไทย” และ “ก้าวไกล” ได้ที่นั่งถึง 20 และ 14 ที่นั่ง ตามลำดับ กุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาฯไปได้สบายๆ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ประชาธิปัตย์” ตามหลังอยู่ที่ 9 ที่นั่ง และ “พลังประชารัฐ” ได้ไปเพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์นี้จะสร้างข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบอย่างไรในการเลือกตั้ง ส.ส. ยังเป็นเรื่องที่ซับซ้อนกว่าจำนวนของที่นั่ง ส.ก. ดังที่นักการเมืองจาก 3 พรรค และ 1 นักวิเคราะห์ ได้อธิบายกับ ‘ประชาไท’ ไว้ในบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

ประชาไท: ผลการเลือกตั้ง ส.ก. สะท้อนถึงกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาลประยุทธ์จริงไหม

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

รองศาสตราจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า หากจะมองว่าเป็นภาพสะท้อนของกระแสไม่เอารัฐบาล คงไม่ผิดนัก เพราะทั้งผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการ กทม. คนใหม่ ก็มาจากฝั่งฝ่ายค้านที่ยืดหยัดชูธงการเข้าสู่ตำแหน่งด้วยกระบวนการประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน อีกทั้ง พรรคการเมือง 3 พรรค ที่อยู่ตรงข้ามพรรคร่วมรัฐบาล ได้ที่นั่ง ส.ก. รวมกันกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 36 จาก 50 ที่นั่ง หรือ 72% และล่าสุดยังประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะทำงานร่วมกัน 

แต่ทั้งนี้ ต้องเฝ้าดูอย่างระมัดระวัง ด้วยเหตุผล 2 ประการคือ 

หนึ่ง ชัยชนะของอาจารย์ชัชชาติ เป็นผลมาจากคุณสมบัติและความสามารถส่วนบุคคลค่อนข้างมาก สามารถดึงคะแนนเสียงจากผู้เลือกผู้สมัครผู้ว่าของพรรคอื่นๆ ได้ประมาณ 300,000 คะแนน  คะแนนส่วนนี้เป็นคะแนนที่ลื่นไหล อาจโยก (swing) กลับไปที่เดิมได้เสมอ

สอง ในแง่ฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย และก้าวไกล พบว่ารักษามาตรฐานเดิมได้ดี อาจได้ขึ้นมาเล็กน้อย ดังจะวิเคราะห์ในข้อถัดไป

จุดเด่นคือสัญญาณทางบวกว่า หากมีผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเหมาะสม มีความสามารถ มีวิสัยทัศน์ มีความเป็นผู้นำที่คนยอมรับในวงกว้าง การสร้างแนวร่วมระหว่างผู้สนับสนุนฝ่ายค้านกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมก้าวหน้าที่อาจเคยสนับสนุนฝั่งรัฐบาล ก็อาจเกิดขึ้นได้

แต่ประเด็นนี้ ต้องไม่คาดหวังเกินจริง หรือมองโลกสวยในทุ่งลาเวนเดอร์เกินไป เพราะผู้สมัครที่มีคุณสมบัติดังกล่าว อาจหาไม่ง่ายนัก ทั้งจากฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล การเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นกรณียกเว้นก็เป็นได้

ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ ส.ส.พรรคเพื่อไทย อดีตประธานสภากรุงเทพมหานคร

อดีตประธานสภากรุงเทพฯ กล่าวว่า มันก็ต้องยอมรับว่า การตัดสินใจเลือก ส.ก. ครั้งนี้ ภาพลักษณ์ของรัฐบาลมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนครับ เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีส่วน เราจะเห็นว่าในกลุ่มพรรครัฐบาลที่เค้าได้มา เค้ามีแค่ 11 เสียงเอง ในการที่เค้าได้มา 11 เสียง ในมุมมองผม เป็นสิ่งที่สะท้อนในส่วนของการยอมรับพรรคร่วมรัฐบาลครับ โดยเฉพาะตัวพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์เค้าเคยเป็น ส.ก. เสียงข้างมาก แต่มารอบนี้ เค้าเลือกตั้งเข้ามาได้แค่ 9 เสียง สำหรับผมถือว่าน้อยครับ

ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย (เนิร์ส) ส.ก. หน้าใหม่ พรรคก้าวไกล 

ส.ก. หน้าใหม่ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สะท้อนได้ประมาณนึงเลย เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา อุดมการณ์พรรคหรือตัวพรรคมีผลอย่างมาก ต่อให้เป็นเลือกตั้ง ส.ก. ก็เถอะ เราชินกันว่า เค้าเลือกกันที่ตัวบุคคล แต่ครั้งนี้มันเลือกพร้อมผู้ว่าฯ พรรคเลยมีผลอย่างมาก ดูอย่างกรณีของพรรคพลังประชารัฐที่ลงเลือกตั้งรอบนี้ กระแสเค้าก็เริ่มจะติดลบ 

แต่พูดกันตรงๆ เนิร์สต้องย้ำด้วยว่าสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน บางที่อาจจะชนะที่ตัวบุคคล บางที่อาจจะชนะเพราะพรรค บางที่อาจจะชนะเพราะพรรคและบุคคล เนิร์สพูดจากประสบการณ์จากที่ได้ลงเลือกตั้งสนามแรก เราได้เห็นว่าพื้นที่แต่ละที่มันต่างกันจริงๆ กลยุทธ์ที่เราชนะที่บางซื่อ ถ้าเราไปใช้ที่อื่น อาจจะไม่ชนะก็ได้

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีต ส.ก. 

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เวลาเราวิเคราะห์การเมืองหลังการเลือกตั้งเนี่ย พูดยังไงก็ได้ครับ (หัวเราะ) อย่างไรก็ดี ผมมีสองสมมติฐานครับ 

หนึ่ง จากประสบการณ์ของผมในสนามเลือกตั้งกว่า 30 ปีเนี่ย ผมมองว่าโดยธรรมชาติการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานครครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา ผู้คนในกรุงเทพมหานครมักจะเลือกผู้สมัครตรงข้ามกับพรรครัฐบาลอยู่แล้ว เช่น คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน กับ คุณสุขุมพันธ์ บริพัตร ทั้งสองท่านได้ตำแหน่งผู้ว่าฯ มา เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะอยู่คนละขั้วกับรัฐบาลในตอนนั้น  

สอง มีอีกปัจจัยอย่างนึงเข้ามาประกอบด้วยครับ คือประชาชนจำนวนมากต้องการแสดงออกว่าไม่ยอมรับกับรัฐบาลปัจจุบัน ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่ามีส่วนนะ แต่คงไม่ใช่ทั้งหมดหรอก ผมคิดว่าคนมาเลือกฝ่ายค้านส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นเพราะความพึงพอใจผู้สมัคร นโยบาย หรือปัจจัยใดๆ ก็ตาม รวมประกอบอยู่ด้วย 

ใคร ‘ได้’ มากที่สุด และใคร ‘เสีย’ มากที่สุดในการเลือกตั้งรอบนี้

สิริพรรณ: ประชาชนได้มากที่สุด เพราะได้ผู้ว่าราชการที่มาจากการเลือกของประชาชนเอง  เป็นการปักหมุดผู้บริหารท้องถิ่นที่มาโดยวิถีทางประชาธิปไตย

ในแง่พรรคการเมือง เพื่อไทยนับว่าประสบความสำเร็จในการได้ที่นั่ง ส.ก. มากที่สุด 20 ที่นั่ง ในสัดส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ก. ในอดีต และยังเอาชนะไทยสร้างไทยในเขตที่เป็นฐานเสียงของคุณหญิงสุดารัตน์ได้ด้วย ก้าวไกล ซึ่งได้ที่นั่ง ส.ก. อันดับสอง ถือว่ารักษาสัดส่วนคะแนนเสียง ที่มีอยู่ประมาณ 16% หรือประมาณ 4 แสน ถึง 6 แสน ไว้ได้ แต่ในการเลือกตั้ง ส.ส. คะแนนเสียงนี้ จะแปรเป็นที่นั่งใน กทม. เท่าไหร่ ไม่แน่ใจนัก ขึ้นอยู่กับผู้สมัคร และเขตที่ลงแข่งขันด้วย เพราะเขตเลือกตั้งของ ส.ส. เล็กกว่าของ ส.ก.

พรรคที่เสียหายมากที่สุดคือพลังประชารัฐจากที่เคยได้ 7.9 แสนเสียง เหลือเพียง 2.7 แสน  และได้ ส.ก. เพียง 2 คน ซึ่งจะส่งผลต่อขวัญ กำลังใจ และอาจทำให้ผู้สมัครของพรรคลังเลใจว่าควรหาพรรคใหม่สังกัดหรือไม่ 

ส่วนประชาธิปัตย์ ได้ ส.ก. 9 ที่นั่ง แม้จำนวนจะลดลงจากการเลือกตั้งในอดีตปี 2553 แต่สัดส่วนคะแนนที่เลือก ประชาธิปัตย์ค่อนข้างคงที่ คือประมาณ 15% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2562

ประเดิมชัย: ดูโดยฐานระดับชาติ พลังประชารัฐถือว่าได้ค่อนข้างน้อยครับ พรรคเขามี ส.ส. ในกรุงเทพมหานครมากสุด แต่เค้าได้ ส.ก. แค่สองเขต คือดินแดงกับหนองจอก 

ผมคิดว่าดูภาพรวมแล้วเนี่ย มีการเชื่อมโยงต่อการเลือกตั้งระดับชาติครับ ถ้าผมเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชารัฐ ผมต้องรีบทบทวนโดยด่วนครับว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่งั้นมันกระทบต่อสนามใหญ่แน่

องอาจ: จริงๆ เราก็ประเมินว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะได้มากกว่านี้ ควรได้มากกว่านี้อีกนิดหน่อย แต่ที่เราประเมินว่าควรได้มากกว่านี้ เป็นประเด็นเรื่องปัจจัยในพื้นที่มากกว่าการเมืองระดับชาติครับ ถ้าไปดูเขตที่เราไม่ได้ ส.ก. ส่วนใหญ่ผู้สมัครของเราได้มาเป็นที่สองครับ มีอยู่ซัก 7 เขตที่เรามาเป็นที่สอง 

ถามว่าใน 7 เขตนี้ เราแพ้เพราะอะไร? เพราะอดีต ส.ข. [สมาชิกสภาเขต] หรือ อดีต ส.ก. ประชาธิปัตย์ รอบนี้เค้าโดนจีบไปลงสมัคร ส.ก. ให้พรรคอื่น แล้วเอาพื้นฐานคะแนนไปให้พรรคใหม่ของเค้าด้วย ยกตัวอย่างเช่น เขตยานนาวา ก้าวไกลได้ 9,000 ประชาธิปัตย์ 7,000 พรรคกล้า 5,000 พรรคกล้าได้เด็กประชาธิปัตย์ไปไงครับ คะแนนก็อาจจะตามไปด้วย ถ้าหากยังอยู่ประชาธิปัตย์ ผลการเลือกตั้งก็อาจจะออกมาอีกแบบก็ได้

เพราะฉะนั้น ผมถึงมองว่าพรรคประชาธิปัตย์กระแสไม่ได้ตกครับ การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครเนี่ย เค้าไม่ได้คิดแบบการเลือกตั้งระดับชาติเสมอไป กระแสในลักษณะนั้นจะไม่มาเกิดใน ส.ก. มากนัก คนที่นิยมประชาธิปัตย์ในการเมืองระดับชาติส่วนหนึ่ง พอมาเป็นการเมืองท้องถิ่นเค้าก็อาจจะไม่ได้เลือกผู้สมัครของประชาธิปัตย์เสมอไป  

การที่พรรคๆ หนึ่งมี ส.ก. ในพื้นที่ จะมีผลต่อการเลือกตั้งสนามใหญ่อย่างไรบ้าง

สิริพรรณ: ในแง่การประเมินฐานเสียง สามารถวิเคราะห์ได้เฉพาะในการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครเท่านั้น 

1 กรุงเทพมหานคร จะไม่ใช่พื้นที่แข่งขันระหว่างเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ 2 พรรคเท่านั้นอีกต่อไป ก้าวไกลได้ลงหลักปักฐานเป็นคู่แข่งสำคัญ จะไม่หายไปไหนง่าย ๆ และไทยสร้างไทยก็ยังมีโอกาส เพราะได้ถึง 10% แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะได้ ส.ส. หรือไม่

2. การอ่อนแรง เสื่อมความนิยมของพรรคพลังประชารัฐในกรุงเทพมหานคร เป็นของจริง

3. สนามใหญ่ในระดับประเทศ ยังมีพรรคที่มีศักยภาพอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งผู้สมัคร หรือ ไม่ได้มีขุมกำลังหลักใน กทม. เช่น ภูมิใจไทย ชาติไทยพัฒนา หรือพรรคใหม่อื่นๆ เช่น สร้างเศรษฐกิจไทย ดังนั้น พลวัตรของการแข่งขันจะต่างออกไป พรรคที่ตั้งขึ้นใหม่ต้องเรียนรู้จากผลเลือกตั้ง ในเรื่องการแย่งคะแนนในตะกร้าเดียวกัน ด้วยระบบเลือกตั้งที่มีผู้ชนะคนเดียว เราอาจได้เห็นการกลับมารวมตัวกันของพรรคใหม่ๆ ที่มีทรัพยากรและศักยภาพไม่พอ

ภัทราภรณ์: อันนี้ส่งผลมากอย่างมากอย่างแน่นอน เพราะถ้าเป็น ส.ก. พรรคเดียวกัน เท่ากับว่าคนของพรรครู้จักพื้นที่ทะลุปรุโปร่งหมดละ อย่างของเนิร์สเนี่ย ถ้าสมมติก้าวไกลส่งผู้สมัคร ส.ส. ลงพื้นที่ เราก็ทำข้อมูลได้เลย ไปเดินตรงไหน จุดอ่อนและจุดแข็งคืออะไรบ้าง ควรคุยกับชาวบ้านอย่างไร ควรพูดถึงเรื่องไหน เค้ามีปัญหาอย่างไร ผู้สมัครต้องวางตัวยังไง 

ถ้าเป็นพื้นที่ของก้าวไกล ไม่ต้องเริ่มจาก 0 เพราะเรามีคนทำงานในพื้นที่อยู่แล้ว รู้จักพื้นที่และมีข้อมูลอยู่ในมือแล้ว

องอาจ: จะมีผลระดับนึงครับ แต่คงไม่ถึงกับชี้ขาด เพราะว่า เวลาเลือกตั้ง ส.ก. เนี่ย เวลาตัดสินใจ และพฤติกรรมการลงคะแนนจะเป็นแบบหนึ่ง การเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติ พฤติกรรมไม่เหมือนกันครับ 

แต่ถามว่าไม่มีผลเลยมั้ย ก็ไม่ใช่ มีแน่ๆ ยกตัวอย่างเช่นมันอยู่ที่ว่า ถ้าผู้สมัคร ส.ก. ของพรรคหนึ่งๆ ทำงานในพื้นที่ มีผลงาน เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่ ผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคนั้นก็จะได้ประโยชน์ไปด้วย ถ้า ส.ก. ทำงานให้คนพอใจ ก็อาจจะมีผลให้พึงพอใจต่อตัวพรรคตามไปด้วย 

ประเดิมชัย: ปัจจัยการมี ส.ก. ในพื้นที่ ช่วยเสริมให้สำหรับกิจกรรมหรือการหาเสียงในพื้นที่ง่ายขึ้นเท่านั้นเอง แต่ถ้าถามว่ามันชี้วัดถึง ส.ส.ด้วยมั้ย มันไม่ได้เป็นตัวชี้วัดครับ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา หลายพรรคก็มี ส.ก. หรือ ส.ข. เต็มพื้นที่ไปหมด แต่เมื่อส่ง ส.ส. ลงสมัครพื้นที่ที่พรรคมี ส.ก. ส.ข. ก็ไม่ได้ชนะ มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน 

เพราะฉะนั้นเนี่ย ในเลือกตั้งสนามใหญ่ เค้าดูสถานการณ์การเมืองและการเลือกตั้งเฉพาะหน้า ณ ขณะนั้นมากกว่าว่า เค้าจะเลือกพรรคไหนกัน การมี ส.ก. ไม่ได้แปลว่าเป็นตัวชี้ขาดในการเลือกตั้งสนามใหญ่ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท